9 วิธีเพิ่มความฉลาดให้สมอง…ไม่ลองไม่รู้

Care / Self Care

หลายคนยังเชื่อว่าความฉลาดของคนเราเป็นเรื่องของพันธุกรรมเท่านั้น เชื่อว่าแต่ละคนเกิดมาฉลาดไม่เท่ากัน และเชื่อว่ามันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป แต่ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันแล้วว่า สมองของคนเราพัฒนาได้จ้า! นั่นหมายความว่า ความฉลาดไม่ใช่สิ่งตายตัว และสิ่งที่ช่วยเพิ่มความฉลาด (หรือลดความฉลาด) ของเรานั้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม และทัศนคติของเรานี่เอง เพื่อดูแลสุขภาพและพัฒนาสมองนี่คือ 9 วิธีง่ายๆ ที่ช่วยเพิ่มความฉลาดให้เราได้โดยไม่รู้ตัว

1. เริ่มต้นด้วยความเชื่อมั่นว่า “ฉันฉลาดขึ้นได้!”

หากเราอยากเป็นคนที่ฉลาดขึ้น สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือการบอกตัวเองว่า “ฉันฉลาดขึ้นได้!” วิธีคิดแบบนี้นักจิตวิทยาเรียกว่าการมี Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโต คือความเชื่อว่าสมองของเราเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อที่สามารถแข็งแรงขึ้นได้ไม่มีขีดจำกัด ตรงข้ามกับ Fixed Mindset หรือกรอบความคิดแบบตายตัว ที่เชื่อว่าสติปัญญาของเราเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก 

2. ร่างกายแข็งแรง สมองก็แข็งแรง

การดูแลร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจและกล้ามเนื้อของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสมองของเราในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น ช่วยเพิ่มปริมาณเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง ช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างเซลล์ประสาท และช่วยปรับปรุงความสามารถของสมองในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว

นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่า การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายลด ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ทำให้ลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายผลิตสิ่งที่เรียกว่า Growth Factors ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์หรือสิ่งมีชีวิต ทำให้กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ในสมอง มีผลต่อจำนวนเซลล์สมองที่เรามี รวมทั้งจำนวนเซลล์สมองที่เราสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ 

การออกกำลังกายอยู่เสมอยังส่งผลดีต่ออารมณ์และการนอนหลับ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นระดับสติปัญญาของเรา นอกจากนี้ยังมีการค้นพบด้วยว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีสมองส่วนที่ควบคุมความคิดและความจำที่ใหญ่กว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย 

3. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กระตุ้นสมองให้พัฒนา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยลองย่อมช่วยให้เราฉลาดขึ้นได้แน่นอน และการเรียนสิ่งต่อไปนี้ช่วยกระตุ้นสมองของเราได้อย่างก้าวกระโดด

  • เรียนภาษา ช่วยกระตุ้นสมองให้บริหารทักษะที่หลากหลายจากการอ่าน การฟัง การพูด และการเขียน โดยเฉพาะสมองเกี่ยวกับความจำ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการเรียนภาษาใหม่ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถรับมือกับอาการป่วยได้ดีกว่าคนที่พูดได้ภาษาเดียว 
  • เรียนดนตรี ช่วยให้สมองได้ฝึกทักษะแบบ Multitasking คือความสามารถในการทำหลายอย่างได้พร้อมกัน กระตุ้นสมองด้านความจำ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านความคิดสร้างสรรค์ และได้ฝึกทั้งสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา 
  • เรียนเต้นรำ เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เราใช้สมองไปพร้อมกับเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะต้องจดจำท่าเต้นมากมาย และเคลื่อนไหวให้ถูกต้อง ให้เข้ากับจังหวะและดนตรี ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ในปี 2003 เผยว่าการเต้นรำช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างดี 
  • เรียนกีฬา การเล่นกีฬาไม่เพียงทำให้ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังช่วยบริหารสมองของเราด้วย เพราะนอกจากการเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว การเล่นกีฬายังต้องใช้ทักษะด้านการคิดและการวางแผนไปด้วย ซึ่งช่วยกระตุ้นให้สมองของเราพัฒนาได้อย่างดี

4. เรียนรู้จากคนฉลาด

เคยได้ยินไหมว่า–ถ้าเราพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางคนฉลาด เราจะฉลาดขึ้นไปด้วย นั่นเป็นเพราะเราได้ซึมซับแนวคิดวิธีการที่คนฉลาดๆ เขาใช้จัดการชีวิตและแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น คนที่ท่องจำคำศัพท์ได้เก่งมากๆ อาจไม่ได้เป็นเพราะเขาฉลาดกว่าคนอื่นเสมอไป แต่อาจเพราะเขามีกลยุทธ์ที่ดีในการจดจำคำศัพท์ เช่นใช้เทคนิคการจำด้วยภาพ เวลานึกคำศัพท์ก็ใช้วิธีนึกเป็นภาพก่อนแล้วคำศัพท์ก็จะตามมา หรือบางคนจะจดจำได้ดีถ้าร้องเป็นเพลง หรือบางคนต้องลงมือเขียนถึงจะจำได้ อะไรเช่นนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้กลยุทธ์ในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองช่วยเพิ่มความเก่งและความฉลาดได้ รวมทั้งต้องไม่ยึดติดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งด้วย ด้วยเหตุนี้เอง การที่เราได้อยู่ท่ามกลางคนฉลาดจึงช่วยเพิ่มโอกาสให้เราฉลาดขึ้น เพราะทำให้เราได้เห็นกลยุทธ์ต่างๆ หลากหลายที่สามารถนำไปดัดแปลงใช้ได้เช่นกัน 

5. รู้ให้เยอะไม่พอ ต้องรู้ให้ลึกด้วย

ความฉลาดที่แท้จริงไม่ได้มาจากการรู้ให้เยอะเข้าไว้ แต่มาจากการรู้ให้ลึกซึ้งจนเข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ และกลายเป็นรากฐานมั่งคงจนสามารถนำความรู้นั้นไปปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ความรู้ที่ลึกซึ้งเกิดจากการใช้เวลาทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ มีความต้ังใจแน่วแน่ และซื่อสัตย์กับตัวเองด้วยว่าเรายังมีจุดบกพร่องตรงไหน และจะเสริมเพิ่มเติมได้อย่างไร ความรู้เป็นสิ่งที่สะสมไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความฉลาด ควรเริ่มต้นด้วยการสร้างรากฐานที่แข็งแรงก่อน เน้นเจาะลึกในให้สิ่งที่เรารู้ มากกว่ามุ่งเติมแต่ความรู้ใหม่ๆ อย่างเดียว

6. ขยันตั้งคำถามและหาคำตอบ

ถ้าลองสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อโลกหลายๆ ชิ้น ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการตั้งคำถามทั้งนั้น ความฉลาดของนักประดิษฐ์ทั้งหลายเพิ่มพูนขึ้นมาได้เพราะพวกเขารู้จักตั้งคำถาม พอเจอข้อสงสัยก็ไม่อยู่เฉย พยายามจะหาคำตอบหรือคำอธิบายให้ได้ นำไปสู่การค้นคว้า ทดลอง ภายใต้หลักการและเหตุผล จนกลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ขึ้นมา 

ด้วยเหตุนี้ คนที่รู้จักตั้งคำถามอยู่เสมอจึงมีแนวโน้มที่จะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ และเปิดรับความรู้ได้เรื่อยๆ ซึ่งตรงข้ามกับคนที่ทำตัวเป็นน้ำล้นแก้ว ไม่สามารถเติมน้ำลงไปได้อีกแล้ว

7. เติมความหลากหลายให้ชีวิต

หลักการง่ายๆ ที่ช่วยเพิ่มความฉลาดให้เราได้ คือการฝึกสมองให้รับมือกับความแปลกใหม่บ้าง เพราะถ้าเราทำแต่เรื่องเดิมๆ เป็นประจำทุกวัน สมองก็จะไม่ได้ฝึกทักษะใหม่ๆ ไม่ได้ฝึกแก้ปัญหา และไม่พัฒนาให้ฉลาดขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้น เราควรเติมความแปลกใหม่ให้ชีวิตประจำวันของเราบ้าง เช่น ลองไปกินข้าวร้านใหม่ๆ ใช้เส้นทางใหม่ๆ หรือสลับตารางชีวิตประจำวัน ไม่ทำซ้ำแบบเดิม วิธีนี้จะช่วยให้เราได้ฝึกใช้สมองหลายๆ ด้าน ฝึกการแก้ปัญหา ช่วยเพิ่มความฉลาดได้โดยไม่รู้ตัว ในขณะเดียวกัน การเลือกทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย นั่นหมายถึงเราต้องยอมเสี่ยง ยอมเปลี่ยนแปลง และยอมผิดพลาดบ้าง แต่สุดท้ายแล้วถ้าเรารู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาด เราจะสามารถเติบโตและเป็นคนที่ฉลาดขึ้นได้

8. เพิ่มความฉลาดด้วยการอ่าน

การอ่านเป็นการเพิ่มความฉลาดที่ง่ายแต่ได้ผล อย่างแรกคือ เราได้ความรู้จากเนื้อหาที่เรากำลังอ่าน เราอาจได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ช่วยเปิดโลกความรู้ และจินตนาการ อย่างที่สองคือ การอ่านช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ที่เป็นทักษะทางภาษาที่สำคัญ เชื่อหรือไม่ว่า แค่การอ่านหนังสือต่อเนื่องกันอย่างน้อย 20 นาทีต่อวัน คุณจะสามารถเพิ่มคำศัพท์ได้มากถึง 1.8 ล้านคำต่อปี และอย่างที่สาม การอ่านช่วยบริหารสมอง เช่นเดียวกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ยิ่งเราฝึกสมองมากเท่าไหร่ สมองเราก็ยิ่งพัฒนา 

9. หมั่นทบทวนความรู้

โดยทั่วไปแล้ว เรามักจดจำข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้ใหม่ได้ดีที่สุดในช่วงแรกๆ เท่านั้น หลังจากนั้นถ้าเราไม่ได้ใช้ชุดความรู้นั้นอีก มีความเป็นไปได้ว่าเราจะค่อยๆ จำได้น้อยลง จนกระทั่งอาจลืมไปเลยในที่สุด พอรู้ตัวอีกที ความรู้นั้นก็หายวับไปกับตา ต้องมาเสียเวลาเริ่มต้นใหม่จำใหม่อยู่ร่ำไป 

เคล็ดลับที่ช่วยให้ความรู้ไม่หายไปไหน คือการหมั่นทบทวนความรู้บ่อยๆ จนกระทั่งความรู้นั้นถูกล็อกไว้ในหน่วยความจำ ไม่เลือนหายไปง่ายๆ การทบทวนความรู้นั้นอาจทำได้หลายวิธี เช่น สรุปและจดบันทึกประเด็นสำคัญทันที ลองเขียนเรียบเรียงใหม่ด้วยความเข้าใจของเราเอง หยิบมาอ่านทบทวนทุกวัน (จะอ่านในใจก็ได้ หรืออ่านออกเสียงก็ดี) หรือลองเล่าถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นฟัง ทั้งหมดนี้เป็นการช่วยทบทวนให้ความรู้ยังวนเวียนอยู่กับเราไม่ไปไหน ยิ่งทบทวนบ่อยก็ยิ่งจำขึ้นใจ เมื่อทำจนเป็นนิสัยเราก็จะไม่มีทางลืมความรู้นั้นไปได้เลย และเมื่อใดที่ความรู้เก่าก็ไม่หาย ความรู้ใหม่ก็เข้ามา ความฉลาดของเราก็ย่อมมากกว่าเดิมแน่นอน

แปลและเรียบเรียงจาก: 
www.insider.com
www.entrepreneur.com
www.webmd.com

บทความที่เกี่ยวข้อง