Death Cleaning แนวคิดการจัดบ้านเพื่อลดภาระให้คนข้างหลัง

Care / Self Care

การจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีของใช้น้อยๆ เท่าที่จำเป็น นอกจากจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของตัวเราในวันนี้ ยังส่งผลดีไปถึงคนที่เรารักในวันข้างหน้าด้วย

นี่คือแนวคิดการจัดระเบียบบ้านจากประเทศสวีเดนที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Death Cleaning’ มาจากคำว่า döstädning ในภาษาสวีเดน ซึ่ง dö แปลว่า death และ städning แปลว่า cleaning นั่นเอง

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้บ้านรก คือการเก็บของไว้มากเกินไป แต่การ ‘ไม่เก็บ’ นั้นช่างเป็นเรื่องยากยิ่งนัก ของบางชิ้นแม้จะไม่ได้ถูกหยิบมาใช้เป็นปีๆ แต่เราก็ไม่กล้าทิ้งเพราะเสียดายเงิน บางชิ้นอยู่มานานจนผูกพัน บางชิ้นก็ชวนให้อาลัยอาวรณ์ถึงเรื่องราวและผู้คนต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต นั่นทำให้เรายังเก็บๆๆๆๆ แล้วก็เก็บไว้ จนทำให้มีของเต็มบ้านไปหมด

แนวคิดการจัดบ้านแบบ Death Cleaning แม้ชื่อจะฟังดูน่าตกใจ แต่กลับช่วยกระตุ้นให้เราทิ้งอะไรๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะการทิ้งนั้นไม่ได้โฟกัสที่ตัวเราเป็นหลัก แต่เป็นการทำเพื่อคนที่เรารัก เช่น คนในครอบครัว แฟน หรือเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นคนที่ต้องเผชิญกับข้าวของมากมายที่เราทิ้งไว้ ในวันที่เราไม่อยู่ 

นักเขียนชาวสวีเดน ชื่อ Margareta Magnusson เป็นผู้ที่ทำให้คำว่า Death Cleaning กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการตีพิมพ์หนังสือ ชื่อ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning: How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter ในปี 2017 (และกลายเป็นหนังสือขายดีของ New York Times ในเวลาต่อมา) 

เธอพยายามจูงใจให้ผู้ที่มีอายุประมาณ 65 ปีหันมาทำ Death Cleaning กัน เพราะน่าจะเป็นช่วงวัยกำลังดีที่เริ่มมีเวลาว่างจากการงาน (หลังเกษียณ) ยังแข็งแรงพอที่จะจัดการกับงานบ้านได้ และเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตที่เหมาะกับการเตรียมตัวเตรียมใจถึงวันที่ต้องจากโลกนี้ไป อันเป็นสัจธรรมของชีวิตที่ต้องเกิดกับทุกคน 

การจัดบ้านแบบ Death Cleaning ไม่ใช่แค่การทำความสะอาดหรือจัดระเบียบธรรมดา แต่คือการชำระสะสางสมบัติแต่ละชิ้นอย่างตั้งใจ ซึ่งคุณ Magnusson แชร์ให้ฟังว่าขณะที่เธอกำลังทำ Death Cleaning ของตัวเองนั้น เธอได้เจอของมีค่าหลายชิ้นระหว่างสะสางข้าวของ เช่น สร้อยคอ เธอใช้วิธีนำไปขายแล้วแบ่งเป็นเงินให้ลูก 5 คนอย่างเท่ากัน จะได้หมดห่วงว่าลูกต้องมาเสียเวลาหรือมีปัญหากันในวันที่ต้องมาจัดการสมบัติของแม่ 

ตามหนังสือของคุณ Magnusson ได้แนะนำไว้ว่า ให้เริ่มต้นทำ Death Cleaning จากจุดที่จัดการง่ายที่สุด เพราะมีแนวโน้มที่จะทำได้สำเร็จ ทำให้เรารู้สึกดี มีกำลังใจทำต่อไป เช่น ห้องเก็บของซึ่งเป็นห้องที่มักจะเต็มไปด้วยสิ่งของเก่าเก็บไม่จำเป็นอยู่เยอะ 

ควรเลือกทิ้งของชิ้นใหญ่ๆ หรือชิ้นที่กินพื้นที่มากๆ ก่อน จะทำให้บ้านดูโล่งได้เร็ว และควรจัดการสิ่งของชิ้นเล็กๆ ที่เป็นชิ้นที่มีความหมายต่อจิตใจไว้หลังสุด เช่น จดหมาย หรือเอกสารต่างๆ รวมถึงพวกไฟล์ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ด้วย 

ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนให้ไปที่ตู้เสื้อผ้า เพราะมันค่อนข้างง่ายในการแยกแยะเสื้อผ้าที่เราใส่ไม่ได้ ถือโอกาสจัดระเบียบและสร้างระบบให้กับตู้เสื้อผ้าไปในตัว เหลือเฉพาะตัวที่สวมใส่เป็นประจำและเสื้อผ้าตามฤดูกาลก็พอ

เวลาที่พูดถึงคำว่า ‘ทิ้ง’ เราไม่ได้หมายถึงการทิ้งลงถังขยะเสมอไป แต่หมายถึงการนำไปบริจาค ขาย หรือส่งต่อให้คนอื่นใช้ประโยชน์ต่อไป (อ่านเพิ่มเติม: 3 ช่องทางดีๆ ส่งต่อ ‘ของบริจาค’)

หัวใจสำคัญของ Death Cleaning คือการทิ้งไปให้มากที่สุด และเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น มีหลักการประเมินที่ช่วยให้ตัดใจทิ้งได้ง่ายดังนี้ค่ะ

  • ประเมินจากจำนวน: อย่าเก็บของมากชิ้นเกินไป ให้เก็บเท่าที่ใช้งานจริง เช่น เก็บจานชามช้อนให้มีจำนวนพอดีคนในบ้าน ส่วนที่เกินทิ้งไป อย่าใช้คำว่า ‘เผื่อไว้ก่อน’ เพราะจะทำให้เราใจอ่อนจนเก็บไว้มากเกิน
  • ประเมินความจำเป็น: ของชิ้นไหนที่เก็บไว้จนลืมไปเลยว่าเคยมี หรือของที่อยู่กับเรามาเป็นปีๆ แต่ไม่เคยหยิบมันมาใช้เลย ของเหล่านี้ถือว่าไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต ควรตัดใจทิ้ง
  • ประเมินคุณค่า: ของบางชิ้นถูกเก็บไว้เพียงเพราะเราเสียดาย ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าของชิ้นนี้ไปอยู่กับคนอื่นจะมีคุณค่ามากกว่าไหม ถ้าคำตอบคือใช่ ควรตัดใจยกให้คนอื่นดีกว่า 

นอกจากการทิ้งไป การซื้อของใหม่ให้น้อยลงก็สำคัญ เพราะยิ่งซื้อก็ยิ่งมีของให้ต้องจัดการเยอะขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องหยุดซื้อแบบสิ้นเชิง เพียงแต่ให้คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน ไม่จำเป็นต้องซื้อ ‘เผื่อไว้’ หรือไม่ควรซื้อเพียงเพราะคำว่า ‘ลดราคา’ 

แม้จะมีคำว่า  Death เป็นส่วนประกอบ แต่ภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า ในทางกลับกันนี่อาจเป็นกระบวนการชำระล้างจิตใจไปพร้อมกับกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว 

ระหว่างทางที่เราสะสางสิ่งของแต่ละชิ้น ถือเป็นช่วงเวลาให้เราได้ดื่มด่ำกับความทรงจำต่างๆ อย่างมีความสุข ควรใช้เวลาให้เพลิดเพลิน ไม่ต้องเคร่งเครียด อาจชวนคนที่เรารักมาร่วมแชร์ความทรงจำไปด้วยกันก็ได้ และแม้ว่าการทิ้งของบางชิ้นอาจน่าเสียดาย แต่สุดท้ายเราต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้ไปตลอดกาล การตัดใจบอกลาในตอนนี้และทิ้งไปอย่างไม่มีอะไรค้างคาใจ ช่วยปลดปล่อยให้เราเบาใจ และปลดภาระให้กับคนต้องมาสะสางแทนเราในวันข้างหน้า 

แม้ว่าหัวใจสำคัญของ Death Cleaning คือการเตรียมตัวไปสู่ความตายในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า แต่เราสามารถจัดระเบียบบ้านโดยใช้หลักการ Death Cleaning ได้ในทุกช่วงวัย ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงบั้นปลายชีวิตก่อนก็ได้ค่ะ เพราะยิ่งเราปล่อยวางได้เร็วเท่าไหร่ ชีวิตของเราก็จะเบาสบายเร็วขึ้นเท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม เคล็ดลับการจัดระเบียบบ้าน: KonMari Method 

อ้างอิง:
bhg.com
goodhousekeeping.com
thespruce.com

บทความที่เกี่ยวข้อง