‘เพราะร่างกายคือบ้านที่แท้จริงของเรา’ เรื่องเล่าจากเกียวโตถึงเชียงใหม่ของยูกิและเคโกะ มากิโนะ

Human / Self-Inspiration

เต้าหู้
การหมัก
ของหวานสด
รับประทาน
การเรียนรู้

คือคำศัพท์ 5 คำที่ได้รับการจัดวางคำละบรรทัดบนป้ายตั้งพื้นสีขาวหน้าร้านอาหารของสามีภรรยาชาวญี่ปุ่น ยูกิ มากิโนะ (Yuki Makino) และ เคโกะ มากิโนะ (Keiko Makino) แม้เจ้าของร้านตั้งใจจะให้คำศัพท์ดังกล่าวเพื่ออธิบายร้าน หากในอีกแง่มุม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ คำศัพท์เหล่านี้ก็สะท้อนบุคลิกและวิถีชีวิตของคนทั้งคู่ได้อย่างชัดเจน เฉกเช่นประโยคภาษาอังกฤษอีกประโยคที่ประดับอยู่บนป้ายอีกหนึ่งป้ายภายในร้าน – We are what we eat. 

เรานัดเคโกะและยูกิ ที่ Aeeen (อ่านว่า อา-อีน) เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ร้านที่ทั้งคู่นิยามว่าเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบแฮนด์เมดเพื่อสุขภาพร้านนี้อยู่ภายในบ้านไม้ขนาดกะทัดรัด 2 ชั้นที่มีระเบียงยื่นออกไปในสวนร่มรื่น ภายในอัดแน่นไปด้วยชั้นวางโหลบรรจุวัตถุดิบและเครื่องปรุง เครื่องบดถั่วเหลือง จานชามเซรามิก ของประดับตบแต่งสไตล์ญี่ปุ่น ไปจนถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ขณะนั้นกำลังขับกล่อมเพลงแจซหวานละมุนของ Chet Baker ทั้งคู่ไม่ได้พักอาศัยในอาคารหลังนี้ แต่ด้วยองค์ประกอบที่ว่า รวมถึงบรรยากาศอบอุ่นและเป็นกันเอง ที่นี่ดูไม่ต่างอะไรจากบ้านของพวกเขา 

“บ้านหรอครับ… เราเช่าบ้านไว้ใกล้ๆ ร้านนี้ ในระยะเดินเท้า บ้านเราจริงๆ อยู่ญี่ปุ่น แต่นั่นก็เป็นบ้านของพ่อแม่ อาจฟังดูคลุมเครือหน่อย แต่เพราะเราทำร้านอาหารที่เน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก จึงคิดว่าบ้านที่แท้จริงคือร่างกายของเราเองเสียมากกว่า” ยูกิ เจ้าของร้าน เปิดบทสนทนา เขาและภรรยาจะช่วยกันนับนิ้ว บอกว่าเดือนพฤศจิกายนปีนี้ (2565) พวกเขาจะอยู่เชียงใหม่ครบ 9 ปีแล้ว

จากเกียวโตถึงเชียงใหม่

แม้จะอยู่เชียงใหม่ปีนี้ครบปีที่ 9 แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้าไม่นาน เอาเข้าจริง ทั้งเคโกะและยูกิที่พื้นเพเป็นชาวโอซาก้า ก็ไม่เคยมีความคิดจะเดินทางไกล ย้ายประเทศมาอยู่เชียงใหม่อย่างวันนี้ 

“ย้อนกลับไปคิดก็ตลกดีนะครับ เราสองคนรู้จักกันเพราะทำงานร่วมกันในบริษัทต่างประเทศบริษัทหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงจากการทำขนมอบกรอบแบบฟาสต์ฟู้ด (หัวเราะ) เราคบหา แต่งงาน และมีลูกด้วยกัน คิดว่าจะใช้ชีวิตแบบคู่สามีภรรยาญี่ปุ่นทั่วไป กระทั่งปี 2011 ญี่ปุ่นเกิดสึนามิ นั่นคือประมาณ 6 เดือนให้หลังที่เคโกะคลอดลูกชาย (โฮมาเระ มากิโนะ)” ยูกิเท้าความ “สึนามิเปลี่ยนชีวิตพวกเราอย่างสิ้นเชิง”

11 มีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นอกชายฝั่งคาบสมุทรโอชิกะ ภูมิภาคโทโฮกุ ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 40 เมตร พัดเข้าชายฝั่งทำลายบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้คนของหลายจังหวัดในภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงส่งผลสะเทือนต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุคุชิมะ แม้จุดเกิดเหตุจะห่างจากโอซาก้านับพันกิโลเมตร แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สองสามีภรรยา รวมถึงคนญี่ปุ่นทั้งประเทศเบาใจได้แม้แต่น้อย

“รัฐบาลบอกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง แต่ข่าวสารในอินเทอร์เน็ตกลับเป็นคนละเรื่อง เราต่างใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัว ผู้คนในโตเกียวหลายคนตัดสินใจอพยพลงใต้ เพื่อนเราหลายคนคุยกันถึงเรื่องย้ายประเทศ เราสองคนก็ด้วย จากเดิมที่ชีวิตปกติในโอซาก้าก็ตึงเครียดอยู่แล้ว มาเจอเหตุการณ์นี้ก็ซ้ำเติมหนักเข้าไปใหญ่ สุดท้าย เราตัดสินใจย้ายกับเขาด้วย” ยูกิ กล่าว

และเกียวโต ก็คือสถานีแรกที่ทั้งคู่เลือกปักหลัก 

“ทำไมต้องเป็นเกียวโตหรือคะ ข้อแรกคือตอนนั้นฉันมีลูกเล็ก ก็อยากเลี้ยงลูกในเมืองที่มีความตึงเครียดน้อยกว่าที่เป็นอยู่ เกียวโตเป็นเมืองเล็ก แต่ก็ไม่เล็กเกินไป และมีช่องทางในการทำมาหากิน พอยูกิตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ฉันก็คิดต่อว่าแล้วเราจะทำงานอะไรที่นั่นดี จนมาลงเอยที่ทำเบนโตะขาย” เคโกะ เล่า

เกิดและเติบโตในย่านนิชินาริ (Nishinari) ย่านที่ถือเป็นชุมชนแออัดใจกลางเมืองโอซาก้า พื้นเพครอบครัวของเคโกะคือชาวเกาหลีที่ย้ายมาอาศัยที่ญี่ปุ่น เคโกะเล่าว่าชีวิตในวัยเด็กของเธอที่อาศัยอยู่ร่วมกับแม่และยายค่อนข้างลำบาก ทั้งสภาพแวดล้อม การแข่งขัน และสถานะทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เยียวยาเธอได้ดีคืออาหารฝีมือคุณยาย

“จำได้เลยว่าตอนฉันอายุ 5 ขวบ ยายจะทำเมนูจากผัก ซุป และข้าวให้กิน โดยจะเปลี่ยนชนิดของซุปทุกๆ วัน เวลาไปโรงเรียน ยายก็ทำใส่เบนโตะให้ ถึงครอบครัวฉันไม่ได้มีฐานะ แต่อาหารที่ยายทำก็พิถีพิถัน โดยเลือกซื้อวัตถุดิบมาทำเองทั้งหมด ย้อนกลับไปในตอนนั้นอาหารพวกฟาสต์ฟู้ดนี่ได้รับความนิยมในกลุ่มเด็กรุ่นฉันมาก แต่ฉันน่าจะเป็นเด็กคนเดียวในชั้นเรียนที่ไม่ชอบกินเลย จะกินแต่เบนโตะฝีมือคุณยายอย่างเดียว” เคโกะ เล่า

เธอบอกว่าไม่ใช่เพียงเพราะรสมือและรสนิยมการกินที่เธอติดมาตั้งแต่เด็ก หากด้วยความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบและการปรุงอาหารของยาย ทำให้อาหารอร่อยขึ้นเป็นพิเศษ และที่สำคัญมันคล้ายสื่อที่ส่งมอบความรักจากคนปรุงสู่คนกิน หลังจากย้ายมาเกียวโต เธอจึงได้ไอเดียในการทำเบนโตะมังสวิรัติที่คัดสรรแต่วัตถุดิบปลอดสารเคมีมาจำหน่าย

“ความรักในการกินอาหารเพื่อสุขภาพนี่มาจากคุณยาย แต่ความรักในการทำอาหาร ส่วนสำคัญมาจากลูกค่ะ ก่อนฉันจะมีโฮมาเระ ฉันมีลูกมาแล้ว 2 คน ทุกคนล้วนมีอาการภูมิแพ้ โฮมาเระก็เป็นด้วย ฉันจึงคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพของฉันเอง เพราะฉันมีอาการแพ้อาหารหลายชนิดโดยเฉพาะแป้งสาลี นั่นทำให้ฉันศึกษาอาหารเพื่อสุขภาพอย่างจริงจึงเพื่อรับประทานเอง ช่วงท้ายๆ ก่อนย้ายมาเกียวโต ฉันเริ่มทำเบนโตะขายที่โอซาก้าบ้างแล้ว พอมาอยู่เกียวโต เลยตัดสินใจทำเป็นอาชีพอย่างจริงจัง” เคโกะ เล่า

ที่เกียวโต สามีภรรยามากิโนะจะช่วยกันทำเบนโตะจากที่อพาร์ทเมนต์ ก่อนปั่นจักรยานจัดส่งตามบ้านของลูกค้าที่สั่งไว้ บางส่วนพวกเขานำมาตั้งโต๊ะขายตามตลาดนัดในวัดต่างๆ ผ่านไปหนึ่งปีเศษ ทุกอย่างลงตัว แต่ก็เป็นดังที่ยูกิเปรียบเปรยไว้ว่าสึนามิได้ทิ้งบาดแผลเรื้อรังไว้ในใจคนญี่ปุ่น ข่าวเรื่องกัมมันตภาพรังสีอันจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคงไม่เลือนหาย – “มันมีความระแวงว่าอากาศในญี่ปุ่นมีการปนเปื้อนอยู่ตลอดเวลา และยิ่งฉันใส่ใจกับเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นพิเศษด้วย จึงจิตตกเข้าไปใหญ่” เคโกะบอก ท้ายที่สุด ครอบครัวมากิโนะจึงตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง โดยครั้งนี้พวกเขาเดินทางไกลกว่าทุกครั้ง ไปยังเมืองที่พวกเขาแทบไม่รู้จักอย่างเชียงใหม่ 

“คิดแบบง่ายๆ เลยก็คือ เราชอบเกียวโตค่ะ แต่พอรู้สึกว่าเราคงอยู่ญี่ปุ่นต่อไปไม่ได้แล้ว จึงคิดถึงเมืองที่มีความคล้ายกับเกียวโต ซึ่งคนญี่ปุ่นหลายคนก็เห็นตรงกันว่าเชียงใหม่นี่แหละที่ดูคล้ายกันที่สุด” เคโกะ ผู้ที่ทั้งชีวิตไม่เคยเยือนเชียงใหม่มาก่อน กล่าว

“ส่วนผมเคยมาเชียงใหม่สมัยตอนอายุยี่สิบต้นๆ ตอนนั้นมาเที่ยวแบบแบ็กแพ็กแล้วเกิดประทับใจ ที่นี่มีเมืองเก่า เต็มไปด้วยวัด แต่ขณะเดียวกันก็ใกล้กับภูเขาและธรรมชาติ และผู้คนที่นี่ก็เป็นมิตรคล้ายๆ กับเกียวโต อีกเรื่องคือ เชียงใหม่มีคนญี่ปุ่นอยู่พอสมควร เราจึงคิดว่าคงไม่โดดเดี่ยวเสียทีเดียว” ยูกิ กล่าว

เคโกะ ยูกิ และลูกชายตัวเล็ก โฮมาเระ ซื้อตั๋วเครื่องบินขาไปขาเดี่ยวเพื่อเดินทางมายังเชียงใหม่ ฝ่ายหญิงเล่าให้เราฟังด้วยอารมณ์ขันว่าเหมือนมาตายเอาดาบหน้า ไม่มีเพื่อน ไม่มีญาติ ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน ไม่รู้ภาษา และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเริ่มประกอบอาชีพอะไร

ไม่กังวลเลยหรอ เราสงสัย

“กังวลสิคะ” เคโกะหัวเราะ “หลังชั่งใจอยู่สักพัก ก็คิดว่าแม้เชียงใหม่จะมีปัญหาหมอกควัน แต่ก็เป็นแค่ช่วงสั้นๆ ในระยะยาวที่นี่ตอบโจทย์กับชีวิตและโอกาสในการทำงานของเรามากกว่า” เคโกะ ตอบ 

“ตอนนั้นเราอายุสามสิบกว่ากันแล้ว แต่พอตกลงปลงใจ ก็รู้สึกเหมือนพวกเราเป็นวัยรุ่นอยู่เลยล่ะครับ” ยูกิ เสริมพร้อมรอยยิ้ม

โชจินเรียวริ: อาหารของความสมดุล

แน่นอน ทั้งเคโกะและยูกิวางแผนไว้แล้วว่าจะทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพ แต่คำถามก็คือ ในเมืองที่พวกเขาไม่รู้จักใครเลยอย่างเชียงใหม่ พวกเขาเริ่มต้นอย่างไร?

“มาถึงวันแรกผมวิ่งก่อนเลยครับ” ยูกิ ตอบทันที “นอกจากข้อมูลในไกด์บุ๊ก เราก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเมืองเมืองนี้ ผมเลยตัดสินใจเช่าเกสต์เฮ้าส์ในย่านคูเมืองเชียงใหม่ และออกวิ่งรอบคูเมืองทุกเช้าเพื่อศึกษาเมือง”

ควบคู่ไปกับการออกวิ่ง ยูกิก็เริ่มผูกมิตรกับคนญี่ปุ่นที่มาทำธุรกิจอยู่ที่นี่ จนได้รู้จักกับนักธุรกิจคนหนึ่งที่ร่วมหุ้นกับคนไทยทำน้ำดื่มจากน้ำแร่ในเชียงดาวยี่ห้อ Seizan และยูกิก็ได้งานแรกคือการเป็นเซลล์ขายน้ำแร่ในเชียงใหม่ 

“ไม่ใช่แค่เป็นงานแรกของยูกิ แต่น้ำแร่เซซังทำให้ฉันพบคำตอบในการทำอาหาร เพราะพอมาอยู่ที่นี่ ฉันก็ได้ทดลองทำเต้าหู้และเครื่องปรุงที่หมักจากโคจิ (กล้าเชื้อราสำหรับหมักอาหารในตำรับญีปุ่น – ผู้เรียบเรียง) อยู่นาน แต่ก็ทำได้ไม่เหมือนตอนทำที่ญี่ปุ่นเลย จนมาพบว่าน้ำของไทยและของญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน ซึ่งน้ำนี่แหละคือตัวแปรสำคัญมากไม่เฉพาะกับการทำอาหาร แต่ยังรวมถึงสมดุลของสุขภาพ จนมาได้น้ำแร่จากเชียงดาวนี่แหละที่ทำให้ฉันค่อยๆ ปรับสูตรอาหารจนลงตัว” เคโกะ บอก

จากการขายน้ำแร่ให้คนอื่น แล้วธุรกิกเล็กๆ ส่วนตัวของทั้งคู่ก็เริ่มต้น เคโกะและสามีได้ผลิตภัณฑ์โฮมเมดอย่างเต้าหู้ ถั่วหมัก และเครื่องปรุงรสอื่นๆ วางขายตามตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วเมือง แม้ในช่วงแรกพวกเขาจะพูดภาษาไทยไม่ได้สักคำ แต่ด้วยการโฆษณาแบบปากต่อปากของผู้ที่ได้ชิม ทำให้แผงลอยขายเต้าหู้ที่ยังไม่มีชื่อแผงนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ (TCDC Chiang Mai) ได้ชวนพวกเขาไปเป็นวิทยากรทำเวิร์คช็อปทำเต้าหู้โฮมเมด และออกร้านใน pop up market ในงานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ในปีถัดมา รวมถึงการได้เปิดร้านเป็นของตัวเองครั้งแรกในชื่อ 3 Studios ในทำเลไม่ไกลจากสะพานนวรัฐ กลางใจเชียงใหม่ 

“ตอนแรกเราก็กังวลเหมือนกันครับว่าอาหารญี่ปุ่นแบบเราที่เสิร์ฟ คนที่นี่จะเข้าใจมากแค่ไหน แต่ก็ด้วยเพราะเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย มีการเปิดรับ และแบ่งปันความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อบวกรวมกับกระแสที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพผ่านการกินมากขึ้น ร้านเราจึงค่อนข้างได้รับผลตอบรับที่ดี” 

เพราะเป็นสิ่งใหม่มากๆ ด้วยหรือเปล่า เราถามต่อ

“จริงๆ ก็ไม่ใหม่นะคะ” เคโกะ ตอบ ก่อนอธิบายว่าอาหารเพื่อสุขภาพที่เธอทำมีรากฐานมาจากโชจินเรียวริ (Shojin Ryori) ซึ่งเป็นตำรับอาหารของพระสงฆ์นิกายเซ็นรับประทานกันมาเกือบพันปีแล้ว หรือตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 อาหารปราศจากเนื้อสัตว์ และในสำรับต้องมีเมนู 5 อย่างที่มีสีสันแตกต่างกัน (เขียว เหลือง แดง ดำ และขาว) รวมถึงรสชาติที่แตกต่างกัน 5 รส (หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม และอูมามิ หรือรสกลมกล่อม) ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความชาญฉลาดในการผสานวัตถุดิบจากธรรมชาติ

“โชจินเรียวริเป็นอาหารของความสมดุลค่ะ ไม่ใช่แค่เรื่องสีและรส แต่เป็นสมดุลของสุขภาพผู้บริโภค พระท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ แต่ก็ยังแข็งแรง เพราะได้รับโปรตีนจากวัตถุดิบอื่นๆ ครบถ้วน เราใช้ตำรับนี้มาปรับให้ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ โดยเรียกมันว่า นีโอ โชจินเรียวริ (Neo Shojin Ryori) โดยไม่ได้มองแค่ว่าสิ่งที่เราทำคืออาหารมังสวิรัติ แต่มันเป็นเรื่องของการย่อยอาหาร การดูดซึม การเสริมภูมิคุ้มกัน” เคโกะ กล่าว

“คิดว่าที่เราได้รับเสียงตอบรับที่ดีตั้งแต่ต้น ส่วนหนึ่งก็เพราะยังไม่ค่อยมีคนทำอาหารแบบนี้ในรูปแบบร่วมสมัย และอีกเรื่องก็คือ ยิ่งโลกหมุนเร็วและเร่งให้ผู้คนรีบบริโภค หากก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ไม่ได้อยากรีบร้อน และต้องการความพิถีพิถันในเรื่องสุขภาพและรสชาติของอาหารอยู่” 

เสียงหัวเราะ ความสุข และการเรียนรู้

“คำว่าอา-อีน (Aeeen) มาจากเสียงหัวเราะของเคน ชิมูระ (Ken Shimura) น่ะครับ”

พูดจบ ยูกิ ก็อธิบายให้เราเข้าใจด้วยการหัวเราะด้วยการลากเสียงยาวตามแบบนักแสดงตลกชาวญี่ปุ่นในตำนานที่เขาและเคโกะต่างชื่นชอบ 

“เสียงหัวเราะคือสัญลักษณ์ของความสุข และการทำอาหารเพื่อสุขภาพก็เป็นการส่งมอบความสุขให้คนรับประทานเช่นกัน พอย้ายร้านมาอยู่ที่นี่และคิดว่าจะตั้งชื่อใหม่ จึงนำเสียงหัวเราะจากเคนมาตั้งชื่อร้าน” ยูกิ อธิบาย

หลังจากเปิดร้าน 3 Studios มาได้เกือบ 4 ปี เมื่อโฮมาเระ ลูกชายของทั้งคู่เริ่มโต พวกเขาจึงต้องขยับขยายพื้นที่ร้านให้ตอบโจทย์กับชีวิตมากขึ้น จนมาพบบ้านไม้ให้เช่าในซอยอันร่มรื่นเชิงดอยสุเทพแห่งนี้

“เมื่อก่อนโรงเรียนอนุบาลของลูกอยู่ละแวกนี้ เราจึงผ่านบ่อยและรู้สึกชอบมาก เป็นย่านที่สงบ ต้นไม้เยอะ แต่ก็อยู่ใกล้เมือง ไม่พลุกพล่าน และก็มีทุกอย่างครบ เราคิดว่าในเมื่อความตั้งใจของร้านคือการส่งมอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพแก่ลูกค้า การอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่สงบและมีคุณภาพ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มื้ออาหารสมบูรณ์” เคโกะ บอก 

เช่นเดียวกับร้านเดิม Aeeen เสิร์ฟอาหารนีโอโชจินเรียวริ อย่าง Tofu Gozen หรือกับข้าวมังสวิรัติ 5 สี 5 อย่าง รวมถึงเมนูที่ทำจากเต้าหู้อันหลากหลาย เครื่องปรุงญี่ปุ่นตำรับโฮมเมดของเคโกะ และเพิ่มเติมด้วยเมนูใหม่ๆ อาทิ อูด้ง สุกี้เต้าหู้ เทมเป้แกงกะหรี่ รวมถึงเบเกอรี่คลีนๆ อย่าง ขนมปังนีโอเพอคัสเซีย (Neo Pocaccia) เค้กชิฟฟอนกับซอสถั่วเหลือง หรือ ขนมเค้กที่ไม่ใช้ไข่ นม และแป้ง แต่ก็อร่อยอย่างเหลือเชื่อ เป็นต้น 

เคโกะและยูกิจะเปิดร้านวันพุธ-อาทิตย์ 11.00 น. – 17.00 น. สัปดาห์หนึ่งจะมีวันหยุดสองวัน (จันทร์-อังคาร) หากพวกเขาไม่ใช้วันหยุดไปกับการซื้อวัตถุดิบจากตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ก็จะใช้เวลาไปกับการผ่อนคลาย อย่างการแช่น้ำร้อน ทำงานหัตถกรรม เดินตลาดนัดสินค้าวินเทจ เลือกซื้อแผ่นเสียง ไปจนถึงการดื่มสังสรรค์กับเพื่อนฝูง โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 พวกเขาจะเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ญี่ปุ่นปีละครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่ดอกซากุระเบ่งบานและภูมิภาคคันไซเต็มไปด้วยงานเทศกาล

“เรายังคิดถึงญี่ปุ่นตลอดแหละครับ แต่ขณะเดียวกัน เชียงใหม่ก็ตอบโจทย์กับชีวิตของพวกเรามาก อย่างที่บอกว่าที่นี่มีความเป็นเมือง แต่ก็มีบรรยากาศแบบชนบท และที่สำคัญคือใกล้กับภูเขาและผืนป่า มีไม่กี่เมืองหรอกที่คุณสามารถใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที จากความพลุกพล่านใจกลางเมืองก็เจอแหล่งธรรมชาติ เมืองมันทำให้ชีวิตเราสมดุล” ยูกิ ผู้ที่เน้นย้ำว่าเขาคงจะใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่อีกยาวเพราะเมืองนี้ยังมีอะไรให้เขาเรียนรู้อีกเยอะ กล่าว 

“ย้อนกลับไปตอนที่ย้ายมาอยู่นี่ใหม่ๆ ถามว่ากังวลใจอะไรที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่องลูกค่ะ ก็กังวลว่าเขาจะอยู่ที่นี่ได้ไหม จะเรียนภาษาไทยรู้เรื่องหรือเปล่า จำได้ว่าสองสามเดือนแรกที่เขาเข้าโรงเรียนอนุบาล เขางอแงมาก เพราะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลย เราก็ได้แต่บอกให้เขาอดทน ค่อยๆ เรียนรู้ไป ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน พอเขาปรับตัวได้ กลับกลายเป็นว่าเขาจะงอแงในวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเสียอย่างนั้น” เคโกะ หัวเราะ

“ทุกวันนี้เขาพูดภาษาไทยได้คล่องกว่าพวกเราอีก” เธอ ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม  


ติดตาม ยูกิ มากิโนะ และ เคโกะ มากิโนะ ได้ที่: Aeeen

ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์

บทความที่เกี่ยวข้อง