อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ: 6 วิธีดูแลพ่อแม่ทางไกลในช่วงโควิด

ไวรัสร้ายโควิด-19 ทำให้หลายคนที่รักกันกลับต้องเว้นระยะห่างกัน อย่างหนุ่มสาววัยทำงานที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พอจะกลับบ้านต่างจังหวัดไปเยี่ยมเยียนดูแลพ่อแม่ทีก็กลัวว่าจะเอาเชื้อโรคของแถมไปให้ ทำให้หลายครอบครัวจำเป็นต้องอยู่ห่างกันและให้พ่อแม่ดูแลตัวเองกันเป็นหลักไปก่อนในช่วงนี้

แต่… ยิ่งห่างก็ยิ่งห่วง แล้วเราจะทำยังไงดีถึงจะดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชราให้ได้ดีที่สุดบนระยะห่างระหว่างกันนี้? 

วันนี้ “ชีวิตดี by hhc Thailand” มีคำแนะนำมาให้ 6 ข้อด้วยกัน 

1. สร้างเครือข่ายผู้ที่สามารถดูแลพ่อแม่แทนคุณได้

เครือข่ายผู้ดูแลที่ว่านี้บางทีอาจเป็นญาติพี่น้องของคุณที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ หรือเพื่อนของพ่อแม่ที่พึ่งพากันได้ เพื่อนบ้านที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แม้พวกเขาจะไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ของคุณตลอดเวลา แต่อย่างน้อยก็พอเป็นหูเป็นตาและพึ่งพาได้เมื่อมีความจำเป็น… ขึ้นอยู่กับว่าคุณและครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาแค่ไหน

แต่ในกรณีที่หันหน้าซ้ายขวาแล้วไม่เจอใครจริงๆ คุณอาจจำเป็นต้องว่าจ้างผู้ที่มีอาชีพดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยตามบ้าน (Caregiver) ให้คอยดูแลพ่อแม่ของคุณ อาจเป็นการดูแลแบบเช้าเย็นกลับหรืออยู่ประจำที่บ้านก็แล้วแต่ความเหมาะสม สิ่งสำคัญที่สุดคือ พวกเขาต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ เป็นคนที่พ่อแม่ของคุณสามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน และเป็นคนที่คุณติดต่อได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

2. แบ่งเบาภาระของพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด

แม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละจังหวัด แต่มีธุระปะปังหลายอย่างที่คุณสามารถทำแทนพ่อแม่ได้ เช่น จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์/อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ผ่านช่องทางการชำระเงินออนไลน์ หรือแม้แต่การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วส่งไปที่บ้านพ่อแม่ แม้ธุระเหล่านี้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ช่วยให้ท่านไม่ต้องออกจากบ้านไปจัดการด้วยตัวเอง อย่าลืมว่าการคลิกหน้าจอสำหรับคุณอาจเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้เติบโตคุ้นชินมากับวิธีการเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ลำบากเอาการ และการได้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่บุพการีในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้คุณรู้สึกผิดน้อยลงที่ไม่ได้ไปดูแลท่านด้วยตัวเอง

3. เตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉิน

ก่อนที่คุณจะออกมาอยู่ห่างจากพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชรา คุณควรเตรียมแผนสำรองในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่าง ตู้ยาสามัญประจำบ้าน ที่มียาแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย เกลือแร่ และอุปกรณ์ทำแผล ฯลฯ เพื่อให้พ่อแม่ของคุณสามารถดูแลปฐมพยาบาลตัวเองได้เบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย เช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้จำเป็น เช่น ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีด ที่ควรเตรียมพร้อมและเก็บไว้ในที่ที่หาได้ง่าย เพื่อที่ท่านจะได้หยิบมาใช้ได้อย่างสะดวกหากเกิดไฟดับ เป็นต้น 

คุณยังควรเซฟเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ให้พ่อแม่ เช่น เบอร์โรงพยาบาล เบอร์สถานีตำรวจใกล้เคียง เบอร์เพื่อนบ้าน ญาติที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ดูแลที่อยู่ในเครือข่าย (ตามข้อ 1) เพื่อที่พวกเขาจะได้รีบไปดูแลท่านก่อนที่คุณจะรีบเดินทางตามมาในภายหลัง

4. ติดตั้งกล้องวงจรปิด

ขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถสอดส่องดูแลคนที่เรารักได้ง่ายๆ ผ่านจอโทรศัพท์มือถือ แม้จะอยู่ห่างกันไกลแค่ไหนก็ตาม อย่างน้อยๆ ถึงคุณจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่การได้เห็นพ่อแม่ผ่านทางจอ ก็ทำให้คุณสบายใจได้ว่าพวกท่านสบายดี หรือในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน คุณก็สามารถโทรฯ แจ้งผู้ดูแลให้รีบไปช่วยเหลือพ่อแม่ของคุณก่อนได้ ในปัจจุบัน อุปกรณ์เหล่านี้ยังมีหลายราคาให้เลือกอีกด้วย ทำให้การมอนิเตอร์พ่อแม่ทางไกลสามารถทำได้ด้วยงบประมาณเพียงแค่นิดเดียว

5. ติดต่อพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการสื่อสารยังเปิดโอกาสให้คุณติดต่อกับพ่อแม่ได้ในหลากหลายช่องทางอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ ไลน์ หรือวิดีโอคอล แต่… อย่าลืมว่าเทคโนโลยีใดๆ ก็ไม่สำคัญเท่าความเอาใจใส่ของคุณ คุณควรติดต่อพวกท่านอย่างสม่ำเสมอ พูดคุยถามไถ่และสังเกตถึงปัญหาหรือสิ่งที่ท่านกำลังเผชิญ (แน่นอน ผู้สูงอายุหลายคนมักไม่ยอมเปิดเผยปัญหาของตัวเองออกมาอย่างตรงไปตรงมา) และเมื่อทราบถึงปัญหาแล้ว ก็ควรพยายามช่วยเหลือพวกท่านให้เร็วที่สุด บางครั้ง สิ่งที่รบกวนจิตใจของพ่อแม่นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าความเหงาที่ต้องอยู่ห่างจากลูกหลาน และการติดต่อสื่อสารเป็นประจำสม่ำเสมอนี้ไม่เพียงจะช่วยบรรเทาความเหงาได้เท่านั้น แต่ยังทำให้ท่านรู้สึกถึงความห่วงใยเอาใจใส่จากคุณอีกด้วย

6. หาโอกาสไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด

ข้อนี้คือข้อที่สำคัญที่สุด ถึงคุณจะอยู่ไกลบ้านหรืองานยุ่งแค่ไหน หรือว่าโควิดยังไม่หยุดอาละวาดก็ตามที คุณก็ไม่ควรปล่อยให้พวกท่านอยู่ห่างจากคุณนานเกินไป อย่างน้อยๆ ก็แวะเวียนไปให้ท่านได้เห็นหน้าค่าตาให้หายคิดถึงบ้าง คุณอาจซื้ออาหารที่ท่านชอบไปฝาก และใส่หน้ากากอนามัยนั่งสนทนากันโดยเว้นระยะห่าง ที่สำคัญ ไหนๆ คุณก็ไปอยู่ตรงนั้นแล้ว อย่าลืมตรวจสอบความปลอดภัยตามส่วนต่างๆ ของบ้าน เช็คความพร้อมของอุปกรณ์ที่เตรียมไว้สำหรับเหตุฉุกเฉิน และลองประเมินพิจารณาดูว่ามีอะไรอีกบ้างที่คุณควรเตรียมไว้เพื่อความปลอดภัยของพ่อแม่

ส่วนเมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติเมื่อไร อย่าลืมกลับไปหาท่านให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ และใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เช่น ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน พาท่านออกไปเดินออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ชายหาด ไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ไปวัด และทำกิจกรรมครอบครัวอื่นๆ ร่วมกัน

เพราะนอกจากความปลอดภัยทางร่างกายของพ่อแม่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความสุขทางใจเมื่อได้ใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัว

ที่มา:
theagingauthority.com
whereyoulivematters.org
care.com

Share :
go to top