‘Smile Migraine’ อีกหนึ่งความสำเร็จของสตาร์ทอัพไทยโดย ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช

Human / Self-Inspiration

เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะอะไร ทำงานอยู่สายงานไหน มีอายุเท่าไหร่ หากแรงขับภายในใจที่อยากทำในสิ่งที่ตัวเองรักยังคงมีอยู่ การลงมือทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นจริงได้ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต ดังเช่น ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นอกจากจะทำงานทางด้านวิชาการต่างๆ ทั้งตรวจคนไข้ สอนนักศึกษาแพทย์ ทำงานวิจัย คุณหมอก็ยังหาโอกาสในการทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมออย่างการไปเป็น speaker ในงาน TEDx ที่เชียงใหม่ ซึ่งหากใครเป็นแฟนตัวยงของ Ted Talk คงจะรู้สึกคุ้นหน้าคุณหมอสุรัตน์กันอย่างแน่นอน อีกทั้งคุณหมอก็ยังทำสตาร์ทอัพอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันคุณหมอเป็น founder และหัวเรือใหญ่ของสตาร์ทอัพทไทยที่กำลังได้รับความสนใจมากมายอย่าง Smile Migraine ถึงแม้คุณหมอจะมีความรับผิดชอบในหลายๆ ด้านแต่ก็สร้างแรงบันดานใจให้ตัวเองและยังมีเรี่ยวแรงในการขับเคลื่อนความฝันของตนเองให้กลายมาเป็นผลงานที่จับต้องได้ ไม่ว่างานนั้นจะท้าทายและมีอุปสรรคมากมายขนาดไหนก็ตาม

เรียนรู้สิ่งใหม่จากประวัติศาสตร์

“เรื่องราวเบื้องหลังที่เป็นทั้งนักพูด นักคิด และนวัตกร (Innovator) นั้นเกิดมาจากพื้นฐานที่ฝังรากลึกในใจก็คือ ‘ความชอบ’ และ ‘ความสนใจ’ ในช่วงที่ผมได้ไปศึกษาต่อในเรื่องโรคปวดศีรษะและทำวิจัยที่ประเทศอังกฤษ 2 ปีที่ University College London นั้นถือเป็นโอกาสที่ได้เปิดโลกความรู้และความคิดใหม่ๆ ให้ตัวเอง เพราะเป็นคนที่ชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์การแพทย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เดิมทีได้สั่งสมความรู้และข้อมูลมาจากการอ่านหนังสือ แต่การที่ได้ไปอยู่ลอนดอนเป็นเหมือนการเปิดประตูบานใหญ่ เพราะลอนดอนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ทำให้ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ทางการแพทย์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับโรคทางสมอง นอกจากนี้ผมยังชอบอ่านและสะสมหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รวมถึงด้านจิตวิทยา ผมเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาจากประวัติศาสตร์เหล่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมชอบแก้ไขปัญหา ชอบคิดริเริ่มในสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานที่ท้าทายอันเกิดมาจากความชอบ จนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Smile Migraine ในวันนี้ และหวังว่าจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนของสังคมที่สำคัญในอนาคต”

What We Gain from Pain, What We Fail from Pills

“เนื่องจากผมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบประสาทวิทยาและอาการปวดหัว โดยเฉพาะโรคไมเกรน ทำให้ได้พบเห็นปัญหาต่างๆ ของโรคนี้มากมาย ยิ่งในปัจจุบันสภาพสังคมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ก็อยู่กับความกดดันและความรีบเร่ง จนกลายเป็นสาเหตุสำคัญของไมเกรน บางทีการกินยาแก้ปวดหรือการใช้วิธีการรักษาต่างๆ โดยที่ตัวเราเองไม่ได้ปรับพฤติกรรมหรือหาสาเหตุที่แท้จริง ก็อาจจะทำให้การรักษาอาการปวดศีรษะหรือไมเกรนนั้นไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร สิ่งนี้ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่ผลักดันให้ผมเริ่มคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือคนไข้ และแม้ว่าการเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพนั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสาขาอาชีพแพทย์ของผมค่อนข้างเยอะ เนื่องจากการทำสตาร์ทอัพต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยงในการทำงาน และเป็นที่รู้กันว่าเปอร์เซ็นต์ในการประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพนั้นมีเพียงแค่ 10% ซึ่งก็หมายความว่า คนที่เข้ามาลงสนามนี้มีถึง 90% ที่ไปไม่รอด ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะลงแรงลงกำลังในการนำพาให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไปสู่จุดหมายที่ต้องการ

Steve Jobs เคยกล่าวว่า ในโลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ คนที่พอมีปัญหาก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับปัญหานั้นต่อไป แม้เห็นคนอื่นพยายามแก้ไขปัญหาซึ่งอาจไม่ตรงใจก็มักจะเอาแต่บ่นและไม่ลงมือทำอะไร ส่วนคนอีกประเภทหนึ่งนั้น พอเจอปัญหาก็จะพยายามลงมือแก้ไขหรือทำอะไรสักอย่าง โดยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือการคิดนอกกรอบ ซึ่งผมเลือกที่จะเป็นคนประเภทที่สอง หากย้อนกลับมามองในสิ่งที่ผมพบเจอจากการทำงาน ผมพบว่าการตรวจคนไข้ การสอนนักศึกษา รวมถึงทำวิจัยต่างๆ มากมายนั้น ทำไมจำนวนคนไข้ไมเกรนยังไม่ลดลง การเลือกที่จะเป็นคนประเภทที่สองนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย เพราะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่การเป็นคนชอบอ่าน ชอบศึกษาค้นคว้า และมีข้อสงสัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้การเผชิญกับปัญหากลายเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นโจทย์ที่สนุกมากด้วยเช่นกัน”

จุดเริ่มต้นในสายงานที่แตกต่างกับวิถีของ Startup

“การที่ผมได้รับโอกาสในการดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย ย้อนไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ในขณะนั้นมีงาน Startup Thailand มาจัดที่เชียงใหม่ ผมมีโอกาสได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมแล้วเกิดไอเดียในการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ของสตาร์ทอัพมาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ จึงได้เริ่มต้นจัดงาน Chiang Mai Health Tech Innovation ขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพบปะกับผู้คนที่ทำงานด้านนวัตกรรม และได้มีโอกาสฟังการ pitching ต่างๆ ตามสไตล์ของสตาร์ทอัพ ทำให้เกิดความประทับใจและคิดจะต่อยอดการแก้ปัญหาที่ยังคงติดค้างภายในใจ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ผมเริ่มใช้วิธีการคิดแบบ Lateral Thinking (Edward de Bono) เริ่มเรียนรู้ในเรื่องของ Design Thinking Process แล้วได้นำมาประยุกต์ใช้กับวิธีการคิดและการแก้ไขปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นผมได้รับทุนของ ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นทุน Smart Health เข้ามาพอดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสตาร์ทอัพนั่นเอง”

‘Startup’ ฝันใหญ่ แต่เริ่มจากจุดเล็กๆ

“เมื่อได้รับทุนมาในตอนนั้น ผมก็เริ่มต้นงานโปรเจกต์แรกในนามของ Smart Headache ซึ่งเป็นโปรแกรมชนิดหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาคนไข้จากอาการปวดศีรษะ โดยมีการบันทึกอาการและข้อมูลของการปวดศีรษะ เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดการกับอาการปวดศีรษะต่างๆ นี่ถือเป็นจุดกำเนิดในการทำสตาร์ทอัพของผมเลย นอกจากนี้สิ่งที่ต้องมาพร้อมกับการเป็นสตาร์ทอัพและการทำนวัตกรรมก็คือการมีทีมงานที่มีความสามารถ แม้ว่าสตาร์ทอัพของผมจะเริ่มจากทีมงานเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งก็คือตัวผมและคุณนิชนาท ชูมโน แต่โชคดีที่คุณนิชนาทมีประสบการณ์ตรงในการดูแลสตาร์ทอัพในระดับประเทศอยู่แล้ว จึงทำให้การทำงานไหลลื่นและมีประสิทธิภาพพอสมควร ประกอบกับการที่ตัวผมเองก็เริ่มศึกษาแบบเจาะลึกในเรื่องของสตาร์ทอัพอย่างจริงจังมากขึ้น จึงทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยพัฒนาไปเป็นก้าวที่ใหญ่กว่าเดิมจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความมั่นคง” 

เพราะ ‘ความผิดพลาด’ คือ ‘การเรียนรู้’

“เมื่อเรียนรู้มากขึ้นก็ทำให้ผมได้พบกับความจริงอย่างหนึ่งว่า ถ้าคุณสามารถอยู่ในตลาดสตาร์ทอัพได้นานเกิน 3 ปี โอกาสที่คุณจะเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขัน หรือเป็น 10% ที่ประสบความสำเร็จก็มีมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่ที่ล้มเหลวนั้นมักจะเกิดขึ้นภายในช่วงปีแรกถึงปีที่สอง แม้แต่ Smart Headache ที่ผมทำในช่วงแรกก็ตกอยู่ใน 90% ที่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเช่นสตาร์ทอัพอื่นๆ ที่ล้มหายตายจากไปเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผมย่อท้อหรือหมดกำลังใจในการทำงาน แต่กลายเป็นแรงผลักดันให้ผมศึกษาค้นคว้าหากระบวนการในการที่ฝ่าฟันปัญหาและทำให้โปรเจกต์นั้นสำเร็จไปได้ 

โดยผมเริ่มศึกษาว่าอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะล้มเหลว ซึ่งหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของ Product Market Fit คือการที่คุณสร้างในสิ่งที่คุณอยากจะทำ แต่คุณไม่ได้สร้างในสิ่งที่ผู้คนอยากจะได้หรืออยากจะใช้มัน สิ่งที่สำคัญอย่างที่สองก็คือทีมงาน และสุดท้ายคือเงินทุน ซึ่งสามสิ่งนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วผมจึงเริ่มต้นในส่วนของการทำ Product Market Fit ด้วยการจัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Smile Migraine ซึ่งเปรียบเสมือนชุมชนออนไลน์ของคนที่มีปัญหาไมเกรนหรือปวดศีรษะคล้ายๆ กัน โดยปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 120,000 คน มียอดคนเข้าเยี่ยมชมเกิน 1 ล้านคนแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย เพื่อที่จะเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น 

ในส่วนที่สองคือ เรื่องของทีมงาน การมีทีมงานที่พร้อมในการทำงานกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปในทุกวันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน หลังจากจัดตั้งบริษัทขึ้นมา ผมก็เริ่มมีทีมงานที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทีมที่ดูแลด้านเทคโนโลยี โปรแกรมเมอร์ ทีมดีไซเนอร์ สิ่งสุดท้ายก็คือเรื่องของเงินทุน เพราะ cash flow ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินงาน ซึ่งในส่วนนี้ผมก็ได้มีการขอทุน โดยทุนก้อนแรกได้มาจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หลังจากนั้นก็ได้รับทุนต่างๆ มาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง 

นอกเหนือจากสามสิ่งนี้แล้ว ผมคิดว่าเราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากในสายงานที่แตกต่างอย่างสตาร์ทอัพนั้น การเรียนรู้ในเรื่องนวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงไปลงเรียนเก็บเกี่ยวความรู้ในด้านต่างๆ ของสตาร์ทอัพ รวมถึงไปฝึกฝีมือจากการแข่งขัน pitching อย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลที่ 2 ในระดับภาคเหนือ แม้ว่าจะเป็นเรื่องใหม่หรือเรื่องที่ไม่ถนัด แต่ถ้าเราพร้อมลุยและลงมือทำอย่างเต็มที่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ แม้จะเริ่มต้นจากการมีทีมงานเพียงแค่ 2 คน แต่ด้วยความพยายามพร้อมกับองค์ประกอบสำคัญทั้งสามเรื่องที่มาเติมเต็มองค์กร ทำให้สามารถสร้างระบบนิเวศของไมเกรนแบบครบวงจรอันเปรียบเสมือนสินค้าของ Smile Migraine อย่างแท้จริง จนกลายเป็น 10% ของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด”

สถานีถัดไปของ Smile Migraine

“การเลือกทำ Smile Migraine นั้นมีองค์ประกอบหลักๆ อยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของผู้ป่วยที่มีจำนวนมากจนทำให้ไมเกรนกลายเป็น disability อันดับ 1 ของโลก โดยเฉพาะคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี หรือคนวัยทำงาน ในปัจจุบันแม้ว่า Smile Migraine จะมีคู่แข่งที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างสิงคโปร์ แต่ Smile Migraine ก็มีจุดแข็งที่แตกต่างออกไป เนื่องจากสิ่งที่เราทำนั้นเกิดขึ้นจากความเชี่ยวชาญของแพทย์โดยตรง ดังนั้นในแง่ของการสร้างระบบและการให้คำปรึกษา นอกจากจะมีคุณหมอที่ชำนาญการเป็นผู้ให้แนวทางและคำแนะนำแล้ว Smile Migraine ยังมีระบบ AI Notification ซึ่งสามารถรู้ได้ว่าตอนนี้อากาศเท่าไร ความชื้นเท่าไร อุณหภูมิเท่าไร และด้วยระบบถูกดีไซน์มาแบบ personalize ก็จะช่วยเตือนผู้ใช้บริการด้วยว่า จากปัจจัยและสภาพแวดล้อมแบบนี้อาจจะมีอาการไมเกรนกำเริบได้ นอกจากนี้อีกสิ่งที่กำลังพัฒนาอยู่ก็คือ การทำ Tele-migraine ซึ่งจะจับคู่กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาในเรื่องไมเกรนโดยเฉพาะ เนื่องจากโรคไมเกรนนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่โรคที่สามารถให้บริการแบบ Tele-consult ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเน้นการใช้เกณฑ์หรือ criteria ต่างๆ ในการประเมินโรคและอาการของผู้ป่วยได้ ซึ่งการสร้าง Tele-medicine Solution จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของการวางแผนระยะยาวนั้น ผมคาดหวังว่า Smile Migraine จะเป็นเหมือนมาตรฐานในการรักษาโรคไมเกรน ซึ่งนอกเหนือจากการรักษาด้วยการพบหมอ การจ่ายยา ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง Smile Migraine อาจจะเป็นมาตรฐานการรักษาที่อยู่ในไกด์ไลน์ของประเทศก็เป็นได้

ภาพรวมของ Smile Migraine ในปัจจุบันก็ถือว่าพัฒนาได้ในระดับที่น่าพอใจประมาณ 75% ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า ทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเป็น 100% เมื่อไหร่ที่เราคิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว 100% เราก็จะหยุดพัฒนา ลองดูตัวอย่างจาก Amazon ที่เจ้าของก็คือ Jeff Bezos ซึ่งตัวเขานั้นมีนิยามว่า Everyday is a day 1 และ Bezos ก็ได้สร้างตึกขึ้นมาตึกหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า Day 1 Building เพราะเขาต้องการให้พนักงานทุกคนคิดว่าพวกเขากำลังอยู่ในวันแรกของการทำงาน ดังนั้นการพยายามทำให้ดีที่สุด ทำให้เหมือนการทำงานในวันแรกในทุกๆ วันก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพได้อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ของแต่ละคนว่าคืออะไรด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับ Smile Migraine เองนั้นก็อยากให้เป็นตัวเชื่อมที่จะทำให้ทุกอย่างมาอยู่รวมกัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยกระบวนการจับคู่กับ eco system โดยผมคาดหวังว่า Smile Migraine จะกลายเป็น Eco system builder to make migraine better ต่อไปในอนาคต”

อุปสรรคและแนวคิดที่ได้จากการทำสตาร์ทอัพ 

“สำหรับผมแล้วการตีโจทย์ในเรื่องของ Product Market Fit เปรียบเสมือนการฝ่าฟันอุปสรรคที่ใหญ่มากๆ ของสตาร์ทอัพ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีการใช้กระบวนการอย่าง Growth Hacking เข้ามาช่วย อุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การที่ไม่ได้มีพื้นฐานหรือความชำนาญในด้านนี้มาตั้งแต่แรกอย่างการทำ marketing ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถนัด แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบพูดคุยและชอบอ่านอยู่แล้วจึงทำให้ผมมีความรู้ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการทำงานได้เช่นกัน แม้การทำงานข้ามสายงานอาจจะต้องพบอุปสรรคบ้างเป็นบางครั้ง แต่ในปัญหาเหล่านี้ก็ยังให้แง่คิดดีๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสายงานทำให้ผมได้มีโอกาสค้นพบแนวความคิดใหม่ๆ อย่างแรกก็คือ Doctor is not the central in the universe เพราะการเป็นหมอนั้นทำให้มีแต่คนเข้าหาและยกย่อง แต่พออยู่นอกสายงานก็ทำให้เรามีโอกาสเรีนยรู้เรื่องราวใหม่ๆ จากคนอื่นและเป็นคนรับฟัผู้อื่นมากขึ้น ทำให้อัตตาของเราลดลงด้วย จากเดิมที่มักจะเป็นคนพูดอยู่ตลอด ตอนนี้จึงกลายเป็นนักฟังและนักประสานงานไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังช่วยให้เราได้พัฒนาการเป็นผู้นําที่ดี มีความเป็น leadership และกลายเป็น team builder หรือเป็นผู้นําทางความคิดอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะนำทางให้กับทีมงานแล้ว ก็ยังเป็นแสงสว่างให้คนไข้ด้วยเช่นกัน และด้วยความที่งานเยอะ การจัดการในเรื่องของเวลาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ผมจึงศึกษาเรื่อง time management อย่างจริงจัง และเริ่มที่จะใช้การ deligate งานและการสร้างความไว้วางใจเพื่อกระจายการทำงานออกไป ซึ่งช่วยให้การบริหารเวลาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

3 สิ่งที่ต้องมีสำหรับคนที่อยากทำ Startup 

“ผมคิดว่าสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงเลยก็คือ การหาสิ่งที่ใช่และสิ่งที่ชอบ แล้วก็ปัญหาที่คุณอยากจะแก้ไขจริงๆ ดังนั้นจงมองหา solution และ problem ที่ต้องการแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เริ่มมองหาหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนซึ่งปัจจุบันมีอยู่ค่อนข้างเยอะ ข้อสองซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญก็คือ ทีม ซึ่งต้องเป็นทีมที่มีเคมีเข้ากันได้ดี หลายคนที่ล้มเหลวเพราะทีมก็มีเยอะ ดังนั้นหากรู้สึกว่าไม่ใช่ให้ตัดออกไปเลย ไม่ได้เป็นเรื่องที่ว่าใครดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรื่องของการเข้ากันได้ของคนในทีมมากกว่า ข้อสามคือเรื่องของเงินทุน ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนมากมาย ทั้งทางภาครัฐที่สนับสนุนในการสร้างสตาร์ทอัพ ดังนั้นไป pitching และหาทุนมาสานต่อให้ได้ จากนั้นต้องเริ่มเรียนรู้ให้มากขึ้น ด้วยการไปเข้าแคมป์ ร่วมกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นความรู้ที่ได้จากการแสวงหาและยังได้ connection อีกด้วย ความรู้ในปัจจุบันนั้นมีให้ศึกษามากมาย มีทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน หรือจะเรียนออนไลน์ก็ได้ 

สุดท้ายอยากฝากถึงทุกคนที่เป็นไมเกรน ในปัจจุบัน Smile Migraine ถือเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เพราะช่วยทำให้คนเป็นไมเกรนกลับมายิ้มได้อีกครั้ง เหมือนดังโลโก้ของ Smile Migraine ที่หากมองด้านหน้าจะเห็นเป็นคนยิ้ม แต่หากมองด้านข้างจะคล้ายกับคนเอาหัวมาชนกันและมือกําลังจับกัน ดังนั้นก็อยากให้ผู้ที่มีปัญหาไมเกรนลองแวะเข้ามาใช้บริการ ส่วนใครที่กำลังมองหาแนวคิดในการใช้ชีวิตอยากให้ลองนึกถึงคำพูดของ Steve Jobs แล้วตัดสินใจดูว่าคุณอยากจะเป็นคนแบบไหน จะอยู่แบบธรรมดาหรืออยู่เพื่อแก้ไขปัญหา และหากคุณมีความสามารถก็อยากเชิญชวนให้มาร่วมแก้ปัญหาที่คิดว่ายังแก้ไขไม่ได้ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไข ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง  หากนำศักยภาพเหล่านั้นมาช่วยกันคิด ช่วยกันทํา โลกเราก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น” 


ช่างภาพ:  สันติภาพ สอนใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง