ไขข้อข้องใจ…ทำไมคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเก็บขยะ

Care / Social Care

หนึ่งในประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮาจากสื่อและชาวเน็ตทั่วโลกในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา คือภาพการเก็บขยะหลังการแข่งขันทุกแมตช์โดยกลุ่มแฟนบอลชาวญี่ปุ่น พวกเขาเก็บกันจริงจังมากมายแม้ไม่ใช่ขยะของตัวเอง กลายเป็นภาพที่คนทั่วโลกแชร์และชื่นชมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย 

บางคนบอกว่านี่เป็นแค่การสร้างกระแสเท่านั้น แต่บางคนก็แย้งว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก มีบันทึกว่าแฟนบอลชาวญี่ปุ่นเริ่มเก็บขยะหลังการแข่งขันมาตั้งแต่บอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศสแล้ว การเก็บขยะสำหรับคนญี่ปุ่นไม่น่าจะใช่กระแสที่ผ่านมาชั่วคราวแล้วก็ผ่านไป แต่มันคือวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในคนญี่ปุ่นมานานแล้วต่างหาก

ทำไมคนญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่) ถึงให้ความสำคัญกับการเก็บขยะทั้งในบ้านและในที่สาธารณะ? hhc Thailand หาคำตอบมาให้คุณแล้ว…ที่นี่

แนวคิดเรื่องความสะอาดที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิต

ข้อสันนิษฐานแบบง่ายๆ มาจากสำนวนสุภาษิตญี่ปุ่นที่บอกว่า “เมื่อนกน้ำบินจากไปที่อื่น มันจะไม่ทิ้งร่องรอยไว้” ซึ่งมาจากวิถีชีวิตของนกน้ำจริงๆ เพราะพวกมันมักจะบินขึ้นจากน้ำอย่างสวยงามโดยไม่ทำให้เกิดคลื่นตามหลัง ราวกับไม่เคยอยู่ตรงนั้นมาก่อน เมื่อนำมาใช้เปรียบเปรยกับมนุษย์ ก็หมายถึงความรับผิดชอบของตัวเราในการรักษาสภาพแวดล้อมให้เรียบร้อยก่อนจะจากไปที่อื่น เช่น ล้างจานหลังกินอาหารทันที จัดรองเท้าให้เรียบร้อยเมื่อถอดออก พับเก็บที่นอนหลังตื่นนอนทุกเช้า หรืออาจเป็นการเก็บกวาดขยะให้สะอาดหลังดูการแข่งขันฟุตบอลจบก็ได้ 

แม้จะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เมื่อรวมกันแล้วก็ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าทุกคนรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ สังคมส่วนรวมก็จะไม่เดือดร้อน 

แนวคิดเรื่องความสะอาดกับความรับผิดชอบยังถูกปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะนักเรียนระดับประถมและมัธยมที่จะต้องมีการแบ่งเวรทำความสะอาดที่โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนไทยก็มี แต่มีจุดต่างกันตรงที่วัฒนธรรมการใช้ ‘Zokin’ หรือผ้าทำความสะอาด ที่จะนำชุบน้ำบิดแล้วใช้สองมือดันผ้าถูไปบนพื้นด้วยท่าก้นโด่ง จากมุมด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง (ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่อง ‘อิคคิวซัง’ คงนึกภาพออกทันที) เป็นท่าถูพื้นที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกโรงเรียน เน้นถูกันจริงจัง ไม่ได้แค่ทำความสะอาดพอเป็นพิธี แถมบางโรงเรียนมีการจัดแข่งถูพื้นว่าใครจะเร็วกว่ากันด้วย 

ไม่เพียงแต่เด็กนักเรียนเท่านั้น ในระดับผู้ใหญ่ก็มีการแข่งกีฬาเก็บขยะ ที่เรียกว่า Spo-Gomi Contests’ (Spo มาจากคำว่า Sport และ Gomi แปลว่า ขยะ) โดยจะมีการแบ่งทีมกันแข่งเก็บขยะตามท้องถนนภายในเวลาที่กำหนด และต้องแยกขยะแต่ละประเภทให้ถูกต้องด้วย ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะใส่ถุงมือหนาสีขาว มีคีมไว้คีบขยะ และถุงขยะใบใหญ่ 

การแข่งขันแต่ละครั้งจัดโดยหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกับบริษัทเอกชนในพื้นที่ ผู้เข้าร่วมก็จะมีทั้งคนทำงาน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ก่อนแข่งทุกคนจะพูดพร้อมกันว่า “การเก็บขยะเป็นกีฬา!” ถือเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้การเก็บขยะกลายเป็นเรื่องสนุกมากกว่าน่าเบื่อ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรทำ และเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้

หลัก 3Rs กับปรัชญา Mottainai

อีกคำตอบว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงใส่ใจเรื่องความสะอาด อาจมาจากการวางรากฐานเรื่องระบบจัดการขยะในประเทศที่มีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆ มากมาย และกลายเป็นการบ่มเพาะจิตสำนึกของการไม่เห็นขยะเป็นเรื่องเล็กๆ 

แม้ว่าญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาเรื่องปริมาณขยะมหาศาลไม่แพ้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติก แต่กลยุทธ์หลักที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้แก้ปัญหาขยะตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา คือหลัก 3Rs ซึ่งหมายถึง Reduce (ลดขยะ) Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) โดยมีกฎหมายพื้นฐานด้านรีไซเคิลมาช่วยควบคุม ร่วมกับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน โดยเฉพาะการรื้อฟื้นแนวคิด ‘Mottainai’ ให้กลับมาใหม่

Mottainai (ออกเสียงว่า มอต-ไต-ไน่) แปลตรงตัวว่า เสียดาย มีรากฐานมาจากคำสอนในศาสนาชินโตที่เชื่อว่าสิ่งของและทรัพยากรทุกอย่างล้วนมีจิตวิญญาณและมีคุณค่า จึงควรใช้ด้วยความเคารพและรู้คุณค่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะทิ้งของที่ยังใช้ได้อยู่ ซึ่งรวมถึงการกินข้าวให้หมดจาน ไม่กินทิ้งกินขว้าง และการซ่อมแซมเสื้อผ้าข้าวของให้กลับมาใช้งานได้แทนที่จะทิ้งไป

แนวคิด Mottainai ที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งนี้ทำให้หลัก 3Rs เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตได้อย่างกลมกลืน และทำให้การรณรงค์ลดปัญหาขยะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น โดยทำควบคู่ไปกับการแยกขยะกันอย่างจริงจัง โดยญี่ปุ่นจะแบ่งขยะออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือ ขยะที่เผาได้ ขยะที่เผาไม่ได้ และขยะที่รีไซเคิลได้ ซึ่งถ้าใครยังงงกับการคัดแยก ก็มีแอพที่ช่วยบอกประเภทของขยะเพื่อสะดวกในการทิ้งให้ถูกต้องด้วย

จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ คุณผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพแล้วว่าจิตสำนึกเรื่องความสะอาดและการเก็บขยะของคนญี่ปุ่นนั้นถูกบ่มเพาะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผสมผสานความเชื่อที่เป็นนามธรรมร่วมกับหลักการที่ปฏิบัติได้จริง มีความจริงจังเข้มงวดกับการจัดการขยะแต่ก็ทำให้มันเป็นเรื่องสนุกด้วย และที่สำคัญก็คือ–ประสบความสำเร็จได้เพราะความร่วมมือของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา และประชาชนคนทั่วไป 

การรักษาความสะอาดและการแยกขยะอาจเริ่มต้นจากภายในบ้านของเรา แล้วค่อยๆ ขยับไปชุมชนใกล้ตัว จากนั้นก็ขยายไปสู่การใส่ใจในทุกที่ที่เราเดินทางไป เพราะโลกใบนี้ก็คือบ้านหลังใหญ่ที่เราทุกคนควรช่วยกันดูแล



ที่มา: 
www.nippon.com 
www.japan-guide.com
web-japan.org
www.weforum.org

บทความที่เกี่ยวข้อง