แยกขยะง่ายๆ เริ่มได้ที่บ้าน

Care / Social Care

ปัจจุบัน ‘ขยะล้นโลก’ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อประชากรมนุษย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ขยะเยอะขึ้นตามไปด้วย แต่ระบบกำจัดขยะกลับไม่เพียงพอ กลายเป็นขยะตกค้างจำนวนมหาศาล เกิดปัญหาขยะปนเปื้อนในแม่น้ำลำคลองและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียหาย รวมทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต และการมีสุขภาพดีในระยะยาวของพวกเราทุกคน

นอกเหนือจากการ ลดการสร้างขยะ (Zero Waste) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยแก้ปัญหาขยะล้นโลกได้ก็คือ ‘การแยกขยะ’ ก่อนทิ้งลงถัง 

วันนี้ ชีวิตดี by hhc Thailand อยากชวนทุกคนมาแยกขยะในบ้านด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่ทำตามได้จริง แถมยังช่วยให้โลกดีขึ้นได้ในระยะยาวอีกด้วย

มาเริ่มต้นกัน–คุณพร้อมแยกขยะระดับไหน?

สิ่งที่ทำให้หลายคนล้มเลิกความตั้งใจที่จะแยกขยะ ก็คือความคิดที่ว่า “ฉันไม่มีเวลา” หรือ “ฉันทำไม่ได้” รู้ตัวอีกทีก็ลงเอยที่การโยนทุกอย่างรวมอยู่ในถังเดียวกัน

เอาล่ะ–ไม่ว่าอดีตจะเป็นอย่างไร วันนี้เรามาเริ่มต้นกันใหม่ ลองเริ่มจากทักษะการแยกขยะแบบง่ายๆ จากนั้นค่อยปรับไปสู่ระดับยากขึ้น เมื่อฝึกไปทุกวัน สิ่งที่เคยยากและใช้เวลานานก็อาจจะง่ายขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ระดับเบื้องต้น – มือใหม่หัดแยก(ขยะ)

เริ่มต้นด้วยวิธีแยกขยะที่ง่ายที่สุด เหมาะกับนักแยกขยะมือใหม่ หรือคนที่มีงานยุ่ง หรือมีพื้นที่อยู่อาศัยจำกัด (เช่น อยู่หอพัก หรือคอนโด) โดยการแยกขยะออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือ ขยะเศษอาหาร และ ขยะทั่วไป

  1. ขยะเศษอาหาร
    สิ่งที่ต้องใช้คือตะกร้าหรือกระชอนเพื่อกรองน้ำแกงออกจากเศษอาหารก่อน จากนั้นนำเศษอาหารรวมใส่ถุงเดียวกัน ควรนำไปทิ้งทุกวันเพื่อไม่ให้บูดเน่าส่งกลิ่นเหม็น
  2. ขยะทั่วไป
    คือขยะอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเศษอาหาร ซึ่งมีทั้งแบบที่นำไปรีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ปนกันอยู่ (แต่ตอนนี้เราจะรวมกันไปก่อน) ถ้าเป็นแก้วน้ำให้เทน้ำหรือน้ำแข็งทิ้ง ถ้าเป็นถุงแกงควรล้างคราบอาหารออกให้สะอาด (ทำเหมือนล้างจาน)

จะเห็นได้ว่า วิธีแยกขยะระดับเบื้องต้นนี้ใช้หลักการแยก ขยะเปียก กับ ขยะแห้ง ออกจากกัน การแยกขยะเปียกไม่ให้ปะปนกับขยะแห้งถือเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่การคัดแยกที่ละเอียดขึ้นในระดับต่อไป

ระดับเชี่ยวชาญ – แยก(ขยะ)เก่งแล้วนะ

เมื่อแยกขยะเบื้องต้นจนเก่งแล้ว คราวนี้เราจะปรับระดับขึ้นอีกนิด โดยแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ ขยะเศษอาหาร ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และ ขยะอันตราย

  1. ขยะเศษอาหาร ทำเหมือนระดับเบื้องต้น คือกรองน้ำออกแล้วใส่ถุงรวมกันไว้
  2. ขยะทั่วไป คือขยะแห้งที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือรีไซเคิลไม่ได้ เช่น ถุงขนม ซองบะหมี่ เศษกระดาษชิ้นเล็กๆ เศษพลาสติก กระดาษชำระ หรือกล่องโฟม เป็นต้น
  3. ขยะรีไซเคิล คือขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ แก้ว โลหะ กระดาษ และ พลาสติก ซึ่งจะต้องล้างให้สะอาด และผึ่งให้แห้งก่อน เพื่อไม่ให้มีคราบอาหารเหลืออยู่ (ถ้ามีคราบอาหารปนเปื้อนจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มขยะทั่วไป) จากนั้นก็แยกถุงตามประเภท สามารถนำไปขายหรือส่งต่อให้ร้านรับซื้อของเก่าได้
  4. ขยะอันตราย คือขยะที่มีสารเคมีหรือสารพิษปนเปื้อน เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาทำความสะอาด ยาหมดอายุ วัตถุไวไฟต่างๆ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพ รวมถึงขยะที่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่ติดต่อได้ เช่น หน้ากากอนามัย หรือชุดตรวจโควิด ขยะเหล่านี้จะต้องถูกแยกออกมาชัดเจน เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ให้รั่วซึมสู่ชั้นผิวดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ และไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

การแยกขยะระดับเชี่ยวชาญนี้ไม่ได้ยากไปกว่าระดับเบื้องต้นมากมายเลย สิ่งที่เพิ่มมาคือ การแยก ขยะรีไซเคิล กับ ขยะอันตราย ออกมาจากขยะทั่วไป 

เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การจัดมุมทิ้งขยะไว้หนึ่งมุม โดยเตรียมถุงขยะ หรือกล่องใส่ขยะที่ติดป้ายแยกประเภทไว้ ทุกครั้งที่ทิ้งขยะก็ให้แยกขยะตามประเภทต่างๆ ทันที ช่วงแรกอาจจะคิดนานสักหน่อย (ว่าขยะชิ้นนี้จัดอยู่ประเภทไหน) แต่พอทำบ่อยๆ ก็จะจำได้ขึ้นใจ กลายเป็นเรื่องง่ายไปเอง

ระดับมืออาชีพ – แยก(ขยะ)จนเป็นไลฟ์สไตล์

ระดับมืออาชีพนี้ใช้วิธีแยกขยะเป็น 4 ประเภทเหมือนระดับเชี่ยวชาญ แต่เพิ่มความพิเศษตรงที่เราจะไม่นำขยะเศษอาหารไปทิ้งลงถัง แต่จะนำไปผ่านกระบวนการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เหมาะกับคนที่บ้านมีพื้นที่กว้างและมีเวลามากพอที่จะปลูกผักทำสวน กลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่นอกจากจะช่วยลดขยะแล้วยังดีต่อคุณภาพชีวิตด้วย

วิธีทำถังหมักขยะเศษอาหารแบบง่ายๆ

  • เตรียมถังหมักและฝาปิด โดยเลือกขนาดของถังให้เหมาะกับปริมาณขยะในครัวเรือนของเรา เจาะก้นถังให้เป็นรูขนาดใหญ่ 
  • เตรียมพื้นดินที่ว่างในสวนหรือหลังบ้าน ขุดหลุมความลึกประมาณ 2 ใน 3 ของความสูงของถัง จากนั้นนำถังไปใส่ในหลุมที่ขุดไว้ 
  • วิธีใส่เศษอาหารลงถังหมัก ก่อนอื่นต้องแยกแยกกระดูกและก้างออกมา (รวมใส่ถุงเพื่อนำไปทิ้ง) ใส่เฉพาะขยะเศษอาหาร เศษผักหรือเปลือกผลไม้ลงในถังหมัก 
  • กวนขยะเศษอาหารกับดินในถังหมักก่อนปิดฝาถังไว้ ปล่อยให้จุลินทรีย์ในดินและสัตว์ที่เป็นผู้ย่อยสลาย เช่น กิ้งกือหรือไส้เดือนในดิน ทำหน้าที่ย่อยเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย อาจนำเศษใบไม้มาคลุมด้านบนไว้เพื่อลดกลิ่นก่อนปิดฝาถัง 
  • หลังจากปิดฝาแล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน เมื่อครบกำหนดสามารถตักเศษอาหารที่ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยออกไปใช้ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือใส่แปลงผักในสวนครัวของเราได้ 

แยกขยะแล้วต้องทิ้งให้ถูกถังด้วย

เมื่อรู้วิธีแยกขยะแล้ว ก็ต้องรู้จัก ‘ถังขยะสาธารณะ’ แบบต่างๆ ด้วย เพราะขยะของเราจะต้องไปลงเอยอยู่ในนั้น การแยกขยะจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราทิ้งลงผิดถังหรือทิ้งปะปนกัน

ถังสีน้ำเงิน – ขยะทั่วไป

ขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก (Reuse) หรือไม่คุ้มค่าพอจะเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ขยะเหล่านี้จะถูกส่งไปลงเอยที่เตาเผาขยะ หรือไม่ก็การฝังกลบ

ถังสีเขียว – ขยะเปียก

ขยะเศษอาหาร ของสดหรือวัตถุดิบธรรมชาติที่เน่าเสียได้ เช่น อาหารที่กินเหลือ เศษผักผลไม้ รวมไปถึงซากพืชซากสัตว์ต่างๆ ขยะเหล่านี้ถือเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย และสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักได้

ถังสีเหลือง – ขยะรีไซเคิล

ขยะที่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ แก้ว โลหะ กระดาษ และพลาสติก

ถังสีแดง – ขยะอันตราย

ขยะที่มีสารเคมี สารพิษ มีแนวโน้มที่เป็นอันตราย หรือปนเปื้อนเชื้อโรคติดต่อ 

สำหรับบางชุมชนหรือบางหมู่บ้านอาจมีระบบการเก็บขยะด้วย ‘รถขยะ’ ที่ขับไปบริการถึงหน้าบ้าน โดยเราต้องเตรียมขยะที่คัดแยกไว้ใส่ถุงและมัดปากถุงให้เรียบร้อย บางคนใช้วิธีซื้อถุงขยะตามสี (ฟ้า เขียว เหลือง แดง) เพื่อแยกตามหลักการแยกขยะ 4 ประเภท (ขยะทั่วไป-ขยะเปียก–ขยะรีไซเคิล-ขยะอันตราย) หรือบางคนอาจสะดวกใช้ถุงขยะสีเดียวกัน แต่ติดป้ายระบุไว้ โดยเฉพาะขยะอันตราย เพื่อให้คนเก็บขยะเห็นง่าย จะได้ระวังการสัมผัสสารอันตรายหรือเชื้อโรคติดต่อ 

แยกขยะทุกบ้าน ช่วยลดขยะล้นโลกได้

มาถึงตรงนี้ ทุกคนคงพอจะเห็นภาพแล้วว่า การแยกขยะในแต่ละบ้านนั้นช่วยลดปัญหาขยะล้นโลกได้ด้วยหลักการสองอย่าง คือ 1) แยกเพื่อนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ และ 2) แยกเพื่อนำขยะเศษอาหารไปย่อยสลายและกลายเป็นปุ๋ย

เมื่อเริ่มจากง่ายไปยาก การแยกขยะก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด แต่อาจต้องใช้เวลาเพื่อปรับเปลี่ยนความเคยชินของเราใหม่ ถ้าแต่ละบ้านช่วยกัน ขยะที่ไปกองรวมกันจนล้นพื้นที่ส่วนกลางก็จะน้อยลง การจัดการขยะก็จะง่ายขึ้น ปัญหามลพิษและมลภาวะก็จะดีขึ้นตามไป

การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่ได้มาจากการกินอาหารดีมีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการทำจิตใจให้แจ่มใสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่เราทุกคนช่วยกันแยกขยะก่อนทิ้งลงถังร่วมด้วย



ที่มา:
multimedia.anamai.moph.go.th
“คู่มือการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยภายในบ้านและที่ทำงาน” (2564) โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บทความที่เกี่ยวข้อง