ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลายคนทั่วโลกดูจะพุ่งความสนใจไปที่ปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 (Covid-19) มากกว่าสิ่งอื่นใด ส่วนปัญหาที่เรื้อรังมานาน อย่าง ภาวะโลกร้อน (Global Warming) กลับถูกละเลยไป ทั้งๆ ที่ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และหนักหนาระดับโลกไม่แพ้โรคระบาด มิหนำซ้ำ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เราทุกคนต้องใช้หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะแบบใช้แล้วทิ้ง และชุดตรวจ ATK รวมทั้งการล็อกดาวน์อันยาวนานทำให้หลายครอบครัวต้องพึ่งพาการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งเป็นการทำร้ายโลกด้วยขยะจำนวนมหาศาลและสิ้นเปลืองพลังงานเข้าไปอีก
วันนี้ เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย เราจึงควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาสภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจังอีกครั้งก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป หากใครกำลังคิดว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว เพราะตนเองไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือรู้สึกเดือดร้อนอะไรกับอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้น ก็ขอให้ทบทวนเสียใหม่ เพราะภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบมายังเราทุกคนในทุกทิศทุกทางแล้ว ทั้งในด้านความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน สุขภาพ และเศรษฐกิจ … เพียงแต่เรายังอาจไม่รู้ตัว
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไรบ้าง
เมื่อมองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก
สภาพอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather Events)
ว่ากันว่า ภาวะโลกร้อนกำลังจะทำให้เราต้องเผชิญกับ “สภาพอากาศแบบสุดขั้ว” หรือ ภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น และช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราก็ได้เจอกับสภาพอากาศดังกล่าวมาแล้ว
ในปีที่ผ่านมา ทวีปยุโรปเผชิญกับ คลื่นความร้อนและความแห้งแล้ง ที่นับว่าหนักหนาที่สุดในรอบ 500 ปี โดยคลื่นความร้อนไม่เพียงเป็นอันตรายต่อกลุ่มเปราะบาง อย่าง ผู้สูงอายุ เท่านั้น แต่ยังมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและก่อให้เกิดโรคที่มีพาหะเป็นแมลง (Vector-borne disease) มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคใหม่ๆ ในอนาคต
อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ พายุ มีความรุนแรงมากขึ้น ดังที่เราจะเห็นได้จากหลายเหตุการณ์ เช่น เฮอร์ริเคนเอียน (Hurricane Ian) ที่เป็นเฮอร์ริเคนที่รุนแรงที่สุดที่เคยพัดเข้ารัฐฟลอริดาตั้งแต่ปี 1935 ส่วนปากีสถานก็มีพายุหนักเข้ามาในฤดูร้อนซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ส่งผลกระทบถึงผู้คนถึง 33 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,400 ราย
ในประเทศไทยเอง หลายคนน่าจะยังจำได้ว่าฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากกว่าปกติ จนทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับน้ำท่วมอย่างหนักแม้จะมีการเตรียมการตั้งรับไว้แล้วก็ตาม เฉพาะในเดือนกันยายน กรุงเทพฯ มีฝนตกถึง 28 วัน และมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยใน 30 ปี ถึง 148.5% ส่วนภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น มหาสารคาม ก็ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมขังที่สาหัสและยาวนานนับเดือน อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนสะสมมากและพายุที่พัดเข้ามาติดต่อกัน ก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินและผลผลิตทางเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก
มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)
หลายปีมานี้ ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตมลพิษทางอากาศที่หนักหนาสาหัส โดยในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เชียงใหม่เป็นเมืองที่มี ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันอยู่หลายวัน เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย ภาคตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นพิษนี้
ค่า PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ส่วนหนึ่งมาจากการเผาทางเกษตรกรรม ทั้งในประเทศเราเองและประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งเมื่อบวกกับจำนวนป่าที่ลดลงอย่างมากและขนาดของเมืองที่ใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งหมายความว่าเรามีต้นไม้ที่คอยปกป้องเราจากมลพิษน้อยลงไปด้วย แต่นอกเหนือไปจากนั้น อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นก็ยังทำให้เกิด ไฟป่า ที่สาหัสและถี่ขึ้นด้วย รวมทั้งทำให้เกิด ความเข้มข้นของโอโซนภาคพื้นดิน หรือ หมอกควัน เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งโอโซนภาคพื้นดินนี้เป็นสารก่อมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง
งานวิจัยหลายชิ้นได้ออกมายืนยันแล้วว่า การสูดดม PM 2.5 เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้น มลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการหลายรายลดลง
การขาดแคลนอาหาร (The Decline of Global Food Production)
อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและสภาพอากาศแบบสุดขั้วยังทำให้เกิดการระบาดของศัตรูพืชและโรคของพืช รวมทั้งการขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ผลผลิตทางเกษตรกรรมในหลายพื้นที่มีจำนวนลดลง เมื่อเรามีอาหารลดลง ราคาของสินค้าในตลาดก็จะสูงขึ้น และผู้คนอีกจำนวนมากจะตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความอดอยาก
นอกจากนั้น ยังมีการคาดการณ์ว่า หากภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภายในปลายศตวรรษนี้ เราจะมีปริมาณอาหารที่ผลิตได้ลดลงจากเดิมถึง 50%
ในทำนองเดียวกัน การผลิตสินค้าอื่นๆ ก็อาจตกอยู่ในภาวะขาดแคลนได้ หากเกิดปัญหาวิกฤตพลังงาน ยกตัวอย่าง ในปี 2565 ที่ผ่านมา สภาพอากาศที่หนาวจัดในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ทำให้ต้องปิดโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไป 3 โรงงาน ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิปที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ทั่วโลก
ภาวะโลกร้อน… ปัญหาที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน
เมื่อภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราทุกคน มันจึงไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราทุกคนต้องร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่
วันนี้ คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยการกระทำง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น แยกขยะ นำเศษอาหารไปหมักขยะแบบอินทรีย์ (เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกฝังกลบและก่อให้เกิดก๊าซมีเทน) ลดการใช้พลาสติก หรืออย่างน้อยนำพลาสติกกลับไปรีไซเคิล ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เครื่องไฟฟ้าชนิดอื่นๆ และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันไปใช้ขนส่งสาธารณะหรือเดินและใช้จักรยานให้มากขึ้น เพื่อประหยัดพลังงานและลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ ฯลฯ
วิธีการช่วยลดภาวะโลกร้อนยังมีอีกมาก ไว้โอกาสหน้าเราจะมาแนะนำกันอีกครั้ง
–
อ้างอิง:
blueandgreentomorrow.com
weforum.org
balkangreenenergynews.com
scied.ucar.edu
iqair.com
wirkppointtoday.com