‘มารยาทบนโลกออนไลน์’ ที่ชาวเน็ตควรรู้และควรทำ

Care / Social Care

เห็นด้วยไหมคะว่า ‘สังคมออนไลน์’ เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากจริงๆ ทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย ข้อดีก็คือ ทำให้การเข้าสังคม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด แสดงความเห็นเป็นเรื่องง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว แต่…ความสะดวกง่ายดายเกินไปก็มีผลเสียตามมา เพราะมันก็ทำให้ง่ายต่อการแชร์อะไรที่ไม่เหมาะสมออกไปด้วยเหมือนกัน 

ชีวิตดี by hhc Thailand อยากชวนคุณผู้อ่าน และ ‘ชาวเน็ต’ ที่น่ารักทุกท่าน มาร่วมกันทำความเข้าใจ ‘มารยาทบนโลกออนไลน์’ ทักษะสำคัญที่เราควรรู้และควรทำให้ได้ เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในทุกพื้นที่เป็นไปอย่างสงบสุขและสร้างสรรค์ค่ะ

หลักการที่ใช้ได้ดีทั้งสังคมออนไลน์และออฟไลน์ คือการเอาใจเขามาใ่ส่ใจเรา ถ้าเราอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร เราก็ควรปฏิบัติกับคนอื่นอย่างนั้นเหมือนกัน และสิ่งไหนที่เราไม่ชอบ เราก็อย่าไปทำกับคนอื่น นี่เป็นสมการง่ายๆ ที่หลายคนมักลืมไป 

Do: ก่อนจะเขียนคอมเมนท์อะไร ลองหยุดคิดดูสักนิดว่า ถ้าตัวเราเป็นคนรับข้อความนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกดีก็ทำต่อไป แต่ถ้าไม่…ยั้งไว้ดีกว่า

ถ้ากำลังโกรธใครมากๆ หรือเศร้าเสียใจมากๆ แน่นอนว่าการระบายความรู้สึกออกไปอาจช่วยให้ความหนักหนามันเบาบางลงได้ แต่…แน่ใจหรือเปล่าว่ามันช่วยได้จริง หรือยิ่งทำให้แย่กว่าเดิม? อย่าเพิ่งโพสต์ข้อความ หรือเขียนคอมเมนท์ขณะที่อารมณ์อ่อนไหวเลยดีกว่าค่ะ เพราะเรามักจะสติหลุด ลืมใช้เหตุผล ลืมคิดถึงผลที่ตามมา พอสติกลับคืนก็ต้องมานั่งเสียใจกับสิ่งที่ทำไป เช่น เผลอไปเขียนโจมตีคู่กรณีด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือไปแฉข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น (จะเข้าข่ายผิดกฏหมายโดนฟ้องร้องเป็นเรื่องราวใหญ่โตตามมา)

Do: เวลาโกรธหรือเสียใจ ให้ถอยห่างจากโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกทาง หาวิธีระบายอารมณ์อย่างอื่นแทน เช่น ออกไปเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย กระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข คือ โดพามีน (Dopamine) เซโรโทนิน (Serotonin) และเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ทั้งหมดนี้เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้รู้สึกดี ลืมโมโห และลดอาการซึมเศร้าได้ 

อ่านเพิ่มเติม:
โลกออนไลน์ทำร้ายสมองอย่างไร
Social Media Detox คืออะไร

เพราะสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ง่ายต่อการแสดงความเห็น เราจึงได้เห็น ‘นักวิจารณ์’​ หรือ ‘นักรีวิว’ อยู่มากมาย แต่หลายๆ ครั้งที่คำวิจารณ์หรือการรีวิวนั้นไม่เป็นผลดีกับใครเลย เรียกว่าเป็นการ ‘ติเพื่อทำลาย’ มากกว่า ‘ติเพื่อก่อ’ โดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย ใส่สีเกินความจริง โจมตีที่บุคคลมากกว่าผลงาน หรือเน้นระบายอารมณ์มากกว่าจะใช้เหตุผลคุยกัน แบบนี้มีแต่จะสร้างบรรยากาศที่เป็นลบ และอาจจบที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท กลายเป็นผลเสียกับทุกฝ่าย ตัวอย่างกรณีที่มีลูกค้าไปรีวิวร้านอาหารด้วยข้อความหยาบคายและไม่เป็นความจริง เพียงเพราะไม่สบอารมณ์บางอย่าง สุดท้ายกลายเป็นคดีความ โดนเจ้าของร้านฟ้องกลับต้องไปจบที่ชั้นศาล

Do: ฝึกใช้ ‘Constructive feedback’ คือการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการแก้ไขในทางที่ดีขึ้น เลือกใช้ถ้อยคำที่สุภาพ เหมาะสม ไม่โจมตีที่ตัวบุคคล แต่โฟกัสที่ผลงานหรือเหตุการณ์นั้นๆ โดยใช้เหตุผลที่ยึดจากข้อเท็จจริงไม่ใช่ความคิดเห็น และไม่ได้บอกแค่ปัญหาที่เกิดแต่ควรเสนอวิธีแก้ไขด้วย 

อย่าส่งต่อข้อมูลของคนอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม ไม่ว่าจะเป็นการอัพโหลดรูปภาพหรือวิดีโอที่มีบุคคลอื่นติดอยู่ด้วย ไม่ถ่ายภาพหน้าจอบทสนทนาที่เราคุยกับบุคคลอื่นมาแชร์ต่อ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ไม่ว่าจะในโซเชียลมีเดียส่วนตัวของเราหรือพื้นที่สาธารณะก็ตาม ถ้าไม่ได้รับอนุญาตก็ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวที่ทั้งเสียมารยาทและอาจผิดกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุถึงตัวเจ้าของข้อมูลนั้นได้ 

Do: ขออนุญาตก่อนทุกครั้งถ้าคิดจะนำเสนอเรื่องราวของคนอื่น แม้จะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว เช่น ลูกหลานของเราเอง ก็ต้องได้รับความยินยอมก่อน ทำให้เป็นความเคยชินและเป็นเรื่องปกติเพราะนี่คือหลักมาตรฐานสากลค่ะ รวมถึงไม่ส่งข้อความแชทส่วนตัวไปรบกวนคนอื่นโดยไม่จำเป็น เช่น ส่งไปจีบ หรือไปตื๊อให้ซื้อของ ลองสังเกตว่าถ้าแชทหนักขวา มีแต่ข้อความของเรามากกว่า ส่วนอีกฝ่ายถามคำตอบคำ นี่คือสัญญาณเตือนให้หยุดส่งข้อความไปได้แล้วค่ะ

ควรตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจก่อนเผยแพร่ต่อ นี่คือมารยาทในการใช้โซเชียลมีเดียที่สำคัญมากในยุคที่เต็มไปด้วย Fake News เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวาย หรือเกิดความเข้าใจผิดๆ ที่อาจจะส่งผลเสียมากกว่าที่คิด ตัวอย่างเช่น การส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับสูตรรักษาโรคที่ฟังดูน่าสนใจ แท้ที่จริงเป็นเรื่องราวหลอกลวงที่ถูกส่งต่อกันมา และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถ้าทำตาม หรือการส่งต่อข่าวลืออาจทำให้มีบุคคลถูกเข้าใจผิด ทำให้เสียชื่อเสียง สร้างความเสียหาย หรือเสียโอกาสในเรื่องงานได้ 

Do: ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนทุกครั้ง ค้นหาข้อมูลได้ไม่ยากจากช่องทาง Search Engine เช่น Google หรือลองเข้าไปเช็กที่เว็บไซต์ของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย พึงระลึกไว้เสมอว่า เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดออกจากปากและพิมพ์จากนิ้วของเราทุกครั้ง

(อ่านเพิ่มเติม: ‘สูงวัย’ อย่าตกเป็นเหยื่อ ‘เฟคนิวส์’ )

การสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นเรื่องดี แต่บนพื้นที่ออนไลน์ต้องระวังมากๆ ค่ะ เพราะถือเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่ได้เห็นหน้า ไม่ได้ยินเสียง และอาจไม่ได้มีแต่คนที่เรารู้จักสนิทสนม ต้องระวังมุกตลกหรือการประชดประชันเสียดสีที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำร้ายความรู้สึกหรือถูกเข้าใจผิด และระวังการล้อเล่นที่ผิดที่ผิดทาง เช่น ไปคอมเมนท์เชิงตลกขบขันในโพสต์ของเพื่อนที่กำลังเศร้าอยู่

Do: อย่าอ้างคำว่า “ล้อเล่น” เพื่อเล่นมุกตลกล้อเลียน โดยเฉพาะเรื่องรูปร่าง หน้าตา เชื้อชาติ หรือความคิดความเชื่อ หรือแม้แต่เล่นกับคนที่สนิทกันก็ต้องระวัง เพราะแต่ละคนมีระดับความอ่อนไหวทางความรู้สึกต่างกัน และหลัก ‘กาลเทศะ’ ยังคงใช้ได้ดีกับการวางตัวในสังคมออนไลน์เช่นเดียวกับในสังคมออฟไลน์ ถ้าในชีวิตจริงเราไม่กล้าทำ ในโลกออนไลน์ก็ไม่ควรทำเช่นกัน 

สิ่งที่น่ากลัวของโลกออนไลน์ทุกวันนี้ก็คือ การเห็นผู้คนพูดจาก้าวร้าว ด่าทอ หยาบคาย คุกคาม ใส่ร้ายป้ายสี ในพื้นที่สาธารณะกันมากขึ้นจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ จะด้วยความสะใจ ขาดความยับยั้งชั่งใจ อารมณ์พาไป หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม ทำให้สังคมออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่บ่มเพาะความเกลียดชัง ชวนทะเลาะเบาะแว้ง และสร้างมลพิษทางอารมณ์ จนบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า…ถ้าพิมพ์สิ่งดีๆ ไม่ได้ก็ควรเงียบไว้ ไม่พิมพ์อะไรออกไปเลยยังจะดีกว่า

Do: เลือกพูดแต่สิ่งดีๆ ใช้คำพูดที่สร้างสรรค์ มีความเห็นอกเห็นใจกัน ลองให้อภัยกันก่อนจะรีบเคียดแค้นทันที เรื่องกวนใจเล็กๆ น้อยๆ ควรปล่อยผ่าน (นานๆ ทีจะระเบิดอารมณ์บ้างก็เข้าใจได้ค่ะ เพราะเราก็มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง) ถ้าคุยกับคนไม่สนิทหรือคนแปลกหน้า หรือเวลาที่ส่งข้อความในพื้นที่สาธารณะ ให้เลือกใช้ภาษาสุภาพไว้ก่อนค่ะ

(อ่านเพิ่มเติม:  ฝึกเป็น ‘คนใจดี’ ไม่ใช่แค่ดีต่อใจ แต่ยังดีต่อสุขภาพกายด้วย)

และนี่ก็คือบางส่วนของมารยาทบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนควรรู้และควรทำให้ได้ จะเห็นได้ว่ามันก็คือหลักการเดียวกับมารยาทที่เราควรทำให้ได้ในโลกออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดก่อนพูด พูดแต่สิ่งดีๆ พูดแต่สิ่งที่เป็นจริง ไม่ก้าวก่ายเรื่องของคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และถ้าไม่รู้จะพูดอะไร หรือไม่มีอะไรดีๆ จะพูดออกไป…ก็ลองเงียบเฉยไว้ดีกว่าค่ะ เพราะการเป็นผู้อ่านและผู้ฟังที่ดีก็เป็นสิ่งที่สังคมกำลังต้องการเช่นกัน



อ้างอิง:
rd.com
washingtonpost.com
cclickthailand.com 

บทความที่เกี่ยวข้อง