อายุไม่ใช่ปัญหา…เปลี่ยน ‘กลัว’ เป็น ‘กล้า’ ท้าทายตัวเอง

Care / Self Care

ตอนที่เรายังเด็ก ทุกสิ่งรอบตัวล้วนเป็นสิ่งใหม่…ทุกนาทีคือการเรียนรู้ เรื่องท้าทายช่างมีกลิ่นหอมเย้ายวนชวนให้เราเข้าไปลิ้มลอง  

แต่เมื่ออายุมากขึ้น เราผ่านประสบการณ์ชีวิตมากมาย และความท้าทายก็เป็นสิ่งที่เรานึกถึงมันน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เราชอบทำในสิ่งที่คุ้นเคยมากกว่า เพราะมันทำให้เรารู้สึกมั่นคงและปลอดภัย 

แน่นอนว่าการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) นั้นมีข้อดี…แต่ลองตรวจสอบให้ดีว่าเราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเพียงเพราะเรากำลังกลัวอะไรอยู่หรือเปล่า? ความกลัวนี้ทำให้เราปิดกั้นบางสิ่งบางอย่างอยู่หรือไม่? และรู้หรือไม่ว่าการออกจากพื้นที่ปลอดภัยนั้นก็มีข้อดี

กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย!

พื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) คือสภาวะที่ปราศจากความวิตกกังวล เพราะเราอยู่ในจุดที่มั่นคง เรียบง่าย ไร้ปัญหา ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างควบคุมได้ ฟังดูก็เหมือนจะเป็นชีวิตที่สงบสุขราบรื่นดี แต่การออกจากพื้นที่ปลอดภัย…ในเวลาที่ใช่ ก็อาจสร้างโอกาสและความสุขให้กับเราได้อย่างคาดไม่ถึง

  1. เติบโตแบบไม่มีลิมิท

การออกมาจากพื้นที่ปลอดภัย กล้าเสี่ยง กล้าลอง แม้จะเกิดความผิดพลาดแต่ก็กลายเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองได้ นี่คือการมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของเราไม่มีขีดจำกัด มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ตรงข้ามกับกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ที่มักทำให้เรากลัวความล้มเหลว กลัวผิดพลาด ไม่กล้าลองอะไรใหม่ และไม่พัฒนาไปไหน 

  1. รับมือกับปัญหาได้ดี

เพราะชีวิตมักมีเรื่องไม่คาดคิดหรือมีปัญหาเกิดขึ้นแบบกะทันหันได้เสมอ การพาตัวเองออกมาจากพื้นที่ปลอดภัย (แม้ในเวลาที่ชีวิตสงบสุขดี) ทำให้เราได้ฝึกรับมือกับปัญหา ได้ซ้อมเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างไป ยิ่งเราปรับตัวได้เก่ง เราก็จะยิ่งแกร่ง พร้อมรับมือกับปัญหาใหม่ๆ หรือปัญหาใหญ่ๆ ได้ และถึงจะล้มบ้างก็ลุกขึ้นใหม่ได้เร็ว 

  1. สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง 

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการได้ออกนอกกรอบไปลองผิดลองถูก หากผิดพลาดก็ถือเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตนเองได้ แต่ถ้ามันเกิดสำเร็จขึ้นมา นั่นหมายถึงการที่เราได้ค้นพบศักยภาพและความสามารถในตัวเอง ซึ่งถ้าเราได้ทำบ่อยๆ ก็จะยิ่งสะสมความมั่นใจ สร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นที่มาจากความสามารถของเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่มั่นใจแต่ไร้ฝีมือ

  1. บรรลุฝันอันยิ่งใหญ่ 

จากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็นปิระมิด 5 ขั้น บนยอดสุดของปิระมิดคือความต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดของตนเอง (Self-Actualization) เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และเกินกว่าความต้องการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องการ (เช่น อาหาร อากาศ หรือที่หลบภัย) และไปไกลกว่าความต้องการได้รับความรัก หรือการได้รับการยอมรับจากคนอื่น ตัวอย่างเป้าหมายสูงสุดก็เช่น เป็นนักวาดภาพ น้อยคนที่จะบรรลุความต้องการขั้นสูงสุดนี้ได้ เพราะมักหยุดตัวเองอยู่ที่ความต้องการขั้นพื้นฐานเท่านั้น 

ก่อนจะกล้า…ต้องผ่านความกลัว

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายสำคัญของการออกจากพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) คือการที่เราได้พัฒนาตัวเอง (Growth Zone) แต่กว่าจะพัฒนาได้ต้องใช้เวลา และต้องผ่านสองขั้นตอนที่สำคัญ นั่นคือขั้นตอนของความกลัว (Fear Zone) และการเรียนรู้ (Learning Zone) 

เมื่อเราก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย สิ่งแรกที่จะเกิดคือความกลัวสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกลัวความผิดพลาด กลัวเสียงวิจารณ์ กลัวคำตำหนิ หลายคนก้าวข้ามความกลัวไม่ได้ก็ถอยกลับไปหลบที่ safe zone ของตัวเองต่อ แต่ถ้าเอาชนะความกลัวได้ เราจะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนของการเรียนรู้ (Learning Zone) ผ่านการเผชิญปัญหาและความท้าทายต่างๆ จนเกิดเป็นทักษะและความสามารถใหม่ๆ จนกระทั่งเราเกิดความมั่นใจและสร้างเป้าหมายให้กับตัวเอง นำไปสู่การเติบโตและพัฒนาตัวเอง (Growth Zone) ในที่สุด

5 กิจกรรมท้าทายที่อายุไม่ใช่ปัญหา

และนี่คือตัวอย่างกิจกรรมของคนที่กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย เอาชนะความกลัว เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จนบรรลุความฝันที่ตั้งไว้–โดยไม่เกรงใจอายุ

  1. กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

การผลักดันตัวเองให้เรียนรู้ทักษะชีวิตใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในยุคนี้ นอกจากจะช่วยพัฒนาสมอง สติปัญญา และความสามารถ ยังช่วยปรับอารมณ์และจิตใจให้สดใสตื่นตัว เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผันผวนอยู่ตลอด ถึงอายุมากแล้วก็ไม่ต้องอายที่จะกลับไปเป็นนักเรียน ดูตัวอย่างข่าวคุณลุงวัย 70 ปีที่มาสมัครเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการเป็นนักศึกษาแต่อย่างใด แถมมีแต่เสียงชื่นชมให้กำลังใจ และได้เพื่อนใหม่ต่างวัยอีกด้วย ล่าสุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปิดตัว วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต (CMU School of Lifelong Education) สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย มีทั้งหลักสูตรเรียนร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลักสูตรอบรมระยะสั้น และหลักสูตรเรียนออนไลน์ 

  1. สมัครงานหลังเกษียณ

เทรนด์ใหม่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ คือการผลักดันนโยบายให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ (ที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การสมัครงานหลังเกษียณจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป สำหรับประเทศไทย ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสร้างอาชีพและพึ่งพาตนเอง เช่น จัดฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานอาชีพอิสระ และการจัดตลาดนัดแรงงานให้ผู้สูงอายุ (60+Job Fair) และมีภาคเอกชนตอบรับเข้าร่วมมากกว่า 15 บริษัท เช่น บริษัท เทสโก้ โลตัส, บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท อีซูซุโกลบอล ซีวี เอ็นจิเนียริ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เอเซี่ยน เบสท์  ซิคเก้น จำกัด, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมแกรนเซ็นเตอร์พอย เป็นต้น ตัวอย่างงานที่ผู้สูงอายุทำได้ เช่น พนักงานจัดเรียงสินค้า พนักงานครัว พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า พนักงานธุรการ พนักงานเบเกอรี่ และพนักงานครัวขนมไทย

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโอกาสเรื่องงานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ www.dop.go.th 

  1. ออกไปเปลี่ยนแปลงโลก

รู้หรือยังว่าการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องของคนหนุ่มสาวเพียงเท่านั้น แต่วัยหนุ่มสาวตอนปลาย หรือคนมีไฟวัยหลังเกษียณก็ออกมาเปลี่ยนแปลงโลกได้เช่นกัน แถมยังทำได้ดีอีกด้วย ตัวอย่างเช่น คุณอร่าม สัตยธรรม ที่ออกมาทำงานเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลหลังเกษียณอายุราชการ ทําหน้าที่แนะนําเส้นทางและสถานที่ต่างๆ ในโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยหรือประชาชนที่มาใช้บริการ หรือคุณวรรณวิกร ชื่นมะนา จิตอาสาวัยหลังเกษียณที่มาร่วมทีม Happy Dolls Project สมาชิกองค์กรจัดงานอาสาของธนาคารจิตอาสา เย็บตุ๊กตามอบเป็นกำลังใจให้คนกลุ่มต่างๆ เช่น เด็กป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล

ค้นหางานจิตอาสาด้านอื่นๆ อีกมากมายได้ที่ www.jitarsabank.com/ 

  1. ออกเดินทางคนเดียว

เหตุผลยอดฮิตที่ทำให้หลายคนอดเดินทางท่องเที่ยวก็คือ การไม่มีเพื่อนเดินทางหรือไม่กล้าเดินทางคนเดียวนั่นเอง เพราะกลัวจะไม่สนุก ไม่ปลอดภัย หรือแค่ไม่เคยลองก็เลยไม่กล้าทำ จะว่าไปการออกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวถือเป็นความท้าทายของคนแทบทุกวัย โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องคิดหนัก และถ้ายิ่งเป็นผู้สูงวัยยิ่งคิดหนักเข้าไปใหญ่ แต่ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคมที่พัฒนาไปไกลกว่าเดิมมาก ทำให้การออกเดินทางคนเดียวปลอดภัยขึ้นมากและไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัว ดูตัวอย่าง ป้าแป๋ว-กาญจนา พันธุเตชะ วัยหลังเกษียณที่แบกเป้เที่ยวคนเดียวไปทั่วไทยและทั่วโลกจนได้ฉายา “คุณป้าแบ็คแพ็ค” 

ติดตามอ่านประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ที่ FB Page: hipsterpaew  

  1. ปลุกความเป็นนักกีฬาในตัวคุณ

ใครๆ ก็รู้ว่าการเล่นกีฬานั้นดีต่อคนทุกเพศทุกวัย และเรามักได้ยินว่าถ้าอยากเป็นนักกีฬาต้องเริ่มต้นฝึกซ้อมตั้งแต่ยังเด็กๆ แต่นั่นไม่เสมอไปนะ! เพราะปัจจุบันเรามีการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุอยู่หลายรายการ มีทั้งที่เปิดโอกาสให้ผู้แข่งขันตั้งแต่อายุ 60 ขึ้นไป และบางรายการเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 39 ปีขึ้นไป ดังนั้น แม้จะเริ่มต้นช้าแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนที่อยากเป็นนักกีฬาจริงจัง ตัวอย่างเช่นคุณตาสว่าง จันทร์พราหมณ์ ที่ตัดสินใจลงแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติและกลายเป็นดาวเด่นไปในทันทีจากการคว้าสามเหรียญทองกีฬาวิ่ง 100 เมตร ขว้างจักร และพุ่งแหลน ในระดับอายุ 95-99 ปี (ปีนี้คุณตามีอายุ 101 ปีแล้วนะจ๊ะ!) นอกจากคว้าแชมป์ในประเทศไทยแล้ว คุณตายังไปคว้าเหรียญจากการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศแห่งเอเชียมาถึง 2 ครั้งอีกด้วย และอีกหนึ่งดาวเด่นในวงการกีฬาผู้สูงอายุที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือป้าเจี๊ยบ-นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย วัย 64 ปี ที่เริ่มหัดเล่นสเกตบอร์ดตอนอายุ 57 ปีในช่วงที่พักฟื้นจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านม จากการเริ่มหัดเล่นกับลูกหลานและเป็นแค่งานอดิเรก ได้เพิ่มระดับความจริงจังจนถึงขั้นติดทีมชาตินักกีฬาเอ็กซ์ตรีมในปี 2562 กันเลยทีเดียว

สำหรับผู้สนใจเป็นนักกีฬา (ไม่ว่าจะวัยไหน) เข้าไปติดตามข่าวสารได้ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย www.sat.or.th/ 

เคล็ดวิธีเพิ่มความกล้า…ท้าทายตัวเอง

  • กล้าเปลี่ยนวันละนิดจิตแจ่มใส

การออกจากพื้นที่ปลอดภัยของแต่ละคนมีความยากง่ายแตกต่างกัน ถ้าใครยังไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ให้เริ่มท้าทายตัวเองด้วยเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เป้าหมายคือทำให้เราคุ้นเคยกับความเปลี่ยนแปลง ในแต่ละวันลองทำ 1 อย่าง เช่น สลับนาฬิกาไปใส่ที่ข้อมือคนละข้าง สลับฝั่งใช้ช้อนกับส้อม ลองเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย ใส่เสื้อผ้าสีสันหรือสไตล์ที่ต่างจากเดิม หรือปิดสมาร์ทโฟนหยุดใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเวลา 1 วัน เปลี่ยนทัศนคติให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสนุก

  • กล้าคิดนอกกรอบ

จากเรื่องเล็กๆ ลองคิดนอกกรอบให้ใหญ่ขึ้น ฝึกทำกิจกรรมที่ไม่คิดว่าเราจะทำได้ โดยไม่ต้องคิดถึงผลลัพธ์มากนัก ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบบ้าง เช่น อ่านหนังสือในหมวดหมู่ที่เราไม่เคยสนใจ หรือศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาอื่นนอกเหนือจากศาสนาที่เรานับถือ หรือลองฟังความคิดเห็นของเด็กตัวเล็กๆ ดูบ้าง บางทีเราอาจพบไอเดียที่ถูกใจหรือเจอจิ๊กซอว์ส่วนที่หายไป ซึ่งถ้าเรายังติดอยู่กับความเคยชินเดิมๆ คงไม่ได้เจอกัน

  • กล้าเพิ่มระดับความท้าทาย

หลังจากท้าทายตัวเองให้ทำเรื่องที่แตกต่างไปจากเดิมได้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือเพิ่มความท้าทายให้ตัวเองมากขึ้นไปอีก ลองเพิ่มระดับความยากหรือเพิ่มปริมาณสิ่งที่ทำ เพิ่มไปทีละนิดก็ได้ แต่อย่าหยุดอยู่กับที่ พอรู้ตัวอีกทีเราจะพบว่าตัวเรานั้นมีศักยภาพมากกว่าที่คิด 

– 

แปลและเรียบเรียงจาก: positivepsychology.com/comfort-zone/ 
อ้างอิง:
Phranakhon Rajabhat University
doe.go.th
goodlifeupdate.com
jitarsabank.com
brandinside.asia
voicetv.co.th
workpointtoday.com

บทความที่เกี่ยวข้อง