สังคมสูงวัยในญี่ปุ่น…เรียนรู้เขาเพื่อย้อนดูเรา

Care / Social Care

เมื่อพูดถึง สังคมผู้สูงวัย สปอตไลท์ทุกดวงต่างก็ฉายไปที่ประเทศญี่ปุ่นโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะสถิติหลายอย่างที่ ‘สูงติดอันดับโลก’ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรวมประชากรผู้สูงอายุ จำนวนผู้มีอายุเกิน 100 ปี และอายุขัยเฉลี่ยของประชากร รวมทั้งคนที่มีอายุมากที่สุดในโลกในขณะนี้ก็เป็นชาวญี่ปุ่นอีกด้วย 

แต่ไหนแต่ไรมา คนญี่ปุ่นจะเรียกช่วงเวลาหลังเกษียณอายุว่า ช่วงปีที่พระอาทิตย์ตก บ่งบอกถึงช่วงเวลาบั้นปลายของชีวิต แต่ตอนนี้ช่วงปีพระอาทิตย์ตกกินเวลายาวนานมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เป็นเพราะอัตราการเกิดใหม่ลดน้อยลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้มีคนวัยปู่ย่าตายายจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง ขาดคนรุ่นลูกหลานมาดูแล และจำนวนประชากรวัยแรงงานก็เริ่มขาดแคลน 

สถานการณ์นี้เป็นคลื่นใต้น้ำที่กำลังกัดเซาะโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่เงียบๆ ซึ่งแน่นอนว่า รัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ถูกนำมาใช้ก็คือ การสร้างชุมชนที่ใส่ใจช่วยเหลือดูแลกัน นั่นเอง

ภาครัฐปรับนโยบาย: ทั้งชุมชนช่วยกันดูแล

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเข้าเส้นชัยกลายเป็น สังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super Aging Society ไปเรียบร้อย เพราะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด หรืออาจกล่าวได้ว่าเราจะเจอผู้สูงอายุทุก 1 ใน 4 คนของประชากรญี่ปุ่น

เดิมทีนั้นผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นจะได้รับการดูแลจากครอบครัวเป็นหลัก แต่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนมาสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องปรับนโยบายใหม่ โดยเปลี่ยนจากแนวคิดแบบ individual มาเป็น community คือให้สังคมและชุมชนช่วยกันดูแลผู้สูงอายุร่วมกัน 

ในปี 2543 รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดตัว การประกันการดูแลระยะยาว หรือ Long Term Care Insurance (LTCI) ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประกันสุขภาพที่ครอบคลุมที่สุด โดยให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทุกคน ผู้สูงอายุที่เข้าเกณฑ์จะสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านหน่วยงานภาครัฐในแต่ละท้องถิ่น และจะมีแบบทดสอบให้ทำเพื่อสำรวจว่าแต่ละคนนั้นมีความต้องการและความจำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง จากนั้นผู้ดูแลก็จะเข้ามาให้คำแนะนำและช่วยวางแผนให้โดยพิจารณาจากงบประมาณของแต่ละคน ร่วมกับองค์ความรู้ของหน่วยงานในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไร งบประมาณในส่วนนี้มาจากการจัดเก็บภาษีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพื่อให้ภาครัฐนำไปใช้ในการดูแลผู้สูงอายุผ่านระบบสวัสดิการสังคม

ตัวอย่างการดูแลจัดการที่หน่วยงานเข้าช่วยเหลือก็เช่น จัดหารถวีลแชร์ ติดตั้งราวจับหรือทางลาดไว้ที่บ้าน ช่วยจ้างรถ Ambulance Taxi สำหรับไปโรงพยาบาลหรือไว้สำหรับเวลาแพทย์พยาบาลมาเยี่ยมที่บ้าน ตลอดจนการจัดหาอาหารการกิน และบริการอาบน้ำให้โดยพยาบาลมืออาชีพ 

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าสู่ช่วงวัยหลังเกษียณจำนวนมากยังอยากทำงานต่อไป เพราะพวกเขาอยากมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจด้วย แทนที่จะรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ทำให้มีการกำหนดนโยบายที่ช่วยขยายโอกาสในการทำงานให้กับผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลได้ลงทุนมหาศาลกับโครงการ Silver Human Resources Centers  โดยจัดตั้งศูนย์จัดหางานให้กับผู้สูงอายุในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานพาร์ทไทม์และงานชั่วคราวที่ค่าตอบแทนไม่ได้สูงมาก แต่เป้าหมายหลักคือการสร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้บริหารสมองและออกกำลังกาย ได้กระฉับกระเฉงตื่นตัว ไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 

ภาคเอกชนเสริมจุดแข็งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ญี่ปุ่นนำมาใช้รับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถลดภาระของผู้ดูแล และช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่น

  • Digital Care 
    การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยให้ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้ดีขึ้น เช่น โครงการ Future Care Lab ของบริษัท Sompo มีการผลิตวีลแชร์ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้เองในเส้นทางที่เลือกไว้ล่วงหน้า เตียงที่ปรับรูปร่างได้ หรือจะเป็น Body censor ที่ช่วยแจ้งเตือนหากผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุขณะอาบน้ำหรือนอนหลับ 
  • Robot
    หุ่นยนต์เป็นอีกหมัดเด็ดที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ดูแลผู้สูงอายุ ไม่เพียงภาคเอกชนเท่านั้นที่สนใจ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ได้ทุ่มเงินสนับสนุนการพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัย โดยมีการใช้หุ่นยนต์มาช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง และผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา เข้ามาเติมเต็มความต้องการแรงงานเฉพาะทางที่กำลังขาดแคลนได้อย่างดี ตัวอย่างเช่น Panasonic ได้ผลิตเตียงหุ่นยนต์ที่แปลงเป็นรถเข็นได้ ฝั่ง Sony ก็เปิดตัวหุ่นยนต์ลูก Carerobo ที่ช่วยเป็นเพื่อนแก้เหงา ที่บ้านพักคนชรา Silver Wing ในเมืองโตเกียว มีหุ่นยนต์ Humanoid (หุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์) ชื่อ Pepper เป็นผู้นำสันทนาการให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หุ่นยนต์ Pepper นี้สามารถสื่อสารตอบโต้กับผู้สูงอายุได้ และยังสามารถจดจำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สูงอายุแต่ละคนได้อย่างแม่นยำในแบบที่มนุษย์อาจทำได้ไม่ครบถ้วน และยังมี robotic exoskeletons ชุดหุ่นยนต์ที่ช่วยในการพยุงร่างกายในขณะที่ยกของที่มีน้ำหนักมาก สำหรับผู้ดูแลในบ้านพักคนชราไว้สวมใส่เพื่อลดปัญหาปวดหลังและกล้ามเนื้อช่วงล่างที่มักจะเกิดขึ้นเพราะต้องอุ้มผู้สูงอายุลงจากเตียงเป็นประจำ 

ภาคประชาชนร่วมแรงร่วมใจ

ตัวอย่างการช่วยเหลือดูแลกันโดยมีชุมชนเป็นพื้นฐาน คือ Share Kanazawa หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองคานาซาวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลในการก่อสร้างอาคารสถานที่และดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านนี้ประกอบด้วยส่วนหลักๆ คือบ้านพักสำหรับผู้สูงวัย แต่ความพิเศษก็คือมีส่วนบ้านพักสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ และหอพักราคาถูกสำหรับนักศึกษาอยู่ด้วย รวมทั้งมีร้านอาหาร ร้านค้า สนามฟุตบอล ร้านนวด ร้านขายของที่ระลึก แจ๊ซคลับ สตูดิโอสอนทำอาหาร บ่อน้ำพุร้อน และฟาร์มอัลปาก้า ฟังดูแล้วน่าตื่นเต้นและแตกต่างจากบ้านพักคนชราทั่วไป โดยผู้สูงอายุที่พักอยู่ที่นี่จะทำงานพาร์ตไทม์ในส่วนที่ให้บริการต่างๆ ของบ้านพัก แห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็นบ้านพักที่ดูแลผู้สูงวัย และในทางกลับกันผู้สูงวัยก็มีส่วนช่วยดูแลบ้านพักแห่งนี้ด้วยเช่นกัน 

หมู่บ้าน Share Kanazawa แห่งนี้ถือเป็นโครงการนำร่องในการดูแลชุมชนคนเกษียณเพื่อให้เข้ากับความต้องการด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกจากผู้สูงอายุจะได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่น่าอยู่ ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมแล้ว ที่แห่งนี้ก็ได้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่คอยต้อนรับผู้มาเยือนให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน

ญี่ปุ่นยังมีศูนย์ดูแลผู้สูงวัยอีกหลายแห่งที่ยึดหลักการชุมชนช่วยเหลือกัน เช่น ศูนย์ Yoro Shisetsu ที่รับดูแลทั้งผู้สูงวัยและเด็กเล็กในสถานที่เดียวกัน โดยแยกส่วนห้องพักไว้คนละส่วน แต่จัดกิจกรรมให้ทำร่วมกัน เช่น ผู้สูงอายุจะช่วยเสิร์ฟอาหารและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กๆ ในขณะที่เด็กๆ ก็ช่วยเป็นเพื่อนคุยเพื่อนเล่นคลายเหงาให้ผู้สูงอายุได้หัวใจเบ่งบาน 

จะเห็นได้ว่าสังคมที่ดูแลซึ่งกันและกันเช่นนี้ไม่ได้มีคุณค่าสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังมีความหมายกับทุกคนและทุกส่วนในสังคมด้วย ขณะเดียวกันประเทศไทยเองกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน หากเราซี่งเป็นส่วนเล็กๆ หลายภาคส่วนในสังคมสามารถแบ่งปันพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมได้ สังคมไทยในอนาคตอาจจะเป็นสังคมผู้สูงอายุตัวอย่างก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล:
www.stat.go.jp/
theconversation.com
www.equaltimes.org
www.euronews.com
zenbird.media
www.bbc.com
www.reuters.com

บทความที่เกี่ยวข้อง