ทิพย์ – ทิพย์สุคนธ์ (สุคนธเกษร) คาวฟ่า จบมาในสายบริหารธุรกิจจากประเทศไทย ก่อนจะได้สานฝันในวัยเด็กด้วยการบินลัดฟ้าไปใช้ชีวิตที่ต่างแดนยังประเทศอเมริกาในปี 1999 เธอหยิบจับงานมาหลากหลายด้าน ตั้งแต่งานเสิร์ฟ งานครัว งานสปา โบรเกอร์อสังหาริมทรัพย์ การเทรนเป็นหมอฝังเข็มแบบจีน เธอยังเป็นคนไทยคนแรกและเป็นคนที่ 6 ของโลกที่ผ่านการอบรบในหลักสูตรการเป็นที่ปรึกษาจัดบ้านแบบ KonMari (คนมาริ) ในระดับมาสเตอร์กับนักจัดระเบียบบ้านชาวญี่ปุ่นอย่าง Kondo Maria (คนโดะ มาริเอะ)
ก่อนจะมาพบอาชีพที่เธอรักในปัจจุบัน เธอคือคุณแม่ลูกหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลสิ่งละอันพันละน้อยทั้งหมดภายในบ้าน แต่เพราะสมาชิกไม่ให้ความร่วมมือ เธอจึงต้องคอยจัดการสิ่งของต่างๆ ให้เป็นระเบียบอยู่ตลอดเวลาจนท้อใจและคิดว่าการทำให้บ้านเป็นระเบียบและสวยงามได้ดั่งใจไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทิพย์เริ่มแสวงหาตัวช่วยเพื่อเรียนรู้เทคนิคการจัดระเบียบทั้งจากคนรู้จัก เกร็ดความรู้ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ กระทั่งวันหนึ่ง เธอได้ดูคลิปการสอนพับผ้าของ Kondo Maria ที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล เพราะสิ่งที่ได้รับไม่เพียงแต่จะเป็นการปฏิวัติวิธีการจัดบ้านแบบที่เคยรู้มา แต่ยังทำให้เธอสามารถจัดเรียงระเบียบความคิดและชีวิตที่นำพาเธอได้พบความสุขจากภายในด้วยเช่นกัน
จัดบ้านเปลี่ยนชีวิต
หลังจากดูวิดีโอการพับผ้าของ Kondo Maria ที่สร้างความประทับใจให้กับเธอตั้งแต่ครั้งแรก จนมีโอกาสได้ฟังหนังสือเสียง “The Life-Changing Magic of Tidying Up ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” และมาลองหัดๆ จัดๆ ด้วยตัวเอง ทิพย์ได้พบกับความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นรอบตัว เธอไม่รีรอที่จะติดต่อไปยังเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Kondo เพื่อถามไถ่ถึงความเป็นไปได้ในการเปิดหลักสูตรที่เธอหลงใหลในอเมริกา จนกระทั่งปี 2016 Kondo เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาฝึกอบรบในหลักสูตรการเป็นที่ปรึกษาจัดระเบียบบ้านแบบ KonMari เป็นครั้งแรกในนิวยอร์ก และเธอคือ 1 ใน 50 ของแบชแรกในการอบรมครั้งนั้น
“50 คนที่เข้าไปเทรนนั้นมาจากทั่วโลกเลย ทั้งอังกฤษ นิวซีแลนด์ เม็กซิโก เราร่วมเทรนกันทั้งหมด 3 วัน พอเข้าโปรแกรมเทรนปุ๊บ เราจะได้เข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ทำแบบฝึกหัดกลุ่ม และทางทีมของ KonMari จะมีโจทย์มาให้อีกต่างหากว่าถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้ๆ จะต้องแก้ไขอย่างไร หลังจากเทรนนิ่งจบ เราต้องทำข้อสอบของเขาที่ไม่ใช่ A B C D แต่คือการจัดบ้าน 2 หลังที่เป็นเคสลูกค้าจริงๆ ให้เสร็จภายใน 10 ชั่วโมง ต้องถ่ายรูป before & after และอธิบายว่าวิธีที่คุยกับลูกค้าจะต้องทำอย่างไร ทำไมจึงตัดสินใจจัดแบบนี้ ถ้าตัดสินใจผิดก็ไม่ผ่าน และต้องไปทำใหม่อยู่อย่างนั้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งขนาดบ้าน การจัดเวลาให้ตรงกันระหว่างเรากับเจ้าของบ้าน รวมทั้งการเป็นคนแปลกหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของเขา ก็ทำให้การดีลต้องใช้เวลาพอสมควร ถึงขนาดที่ทิพย์ต้องประกาศลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เลยว่าเรากำลังเรียนคอร์สของ KonMari อยู่นะ และจะต้องสอบให้ผ่านเพื่อที่จะเป็นให้ได้ certified โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องถ่ายรูป before & after รวมถึงการที่ลูกค้าจะต้องให้ฟีดแบคกับคุณครูได้ว่าเราจัดเป็นบ้านอย่างไรด้วย ทำให้จาก 10 ชั่วโมงที่เขากำหนดขยายไปเป็น 30 ชั่วโมง แล้วรุ่นบุกเบิกถือว่าเป็นรุ่นที่การสอบยาก เข้มงวด และเคี่ยวที่สุด เพราะบริษัทเองเพิ่งทำเป็นครั้งแรกและตัว Kondo ลงมาคุมเองด้วย ถึงจะเข้าปีที่ 5 ของการทำงานแล้ว ทุกวันนี้ ทิพย์ยังเจอเคสที่หาทางแก้ไขไม่ได้อยู่เรื่อยๆ และต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทีมซัพพอร์ตของ KonMari ก็เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้ทิพย์มาจนปัจจุบัน”
Is it ‘Spark Joy’?
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก “KonMari” เราขออธิบายสั้นๆ ว่านี่คือการจัดระเบียบบ้านที่เกิดจากการทำความเข้าใจธรรมชาติของบ้าน ซึ่ง Kondo Maria ผู้คิดค้นแนวคิดกล่าวได้นำเอาลักษณะของบ้านที่ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปทรงเรขาคณิต โดยเฉพาะรูปทรงสี่เหลี่ยมมาพัฒนาและต่อยอดจนเป็นเทคนิคในการจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นหลักการพับเสื้อให้ตั้งได้, การจัดระเบียบตู้ในแนวตั้ง ไปจนถึงการจัดระเบียบลิ้นชักแบบข้าวกล่อง ซึ่งล้วนใช้รูปทรงสี่เหลี่ยมทั้งนั้น โดยวีธีของ Kondo จะเน้นหนักใน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) การจินตนาการถึงการใช้ชีวิตในอุดมคติ 2) การจัดเก็บทุกอย่างในรอบเดียวเพื่อเป็นการสร้างเป้าหมายและทําให้การจัดบ้านครั้งเดียวนั้นคุ้มค่าและเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน 3) การจัดข้าวของโดยลำดับตามหมวดหมู่ ไม่ใช่จัดตามห้อง 4) เริ่มจัดจากสิ่งที่ง่ายไปหายาก โดยเรียงจากหมวดเสื้อผ้า > หนังสือ > เอกสาร > ของใช้จิปาถะ > สิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ 5) ให้คิดเสียว่าการจัดระเบียบบ้านเป็นวาระพิเศษของสมาชิกในบ้านที่ทุกคนจะได้มาช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นจากที่เคยเป็น และ 6) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการจัดระเบียบบ้าน นั่นคือ “การตัดใจทิ้ง”
“อุปสรรคใหญ่ในการจัดบ้านให้เป็นระเบียบคือความรู้สึกผิดหรือเสียดายสิ่งของที่มีอยู่ Kondo จึงคิดค้นวิธีการที่เรียกว่า “ประกายความสุข หรือ Spark Joy” ขึ้น นั่นคือการใช้หัวใจและความรู้สึกในการเลือกทิ้ง เราจะเห็นได้ว่าวิธีการของเธอคือการพยายามสอดแทรกความซาบซึ้งใจเข้าไปในทุกขั้นตอนการจัดบ้าน เพราะการแสดงความรู้สึกซาบซึ้งใจจะช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดเวลาที่เราต้องทิ้งสิ่งของไปได้
จริงๆ ไม่ต้องไปดูใครที่ไหนหรอก ตัวทิพย์เอง ก่อนที่จะมาเจอ KonMari นิสัยคือชอบซื้อ ชอบเก็บ เห็นของเซลล์ไม่ได้ แล้วจะไม่ทิ้งด้วย ซึ่งเราจะพบว่าสมบัติเหล่านี้เต็มไปด้วยเรื่องราวและความทรงจํามากมาย การตัดใจทิ้งก็ยากแสนยาก เพราะฉะนั้น ความรู้สึก Sparking Joy จะเป็นแก่นสำคัญในขั้นตอนนี้ที่จะช่วยให้คุณตัดใจได้ง่ายขึ้นแบบไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลใดๆ เลย แค่ของสิ่งไหนที่ยังนำมาสุขมาให้ก็เก็บไว้ หรือหากไม่รู้สึกอะไรต่อกันแล้วก็ให้สละสิ่งเหล่านั้นออกไปเสีย แต่คุณไม่จำเป็นต้องทิ้งนะ เพราะสิ่งของหลายๆ อย่างที่ยังใช้งานได้ดี คุณสามารถส่งต่อไปให้คนอื่นได้ และก่อนที่จะโบกมือลาเพื่อนเก่า อย่าลืมบอกขอบคุณพวกเขาในฐานะที่เคยอยู่และทำประโยชน์ให้เรามา”
จากสนามสอบสู่สนามจริง
หลังจากการอบรม สะสมประสบการณ์ และร่วมเข้าทดสอบความรู้ จนกระทั่งสอบผ่านและได้รับการรับรองให้เป็นที่ปรึกษาจัดระเบียบบ้านแบบ KonMari ระดับมาสเตอร์อย่างเต็มตัว เธอเดินทางไปให้คำปรึกษากับลูกค้ามากมาย ซึ่งแต่ละงานแม้จะมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้แตกต่างกันไป แต่การได้ทำในสิ่งที่รักและเห็นชีวิตผู้คนดีขึ้นคือความสุขของเธอ
“หนึ่งในเคสยากเคสหนึ่งคือการไปจัดระเบียบห้องเสื้อผ้าในคฤหาสน์หลังหนึ่ง ที่นั่นมีห้องเสื้อผ้า 4 ห้องใหญ่ๆ และมีเครื่องแต่งตัวเต็มทุกห้อง และเจ้าของไม่ยอมสละเสื้อผ้าและข้าวของของเขาแม้แต่ชิ้นเดียว วิธีที่เราใช้คือการให้เขาเลือกโดยหยิบของมาทีละชิ้น แต่ละชิ้นจะให้เวลา 5 วินาทีในการตัดสินใจ ถ้าเอาก็แขวน สละก็ลงถุง ส่วนชิ้นไหนยังตัดสินใจไม่ได้จริงๆ เราจะให้โอกาสรอบสอง คือเขาจะต้องกอดและใส่ของชิ้นนั้น ถ้าเขาใส่ไม่ได้หรือกอดแล้วไม่มีความรู้สึกอะไรอีกต่อไป จะต้องเซย์กู๊ดบายเลยนะ เคสนั้นใช้เวลาอยู่ 3 วัน สละของออกไปได้แบบที่ต้องเรียกรถมาขนไปเลย เจ้าของบ้านแฮปปี้และบอกว่า “ฉันไม่คิดเลยว่าฉันเก็บของที่ใส่ไม่ได้อยู่ในตู้มาเป็น 10 ปี บางชิ้นยังติดแท็กอยู่เลย หลังจากนี้ฉันไปช็อปปิ้งได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว” (หัวเราะ) เคสนี้อย่างน้อยๆ เขาได้พื้นที่กลับมา ซึ่งการที่ที่บ้านมีพื้นที่มากขึ้น ไม่ได้ทำให้บ้านเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยด้วยว่าชีวิตของเขาโล่งขึ้นและเขาได้ทำให้โปรเจ็กต์พิเศษนี้สำเร็จลงได้แล้ว นี่เป็นความรู้สึกที่ดีต่อจิตใจเขาด้วย
อีกเคสหนึ่ง ทิพย์มีโอกาสไปช่วยจัดบ้านให้กับคู่รักคู่หนึ่งที่หนึ่งในสองมีความเป็นส่วนตัวมาก ไม่ต้องการให้เราเข้าไปในพื้นที่ของเขา และไม่อยากให้ใครเห็นของส่วนตัว ซึ่งเราไม่เคยเจอเคสแบบนี้มาก่อนจนต้องส่งข้อความไปถามที่บริษัทว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้ทิพย์ควรจะทำอย่างไรดี คำแนะนำที่ได้รับคือการพาทั้งคู่มานั่งคุยกันแบบเปิดอก ทิพย์ให้เขามานั่งพับเพียบแล้วคุยกันเหมือนนั่งต่อหน้าพระอย่างนั้นเลย ให้ทำใจให้สงบ และบอกพวกเขาว่านี่เป็นการรวมใจกันระหว่างพวกเราเพื่อจะจัดบ้านของคุณ เพราะฉะนั้น มีอะไรอยู่ในใจ ให้เปิดใจบอกมา ชอบไม่ชอบ อะไรที่ทำได้ไม่ได้ อะไรที่ไม่อยากจะเปิดเผยเราบ้าง เราจะทำส่วนที่ทำได้นะ ส่วนสิ่งของส่วนตัวที่คุณไม่อยากให้เราเห็น เราขอสอนคนหนึ่งแล้วให้อีกคนหนึ่งไปสอนต่อดีไหมว่าต้องจัดการอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็ยอม เคสนี้ก็จบลงด้วยดีและทำให้ทิพย์เรียนรู้ว่า บางทีเรื่องหรือสิ่งของบางอย่างที่เรามองว่าไม่น่าเป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะโอเคสำหรับคนอื่นๆ”
จะทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
“ปกติคนที่อยากจัดบ้าน เขาจะต้องมีอะไรในใจสักอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากคุณคิดจะจัดบ้านด้วยตัวเอง ต้องลองถามใจตัวเองก่อนว่าอะไรทำให้คุณอยากจัดบ้าน เพราะความรู้สึกของตัวเราจะตอบตัวเราเองได้ก่อน เราอยากจัดบ้านเพราะบ้านรก หรือเพราะรู้สึกไม่ปลอดโปร่งเวลาตื่นนอน หรือรู้สึกว่าบ้านที่อยู่คับแคบ พอเราได้คำตอบแล้ว ลองคิดสิว่าเราแก้ปัญหาจากความต้องการเราด้วยเองได้ไหม ถ้าไม่ได้ ลองหาคนที่ช่วยแก้ปัญหาอันนั้นได้ อาจเป็นคนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ พี่น้อง แฟน หรือสามี บอกเขาว่าฉันอยากจัดบ้าน ฉันคิดว่าบ้านเรารก เธอคิดว่าฉันควรจะเริ่มอะไรก่อนดี ลองฟังเสียงคนรอบๆ บ้านดูสิว่าเขาพูดว่าควรทำอย่างไร แล้วนำความรู้สึกของเราที่อยากจะจัดบ้านมาลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงๆ
สมมุติความรู้สึกของเราบอกว่า ฉันอยากจัดบ้านเพราะบ้านรก ให้เริ่มจากของของเราก่อน อย่าไปเริ่มจากของคนอื่นก่อน เดี๋ยวจะเป็นปัญหา แล้วถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มอะไรก่อนดี ให้มองไปที่ตู้เสื้อผ้า เอาของทั้งหมดในนั้นออกมา ประโยชน์ของการเอาสิ่งของทั้งหมดในตู้มารวมกันจะทำให้เรารู้เลยว่าตัวเองมีอะไร จำนวนมากน้อยแค่ไหน คุณอาจพบว่าเสื้อบ้างบางตัวซื้อมาแต่ยังไม่เคยใช้เลยหรือไม่ได้ใส่นานแล้ว เสื้อผ้าบางตัวอาจจะน้อยใจและรอการใส่ของคุณอยู่ หรือคุณอาจจะผอมไปแล้ว เราอาจไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้น การเอาเสื้อผ้าทั้งหมดมากองรวมกันเป็นการทำให้เรารำลึกถึงเสื้อผ้าบางตัวที่เราคิดว่าเราค้นหาเขาไม่เจอ ขั้นตอนต่อมาคือแยกเป็นหมวดหมู่ เสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน ถุงเท้า ฯลฯ หลังจากนั้น เราจะสามารถเลือกของที่เราชอบมาก ชอบน้อย หรืออะไรที่อยากจะแบ่งให้คนอื่นออกมาได้ อะไรที่พับได้ก็พับ อะไรที่แขวนได้ก็แขวน ตู้เสื้อผ้าของเรามีอะไรที่เราอยากปรับเปลี่ยนไหม ลองเอาเสื้อผ้าที่มีไปทำให้เป็นชุดใหม่ด้วยการเย็บหรือแปะลวดลายดูไหม นั่นก็จะเป็นอีกวิธีที่ทำให้ทุกอย่างดูสดชื่นและมีชีวิตชีวาขึ้น หรือถ้าคุณอยากจัดครัว โดยเฉพาะครัวไทยที่จะต้องแยกของแต่ละชนิดออกจากกันและแยกจัดไปทีละส่วน เช่น การจัดของที่มีกลิ่น ของแห้ง ของเปียก การจัดจาน หรืออาหารกระป๋องที่จะต้องดูวันหมดอายุ กระป๋องไหนหมดอายุช้าสุดเอาไว้ข้างใน กระป๋องไหนหมดอายุก่อนเอาไว้ข้างนอก หรืออะไรที่มีคนใช้ร่วมกันในครัวก็จะต้องแยกจัดและบอกกล่าวคนที่ใช้ร่วมกันด้วย แบบนี้เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือคิดแล้วทำตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเลย ไม่ต้องรออะไรทั้งสิ้น อย่าไปคิดว่า เดี๋ยวฉันจะมีวันหยุดอีก 2 วัน ค่อยทำก็แล้วกัน สุดท้ายแล้วคุณจะไม่ได้ทำ เพราะเดี๋ยวจะมีอย่างอื่นเข้ามาให้คุณต้องทำเสียก่อน แล้วถ้าไม่รู้ว่าจะทำอะไรขั้นต่อไปนะ ลองทำตามไกด์ไลน์ของ KonMari ดู ถ้าเริ่มแล้วติดตรงไหน หรือรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คิ้วติดกันแล้ว เครียดมาก คุณไม่ต้องกังวล แค่ออกไปเดินข้างนอกสักรอบหนึ่ง ไปดื่มน้ำหวานสักแก้ว ฟังเพลงสักเพลง หรือเต้นสักรอบหนึ่ง พอคุณรู้สึกผ่อนคลายแล้วค่อยกลับมาใหม่ สำหรับทิพย์ การจัดบ้านเป็นเรื่องธรรมชาตินะ คุณสามารถทำอะไรก็ได้ในพื้นที่ที่คุณอยู่ แบบที่ได้มองแล้วมีความสุข ไม่มากหรือน้อยเกินไป สำหรับทิพย์ สิ่งของรอบตัวอาจจะมีไม่มาก แต่ทุกชิ้นเป็นสิ่งที่เรารัก มีคุณค่าทางจิตใจ และสามารถใช้งานได้หลายอย่าง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสิ่งของที่ชอบแตกต่างกันไป ทิพย์คิดว่าถ้าคุณมองมันและมีความสุข นั่นก็เพียงพอแล้ว”
จัดด้วยหัวใจ เข้าใจธรรมชาติของบ้านและชีวิต
เพราะ KonMari เป็นแนวคิดการจัดบ้านที่ใช้วิธีการคัดแยกเพื่อเลือกสิ่งที่ต้องการจะเก็บไว้กับสิ่งที่ต้องการจะสละออกไป ทำให้ผู้นำไปใช้งานมีโอกาสได้ฝึกคิด ทบทวนสิ่งรอบตัว และช่วยสร้างทัศนคติใหม่ๆ ในการลด ละ เลิก นิสัยเก่าๆ ที่เคยสร้างปัญหา แนวคิดที่ว่าจึงส่งผลให้ตัวเรารู้จักคัดเลือกสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น มีระเบียบมากขึ้น และมีความสุขกว่าเก่า ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เธอได้เห็นทั้งจากลูกค้าและตัวเธอเองด้วย
“หลังจากเข้าไปช่วยจัดระเบียบข้าวของเครื่องใช้ให้กับลูกค้า ทิพย์แนะนำกับพวกเขาว่า ดูสิ บ้านเธอเริ่มดีขึ้นแล้ว เธอลองใช้วิธีเดียวกันนี้ไปใช้กับชีวิตเธอดูไหม ลองเอาไปปรับเปลี่ยนทีละอย่าง เช่น การเงินของเธอ เพราะตอนนี้เธอรู้แล้วนี่นาว่าในตู้เสื้อผ้ามีเสื้อผ้าอะไรอยู่แล้วบ้าง เธอไม่จำเป็นต้องซื้อถุงเท้า เสื้อผ้า กระเป๋าเยอะเหมือนแต่ก่อนแล้วนะ เธอรู้แล้วว่าเธอมีสิ่งของแต่ละอย่างจำนวนเท่าไหร่ เธอรู้แล้วว่าอาหารในตู้เย็นของเธอมีอะไรอยู่บ้าง เธอไม่จำเป็นจะต้องออกไปจ่ายเงินทานอาหารนอกบ้านเพราะเธอทานสิ่งที่มีในตู้เย็นเธอได้ เธอสามารถประหยัดเงินตรงนี้ได้แล้วนะ ลูกค้าทิพย์หลายๆ คนเลือกแฟนได้ดีกว่าเก่า หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เคยสำมะเลเทเมา สุรุ่ยสุร่าย ไปสู่มีชีวิตที่เป็นระเบียบมากขึ้น หรือบางคนมีปัญหาสุขภาพ จากที่เคยปวดหัวเรื้อรังแบบที่คุณหมอก็หาสาเหตุไม่ได้ แต่หลังจากการจัดบ้าน เขาตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่นเพราะการจัดบ้านคือการจัดสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ที่มีผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพเราด้วย คิดง่ายๆ ว่าเมื่อบ้านคุณโล่งขึ้น สะอาดสะอ้าน มีระเบียบ เรียบร้อย นั่นทำให้ไม่มีฝุ่น ไม่มีหมัด สุขภาพร่างกายและจิตใจก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย
ตัวทิพย์เองแต่ก่อนเราทำงานหลายอย่าง จับอะไรสะเปะสะปะไปหมด รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเอง ทั้งการซื้อของ ใช้เงิน แม้กระทั่งการเลือกคบคน แต่หลังจากทิพย์ได้รู้จักการจัดบ้าน ชีวิตของทิพย์เปลี่ยนไปมาก แต่ทุกอย่างไม่ได้เกิดแบบปุ๊บปั๊บนะ มันค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อย KonMari ทำให้ทิพย์ค้นพบตัวเองว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร รู้จักลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ใช้เงินแบบคิดหน้าคิดหลัง และเมื่อเราจัดระเบียบชีวิตตัวเองได้ ทิพย์เลยมีเวลามากขึ้นในการทำอะไรต่างๆ เหนื่อยน้อยกว่าเก่า ผ่อนคลายขึ้นกว่าเดิม ได้ใช้เวลากับลูกและครอบครัว ซึ่งเมื่อเราบริหารชีวิตได้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตโดยรวมและความสุขก็ดีตามมา สำหรับทิพย์ การจัดบ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็น KonMari ก็ได้นะคะ มันไม่ได้เป็นแค่การจัดระเบียบภายในบ้านเท่านั้น แต่ยังสร้างความรื่นรมย์ให้กับสถานที่ที่เราอยู่และชีวิตของเราด้วย”
–
ภาพ: Amie Hana
อ้างอิง: www.konmari.com