เชื่อว่าเกือบร้อยทั้งร้อยของพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ต่างประสบปัญหาเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ ลูกติดมือถือ!
และไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะยกอันตรายจากการเล่นมือถือมากเกินไปมาบอกลูกยังไง… เสียสายตา กระดูกคอผิดปกติ หรือนิ้วล็อก แต่… เจ้าลูกชายลูกสาวก็ดูจะไม่ใส่ใจสักเท่าไร ยังคงก้มหน้าก้มตาอยู่กับสมาร์ทโฟนของพวกเขาต่อไป
เราแนะนำว่าคราวหน้าให้คุณลองพูดสั้นๆ แค่นี้เลยว่า “เล่นสมาร์ทโฟนมากไป ระวังจะอ้วนนะ”
ติดสมาร์ทโฟน > กิน junk food > อ้วน!
ในเกาหลีใต้ มีการทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดสมาร์ทโฟนของวัยรุ่นจำนวน 53,000 คน แล้วพบว่า วัยรุ่นที่ใช้มือถือนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่จะกินอาหารแปรรูป (processed food) มากขึ้น และกินผักผลไม้น้อยลง ส่วนวัยรุ่นที่ใช้สมาร์ทโฟนนานเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวมากเกินปกติ
แน่นอนว่าข้อมูลดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่นักวิจัยทั้งหลายประหลาดใจแต่อย่างใด แต่เพราะสาเหตุอะไรน่ะเหรอ เรามาดูกัน…
ไถสมาร์ทโฟน ได้ออกกำลังแค่นิ้ว!: การนั่งเล่นสมาร์ทโฟนเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราจมอยู่กับเก้าอี้ โซฟา หรือเตียงนอน เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ทำให้ร่างกายไม่ได้เผาผลาญพลังงานเหมือนกับคนที่ออกไปเล่นกีฬา ทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือว่ากิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกาย ดังนั้น ยิ่งเล่นสมาร์ทโฟนมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าอาหารที่บริโภคเข้าไปจะกลายเป็นไขมัน!
ยิ่งเล่นมือถือเพลิน ก็ยิ่งกินเพลิน: ระหว่างที่เราจ้องตาแทบไม่กะพริบอยู่หน้าจอ ไม่ว่าจะแชทคุยกับเพื่อน นั่งส่อง Facebook คนที่แอบชอบ หรือไถฟีด Instagram ช็อปปิ้ง เวลาจะไหลผ่านไปรวดเร็วจนเราแทบไม่รู้สึกตัว ทำให้เมื่อหิว เราจึงมักควานหาของกินใกล้ตัวที่สามารถกินไปเล่นมือถือต่อไปได้ ซึ่งโดยมากก็คือ อาหารแปรรูป อาหารขยะ (junk food) เช่น ขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน และพวกอาหารแช่แข็งที่โยนเข้าไมโครเวฟแล้วกินได้ง่ายๆ แล้วเราก็มักไม่ทันมองหรือคิดเสียด้วยว่าอาหารที่เราเอาเข้าปากนั้นคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง (เพราะเรามัวแต่มองหน้าจอ) นี่นับเป็นการทำร้ายตัวเองหนึ่งขั้นตอนแล้ว แต่นอกเหนือจากนั้น เมื่อเรากินไปไถหน้าจอไป เรามักจะเพลิดเพลินกับการกิน จนกว่าจะรู้ตัวอีกที เราก็เบิ้ลทุกอย่างไปแล้วเรียบร้อย ที่สำคัญ การเล่นมือถือไปกินไป จะทำให้เรากินอาหารเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารแจ้งเตือนไปยังสมองไม่ทันว่า นี่เธอ ฉันอิ่มแล้วนะ (ยังจะกินอยู่ได้)
Blue Light กระตุ้นต่อมความหิว: สาเหตุสุดท้ายที่เล่นสมาร์ทโฟนมากไปแล้วทำให้อ้วน คือ มหันตภัยของแสงสีฟ้าจากหน้าจอ (blue light) ที่ไม่ได้ทำอันตรายต่อสายตาเราเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ชอบนอนเล่นสมาร์ทโฟนก่อนนอน แสงสีฟ้าจะไปยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน (Melatonin) รวมทั้งปลุกให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือ ฮอร์โมนความเครียด และฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) หรือฮอร์โมนความหิวขึ้นมาแทน ทำให้นอกจากเราจะนอนไม่หลับในเวลาที่ควรนอนแล้ว ก็ยังรู้สึกหิวจนต้องลุกไปต้มมาม่าหรือคว้าขนมนมเนยมากินกลางดึก ทั้งๆ ที่ตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำ IF!
โซเชียลมีเดีย… ต้นตอโรคซึมเศร้า วิตกกังวล
นอกจากการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปจะก่อให้เกิดภาวะอ้วน อันนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บอีกมากมายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายแล้ว การใช้โซเชียลมีเดียจนเกินพอดี ก็ยังอาจนำไปสู่ความป่วยไข้ทางใจได้อย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกับวัยรุ่นหรือหนุ่มสาวอายุน้อยๆ ที่จิตใจยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างเท่าทัน
ตึ้งๆๆๆ ทั้งวัน วิตกกังวลถามหากันพอดี: ลองนับดูว่าในสมาร์ทโฟนของคุณมีกี่แอพ และแอปอะไรบ้างที่คุณตั้งเปิดข้อความแจ้งเตือน (notification) ไว้ ทุกการแจ้งเตือนที่ดังตึ้งๆๆๆ หรือสั่นครืดๆๆ จะกดดันให้คุณต้องเปิดอ่าน Line, Messenger หรือคนที่มากดไลก์หรือคอมเมนต์โพสต์ของคุณใน Facebook, Instagram และ Twitter โดยที่ตัวคุณก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังถูกกดดัน นานๆ เข้า การที่ต้องคอยฟังข้อความแจ้งเตือนเหล่านี้จะกลายเป็นอุปนิสัยที่ทำเป็นประจำ จนหลายครั้งเวลาที่คุณห่างจากสมาร์ทโฟนเพียงไม่กี่นาที คุณก็จะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว กังวลว่าอาจจะมีข่าวสารอะไรที่คุณพลาดไปในไม่กี่นาทีนั้นหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ข่าวสารพวกนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องติดตามเร่งด่วนเลย
ซึมเศร้าเพราะเราเห็นแต่ความสุขของคนอื่น: ก่อนอื่น คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในโลกแห่งโซเชียลมีเดียนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นโลกที่คนเรางัดแต่ด้านมุมที่มีความสุขมาอวดกัน ดังนั้นการเสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมากเกินไป อาจส่งผลให้วัยรุ่นหลายคนที่รู้ไม่เท่าทัน เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับภาพของคนอื่นในโลกใบนั้นโดยไม่รู้ตัว ผลลัพธ์ก็คือ พวกเขาจะรู้สึก ‘ไม่มีความสุข’ เพราะคิดว่าทำไมตัวเองถึงไม่สวย หล่อ หรือหุ่นดี เหมือนอย่างเพื่อนๆ ทำไมถึงไม่ได้กินอาหารดีๆ พักโรงแรมหรู หรือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนคนอื่น และเพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้มีความสุขเหมือนอย่างที่เห็นในโซเชียลมีเดียบ้าง พวกเขาก็ต้องไปพยายามขวนขวายสิ่งเหล่านั้นให้ได้มา แต่การวิ่งไล่ล่าความสุขทางกายและวัตถุเหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อหลายครั้งไม่ได้มาก็อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
5 ข้อง่ายๆ ฝึกตนไม่ให้ตกเป็นทาสสมาร์ทโฟน
เมื่อการใช้สมาร์ทโฟนมากจนเกินพอดีส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจขนาดนี้ พ่อแม่หลายคนคงอยากให้ลูกๆ วางมือถือลงบ้างวันละหลายๆ รอบ แต่จะทำยังไงกันดีล่ะ? … เรามีคำแนะนำง่ายๆ มาฝาก 5 ข้อ
1 กฎเหล็ก No สมาร์ทโฟนบนโต๊ะอาหาร
มื้ออาหารแต่ละมื้อควรเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวได้ใช้ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ พ่อแม่จึงควรขอความร่วมมือหรือออกกฎกับลูกๆ ว่า ขอให้ระหว่างมื้ออาหารเป็นเวลาที่ทุกคนจะวางสมาร์ทโฟนของตัวเองลง แล้วรับกินอาหารไป พูดคุยไต่ถามทุกข์สุขกันไป หรือถ้าบางบ้านจะตั้งกติกาว่า เวลาออกไปกินอาหารนอกบ้านแล้วใครหยิบสมาร์ทโฟนมาดูเป็นคนแรก คนนั้นต้องจ่ายค่าอาหาร ก็ไม่เลวนะ
2 หากิจกรรมอื่นทำ อย่าให้ว่าง
การจะทำให้ลูกๆ ไกลสมาร์ทโฟนได้ พ่อแม่ก็ต้องคอยหากิจกรรมอื่นๆ มาให้พวกเขาทำแทนด้วย เช่น ชวนกันไปเล่นกีฬา ดูหนัง อ่านหนังสือ เที่ยวต่างจังหวัด ตั้งแคมป์ (ในที่ที่ไม่มีสัญญาณมือถือยิ่งดี!) นอกจากกิจกรรมสนุกๆ จะทำให้วางมือถือลงได้แล้ว พวกเขาก็ยังได้ออกกำลังกาย ได้ใช้เวลากับธรรมชาติ และได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
3 ใช้สมาร์ทโฟนขณะยืน
ในโลกยุคปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถปฏิเสธสมาร์ทโฟนไปได้ทั้งหมด เพราะมีธุระปะปัง การทำงาน และการติดต่อสื่อสารอีกมาก ที่สามารถทำได้ง่ายดายผ่านสมาร์ทโฟน แต่… ปัญหาก็คือว่า เกือบทุกครั้งที่เปิดแอปโอนเงิน จ่ายค่าไฟ หรือว่าตอบข้อความเจ้านาย จากนั้น เราก็มักจะเผลอไผลเปิดโซเชียลมีเดีย ไถฟีดดูโน่นดูนี่แถมมาด้วย… ใช่มั้ย สารภาพมาซะดีๆ! คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็คือ หากคุณต้องการแก้นิสัยเรื่องนี้ ให้ใช้สมาร์ทโฟนขณะยืน เพราะการยืนจะทำให้คุณรีบทำธุระที่ต้องทำผ่านสมาร์ทโฟนให้เสร็จ แล้วก็วางมันลงเพื่อไปทำอย่างอื่นต่อ แต่ถ้าคุณนั่งหรือนอนขณะใช้สมาร์ทโฟน คุณก็มีแนวโน้มที่จะใช้มันทำโน่นทำนี่ต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น
4 ปิดมือถือก่อนเข้านอน
เราทุกคนสมควรได้รับการนอนหลับพักผ่อนอย่างที่ไม่มีอะไรมารบกวน เพราะฉะนั้น ปิดมือถือก่อนนอนเถอะค่ะ หรืออย่างน้อยก็ปิดพวกข้อความแจ้งเตือนต่างๆ แล้วเปิดแต่โทรศัพท์ไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉินเท่านั้น เมื่อไม่มีเสียงมือถือดังตึ้งๆๆๆ คุณจะนอนหลับได้อย่างสบายใจกว่าเดิม และยังลดเวลาการใช้สมาร์ทโฟนไปได้อีกมาก ไม่เชื่อลองทำดู
5 ใช้สมาร์ทโฟนเสริมสร้างสุขภาพ
จริงๆ แล้ว สมาร์ทโฟนมีฟังก์ชันดีๆ หลายอย่างที่ช่วยให้เราดูแลสุขภาพกาย-ใจได้สะดวกขึ้น เช่น ช่วยคำนวณสารอาหารที่เรากินในแต่ละวัน นับจำนวนก้าวเดิน ประเมินคุณภาพการนอน ฯลฯ แค่เราต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้ถูกทางก็เท่านั้น
นอกจากเคล็ดลับง่ายๆ 5 ข้อที่ว่ามานี้ อีกสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการจะฝึกให้ลูกวัยรุ่นใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างพอดี ไม่มากเกินไปจนเกิดโทษต่อร่างกายและจิตใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ลูกๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าลูก แต่ตัวเองนั่งเล่นไลน์ ไถเฟสทั้งวัน… คุณควรจับมือกับลูกๆ ออกกำลังกายและหากิจกรรมที่มีประโยชน์อื่นๆ ทำร่วมกัน และอย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แค่นี้ คุณและลูกๆ ก็ใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างถูกจุด ไกลห่างโรคอ้วนและมีสุขภาพใจที่แข็งแรงได้แล้ว
–