กว่าจะมาเป็นนักเขียน…ของหมอแพท นพ.อุเทน บุญอรณะ คุณหมอนักเขียนไทยที่ดังไกลถึงต่างแดน

Human / Self-Inspiration

จากเด็กคนหนึ่งที่มีวิถีชีวิตปกติธรรมดา ไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ไม่ได้มีความฝันอันยิ่งใหญ่ เพียงแค่รู้ว่าตัวเองชอบอ่าน ชอบเขียน และบ้าเรียนก็แค่นั้น จนถึงเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัยติดคณะแพทยศาสตร์ ชีวิตก็ยังคงความธรรมดา ใช้ชีวิตเหมือนนักเรียนแพทย์คนอื่นๆ ทั่วไป แต่ในวันนี้…เขากลายเป็นนักเขียนที่มีคนรู้จักกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศได้อย่างไร มาติดตามเรื่องราวของหมอแพท นายแพทย์อุเทน บุญอรณะ อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง ที่มาแชร์ประสบการณ์จากวันนั้น…ถึง…วันนี้ ที่น่าภาคภูมิใจของเขากัน

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน 

“คนที่มาเป็นนักเขียนมักมีจุดเริ่มต้นเหมือนๆ กันคือการเป็นนักอ่านมาก่อน จนวันหนึ่งเรื่องราวต่างๆ ที่อ่าน มีข้อความ มีจินตนาการเต็มหัวไปหมด ถึงจุดที่อยากจะระเบิดออกมา แพทเองก็เช่นกัน คือ เริ่มต้นจากความหลงใหลในการอ่าน จนกระทั่งวันหนึ่ง เรื่องที่อ่านถึงจุดที่เราอยากจะแบ่งปันออกมาในลักษณะงานเขียน ตอนแรกแพทเขียนเป็นบทความลงในเพจ หมอตุ๊ด ก่อน เป็นบทความทั่วๆ ไปเกี่ยวกับสิ่งที่เราเจอในแต่ละวัน เช่น เวลาทำงานที่เจอกับคนไข้ ระหว่างที่เราทำการรักษา เขาอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของเขากับเรา ซึ่งแพทก็จะนำมาเล่าในเพจ 

เพจ ‘หมอตุ๊ด’ แพทตั้งใจเขียนเล่าเรื่องตัวเองสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์เหมือนเป็นไดอารี่ให้ตัวเองกลับมาอ่านอีกครั้ง เอาไว้ให้เพื่อนดูว่า ‘เออ…ตอนนั้นแกทำแบบนั้น แกมีความคิดเห็นแบบนี้ จำได้หรือเปล่า’ เขียนไปเขียนมากลายเป็นว่าเริ่มมีคนอ่าน สนุกกับเรา อินกับเรา แล้วก็แชร์ จนมีคนรู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น คนก็รู้แล้วว่าเราเป็นหมอเพราะฉะนั้นจะทำเล่นๆ ไม่ได้ แต่จะให้ทำตัวแบบวิชาการจ๋าก็ไม่ใช่ตัวเราอีก แพทเลยใช้วิธีการแชร์มุมมองของชีวิตก็แล้วกัน โชคดีที่เป็นหมอ เพราะมักจะมีเรื่องราวเข้ามาให้รับรู้ทุกวันเลย เช่น วันนี้ไปทำงานเจอคนไข้ปวดหัว  เขาก็จะเล่าเรื่องราวสารพัดที่ทำให้ปวดหัวในชีวิตของเขา เนี่ย…เรานั่งเฉยๆ ก็มีเรื่องราวเข้ามาให้ได้รับรู้ ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตผ่านคนไข้จำนวนมาก จึงอยากนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแชร์ในเชิงที่ว่า ‘เธอไม่ใช่คนเดียวนะที่ยังลืมคนรักเก่าไม่ได้ หลายๆ คนเขาก็เป็นกัน’ ก็เลยนำเรื่องต่างๆ เหล่านี้มาเขียน เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการทำความเข้าใจกับชีวิตและความรัก ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนดีขึ้น แต่ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้เศร้าอยู่คนเดียวในจักรวาลนี้ คนอื่นก็เศร้าแบบเราเหมือนกัน

ปัจจุบันเพจหมอตุ๊ดมีคนติดตามมากกว่า 3 แสนคนแล้ว ถือว่าไม่ใช่เพจใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่เพจเล็ก จริงๆ ยอดคนติดตามเกินความคาดหมายของแพทตั้งแต่ 5 หมื่นคนแล้ว ซึ่งถือว่ามาไกลมาก เนื่องจากมีคนติดตามอ่านเพจเราไม่น้อย ดังนั้นการจะเขียนอะไรก็ตามต้องรับผิดชอบและระมัดระวังมาก พอเขียนลงเพจไปได้สักพักหนึ่งก็มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งติดต่อมา บอกว่าดูทรงแล้วน่าจะเขียนปกิณกะได้ ก็เลยได้เริ่มต้นจากการรวมเล่มลงปกิณกะ” 

กว่าจะเป็น…หนังสือเล่มแรก

“หนังสือนิยายเล่มแรกที่เขียนชื่อ ‘Tempra of the Dream’ (เทมปร้าออฟเดอะดรีม) เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กป่วยที่นอนติดเตียงอยู่ในห้องไอซียู ไปไหนไม่ได้ เรียนก็เรียนบนเตียง มีแม่มาสอนหนังสือให้ ถึงแม้จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงแต่เขาก็มีความฝัน ซึ่งในฝันนั้นตัวเขาเป็นเด็กที่แข็งแรงและสามารถเชื่อมโยงกับอาณาจักรความฝันอีกแห่งหนึ่งได้ เขารู้ว่าถ้าได้ไปที่อาณาจักรแห่งนั้นและได้ทำอะไรที่นั่น ร่างกายจะดีขึ้น แข็งแรงขึ้น รวมถึงสามารถใช้ชีวิตที่โลกแห่งความฝันนี้ได้ เขาก็เลยบอกลาพ่อแม่ในโลกนี้แล้วเข้าสู่ภาวะหลับลึกพร้อมเริ่มต้นการเดินทางไปยังดินแดนแห่งความฝัน เพื่อทำภารกิจให้สำเร็จและจะได้กลับมาในโลกนี้อีกครั้ง…นี่เป็นเรื่องแรกที่เขียนเลย แพทเริ่มเขียนตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5 ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม พอกลับมานั่งดู โอ้โห! เขียนไปตั้ง 962 หน้า ยังไม่จบเลยนะ เขียนค้างไว้มากกว่า 20 ปีแล้ว

แต่หนังสือนิยายเล่มแรกที่เขียนแล้วได้รวมเล่มก็คือ ‘กว่าเจ้จะเป็นหมอ’ ซึ่งเขียนเกี่ยวกับชีวิตของแพทตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 6 เขียนคล้ายๆ เป็นไดอารี่บันทึกว่า 365 วันก่อนที่จะได้คำนำหน้าว่า ‘นายแพทย์’ เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเราบ้าง หลายครั้งที่แพทมีโอกาสไปร่วมออกค่าย ‘ฝันจะเป็นหมอ’ ก็จะมีเด็ก ม.ปลายเข้ามาทำกิจกรรม และคำถามยอดฮิตที่ถามบ่อยก็คือ จะเรียนหมอต้องเตรียมตัวอย่างไร สอบยังไง อ่านหนังสือยังไง ฯลฯ แพทจะพูดเสมอว่า มีแต่คนพูดเรื่อง ‘เตรียมตัวอย่างไร’ ไม่เห็นมีใครมาพูดว่าต้อง ‘เตรียมใจอย่างไร’ 

เคยมีคนบอกไหมว่า…สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ตอนปี 4 – 5 – 6 รวมกันแล้ว 3 ปี ได้กลับบ้านไปเจอพ่อกับแม่แค่ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณกี่วัน 

เคยมีคนบอกไหมว่า…6 โมงเช้า นักศึกษาแพทย์จะต้องไปถึงวอร์ดผู้ป่วย และตะวันตกดินคือเวลาออกจากวอร์ดผู้ป่วย 

เคยมีคนบอกไหมว่า…นักศึกษาแพทย์อาจจะถูกแฟนบอกเลิกขณะที่กำลังอยู่เวรบนวอร์ดผู้ป่วย มือที่กำลังรักษาชีวิตคนไข้ ตามองดูคนไข้อยู่ แต่เสียงจาก small talk ในหูคือเสียงแฟนบอกเลิก เพราะเราไม่มีเวลาให้เขา

เคยมีคนบอกไหมว่า…วันเสาร์-อาทิตย์ไม่มีวันหยุดนะ ต้องราววอร์ด (ขึ้นเวรบนหอผู้ป่วย) จะมีเวลาหยุดพักนิดเดียว

เคยมีคนบอกไหมว่า…การปิดเทอมของคุณจะเริ่มต้นตอนเย็นวันเสาร์ คุณจะไปเปิดเทอมตอนเช้าวันอาทิตย์

นี่แหละคือสิ่งที่จะต้อง ‘เตรียมใจ’ เคยมีใครพูดบ้างไหมว่าให้เตรียมใจแบบนั้น หนังสือ ‘กว่าเจ้จะเป็นหมอ’ เล่มนี้ คล้ายๆ เป็นการแฉชีวิตนักศึกษาแพทย์ให้เห็นความเป็นไประหว่างชีวิตเรากับเพื่อน กับครอบครัว รวมถึงความสัมพันธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต แล้วเราจะอยู่กับชีวิตแบบนี้อย่างไร ‘กว่าเจ้จะเป็นหมอ’ ถือว่าเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกที่รวมเล่มแล้วขายได้หลักหมื่นเล่ม ซึ่งแพทภูมิใจมาก และยังเป็นหนังสือที่ขายดีอันดับต้นๆ ของสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์อีกด้วย” 

งานเขียนที่ภูมิใจที่สุด

“จริงๆ แล้วแพทภูมิใจทุกเล่ม แต่เล่มที่ภูมิใจมากๆ คือ ‘My Imaginary Boyfriend’ หรือชื่อไทยว่า ‘แฟนผม (ไม่) มีตัวตน’ เป็นนิยายที่เสนอสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่เขาเงียบ ไม่ตอบ ตอนแรกก็ใจไม่ค่อยดีนะ รู้กลายๆ ว่า เขาไม่อยากลงทุนในตัวเราแล้ว ไม่อยากตีพิมพ์ เขารู้สึกว่าไม่สนุก เลยไปเสนอสำนักพิมพ์อีก 2-3 ที่ ทุกคนตอบเหมือนกัน คิดว่าไม่น่าสนุกและไม่ตอบโจทย์ ในเมื่อไม่มีใครลงทุนในตัวเรา เราเลยลงทุนทำเอง ผลิตเอง และจำหน่ายเองเลย สิ่งที่แพทภูมิใจคือแพทลงทุนกับเรื่องนี้เยอะมาก นอกจากพิมพ์ฉบับภาษาไทยแล้ว ยังลงทุนจ้างนักแปลทำเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อลงในเว็บไซต์ต่างชาติ และขาย e-book ต่างชาติด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้ต่างชาติรู้จักแพท จนมีสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เห็นเรื่องนี้และซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลหลายภาษาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน เรื่องนี้คนในเมืองไทยรู้จักน้อย แต่ในอาเซียนคนอ่านเยอะมาก เพราะมีเนื้อหาแปลกใหม่ แพทใช้ความรู้ด้านประสาทวิทยามาเขียนในเนื้อเรื่องด้วย ก็เลยรู้สึกภูมิใจว่าเราทำได้ ทำด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนเริ่มโด่งดังขึ้นมา ที่ภูมิใจอีกอย่างคือ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว นำไปบริจาคให้หน่วยผู้ป่วยโรคสมอง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นสถาบันที่แพทเรียนจบมา รายได้ของหนังสือเล่มนี้ไม่มีเข้าตัวเอง มีแค่ต้นทุนที่จ่ายไป” 

ผลงานสร้างชื่อ Wake Up ชะนี! “ตื่นเถอะค่ะ! ชะนีขา”

“จริงๆ แล้วหนังสือ Wake Up ชะนี! “ตื่นเถอะค่ะ! ชะนีขา” ไม่ใช่นิยายแต่เป็นปกิณกะ เกิดจากการรวบรวมบทความที่เกิดขึ้นในเพจ จากการเขียนในแง่มุมของความรัก การทำความเข้าใจกับความรัก ไม่ได้เขียนในแง่บวก ไม่ได้เขียนในแง่ลบ…แต่เป็นเรื่องราวที่ทุกคนล้วนเคยเจอกับสถานการณ์แบบนี้ ธรรมชาติของผู้หญิงจะไม่ชอบให้ใครมาสอน แต่ผู้หญิงชอบการแบ่งปัน ผู้หญิงจะชอบอะไรแบบ ‘เธอๆ …แบบนี้ฉันก็เป็น’ เลยเขียนออกแนวเพื่อนหญิง พลังหญิง คนนั้นก็เป็น คนนี้ก็เป็น ไม่ใช่เธอคนเดียวที่เคยเจ็บเรื่องนี้มาก่อน พอบทความเรื่องพวกนี้มีมากขึ้น ทางสำนักพิมพ์ในเครือโมโน กรุ๊ป อยากได้บทความพวกนี้มารวมเป็นหนึ่งเล่ม และอยากได้อารมณ์แบบ เธอ…ตื่นเถอะ! เลยตั้งชื่อว่า Wake Up ชะนี! “ตื่นเถอะค่ะ! ชะนีขา” ก็แล้วกัน ซึ่งทางจีเอ็มเอ็มเขามีมุมมองที่ดี เขาเห็นว่า Sex and the City ก็เป็นหนังสือบทความมาก่อน เขาเลยสร้างตัวละครแล้วนำเนื้อหาในหนังสือ Wake Up ชะนี! มาทำเป็นซีรีส์เหมือนกัน โดยเป็นเรื่องราวของหมอณัฐกับบรรดาเพื่อนๆ ชะนีรอบตัว ซึ่งออกอากาศทางช่อง one 31”

แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ

“หลายคนชอบเสพติดแรงบันดาลใจ แพทเป็นคนที่เขียนโดยไม่มีแรงบันดาลใจ แต่เขียนจากความชอบ อยากเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง เขียนนิยายเพราะเราอยากสื่อสารอะไรให้กับคนอ่าน ตอนที่เขียนเรื่อง My Imaginary Boyfriend แค่อยากนำเสนอว่ามีจุดหนึ่งที่ความฝันและความเป็นจริงจะมาบรรจบกันได้ ถ้าเราฝันถึงอะไรสักอย่างและลงมือทำ จะสามารถทำให้สิ่งที่เราฝันให้กลายเป็นความจริงได้ คือมันจะมาเจอกัน ก็เลยสร้างเรื่องจากนามธรรม 2 อย่างเป็นเส้นเรื่อง เพื่อนำเสนอแนวความคิดลงไปในนิยาย แรงบันดาลใจอาจจะเป็นแค่…เราต้องการจะสื่อสารข้อความในใจของเราให้ไปอยู่ในใจของคนอ่าน

แพทเชื่อว่า มีนักเขียนหลายคนที่แรงบันดาลใจของเขาคือแค่อยากเขียน อยากเล่าเรื่องให้ใครสักคนได้อ่าน ถึงแม้จะเขียนมาแล้วไม่มีคนอ่านเลย เขาก็ยังอยากจะเขียน เพราะมันคือความอยากในการเล่าเรื่องของเขา เวลาไปเจออะไรมาก็อยากเก็บมาเล่า หรืออยู่ๆ มีเรื่องราวบางอย่างโผล่เข้ามา แล้วอยากเก็บมาเขียน นั่นแหละคือแรงบันดาลใจ”

นักเขียนมืออาชีพ

ถ้าถามว่าตอนนี้ถือว่าแพทเป็นนักเขียนมืออาชีพหรือยัง ต้องถามก่อนว่า…นักเขียนมืออาชีพวัดกันที่ไหน ถ้านักเขียนมืออาชีพหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยการเขียน อันนี้แพทยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะรายได้หลักที่ค้ำจุนชีวิตทุกวันนี้คืออาชีพแพทย์ แม้ว่าการเป็นนักเขียนจะทำให้มีรายได้ก็จริง แต่สำหรับแพทคำว่า ‘นักเขียนมืออาชีพ’ คือ นักเขียนที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองเขียน ทุกสิ่งที่เขียนออกสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือให้อ่านฟรีก็ตาม เราต้องรับผิดชอบต่องานเขียนของเรา ถ้าสื่อสารข้อความหรือเนื้อหาที่ไม่ดี เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้นได้ ตัวแพทพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น สรุปว่า…ปัจจุบันไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยการเขียน แต่เป็นนักเขียนมืออาชีพแล้ว”

เลือกทำในสิ่งที่สำคัญกับชีวิต

“เอาจริงๆ แค่ทำงานเป็นหมอช่วงปีสองปีที่มีโควิด-19  นี่แทบจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเลย ด้วยสถานการณ์โควิดตอนนี้ ทำให้แพทย์ต้องทำงานแอคทีฟกันตลอดเวลา ทำงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน วันเสาร์และอาทิตย์ถึงแม้จะได้พักบ้าง แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา นอกเวลางานก็จะพัก ออกกำลังกาย และอ่านหนังสือ แล้วใช้เวลาว่างช่วงวันเสาร์และอาทิตย์เขียนนิยายหรือเขียนพล็อตของตัวเอง เขียนบทความ ช่วงปีสองปีมานี้การเขียนบทความบนเพจก็จะน้อยลงไปหน่อย เพราะด้วยตัวงานโควิดทำให้ต้องดูแลคนไข้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม การเขียนบทความทำได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือบางสัปดาห์ก็หายเงียบไปเลย ถ้าสัปดาห์นั้นยุ่งมากจริงๆ หลายคนอาจจะบอกว่าไม่มีเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญที่ต้องทำในชีวิตเรามีน้อยนะ แต่เราเอาเวลาไปทำเรื่องที่ไม่สำคัญมากเกินไป ลองบริหารเวลาดีๆ เราจะรู้ว่า มนุษย์เรามีสิ่งที่ต้องทำไม่กี่อย่าง เราแค่ถูกสิ่งอื่นมาขโมยเวลาไป”

Expert Advice:

วิธีรับมือกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

“เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ไม่เป็นไปอย่างที่เราตั้งใจ คนส่วนใหญ่ก็มักจะเครียดนะ ความเครียด ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลย มีใครไม่เครียดบ้าง ทุกคนเครียดหมด ถ้ามีคนมาบอกว่า…’แกอย่าไปเครียดเลย’ อันดับแรกออกห่างจากคนพวกนี้ก่อนเลย บ้าหรือเปล่า ถ้ามีเรื่องเครียดแล้วเราไม่เครียดก็เป็นคนบ้านะ แต่ถ้ามีเรื่องเครียดแล้วเราเครียด ถือว่าเราเป็นมนุษย์ปกติ

การเครียดมากเกินไปส่งผลกระทบกับกับร่างกายเราแน่นอน ที่เห็นชัดๆ ก็คือ เรื่องการกินและการนอน เวลาเครียดคนเราจะมีผลกระทบด้านการกินได้ 2 ทาง คือ ถ้าไม่มีความอยากกินจนน้ำหนักลด ก็อยากกินเพื่อระงับความเครียดจนน้ำหนักขึ้น ความเครียดยังส่งผลให้การนอนของเราไม่มีคุณภาพ สุดท้ายก็ส่งผลต่อสมอง สมาธิไม่ดี วิธีการคิด การตัดสินใจก็จะไม่ค่อยดีไปด้วย

เรามักจะถามตัวเองว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่เครียด? แต่เวลาฉี่เราเคยถามไหมว่าทำอย่างไรเราถึงจะหยุดฉี่ เราจะไม่ฉี่ก็ต่อเมื่อเราฉี่ให้สุดก่อนถึงจะหยุดได้ ความเครียดก็เหมือนกัน เวลาเศร้า เวลาเครียด ก็ต้องเศร้าให้สุด เครียดให้สุด แล้วถึงจะหยุดได้ อย่าไปบอกกับตัวเองว่าเราต้องหยุดเครียด เพราะสมองจะไม่ปล่อยให้เราเครียดตลอดเวลา เมื่อเครียดไปสักพัก ความเครียดก็จะเบาบางลง แล้วอยู่ๆ ในใจก็จะบอกเราเองว่า อะไรจะเกิด…มันก็ต้องเกิด แต่ไม่ใช่เรารีบไปบอกกับตัวเองว่า เราต้องไม่เครียด เราเครียดไม่ได้แบบนั้น

อีกอย่างคือ การวางแผน เวลาที่เกิดปัญหาขึ้น เราจะรับมือกับปัญหาอย่างไร ไม่ต้องลงลึก เพียงแต่ให้คิดไว้ว่า เรามีแผนการที่จะรับมือ เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างไร เมื่อเราเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ความเครียดจะบรรเทาเบาบางลงไปเอง 

สิ่งที่แย่ที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้คือ เราอ่อนแอ สิ้นหวัง แต่เรายังมาบอกตัวเองว่า ต้องสู้ เฮ้ยต้องสู้สิ ต้องเข้มแข็ง การที่เราอ่อนแอ สิ้นหวัง เพราะเราสู้มาจนเหนื่อย จนไม่มีแรง แต่เราไม่เคยสมหวัง เราถึงได้รู้สึกสิ้นหวัง บางทีที่บอกว่าเป็นปัญหา ถ้ามานั่งดูดีๆ เป็นปัญหาของคนอื่นครึ่งหนึ่ง เป็นปัญหาของเราครึ่งหนึ่ง  บางทีเราพยายามรับบท ‘นางแบก’ แบกทุกอย่างเลย อยากจะบอกว่า… 

ไม่ผิดนะที่เราจะยอมรับความอ่อนแอ
ไม่ผิดนะที่เราจะสิ้นหวัง
แล้วก็ไม่ผิดนะถ้าเราจะ take a break หยุด…แล้วพัก
พอมีแรงแล้วค่อยลุกขึ้นใหม่ อย่าไปซ้ำเติมตัวเองก็พอ



นายแพทย์อุเทน บุญอรณะ

  • จบแพทย์สาขาระบบประสาทและสมอง จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปัจจุบันเป็นอายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง ทำงานอยู่โรงพยาบาลเล็กๆ แห่งหนึ่ง 
  • ชีวิตประจำวัน นอกจากเป็นหมอแล้ว ยังเป็นนักเขียน ดูแลเพจหมอตุ๊ด และเขียนนิยายด้วย


ช่างภาพ:  มนต์ชัย ฉิ่งวัฒนกุล

บทความที่เกี่ยวข้อง