‘ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ใช้หัวใจทำงาน’ นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ (หมอบัว) ศัลยแพทย์พิทักษ์เต้า

Human / Self-Inspiration

“เวลา” คือหนึ่งในต้นทุนเพียงไม่กี่อย่างที่เราได้รับอย่างเท่าเทียมกันจากธรรมชาติ ในขณะที่คนแต่ละคนมีนาฬิกาชีวิตของตัวเองในจำนวนเท่าๆ กัน ทว่าใน 86,400 วินาทีของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนใช้เวลาไปกับการสร้างความสุขให้แก่ตัวเอง บางคนใช้เวลาไปกับการมอบความสุขให้กับคนอื่น และยังมีอีกหลายๆ คนที่ใช้เวลาของพวกเขาไปกับการยกระดับคุณค่าของการใช้ชีวิต ตลอดจนสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่น สำหรับ นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ หรือ คุณหมอบัว อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คือคนประเภทหลังที่หน้าปัดของนาฬิกาชีวิตถูกใช้อย่างคุ้มค่าด้วยการลงมือทำในสิ่งที่รักอย่างจริงใจ ตั้งใจ และสุขใจ ช่วยสร้างสร้างแรงบันดานใจให้กับใครหลายคน

โตขึ้นผมจะเป็นหมอ

“ผมเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นหมอผ่าตัด คุณแม่เป็นหมออายุรศาสตร์ ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของการทำงานในสายนี้มาโดยตลอด ทำให้มีความผูกพันกับโรงพยาบาล พอโตขึ้นและได้รู้ว่าคุณหมอทำงานอะไรได้บ้าง ก็เห็นว่านี่เป็นอาชีพที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่น ได้ทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจมาตั้งแต่มัธยม ตอนสอบเอ็นทรานซ์ ผมเลยเลือกแค่ 1 อันดับ คือ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ไม่ได้เลือกที่อื่นเลย โชคดีเอ็นท์ฯ ติด นั่นเป็นจุดเริ่มต้น 

พอได้เข้ามาเรียนที่คณะ ปรากฏว่าผมทำคะแนนวิชาอนาโตมี่ (Anatomy) หรือว่ากายวิภาคศาสตร์ได้ค่อนข้างดี แล้วก็เป็นคนที่ชอบเกี่ยวกับงานฝีมือ งานออกแบบ และศิลปะ ยังคิดว่าถ้าไม่ได้เป็นหมอ อาจจะไปเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์หรือสถาปนิก ซึ่งตอนนั้นก็พบว่า งานของหมอผ่าตัดตอบโจทย์เรา เพราะได้ใช้ฝีมือและความรู้ที่ถนัดอยู่แล้ว ผลงานมองเห็นและจับต้องได้ ซึ่งถ้าเทียบกับอายุรกรรมที่เน้นการให้ยา การจะรู้ว่าเห็นผลหรือไม่จะต้องไปเจาะเลือด ตรวจร่างกายและวัดค่าต่างๆ ออกมาจึงจะทราบ แต่การผ่าตัดเป็นอะไรที่เราทำเองแล้วเห็นเลย ส่วนทำไมถึงสนใจทางด้านเต้านม ก็เพราะว่ามีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ผมคิดว่าถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องมะเร็งเต้านม ก็จะทำให้เราช่วยคนในครอบครัวได้ นั่นเลยเป็นแรงกระตุ้นลึกๆ ที่ทำให้สนใจ และตัดสินใจเรียนต่อเป็นศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านม โดยเรียนหมอ 6 ปี แล้วต่อวุฒิบัตรศัลยศาสตร์ทั่วไปอีก 4 ปี และศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างอีก 2 ปี” 

จากกรุงเทพฯ สู่มิลาน

“หลังจากเรียนจบทุกอย่างแล้วไปทำงานใช้ทุนที่จังหวัดสมุทรสาคร 1 ปี ก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ในศิริราชพยาบาล หลังจากเป็นอาจารย์ได้ 2 ปี ผมก็ตัดสินใจไปศึกษาต่อที่อิตาลี ช่วง 4-5 ปีนั้น ผมจะประจำอยู่ที่โรงพยาบาลในมิลานเป็นหลัก จะมีแค่บางช่วงที่ต้องบินไปทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันอื่นด้วย ทั้งโรงพยาบาลในปารีส ลียง และโรงพยาบาลในนิวยอร์ก การทำงานที่นั่นทำให้ได้มีโอกาสไปดูงานเกี่ยวกับการวิจัยและงานผ่าตัด โดยเน้นไปที่การผ่าตัดเต้านม ทั้งการรักษามะเร็งเต้านม การเสริมสร้างเต้านมหลังตัดมะเร็ง และศัลยกรรมตกแต่งด้วย รวมทั้งเทคโนโลยีการใช้ไขมัน การดูดไขมัน การฉีดไขมัน การเพาะเลี้ยงเซลล์ไขมันต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย พอกลับมาก็ได้มาทำงานต่อเนื่องในศิริราช” 

เรื่องหินๆ ของหมอผ่าตัด

“สิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงแรกๆ ของการเป็นหมอผ่าตัด ด้วยชั่วโมงบินที่ยังไม่สูง บางทีเราผ่าตัดไปแล้ว ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ก็ต้องมานั่งคิดต่อว่า ทำไมถึงไม่ได้หรือทำได้แต่ไม่ดีนะ แล้วถ้าจะทำให้ดีต้องทำอย่างไร ดังนั้น จุดยากอย่างแรกของการเป็นหมอผ่าตัดคือเรื่องของการตัดสินใจ ซึ่งแต่ละเคสต้องผ่านการประมวลข้อมูลและประเมินความเป็นไปได้ ผลลัพธ์ที่จะส่งผลดีต่อคนไข้มากที่สุด บนความเสี่ยงและเสียหายที่น้อยที่สุด ซึ่งไม่ง่ายเลยนะ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องมาดูด้วยว่าความสามารถของเรามีถึงจุดตรงไหน คนไข้สามารถเข้าใจและคาดหวังถึงจุดไหน ถ้าเรารู้ว่าเขาคาดหวังถึงจุดตรงนี้ แล้วฝีมือและประสบการณ์ของเราทำได้ ก็จะทำเลย 

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถบาลานซ์ได้แล้วว่า คนไข้ต้องการอะไร ผลการรักษาจะเป็นอย่างไร ฝีมือและประสบการณ์ที่เรามีอยู่ตรงไหน ก็จะไม่ค่อยมีปัญหากับการผ่าตัดแล้ว ฉะนั้น การบาลานซ์ว่าเราจะคุยกับคนไข้อย่างไรบ้างให้คนไข้ได้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เขาจะได้รับ โดยที่เราเองต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเพื่อให้คนไข้ได้สิ่งที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดต่อโรคและปัจจัยทางด้านร่างกายที่เขาเป็นอยู่ นั่นจะทำให้เราเป็นหมอผ่าตัดที่ทำเคสได้ปลอดภัย และคนไข้จะได้ผลการรักษาที่ดีด้วย”

ประสบการณ์คือครูชั้นดี

“เชื่อว่าคุณหมอที่รักษาคนไข้มามากพอ จะต้องเคยเจอเหตุการณ์ที่คนไข้เสียชีวิตคามือกันมาแน่ๆ ถ้าเป็นหมออายุรศาสตร์ อาจจะเจอคนไข้ที่เรารักษาหรือให้ยาอยู่บนวอร์ดหัวใจวายจนต้องมาปั๊มหัวใจเกิดขึ้น หรือหมอผ่าตัดก็ต้องเคยเจอเคสที่เราไม่สามารถช่วยคนไข้ได้หรือเสียชีวิตคาเตียงผ่าตัดก็มี ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ในโลกแห่งความจริง ไม่มีหมอคนไหนที่จะรักษาคนไข้ 100 ราย แล้วหาย 100 รายได้ ไม่อย่างนั้น คนไข้ทุกคนก็จะอยู่ยืนยาว 100 ปีได้เท่ากันหมด การผ่าตัดทุกเคสก็จะจบลงด้วยความสมหวังทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น คุณหมอทุกคนต้องเคยเจอกับภาวะแทรกซ้อนหรือข้อจำกัดต่างๆ ในการรักษา ถามว่ารับมืออย่างไร อย่างแรกเราต้องคิดให้ได้ก่อนว่าเรามี 3 ข้อนี้เพียงพอไหม 

อย่างแรก เรามีความรู้เพียงพอที่จะดูแลเขาไหม ถ้าเราใช้ความรู้เราอย่างเต็มที่และเพียงพอแล้ว ถือว่าโอเคแล้ว แปลว่าถ้าเราความรู้ไม่เพียงพอ สิ่งที่ต้องทำคือการอ่าน ศึกษา ถามจากผู้รู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติม ซึ่งถ้าเรามีความรู้ที่มากพอแล้ว เราจะไม่เสียใจ เพราะถือว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว

สอง เรามีความรับผิดชอบเพียงพอไหม คำว่าความรับผิดชอบ อย่างเช่น ถ้าทางโรงพยาบาลตามเราไปดูเคสคนไข้ เราไปดูหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเขาตามเราตีสาม แต่เราง่วงไม่ตื่นไปดู พอเช้าตื่นมาพบว่าคนไข้มีปัญหา เราจะรู้สึกเสียใจ แต่ถ้าโรงพยาบาลโทรมาตามตีสาม เราไปดูตีสาม อยู่กับเขา รักษาเขาอย่างเต็มที่ในช่วงเวลานั้น นั่นถือว่าเราทำหน้าที่ได้อย่างดีแล้ว 

สุดท้าย เราได้หาความรู้ พัฒนา เก็บประสบการณ์ และฝึกฝนทักษะของเราอย่างสม่ำเสมอไหม ถ้าเราพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยมีทักษะและความถนัดทางด้านนี้แล้ว จะทำให้เรามีความสามารถมากพอที่สามารถจะทุ่มเทให้กับคนไข้ได้อย่างเต็มที่ 

เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว แล้วเกิดอะไรที่เราควบคุมไม่ได้จริงๆ เราจะไม่เสียใจแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเองก็ต้องคุยกับคนไข้ให้รู้และเข้าใจว่า นี่เป็นธรรมชาติของการดำเนินโรคนะที่จะเกิดแบบนี้ได้ แรกๆ ผมเสียใจมากเลยเวลาที่คนไข้เกิดปัญหาระหว่างการรักษาหรือเสียชีวิตลง แม้จนตอนนี้ก็ยังมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ เพียงแต่เรารู้แล้วว่า นี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับ แม้ทุกอย่างที่ลงมือทำ เราทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่เราไม่สามารถทำทุกๆ เคสให้ประสบความสำเร็จได้อย่างที่เราต้องการ ซึ่งผมมีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้มากขึ้นจากประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้น”

การมองปัญหาแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา

“เวลาที่ต้องเจอกับปัญหา ผมจะดูก่อนว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาที่เกิดจากอะไร แล้วก็ค่อยๆ แก้ไปทีละอย่าง โดยยึดหลักอยู่ 2 อย่าง คือหนึ่งจะต้องไม่ทำให้เสียชื่อเสียงตัวเอง คุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัว ถ้าอะไรที่ยอมได้ ก็จะยอม อย่างที่สองผมยึดหลักทางพุทธศาสนา ถ้าอะไรที่เราคิดว่าไม่ดี ไม่ถูกต้อง เราจะต้องตัดออกไป มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น บางทีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในการทำงานหรือเรื่องส่วนตัว ถ้าเราลองคิดว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราก็จะเข้าใจและมองปัญหานั้นได้กว้างขึ้น อย่างคนไข้ที่มีอารมณ์หงุดหงิด เราต้องลองนึกดูว่า เขามีความทุกข์และกำลังเผชิญกับความเจ็บปวดทางกายอยู่ เขาเลยแสดงออกมาแบบนั้น นั่นก็ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ตรงนั้นได้อย่างเข้าใจมากขึ้น”

“หมอ” ในแบบ “หมอบัว”

“ตอนเด็กๆ เราจะถูกฝังความคิดมาว่า หมอคืออาชีพที่ดูโบราณ มีความคลาสสิค คนเป็นหมอต้องสวมแว่นตาหนาๆ นั่งอ่านหนังสือตลอดเวลา ทำงานหนัก ไม่มีเวลา แต่พอเรียนจบจนกระทั่งมาลงสนามจริง ได้คุยกับนักศึกษาแพทย์ ทำงานอยู่ในโรงเรียนแพทย์ที่จะได้เจอน้องๆ รุ่นใหม่เยอะ ก็พบว่าการเป็นหมอที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น คนเป็นหมอก็ยังเป็นตัวของตัวเองได้ ยังใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากทำได้ ในขณะที่เราก็สามารถทำงานของเราได้อย่างดีด้วย 

อย่างผมเอง ยังหาเวลาไปวิ่งมาราธอนได้ตั้ง 6 ครั้ง มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตที่สนใจ ทั้งศิลปะ อาหาร ชิมไวน์ การเป็นคอลัมนิสต์ การทำเพจให้ความรู้ เป็นอาจารย์ ตรงนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า หมอก็เป็นอาชีพที่มีเวลาและมีชีวิตแบบคนปกติได้เลย หลายๆ คนจะมีภาพจำว่า เป็นหมอต้องเท่ากับคนที่ทำงานหนัก ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่มีเวลาส่วนตัว ซึ่งพอเราโตขึ้นมาก็พบว่าทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามรูปแบบการใช้ชีวิต ถ้าเราบริหารเวลาเป็น”

“ผมจะทำงานตามเวลาราชการ คือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะมีการลงตรวจ ผ่าตัด ทำวิจัย และสอนนักศึกษา ซึ่งจะมีตารางเป็นประจำ ช่วงเย็นของวันธรรมดาสัก 2 วัน ผมจะจัดสรรเวลาไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนเพื่อที่จะมีเคสไพรเวทบ้าง สุดสัปดาห์ก็จะทำงานแบบเสาร์เว้นเสาร์ วันอาทิตย์ไม่ทำงาน ผมจะจัดสรรเวลาให้มีวันว่างสักวันหรืสองวันในหนึ่งอาทิตย์เพื่อไปรีเฟรชตัวเอง ทำในสิ่งที่อยากทำนอกเหนือจากเรื่องงานด้วย”

วินัยในชีวิตที่ได้จากการวิ่ง

“นอกจากว่ายน้ำแล้ว ผมเล่นบาสเก็ตบอลมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็เคยบาดเจ็บจากเล่นกีฬานี้อยู่บ่อยๆ เพราะบาสเก็ตบอลเป็นกีฬาแบบปะทะ ทำให้บาดเจ็บได้ง่าย พอมาเป็นหมอผ่าตัดเต็มตัวแล้ว ก็ยังไปเล่นอยู่บ้าง แต่ปรากฏว่ากระดูกข้อมือแตก ทำให้ต้องหยุดผ่าตัดไป 3 อาทิตย์ ต้องเปลี่ยนตารางการทำงานทั้งหมด ต้องเลื่อนคนไข้ ผ่าตัดไม่ได้ ซึ่งก็คิดว่ากีฬาปะทะแบบนี้คงไม่เหมาะกับเราแล้ว

ตอนนั้น คนเริ่มมาวิ่งหลายคน แล้วก็มีเพื่อนรอบๆ ตัววิ่งกันแล้ว เลยคิดว่าวิ่งก็คงจะดีเหมือนกันนะ ไม่ต้องปะทะด้วย แล้วเราก็มีความแข็งแรงของขาจากการเล่นบาสมาอยู่แล้ว จากนั้นเลยเริ่มวิ่ง ยิ่งวิ่งยิ่งสนุก พอไปต่างประเทศ ได้ไปวิ่งในสวนสาธารณะของเขา หรือวิ่งในเมืองแบบซิตี้รัน ก็ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ เพราะไปอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แปลกตา อากาศดี ธรรมชาติสวย ตึกรามบ้านช่องและบรรยากาศที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง แบบโอ้ย มีความสุขมาก ตอนแรก ผมไม่ได้มองถึงมาราธอนเลยนะ แต่วิ่งไปสักพักก็บอกกับตัวเองว่า มาราธอนเหรอ ไหนมาลองสักหน่อยแล้วกัน เลยเริ่มจริงจังกับการลงแข่งมาราธอนประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่เราได้จากการวิ่งคือ ได้เพื่อน ได้เจอธรรมชาติ ได้ท่องเที่ยว ได้อยู่ในพื้นที่โล่งแบบที่ชอบ ผมมีวินัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น นั่นส่งผลต่อสุขภาพที่ดี ซึ่งสุขภาพที่บอก ไม่ใช่สุขภาพจากการวิ่งนะ แต่จากการวินัยที่เราต้องมีเพื่อที่จะไปวิ่ง ทั้งการนอนที่ไวขึ้น การควบคุมการทานให้ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ถ้าไปปาร์ตี้กับเพื่อน ก็จะดื่มน้อยลง เพราะรู้ว่าพรุ่งนี้จะไปวิ่งนะ ทุกอย่างมันมาทางที่ดีหมดเลย”

วิทยาศาสตร์การวิ่งมาราธอน 

“หลังจากที่ได้รับสิ่งที่ดีจากการวิ่ง ผมได้เปิดวิชาวิทยาศาสตร์การวิ่งมาราธอน โดยจะเป็นวิชาเลือกให้นักศึกษาแพทย์ศิริราชปี 2 และ 3 สามารถมาลงเรียนได้ เนื้อหาหลักๆ คือเราจะสอนให้นักศึกษารู้ว่าการวิ่งคืออะไร การทำงานของหัวใจและร่างกายระหว่างการวิ่งคืออะไร โภชนาการระหว่างการวิ่ง การเตรียมตัว รวมทั้งอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้ อาการบาดเจ็บแบบไหนที่พบได้บ่อย ก็จะนำความรู้ของคณะแพทย์กับความรู้เกี่ยวกับการวิ่งมาบูรณาการเข้าด้วยกัน แล้วก็พาพวกเขาไปหัดวิ่งด้วย โดยวิทยากรที่เราเชิญมาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการวิ่งอย่าง ครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี ซึ่งสำหรับผม ท่านคือศาสตราจารย์แห่งการวิ่งและท่านก็น่ารักมากๆ หรือ หมอเมย์ พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู แล้วก็จะมีอีกหลายๆ ท่านที่มาช่วยสอนน้องๆ

สิ่งที่ตั้งใจไว้คือ เราหวังว่าวันหนึ่ง ถ้าเรามีนักวิ่งในสนามที่เป็นคุณหมอเยอะๆ แล้วหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ก็จะมีคุณหมอที่สามารถไปช่วยเหลือได้ หรือแนะนำอะไรต่อมิอะไรได้ ตอนนี้ยังเป็นคอร์สสั้นๆ ซึ่งอนาคตอาจจะพัฒนาเป็นหลักสูตรแบบจริงจังมากขึ้น” 

เล่าเรื่องอาหารและวัฒนธรรมผ่านคอลัมน์ “หมอบัวพาทัวร์อิตาลี

“ตอนไปเรียนต่อที่อิตาลี เราออกไปกินข้าวทุกวันไม่ไหวเพราะมันแพง แล้วถ้าจะซื้ออาหารไทย ไปร้านอาหารไทย ร้านอาหารจีน หรือซูเปอร์ที่ขายวัตถุดิบของเอเชียก็ต้องเดินทาง แล้วของก็แพงกว่า เก็บยากกว่า ก็เลยซื้อที่ซูเปอร์หน้าบ้านนี่แหละ ซึ่งราคาเขาก็ถูก อย่างสปาเก็ตตี้ 1 กิโลกรัม ยูโรเดียว ตอนนั้นก็ 40-50 บาท เครื่องปรุงก็ราคาไม่แพง เลยคิดว่ามาทำอาหารอิตาลีกินดีกว่า อีกอย่าง เราก็ไปอยู่ถึงที่นั่นแล้ว ทุกอย่างมันหยิบจับง่าย หาง่าย ราคาถูก ทำมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ค่อนข้างคุ้นกับการทำอาหารอิตาลีมากที่สุด แล้วระหว่างทำอาหาร ผมพบว่าตัวเองก็มีความสุขด้วย เพราะชอบทำอะไรที่เป็นฝีมือตัวเอง เวลาทำเองเรามีโอกาสได้เลือกวัตถุดิบดีๆ มาใช้ เช่น ชีสจากเมืองนี้ ใช้เส้นแบบนี้ ยิ่งถ้านัดเพื่อนๆ มาทำด้วยกัน มันก็สนุกและมีความสุข จนความสุขนี้ทำให้มีโอกาสได้เขียนคอลัมน์หนึ่งชื่อ “หมอบัวพาทัวร์อิตาลี” ให้กับนิตยสารชื่อ Health News Thailand และ Single Life โดยเนื้อหาจะเน้นหนักไปที่อาหารและวัฒนธรรมการกินของอิตาลี จะเขียนเดือนละครั้ง เขียนมาได้ประมาณ 4-5 ปีได้แล้ว และยังเขียนมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ แต่ก็แอบอู้บ้างอะไรบ้าง สงสาร บก. มากเลย (หัวเราะ)”

เพจที่เกิดขึ้นเพื่อให้สองเต้านั้นเท่ากัน 

“ผมเริ่มคิดว่าจะทำเพจ “เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua” ประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ตอนจบศัลยแพทย์มาแรกๆ ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีเฟสบุ๊ก ก็มาดูว่า เอ๊ะ นอกจากจะใช้คุยกับเพื่อนตอนที่อยู่ต่างประเทศแล้ว เรายังสามารถใช้เฟสบุ๊กเป็นพื้นที่ในการสื่อสารและให้ความรู้ในสิ่งที่เรามีได้ไหม โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ในเพจจะเป็นการนำความรู้เกี่ยวกับเต้านม ตั้งแต่การผ่าตัดศัลยกรรมเต้านม การรักษา การเสริมสวย การดูแลแผล มาสื่อสารในรูปแบบของความรู้ภาคประชาชนที่ไม่มีศัพท์เทคนิคยากๆ ของหมอเลย แล้วทำไมต้องสองเต้าที่เท่ากัน ก็เพราะจากประสบการณ์ในการทำงาน ผมพบว่า เต้านมจะเล็กหรือใหญ่ไม่ได้มีผลต่อการใช้ชีวิต แต่คนที่อยู่ยากจริงๆ คือคนที่เต้านมไม่เท่ากัน เช่น ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ หน้าอกมีความผิดปกติ หรือคนที่ถูกตัดเต้านมไป ผมอยากทำเพจนี้เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้หญิงที่ต้องเจอปัญหานี้ดีขึ้น ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นคือ คุณภาพชีวิตที่ใส่เสื้อใน 2 ข้างแล้วบาลานซ์กัน ทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ปกติ ไปทำงานได้ ไปออกกำลังกายได้ 

ในขณะที่เนื้อหาแบบเดียวกันนี้ ถ้าเราพูดในห้องตรวจมันก็จะจบในห้องตรวจ มีคนฟังอยู่ไม่กี่คน บางทีไปพูดต่อก็จำไม่ได้ ไม่เหมือนกันละ แต่พอเรามาเขียน มาทำคลิป มาให้ความรู้ในเพจ ถึงคนอ่านไม่ใช่คนไข้เรา แต่เวลาพวกเขาอ่าน ถาม หรือนำความรู้ในเพจไปเป็นแหล่งอ้างอิงที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิต มันเป็นสิ่งที่ดีมากเลย ผมดีใจและแฮปปี้ที่สุด ซึ่งคนที่เข้ามาติดตามไม่ได้มีเพียงแค่ประชาชนอย่างเดียว แต่รวมไปถึงคุณหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ และญาติคนไข้ด้วย”

ชีวิตที่สมดุลและมีคุณภาพ 

“ดูเหมือนว่าผมจะทำหลายอย่างนะ แต่เอาจริงๆ ทั้งงานที่ทำ รวมถึงกิจกรรมที่ชอบ ไม่ได้เยอะเลย ผมจะทำน้อยอย่าง แต่ว่าแต่ละอย่างจะทำลงมือทำอย่างตั้งใจและทำให้ดีที่สุด อย่างตอนนี้คนฮิตเซิร์ฟสเก็ตกัน ผมคิดว่าถ้าไปลองเล่นก็น่าจะสนุกดี แต่ว่าอาจจะทำได้ไม่ดีเพราะว่าไม่มีเวลาซ้อม กลัวเจ็บ ก็เลือกที่จะไม่ไป แต่จะเลือกเฉพาะกิจกรรมที่อยากทำและมีเวลาให้จริงๆ คนก็เลยมองว่า “หมอเก่งจังเลย ทำได้ตั้งหลายอย่าง” จริงๆ ผมทำได้ดีไม่กี่อย่างหรอก เพียงแต่ว่าสิ่งที่เลือกจะพยายามไปให้สุดทาง ก็เลยค่อนข้างที่จะมีคุณภาพ 

สำหรับการจัดสรรเวลา ถ้าเราจัดให้มีคุณภาพ สิ่งที่ตามมาก็มีคุณภาพด้วย เช่น ในการนัดตรวจคนไข้ ตัวผมอยากรับนัดทั้งหมดแหละ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าถ้านัดทั้งหมดก็จะเกินกว่ากำลังของเรา ผมจะนัดคนไข้ในจำนวนที่ไม่มากจนเกินไป ให้อยู่ในจำนวนที่เรารับไหว เมื่อเรามีเวลามากพอ เราจะใช้เวลาไปกับคนไข้แต่ละคนได้มากขึ้น สามารถดูแลพวกเขาได้อย่างเต็มที่ โดยที่เราเองก็ไม่เหนื่อยจนล้า ทำให้ทั้งชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวมีความสมดุล มีเวลานอกเหนือจากงานไปทำอย่างอื่นที่รักและได้พักบ้าง”

เพราะคุณคือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

“ผมได้รับพลังใจจากการได้ช่วยคนไข้ในทุกๆ วัน นั่นเป็นสิ่งที่ดีมากเลยนะ เหมือนทุกวันนี้ที่ตื่นขึ้นมา เราได้ออกไปทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น เป็นประโยชน์กับคนอื่น ผมยังมองภาพตัวเองเลยว่า ถ้าเรามีรายได้มากมาย ใช้เงินซื้อทุกอย่างได้ แต่ว่าไม่เป็นประโยชน์กับโลกใบนี้ ไม่มีโอกาสได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เราจะมีความสุขได้จากอะไร เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ผมมีความสุขและมีพลังที่จะลุกขึ้นจากเตียงไปทำงานทุกเช้า เพราะว่าหน้าที่การงานที่เราทำกำลังสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ อย่างน้อยก็คนไข้ ลูกศิษย์ และเพื่อนร่วมงาน

ในแง่ของชีวิตส่วนตัว ความสุขของหมอคือการมีสุขภาพที่ดี มีคนรักที่อยู่รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนไข้ เพื่อนๆ ที่ทำอาหารด้วยกัน ชิมไวน์ด้วยกัน เพื่อนที่วิ่งและออกกำลังกายด้วยกัน รวมไปถึงการได้เป็นอาจารย์ ผมชอบสอนมากๆ เพราะการที่เราสอน ผมได้ส่งต่อความรู้ที่มีเพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์สามารถนำความรู้นี้ไปช่วยคนอื่นต่อไปได้อีก”

ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้น

“คุณพ่อของผมเป็นคุณหมอที่ถอดแบบบุคลิกลักษณะของคุณหมอในยุคคลาสสิคมาทุกกระเบียดนิ้ว เพราะคุณพ่อเป็นหมอศัลยกรรมที่ทำงานหนักและรักงานของท่านมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาคนไข้ก็จะทุ่มสุดตัว หรือหน้าที่ของการเป็นอาจารย์หมอก็จะเข้มงวดมาก ส่วนคุณแม่เป็นคนที่มีจิตวิทยา มีความเข้าอกเข้าใจ และคนอ่อนโยนนุ่มนวล ชอบถ่ายทอดสิ่งที่มีให้คนอื่น ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดมายังตัวของผม ผมได้ความทุ่มเทแบบคุณพ่อและความนุ่มนวลของคุณแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลอมรวมให้ผมเป็นผมในทุกวันนี้ ได้นำสิ่งที่ท่านส่งต่อให้มาใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน” 

สร้างสะพานของการให้เพื่อส่งต่อไปไม่รู้จบ

“สิ่งที่ผมอยากจะทำ นอกเหนือไปจากอยากให้คนไข้มะเร็งเต้านมมีสิทธิ์ในการรักษาได้ทุกอย่าง ทั้งการรักษา เสริมสร้าง ตกแต่งต่างๆ และสามารถเบิกจ่ายได้ เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งระหว่างและหลังการรักษาแล้ว อีกหนึ่งความตั้งใจคือการเขียนตำราเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การดูแลคนไข้ของตัวผมเอง ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมถึงภาคประชาชน เพื่อที่จะเป็นผลงานที่ทิ้งไว้ให้คนอื่นสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ต่อไป นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยากทำมากและผมจะทำให้สำเร็จครับ”

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง 
ภาพบางส่วน: นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์
ขอบคุณสถานที่: โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

บทความที่เกี่ยวข้อง