มองหา ‘โอกาส’ เพื่อแก้ไข ‘วิกฤติ’ ส่งต่อแนวคิด…คืนประโยชน์สู่สังคมกับ นพ. สุรเชษฐ เอี่ยมธนะสินชัย

Human / Self-Inspiration / Social-Inspiration

‘โอไมครอน’ ชื่อนี้ทุกคนคงจะเริ่มได้ยินกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด 19 ตัวล่าสุด และเชื่อว่าหลายคนคงจะไม่ได้ตื่นตระหนกกับเจ้าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้มากเท่ากับครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับไวรัสอู่ฮั่นอย่างแน่นอน เนื่องจากเรามีประสบการณ์และได้เรียนรู้ในการรับมือกับเชื้อโควิดกันมามากพอสมควรแล้ว แต่หากมองย้อนกลับไป ในวันที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ไปทั่วโลกอย่าง ‘ไวรัสอู๋ฮั่น’ หรือโควิด-19 ที่เราคุ้นเคยดีในปัจจุบัน ในเวลานั้นไม่มีใครรู้จักและยังไม่มีวิธีการรักษา จนถึงว่าไม่รู้จะจบลงเมื่อไรและแบบใด  จึงไม่มีใครรู้ว่าควรจะรับมือกับวิกฤติอันใหญ่หลวงครั้งนี้อย่างไรดี เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติที่จวนตัวกันเลยทีเดียว 

แต่ในทุกวิกฤติก็มักจะมีโอกาสดีๆ ซ่อนอยู่เช่นกัน หากใครที่ติดตามข่าวในช่วงเวลานั้น คงจะได้ยินเรื่องราวของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ประดิษฐ์และคิดค้นโดยคนไทยหลายคนออกมาหลายแบบหลายแนวคิด เพื่อใช้ในการปกป้องบุคลากรด่านหน้าจากไวรัสร้ายอย่างเช่น แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและห้องตรวจแบบความดันอากาศบวก ซึ่งจุดกำเนิดของสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างความปลอดภัยให้กับคนไทยทั้งสองชิ้นนี้ มีแพทย์ท่านหนึ่งที่ตระหนักถึงภัยจากโรคระบาดชนิดนี้ตั้งแต่แรก (ช่วงเดือนธันวาคม 2562) และตอบสนองต่อข่าวด้วยการลุกขึ้นจากหน้าที่ความเป็นหมอ (comfortable zone) เพื่อคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วย บุคลากรทางแพทย์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไป (3P safety) คือ นพ. สุรเชษฐ เอี่ยมธนะสินชัย แพทย์ระบบประสาทวิทยา โรงพยาบาลสุรินทร์ 

หากคุณเชื่อว่าการเรียนรู้อดีตสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ คุณอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่คิดค้นเครื่องมือบางอย่างออกมาต่อต้าน ‘โอไมครอน’ จากการศึกษาเรื่องราวของคุณหมอสุรเชษฐก็เป็นได้ แล้วอะไรคือแรงบันดาลใจและแนวทางในการสร้างสรรค์อุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้ ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด โดยที่คุณหมอก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเสียด้วยซ้ำ คุณหมอทำได้อย่างไรเราไปร่วมหาคำตอบกัน

‘แรงบันดาลใจ’ ที่มาพร้อม ‘แนวคิดเชิงรุก’

“ผมมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ แต่ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลสุรินทร์ตั้งแต่ปี 2558 ในปัจจุบันนอกจากจะเป็นหมอระบบประสาทวิทยาแล้ว ผมยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ 2 ด้านด้วยกัน คือด้านการส่งต่อผู้ป่วย (Refer) และด้านงานพัฒนาคุณภาพบริการและมาตรฐาน รวมถึงส่วนของ HA (Hospital Accreditation) เป็นหลักอีกด้วย ทำให้ช่วงที่เกิดวิกฤติไวรัสระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีนนั้นต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผมเริ่มวิเคราะห์ถึงสถานกาณ์ของโรคระบาดที่อาจจะกระทบมาถึงประเทศไทยในเวลานั้นได้ นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นความคิดที่อยากประดิษฐ์เครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์วิกฤติที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับบุคคลการทางการแพทย์ด่านหน้าได้ด้วย

ช่วงนั้นผมตั้งคำถามมากมายกับตัวเอง จนเริ่มเข้าใจว่าไวรัสชนิดใหม่นี้ไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะนอกจากจะมีความร้ายแรงแล้ว ยังแพร่กระจายสู่คนได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายจนน่าตกใจ ในช่วงต้นสัปดาห์แรกของการระบาดนั้น ยังไม่มีใครทราบว่าเป็นการแพร่กระจายแบบแอโรซอล (Aerosol) หรือแอร์บอร์น (Airborne) และที่สำคัญคือ ในขณะนั้นยังไม่มีทั้งวัคซีนและยาที่ใช้รักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อก็สูงมากจนน่ากลัว เรียกได้ว่าเป็นภาวะวิกฤติที่เกิดจากโรคระบาดไปทั่วโลกอย่างแท้จริง ผมรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลก จากทุกสำนักข่าวที่หาได้ในสื่อออนไลน์ (Google, Twitter, YouTube, Facebook) ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกชั่วโมง โดยเลือกข่าวทางฝั่งอเมริกาและอังกฤษเป็นหลัก และวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง จุดประสงค์คือเป็นการยืดระยะเวลาหรือซื้อเวลาให้มากขึ้น เพื่อรอวิธีการรักษาและรอการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในอนาคตอย่างปลอดภัยที่สุด 

หลังจากรวบรวมข้อมูลจากวิกฤติและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกได้ ผมพบว่าทางออกที่ดีที่สุดในการสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรด่านหน้าก็คือ การแยกตัวผู้ป่วยและผู้ที่ทำงานด่านหน้าออกจากกันแบบ isolated resolution เพราะตัวผมเองก็เป็นบุคลากรที่ทำงานอยู่ใน red zone ทำให้ทราบดีว่าคนที่ทำงานอยู่ด่านหน้านั้นมีความเสี่ยงจากอันตรายของเชื้อไวรัสมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ทางที่ดีที่สุดที่ทำได้ในขณะนั้นก็คือ การป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสในขณะทำงานหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงนั่นเอง”

สร้างสรรค์สิ่งใหม่จาก ‘ความรู้นอกตำรา’

“เมื่อเห็นว่าปัญหากำลังเข้ามาใกล้มากขึ้นทุกที การรับมือกับเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้ หากมีเพียงแค่หน้ากากอนามัย ชุดพีพีอี แอลกอฮอล์ล้างมือ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาอันใหญ่หลวงขนาดนี้ได้มากนัก ดังนั้นการแยกสิ่งแวดล้อมให้กับคนทำงานและผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเวลาที่เหลือไม่มากนัก เราจะสามารถศึกษาและทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง นี่คือสิ่งที่ผมพยายามหาคำตอบให้ได้ในระยะเวลาที่จำกัด ถือว่าพวกเราโชคดีมากที่ในปัจจุบันนี้ องค์ความรู้ต่างๆ รอบโลกนั้นมีให้เรียนรู้นอกตำราอย่างมากมายได้ง่ายๆ จากอินเทอร์เน็ต โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือจบปริญญาในสาขาพิเศษถึงจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้

เมื่อการนั่งรออยู่เฉยๆ ไม่ใช่คำตอบ ผมจึงเลือกที่จะลงมือทำแทนที่จะรอให้ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นจนยากเกินกว่าที่จะรับมือได้ ผมเร่งศึกษาและรวบรวมไอเดียความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั่วโลกผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับคนไทยได้ใช้งาน จนในที่สุดก็ได้มาเป็น ‘ห้องตรวจแบบความดันอากาศบวก’ และ ‘แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันลบ’ (ซึ่งฆ่าเชื้อด้วย UVC) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้า แต่กว่าจะได้มาซึ่งสิ่งประดิษฐ์ทั้งสองชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะผมไม่ได้จบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือมีความรู้เฉพาะทางด้านช่างเทคนิคมาก่อน แต่ผมก็พยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้น โดยเริ่มจากการตั้งคำถามแล้วลงมือค้นหาความรู้รอบตัว เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ที่ต้องพิจารณาว่าควรต่อหรือเติมอะไรลงไปผลงานจึงจะสมบูรณ์ที่สุด ผมสร้างความคิดแบบจำลอง (Experimental Room) ภายในหัวของผมเองเป็นหลักเพื่อลดทอนเวลาและทรัพยากรอื่นๆ ให้มากที่สุด เริ่มจากการลำดับความสำคัญในการทำงานก่อนที่จะลงมือทำ ซึ่งเมื่อนำมารวมกับไอเดียในการสร้างงานแล้วจึงทำให้ความคิดประกอบรวมกันจนเป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จ จากนั้นก็ค่อยๆ ลิสต์รายการอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงแนวความคิดแบบสรุปที่ต้องใช้ในการผลิต และเนื่องจากการประดิษฐ์ห้องตรวจแบบความดันอากาศบวกและแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยตรง  จึงต้องใส่ใจและลงรายละเอียดในทุกขั้นตอน เพื่อประสิทธิภาพของชิ้นงานและความปลอดภัย ซึ่งผลงานทั้งสองชิ้นนี้ผมใช้เวลาในการพัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างเร่งด่วน ด้วยการจัดลำดับความสำคัญและการแบ่งงานจึงทำให้กระบวนการทำงานนั้นมีประสิทธิภาพ เพราะผมทราบดีว่าเวลาในการรับมือกับวิกฤตินั้นกระชั้นชิดเข้ามาทุกทีแล้ว”

ส่งต่อแนวคิดที่มีประโยชน์สู่สังคม

“การที่จะสร้างสรรค์สิ่งใดขึ้นมาสักอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะสามารถทำเพียงลำพังได้แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้นการมองหาความช่วยเหลือและความร่วมมือจากผู้อื่นจึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในเวลานั้น หลังจากมีแนวคิดและวิธีการแล้วผมก็ไม่รีรอที่จะยกหูติดต่อไปหาคนรู้จักและผู้ผลิตหลากหลายแห่ง เพื่อขอความช่วยเหลือในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทั้งสองชิ้น โดยแยกสายการผลิตออกจากกัน เนื่องจาก ‘ตู้แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย’ นั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่า ‘ห้องตรวจแบบความดันอากาศบวก’ ผมจึงส่งต่อการผลิตในส่วนของแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้กับทางวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้ผลิต ส่วนห้องตรวจแบบความดันอากาศบวกนั้นผมขอความร่วมมือจากคุณสมโรจน์ คูกิจติเกษม (เจ้าของ the CHANG knowledge park) ช่วยผลิตให้ 

สุดท้ายทั้งสองชิ้นงานก็สามารถนำมาใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าคีย์เวิร์ดสำคัญในการทำงานครั้งนี้คือ ‘การส่งต่อแนวคิดที่มีประโยชน์ให้กับคนอื่นเพื่อนำไปใช้สร้างสิ่งประดิษฐ์’ ผมไม่ได้คิดที่จะเก็บไอเดียดีๆ เอาไว้คนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาคับขันที่คนทั้งประเทศต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นหลังจากออกแบบได้สำเร็จ ผมก็มอบแบบแปลนของสิ่งประดิษฐ์นี้ไว้แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจ เพื่อที่คนอื่นจะสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เพราะยิ่งกระจายออกไปได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะนำไปใช้ในวงกว้างเพื่อรองรับความต้องการของสังคมส่วนรวมก็มีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น”

โอกาสสร้างงาน…ประสบการณ์สร้างคน

“การทำงานในองค์กรนั้น วิธีหนึ่งที่จะดึงความมุ่งมั่นและศักยภาพที่แท้จริงของพนักงานออกมาได้ดีก็คือ การมอบโอกาสและการมอบหมายงานที่เหมาะสมกับการเติบโตของบุคลากร เปรียบเสมือนกับคำพังเพยที่ว่า Put the right man on the right job เพราะว่ากันว่า การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะในการทำงานจะเป็นประโยชน์ที่สุดก็ต่อเมื่อบุคคลคนนั้นได้รับหน้าที่ ได้รับตำแหน่งงานที่ถนัดและเหมาะสม ซึ่งตัวผมเองก็ได้รับโอกาสจากคุณหมอประวีณ ตัณฑประภา อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ที่มอบโอกาสในการทำงานทั้ง 2 ตำแหน่งที่สำคัญนี้ให้แก่ผม ทำให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และดึงเอาทักษะความสามารถที่มีอยู่มาใช้ เพื่อสร้างประโยชน์ในหลากหลายด้านให้แก่โรงพยาบาลและสังคมได้ดังเช่นทุกวันนี้”

‘ความสำเร็จ’ แบบคุณหมอสุรเชษฐ

“หากเอ่ยถึงคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ หลายคนคงมักจะนึกถึงรายได้ เงินทองมหาศาล รวมถึงชื่อเสียงเกียรติยศ แต่สำหรับผม ความสำเร็จกลับเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป ในปัจจุบันห้องตรวจแบบความดันอากาศบวกและแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันลบนี้มีผู้ทำลอกเลียนแบบอยู่มากมาย โดยที่ไม่ได้มาขออนุญาตหรือขอแนวทางในการผลิตจากผม แต่ผมกลับรู้สึกดีมากๆ ที่มีคนนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการสร้างเครื่องมือให้กับบุคลากรทางการแพทย์กันอย่างแพร่หลาย เพราะตัวผมเองไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะประดิษฐ์และแจกจ่ายเครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง ผมอยากเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ จนพิชิตอุปสรรคให้ได้ เพราะไม่มีอะไรเป็นเรื่องที่ยากเกินไปถ้าเราตั้งใจทำ แม้ว่าผมจะเป็นแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลขนาดนี้ ไม่ได้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเงินทุนมากมายในการคิดค้นและสร้างเครื่องมือทั้ง 2 ชิ้นนี้ แต่ผมมีแรงกาย แรงใจ ความมุ่งมั่น รวมถึงความช่วยเหลือและความร่วมมือจากคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับทรงคุณวุฒิแต่อย่างใด ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่า จุดเริ่มต้นที่ธรรมดาก็สามารถสานต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีประโยชน์มากมายได้เช่นกัน อยากให้ทุกคนมองว่าทุกสิ่งเป็นไปได้หากลองลงมือทำ นอกจากนี้สิ่งที่ผมคาดหวังเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้นก็คือ การกระจายความรู้และส่งต่อไอเดีย แนวคิดดีๆ ให้กับคนอื่น ดังนั้นการที่พบเจอผลงานที่คล้ายคลึงกันเมื่อเวลาผ่านไปจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป้าหมายของผมได้สัมฤทธิ์ผลแล้ว”

Think outside the box

“สาเหตุหลักที่เป็นแรงผลักดันให้ผมมีความคิดริเริ่มได้แบบนี้ ผมนึกถึงคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ และอีกหนึ่งแนวคิดคือ ‘I think 99 times and find nothing. I stop thinking, swim in the silence, and the truth come to me.’ กับแนวคิดของหลวงปู่ดุลย์ เกจิอาจารย์ชื่อดังจากจังหวัดสุรินทร์ที่เคยบอกเอาไว้ว่า ‘คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิดนั่นแหละจึงรู้’ ผมรู้สึกว่าแนวคิดของไอน์สไตน์ที่มาจากชาติตะวันตกกับแนวคิดของหลวงปู่ดุลย์จากแดนอีสานบ้านเรานั้นเหมือนกันมาก แม้ว่าจะมาจากคนละซีกโลกกัน พื้นฐานความคิด ความรู้ และเชื้อชาติจะต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่หากลองตีความดีๆ แล้วจะพบว่าคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดใจ”

ส่วนคำว่า ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ ก็เปรียบเหมือนกับการที่มนุษย์เรา มักใช้ความคิดและจินตนาการจากสมองซีกขวาเป็นหลัก บางทีคนเราก็คิดจินตนาการไปเรื่อยๆ ซึ่งในท้ายที่สุด หากอยากให้จินตนาการของเราใช้งานได้จริง เราก็ต้องใช้ตรรกะจากสมองซีกซ้ายในการวิเคราะห์ร่วมด้วย เพราะหลักการและเหตุผลจะช่วยเกลากลั่นกรองจินตนาการที่มากล้นให้เข้าที่เข้าทาง ซึ่งก็คล้ายกับการ ‘คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิดนั่นแหละจึงรู้’ เพราะเมื่อเราหยุดคิดและใช้ความคิดเชิงเหตุผลมาช่วยในการวิเคราะห์ เราก็จะพบคำตอบที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง แม้ว่าการจินตนาการและการขบคิดไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดไอเดียอันหลากหลาย แต่เราก็ยังต้องพึ่งตัวช่วยอย่างการตั้งคำถามด้วยคำว่า ‘อย่างไร’ ให้กับตนเองด้วย เพราะหลายครั้งเวลาที่เราพบกับปัญหาและอุปสรรค ความคิดต่างๆ ก็อาจกระจัดกระจายจนกลายเป็นฟุ้งซ่าน และทำให้ไม่สามารถหาคำตอบหรือหาหนทางในการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง 

ผมแนะนำว่าให้ลองใส่คำว่า ‘เป็นไปได้’ ลงไปดู ดังเช่นความพยายามที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์สองสิ่งนี้ของผม ผมไม่ได้สร้างข้อจำกัดให้กับตัวเอง โดยตีกรอบว่าตัวเองเป็นหมอในแต่ละวันก็ตรวจแต่คนไข้ ไม่มีความรู้เฉพาะทางและคงไม่มีเวลาจะมาสร้างสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ได้หรอก แต่ผมเลือกที่จะลองดูและบอกกับตัวเองว่า ‘มันเป็นไปได้’ ลงมือค้นหาข้อมูลในสิ่งที่ตนเองสงสัยหรือตั้งคำถามในใจ เมื่อมีข้อมูลพร้อมก็สามารถลงมือทำต่อได้เลย โดยไม่รีรอที่จะให้เจ้าไวรัสร้ายลามมาถึงเมืองไทยเสียก่อน ซึ่งผมก็ใช้วิธีการที่เป็นการทำงานจากสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา โดยที่สมองซีกขวาคิดจินตนาการนำไปก่อน แล้วต่อมาสมองซีกซ้ายก็เข้าไปจับความคิดต่างๆ แล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางในการแก้ไขหรือดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง”

งานยาก ทรัพยากรจำกัด เวลาน้อย จัดการอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย

“ผมอยากเสนอแนะให้ทุกคนลองปรับคำถามเป็น ‘จะทํางานที่คิดว่ายากและจํากัดด้วยทรัพยากรให้สําเร็จได้อย่างไร’ ซึ่งเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อทุกคนที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าจะแตกต่างสาขาอาชีพกันก็ตาม การทำงานยากๆ ให้ประสบความสำเร็จในข้อจำกัดต่างๆ นั้น แท้จริงแล้วมีหนทางที่ผู้รู้ได้ถ่ายทอดออกมาก่อนหน้านี้ถึง 2,600 ปีแล้ว สิ่งนั้นก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทิ้งหลักคำสอนในการทำงานอย่าง ‘อิทธิบาท 4’ เอาไว้ ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี เพียงแต่อาจจะละเลยหรือหลงลืมกันไปบ้าง ส่วนใครที่ได้นำหลักอิทธิบาท 4 มาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ก็ถือว่าท่านมีแสงนำทางไปสู่ความสำเร็จอย่างถูกทิศทางแล้ว สำหรับคนที่ยังสงสัยอยู่ว่า หลักอิทธิบาท 4 นั้นจะช่วยให้เราฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานที่ทั้งยากทั้งหินได้จริงหรือ ผมอยากอธิบายให้เห็นภาพแบบนี้

‘อิทธิบาท 4’ เป็นหลักธรรมะที่จะทำให้คนทำงานทุกคนประสบความสำเร็จในกิจการงานใดๆ ได้ และผมเชื่อมั่นว่า หากเราสามารถนำหลักของอิทธิบาท 4 มาใช้ในการทำงาน เราจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและพบกับความสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะอิทธิบาท 4 นั้น มีข้อควรปฏิบัติด้วยกันอยู่ 4 ข้อด้วยกันและในแง่ของการทำงานนั้นสามารถอธิบายให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ ดังต่อไปนี้

‘ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา’

‘ฉันทะ’ หมายถึงความชอบ ความพึงพอใจที่จะทำงานนั้น เพราะเมื่อความชอบความพึงพอใจเกิดขึ้นข้างในตัวเราแล้ว เราก็จะมีใจรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและตั้งใจทำให้ดีที่สุด เปรียบเสมือนการมี passion ในการทำอะไรสักอย่างก็เหมือนทำสำเร็จไปเกือบครึ่งทางแล้ว เพราะ passion จะผลักดันให้เรามีความต้องการหรือความอยาก จนเกิดการลงมือทำด้วยความสุขและความสนใจที่มาจากตัวของเราเองทั้งสิ้นโดยที่ไม่มีใครมาบังคับ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีความรักในสิ่งที่ทำและผลลัพธ์จะออกมามักจะดีตามที่คาดหวังเอาไว้

‘วิริยะ’ หมายถึงความพยายาม เป็นการพยายามใฝ่หาหรือเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ที่เป็นองค์ประกอบให้เกิดความสำเร็จในการงานที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ เพราะหากมีแต่ฉันทะแต่ยังขาดวิริยะ เราก็มีเพียงแค่ความชอบและความต้องการอยู่ในใจ แต่ยังขาดซึ่งความพยายามในการลงมือทำ เหมือนการคิดอย่างเดียว คิดอยากจะได้ แต่ไม่ลงมือทำ ก็ยากที่จะไปถึงยังเป้าหมายได้ ในปัจจุบันความมี ‘วิริยะ’ ควรครอบคลุมไปถึง

Skillset – ชุดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน
Mindset – กระบวนการทางความคิดที่ส่งผลต่อพฤติกรรม
Toolset – กลไกหรือเครื่องมือที่ช่วยให้เราพัฒนาทักษะและบรรลุวัตถุประสงค์ได้สำเร็จ

ซึ่งเมื่อองค์ประกอบทั้งหมดนี้รวมกันก็จะช่วยให้เรามีศักยภาพในการพัฒนาและผลักดันตัวเองไปสู่จุดที่หวังไว้ได้สำเร็จ

‘จิตตะ’ หมายถึงการมีจิตใจที่จดจ่อหรือจะเรียกว่า ‘โฟกัส’ ก็ได้เช่นกัน ยิ่งเราอยู่ในยุคสมัยที่มีความสับสนวุ่นวายและถูกแทรกแซงจากเทคโนโลยีต่างๆ ได้อยู่ตลอดเวลา การมีจิตตะจะทำให้เรามุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายได้ดีขึ้น เราจะโฟกัสกับงานที่เรารับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ มีสติ มีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น ไม่ว่างานนั้นจะยากลำบากมากขนาดไหน เราจะทำงานได้อย่างมีสติ มีความรอบคอบ จดจ่อและมุ่งมั่น ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในงานที่มีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยอุปสรรค ดังนั้นการมีจิตตะจะทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในภารกิจได้อย่างแน่นอน

‘วิมังสา’ เปรียบได้กับคำพูดที่ว่า ‘เมื่อหยุดคิดจึงรู้’ ซึ่งวิมังสาก็คือกระบวนการเดียวกัน เพราะเมื่อเราได้ลงมือทำไปแล้ว การหยุดคิดเพื่อทบทวนในสิ่งที่ได้ทำก็เป็นเหมือนการตรวจสอบประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฉันทะ วิริยะ และจิตตะ ‘วิมังสา’ จะทำให้เราได้เรียนรู้และมองย้อนเข้าไปในการกระทำของตนเองได้ว่า วิธีการแบบไหนดีหรือไม่ดี ทำให้เราได้รู้ถูกรู้ผิดเพื่อที่จะมีโอกาสได้แก้ไข ปรับปรุง และทำงานต่อได้อย่างราบรื่น ซึ่งสุดท้ายเราจะเรียนรู้ได้เองว่าวิธีการหรือหนทางใดจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่เราต้องการได้

ในปัจจุบัน แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและห้องตรวจแบบความดันอากาศบวกได้คิดค้นถูกพัฒนาและส่งต่อ เพื่อบริจาคสู่โรงพยาบาลทั่วจังหวัดสุรินทร์แล้ว โดยอุตสาหกรรมจังหวัดและพาณิชย์จังหวัด รวมถึงแปลนการผลิตที่ผมได้ให้ไว้กับวิทยาลัยเทคนิค จ.สุรินทร์ หรือหากมีผู้มาขอสูตรแปลนในการผลิตผมเองก็ยินดีให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือเป็นการต่อยอดแนวคิดและนำไปใช้ประโยช์ให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศตามความตั้งใจของผม ในจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผมเองนั้น จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 มีโอกาสได้ใช้เครื่องมือนี้นับเป็นพันคนได้แล้ว ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่สร้างความสุขใจให้กับผมเป็นอย่างยิ่ง ผมเชื่อมั่นว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นหรือทำแบบเดียวกันกับผม ไม่จำเป็นต้องเรียนจบออกมาเป็นหมอมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่จำเป็นต้องฉลาดล้ำในด้านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่เราทุกคนสามารถเริ่มลงมือทำสิ่งดีๆ ได้ โดยฟังเสียงจากหัวใจที่คอยบอกเราอยู่เสมอว่า เรารักและอยากทำอะไร ซึ่งหากคุณพบแล้วก็แสดงว่าคุณได้เจอ passion ของคุณแล้วอย่างแท้จริง เพราะแต่ละคนนั้นมีความชอบและความถนัดที่ไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะหามันให้เจอได้หรือไม่ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการค้นหาขุมทรัพย์จากภายในใจของเรานั่นเอง”

อ้างอิง:
notosh.com
reg7.pwa.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง