ชวนปลูกฝังมารยาทในที่สาธารณะ ลูกหลานจะได้น่ารักสำหรับทุกคน

Care / Family Care

หนึ่งในแฮชแท็กที่ติดเทรนด์โลกโซเชียลเน็ตเวิร์คอยู่เป็นระยะและยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป ก็คือ แฮชแท็ก #ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน ที่มักถูกหยิบมาใช้เรียกพฤติกรรมป่วนๆ แบบไม่เกรงใจใครจากฝีมือลูกหลานของใครสักคน โดยระดับความป่วนก็มีตั้งแต่เรื่องกวนใจเบาๆ เช่น ส่งเสียงดัง วิ่งเล่นซนในร้านอาหาร ไปจนถึงระดับทำลายล้าง ทำของสาธารณะเสียหาย เป็นต้น

บางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก เด็กก็คือเด็ก อย่าไปถือสาหาความ แต่อีกหลายคนก็แย้งว่าเรื่องนี้ไม่เล็กนะ พฤติกรรมไม่น่ารักของเด็กๆ นั้นสะท้อนไปถึงการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และถ้าไม่ห้ามหรือแก้ไข เด็กอาจโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารัก อาจสร้างปัญหาที่ร้ายแรงกว่านี้อีก

วันนี้ ชีวิตดี by hhc Thailand เลยอยากจะมาชวนคิดชวนคุย และชวนปลูกฝังมารยาทที่จำเป็นให้กับลูกๆ หลานๆ เวลาออกนอกบ้านไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพื่อให้พวกเขาเป็นเด็กน่ารักสำหรับทุกคนในวันนี้ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักในวันหน้าด้วย

ทำไมเด็กควรได้รับการสอนเรื่องมารยาทที่ดี

–   เพิ่มความนับถือตนเอง

เด็กที่มีมารยาทดีย่อมทำให้ผู้คนรอบตัวรู้สึกดีไปด้วย สร้างบรรยากาศดีๆ มีแต่คนอยากอยู่ใกล้ สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือความรู้สึกเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบคำชม รอยยิ้ม หรือความเป็นมิตร ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง

–   เกิดวงจรแห่งความสุข

เมื่อเด็กๆ ได้รับการตอบสนองเชิงบวกจากผู้คนรอบตัว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความรู้สึกดีและมีความสุข ซึ่งจะยิ่งทำให้เขาอยากทำซ้ำพฤติกรรมดีๆ นั้นต่อไป เกิดเป็นวงจรแห่งความสุขแบบง่ายๆ คือการมีมารยาทดีทำให้เด็กมีความสุข และเมื่อเด็กมีความสุขเขาก็อยากเป็นคนมารยาทดีต่อไป

–   ดึงดูดคนที่ดีเข้ามา

เด็กที่มักหยาบคายหรือก้าวร้าวก็จะดึงดูดพลังงานลบและคนลบๆ เข้ามาหา ในขณะที่เด็กที่ปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างมีมารยาท ก็ย่อมจะดึงดูดพลังงานบวกและมิตรภาพดีๆ เข้ามา การมีมารยาทดีจึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีตามมาด้วย

–   เพิ่มโอกาสที่ดีกว่า

นอกเหนือจากความสามารถด้านอื่นๆ มาประกอบกัน คนมีมารยาทดีมักจะได้รับโอกาสดีๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการศึกษาหรืออาชีพการงาน เพราะการมีมารยาทดีไม่ได้หมายถึงการทำตัวเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ แต่คือการรู้จักวางตัวให้ถูกกาลเทศะและไม่สร้างปัญหาให้ส่วนรวม คุณสมบัติแบบนี้มีแต่คนอยากอยู่ใกล้และมอบโอกาสดีๆ ให้

5 ตัวอย่างมารยาทดีที่ควรสอนลูกหลาน

1. รู้จักรอคอย

การรอคอยเป็นทักษะทางสังคมที่สำคัญ ควรฝึกให้ลูกเป็นคนที่ “คอยได้” ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวซื้อของต้องรอคอยได้ไม่แซงคิวคนอื่น หรือเมื่ออยู่ในวงสนทนาก็อดทนรอฟัง ไม่ขัดจังหวะไม่พูดแทรกในขณะที่คนอื่นกำลังพูด

Tips: หนึ่งในวิธีฝึกให้ลูกรอคอย คือการปล่อยให้ลูก “เบื่อ” เสียบ้าง ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกทันทีทันใดไปทุกครั้ง ฝึกให้ลูกรับมือกับความเบื่อด้วยตัวเอง อาจเริ่มจากเวลาสั้นๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มเวลาให้นานขึ้น

2. ไม่ส่งเสียงรบกวน

เด็กกับเสียงดังมักเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ยังควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่เก่งก็อาจจะร้องไห้งอแงหรือส่งเสียงดังโวยวาย ซึ่งถ้าอยู่ในที่สาธารณะก็อาจสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่นได้ ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าเมื่ออยู่นอกบ้าน ในพื้นที่สาธารณะ เรากำลังแชร์พื้นที่ร่วมกับผู้อื่น ควรปรับเสียงให้เบาลง ไม่พูดคุยเสียงดังเกินไป ถ้าลูกร้องไห้งอแงให้พ่อหรือแม่พาเดินออกไปนอกบริเวณนั้นก่อน  ถ้าเป็นเด็กโตก็ควรสอนให้ไม่คุยโทรศัพท์เสียงดัง ไม่เล่นเกมหรือเปิดดูวิดีโอเสียงดัง ควรพกหูฟังติดตัวไว้เสมอ

3. รักษาความสะอาด

การรักษาความสะอาดเมื่ออยู่ในที่สาธารณะคือมารยาทที่ดีและสำคัญมากโดยเฉพาะในยุคแห่งโรคระบาดเช่นนี้ ควรย้ำเตือนลูกว่าการไอและจามสามารถแพร่เชื้อโรคได้ ทุกครั้งที่ไอหรือจามควรปิดปากเสมอ ควรพกผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเช็ดหน้าติดตัวไว้ เวลาเคี้ยวอาหารให้ปิดปาก ไม่พูดคุยไปด้วย นอกจากนี้ก็ควรทิ้งขยะลงถัง รับผิดชอบขยะที่เราสร้างขึ้น ร่วมกันรักษาพื้นที่ส่วนรวมให้สะอาดและน่าอยู่

4. ขออนุญาต ขอโทษ และขอบคุณ

หนึ่งในมารยาทพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น คือรู้จัก “ขออนุญาต” “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ” เมื่อใช้พื้นที่หรือของใช้ของคนอื่นควรขออนุญาตก่อนเสมอ เมื่อทำผิดควรกล่าวขอโทษทันที และเมื่อได้รับสิ่งของหรือสิ่งดีๆ จากใครก็ควรกล่าวขอบคุณ ทั้งสามอย่างนี้คือคาถาวิเศษที่ใช้ได้ในแทบทุกสถานการณ์และในทุกวัฒนธรรม

5. รับผิดชอบต่อการกระทำ

ผู้มีมารยาทดีไม่ได้แปลว่าจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบไม่ทำผิดอะไรเลย คนเราย่อมทำผิดพลาดกันได้ แต่คนที่มีมารยาทดีจะแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองอย่างจริงใจ ไม่หลบหนี หรือปัดความรับผิดชอบ เคารพในสิทธิและความรู้สึกของคนอื่นที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน

Tips: ฝึกความรับผิดชอบให้ลูกโดยเริ่มจากภายในบ้าน เมื่อกินอาหารเสร็จก็เก็บโต๊ะและล้างจานให้เรียบร้อย ตื่นนอนก็ผ้าห่มเก็บที่นอน หรือเมื่อทำเลอะเทอะก็ควรเก็บกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อย

สอนมารยาทอย่างไรให้ได้ผล

มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก วิธีสอนมารยาทที่ได้ผลควรเริ่มต้นจากที่บ้าน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองควรทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่แค่สอนปากเปล่า เริ่มสอนลูกตั้งแต่ยังเล็ก ค่อยๆ บ่มเพาะให้กลายเป็นนิสัยที่ติดไปจนโต ขยันอธิบายเหตุผลประกอบ อย่าบังคับให้เด็กทำโดยไม่เข้าใจ ปรับคำพูดและความยากให้เหมาะกับพัฒนาการตามวัย ที่สำคัญต้องยอมรับให้ได้ว่าเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา อาจมีช่วงเวลาที่เขางอแง ไร้เหตุผลบ้าง พ่อแม่ต้องรับมืออย่างมีสติให้ได้ แม้ว่าลูกของคุณจะไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคนก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนเข้าใจและให้อภัย ก็คือการที่พ่อแม่ไม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมของลูก แต่แสดงออกถึงความตั้งใจที่จะควบคุมสถานการณ์ พร้อมกับรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ

เพราะประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นที่เรียบร้อย เด็กๆ ในวันนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ผู้ใหญ่ในวันหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็น “ประชากรวัยพึ่งพิง” ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และช่วยดูแลกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กต่อไปในอนาคต ดังนั้นพวกเราควรมาช่วยกันสร้างประชากรที่น่ารักไปด้วยกัน

ที่มา:
www.parents.com
indianexpress.com
parenting.firstcry.com

บทความที่เกี่ยวข้อง