พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้ก่อตั้ง ‘คูน’ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้าน Palliative Care เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว

Human / Social-Inspiration

เราเดินทางมายังโรงพยาบาลคูน (KOON Palliative Care Specialised Hospital) โรงพยาบาลนำร่องที่ให้การดูแลเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยระยะท้ายแบบ Palliative Care ซึ่งเปิดทำการมาได้ราว 1 ปี เป็นสถานที่ที่ หมอแนต-พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ทำงานอย่างแข็งขันในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ร่วมกับทีมงานของเธอ 

ความสนใจเรื่องการรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ของหมอแนตเริ่มต้นขึ้นเมื่อหลายปีก่อนหน้า ตั้งแต่ที่เธอยังทำงานเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยด้านระบบทางเดินหายใจ รักษาผู้ป่วยวิกฤตในหออภิบาลผู้ป่วย รวมถึงผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กระทั่งกลับมารับช่วงต่อให้กับธุรกิจครอบครัวภายในโรงพยาบาลเอกชัย กับบทบาทแพทย์ชำนาญพิเศษด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ประจำโรงพยาบาลเอกชัย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทั้งโลกต้องเผชิญและร่วมแรงร่วมใจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน เป็นช่วงเวลาที่ไม่เพียงแต่จะท้าท้ายทุกอาชีพในสังคม รวมทั้งตัวเธอ ผู้เป็นเสาหลักในการรักษาคนไข้และนำพาทีมให้ผ่านพ้นโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น แต่ยังตอกย้ำให้คุณหมอได้เห็นว่า ช่วงเวลาก่อนตายและความตายสำคัญมากพอๆ กับการมีชีวิตอยู่ 

เรื่องราวถัดจากนี้ คือชีวิต การทำงาน ประสบการณ์ กระบวนการดูแลผู้ป่วย และการเป็นผู้นำแบบหมอแนต แพทย์ที่เชื่อเสมอว่า การดูแลผู้ป่วยไม่ใช่การดูแลเพียงแค่ทางร่างกาย แต่ยังรวมไปถึงหัวใจ และปลายทางของชีวิตอย่างมีความหมายที่สุดด้วย 

“หมอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชีวิตการเรียนและทำงานแต่ละช่วงชีวิต เหมือนบันไดที่ค่อยๆ ไต่ไปเจอกับสิ่งที่รักและสนใจ ตั้งแต่การใช้ทุนเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ที่ทำให้รู้ว่าตัวเองรักในการรักษาและดูแลคนไข้หนักๆ พอมาทำงานใช้ทุนต่อที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่สมุทรสาคร อยู่ 2 ปี ก็เป็น 2 ปีที่สนุกกับการเรียนรู้งานด้านอายุรกรรมมากๆ หลังจากนั้นหมอเลือกเรียนต่อเฉพาะทางเรื่องโรคระบบทางเดินหายใจเพราะเป็นสาขาที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากต้องใช้ความรู้ความสามารถหลากหลายด้าน จนมาเรียนด้านเวชบำบัดวิกฤต (Critical Care) เพิ่มเติมอีก 1 ปี แล้วถึงมาประจำที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ การทำงานที่พระมงกุฎ หมอมีหน้าที่หลัก 3 ส่วน คือการเป็นอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษาแพทย์บนวอร์ดโรคปอด ทำงาน OPD และทำวิจัย โดยหน้าที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนกันไปแบบนี้ 

“ช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยนแรกของการสนใจเรื่องการดูแลแบบประคับประคองคือตอนที่หมอได้ดูแลเคสผู้ป่วยวิกฤตซึ่งเราพยายามรักษาให้คนไข้รอดชีวิต แต่บางครั้ง เรากลับรู้สึกว่าการรักษาแค่ให้คนไข้อยู่นานขึ้นด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์มากมาย แต่คนไข้กลับมีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ได้ เป็นการสร้างภาระให้กับคนไข้ รวมถึงครอบครัวด้วย ในบางเคสที่เราเห็นแล้วว่าปลายทางคือคนไข้ต้องจากไป แต่ด้วยความรู้ที่มี เรายังพยายามหาหนทางเพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในปลายทางที่ดีกว่าสภาวะแวดล้อมในห้องไอซียู เราจึงถามกับตัวเองว่า ในฐานะแพทย์ ยังมีวิธีไหนอีกบ้างที่ทำให้สามารถดูแลพวกเขาได้ดีกว่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่หมอเลือกเรียนต่อด้านการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ทั้งคอร์สของต่างประเทศ และคอร์สระยะสั้นกับ รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียกได้ว่าถูกเบิกเนตรในเรื่องนี้มากๆ ซึ่งหมอคิดว่าถ้าเรารู้ศาสตร์นี้แต่เนิ่นๆ คงจะช่วยเหลือคนไข้ได้อีกเยอะเลยค่ะ” 

เมื่อเรียนจบด้าน Palliative Care และกลับมาทำงานต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ หมอแนตยังคงทำงานในรูทีนเดิมแบบที่เคยทำมา โดยมีงานดูแลคนไข้ระยะท้ายเป็นงานพิเศษซึ่งไม่ได้มีแผนกหรือหน้าที่ชัดเจน งานนี้แม้จะเหนื่อย แต่คุณหมอบอกกับเราว่าเป็นงานที่มีคุณค่าและมีความหมายที่ได้ทำ 

“หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในรั้วโรงพยาบาลพระมงกุฎมาอย่างยาวนานร่วม 10 ปี ก็ถึงเวลาที่จะต้องเลือกเส้นทางชีวิต เนื่องจากครอบครัวมีธุรกิจที่ต้องกลับไปดูแล ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากอยู่เหมือนกัน เพราะหมอชอบสอนเด็กๆ รู้สึกดีและมีความสุขเวลาเห็นความรู้ที่เราสอนไปสร้างประโยชน์กับคนไข้ พอถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ ระหว่างงานที่รักกับหน้าที่ลูก จึงเป็นเรื่องยากพอสมควรอย่างที่บอก แต่จุดเปลี่ยนหนึ่งคือการได้อ่านสมุดเบาใจของคุณพ่อที่ท่านเขียนว่า ‘ความภาคภูมิใจของท่านคือการพาบริษัทเอกชัยการแพทย์เข้าตลาดหลักทรัพย์’ นั่นแปลว่าท่านให้ความสำคัญกับองค์กรสุขภาพที่ท่านริเริ่มแห่งนี้มากๆ คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาช่วยคุณพ่อดูแล 

“ตอนกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชัยได้ประมาณครึ่งปี โควิดเข้ามาที่ประเทศเราพอดี หมอเป็นหมอปอดคนเดียวที่โรงพยาบาลในตอนนั้น จึงเป็นอีกช่วงของชีวิตการเป็นแพทย์ที่เรียกว่าต้องนำความรู้และประสบการณ์ที่มีทั้งหมดมาดูแลผู้ป่วยโควิดกว่าหมื่นราย ซึ่งมีทั้งเคสที่เสียชีวิตและเคสที่รักษาแล้วดีขึ้น ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เครียด กดดัน และท้าทายเอามากๆ อย่างที่ทุกคนรู้ แต่ก็เป็นโอกาสที่หมอได้แสดงศักยภาพในแง่ของการเป็นแพทย์ผู้รักษา และการเป็นผู้นำในการพาคนไข้ รวมทั้งทีมให้พ้นจากภาวะวิกฤต ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งในชีวิตที่ภูมิใจและได้รับประสบการณ์ครบทุกรสเลยก็ว่าได้” 

องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความคำว่า ‘Palliative Care’ (การดูแลแบบประคับประคอง) ว่าหมายถึง วิธีการดูแลที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวที่เผชิญกับความเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต ด้วยการป้องกันและบรรเทาอาการที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ทั้งอาการเจ็บป่วยทางกาย อาการเจ็บป่วยทางใจ ปัญหาเชิงสังคมและจิตวิญญาณแบบองค์รวม และควรให้มีการดูแลแบบประคับประคองนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่มีการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยระยะสุดท้าย จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต ตลอดจนดูแลจิตใจของครอบครัวผู้ป่วยหลังการสูญเสียเกิดขึ้น

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มีผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพียง 1 ใน 10 คนทั่วโลกเท่านั้นที่ได้รับการดูแลด้วยวิธีดังกล่าว โดยในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลด้วยวิธีการที่ว่ามากกว่า 56.8 ล้านคนทั่วโลก ซึ่ง 78% เป็นประชากรในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิตเช่นนี้จะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าภายในปี 2060 ตามจำนวนที่เพิ่มขึ้นและอายุที่ยืนขึ้นของประชากรโลก รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อที่เพิ่มขึ้นด้วย

“จากประสบการณ์ของหมอ งานดูแลประคับประคองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการรักษาดำเนินมาถึงทางที่ ‘เราจะไม่สู้ ไม่รักษาต่อแล้ว’ หรือผู้ป่วยอาจมีข้อจำกัดเรื่องค่ารักษา ก็จะเลือกวิธีนี้ ขณะเดียวกัน คนที่มาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นบทบาทหน้าที่ที่ไม่ได้ดูมีรายได้หรือความก้าวหน้าทางอาชีพที่ชัดเจน หมอจึงอยากให้คนเข้าใจและเข้าถึงการดูแลแบบนี้ได้ง่ายขึ้น และอยากพิสูจน์ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วงานนี้เป็นงานหนึ่งที่สามารถเลี้ยงชีพได้ สามารถมีรายได้ที่ดีและเพียงพอเหมือนกับการทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนทั่วๆ ไป นั่นเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำ ‘โรงพยาบาลคูน’ หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น หมออยากให้ที่นี่เป็นโรงพยาบาลนำร่องในการรักษาและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้แบบจริงๆ จังๆ อยากขยับจากการเป็นหน่วยหนึ่งของโรงพยาบาล ไปสู่โรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งการทำคูน ถ้ามองในแง่ธุรกิจ เราอาจจะไม่ได้กำไรสวยงามมากมาย แต่จะสามารถหล่อเลี้ยงองค์กรและบุคลากรให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ และจะเป็นงานที่มีคุณค่ามากแน่ๆ นี่เป็นสิ่งที่เราอยากจะพิสูจน์ให้สังคมได้เห็น”

ด้วยเป้าหมายของการสร้างโรงพยาบาลไม่ใช่เพียงเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น แต่คือการรักษาที่คำนึงถึงความรู้สึกและจิตใจของผู้ป่วยในเวลาเดียวกัน โรงพยาบาลคูนจึงถูกออกแบบทั้งการบริการ กระบวนการรักษา และสภาพแวดล้อมเพื่อให้สามารถส่งเสริมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ปฏิบัติงาน พร้อมๆ ไปกับการเปลี่ยนภาพจำเดิมๆ ของโรงพยาบาลออกไป จากการเป็น ‘สถานที่เพื่อรักษา’ สู่ ‘สถานที่สำหรับพักและพึ่งพิง’ เพื่อช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยอุ่นใจและสบายใจที่สุด

“ย้อนกลับไปตอนที่เรียน Palliative Care กับอาจารย์ศรีเวียง เราสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของท่านที่อยากทำให้คนไทยมีคุณภาพการตาย หรือการมีชีวิตในช่วงท้ายให้ดีที่สุด ซึ่งท่านผลักดันในเชิงนโยบายระดับประเทศไปแล้ว ในฐานะของการเป็นแพทย์ หมออยากเป็นอีกแรงกำลังหนึ่งที่จะช่วยผลักดันในแนวทางของเรา และเป้าหมายใหญ่ๆ คืออยากเห็นคุณภาพการตายดีในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งถ้าเทียบกับคนที่อาศัยในต่างจังหวัด พวกเขาจะตายดีและสบายกว่าคนกรุงเทพฯ มากๆ หมอเห็นมาแล้วและรู้ว่าเราทำให้ดีกว่านี้ได้

“จริงๆ ชื่อของโรงพยาบาลคูน ตอนที่เราจะเริ่มทำ เราคิดกันนานมากเลยว่าจะใช้ชื่ออะไรดีที่ฟังแล้วไม่เศร้า จึงมีการระดมความคิดดูว่ามีชื่ออะไรบ้างนะที่มีความหมายที่ดีและตรงกับใจที่เราอยากสื่อสารบ้าง จนไปเจอต้นคูน ซึ่งธรรมชาติของต้นคูน ดอกของเขาจะสวยที่สุดในช่วงที่ใบเขาโรย เลยเป็นการเปรียบเปรยกับชีวิตของคนเราที่ถ้าเราเลือกจะเป็นแบบต้นคูน แม้ช่วงที่ร่วงโรย เรายังคงสวยงามที่สุดได้เหมือนกัน”  

“อาจด้วยวิชาชีพที่ถูกสอนมาว่า ความตายคือความล้มเหลว การรักษาคนไข้จนรอดคือความสำเร็จ การทำงานของแพทย์จึงมุ่งไปที่การ ‘มีชีวิต’ มากกว่า ‘ความสำคัญในวาระสุดท้าย’ ทำให้การตระหนักถึงการสร้างความหมายและส่งเสริมให้เกิดการตายดีจึงอาจไม่เกิดขึ้นกับคนไข้ได้ทุกกรณีสำหรับวงการแพทย์ 

“เราต้องยอมรับว่าอีกอุปสรรคสำคัญที่สุดของการเติบโตของ Palliative Care คือในแวดวงสุขภาพยังไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างตัวหมอเองที่เรียนและทำงานมา 12 ปี คิดว่าตัวเรารู้จัก Palliative Care แล้ว แต่เอาเข้าจริงกลับไม่มีความรู้ตรงนี้แบบลึกซึ้งเลยเหมือนกัน ฉะนั้น หมอเชื่อว่าหมอหลายๆ ท่านอาจมอง Palliative Care เป็นทางเลือกท้ายๆ แบบที่ไม่เหลือตัวเลือกอะไรแล้ว ขณะที่มุมมองของ Palliative Care ยิ่งถ้าเข้าไปเร็วเท่าไหร่ จะยิ่งมีโอกาสช่วยคนไข้และสามารถทำงานร่วมกับคนไข้ได้แบบไร้รอยต่อ (seamless) มากขึ้นเท่านั้น หมอคิดว่าเมื่อเราเริ่มสร้างความตระหนักและความเข้าใจในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น คนจะพบเองว่า Palliative Care จะดีกับทุกคนในเวลาที่เหมาะสม”

“หมอคิดว่าแต่ละคนจะมีนิยามการอยู่ดีและตายดีที่ไม่เหมือนกัน หมอจึงอยากให้เริ่มต้นจากตัวเองก่อนว่าเรานิยามชีวิตของการอยู่และตายดีแบบไหน ลองนึกดูว่า เราโอเคกับชีวิตแบบไหนและชีวิตแบบไหนที่เรารับไม่ได้ ให้มีภาพแบบนั้นไว้คร่าวๆ ก่อน สเต็ปถัดมาคือให้เริ่มสื่อสารกับคุณหมอ กับคนรอบตัวเรา คนในครอบครัวเรา ว่าในวันที่เราอยู่ในสภาพแบบนั้น เราอยากให้ชีวิตเราเป็นแบบไหน ในฐานะของการเป็นแพทย์ ถ้าการรักษายังสามารถตอบโจทย์ แก้ไขให้ชีวิตเรากลับมาอยู่ดีได้ เราก็ควรทำอยู่ เพราะคุ้มค่าที่จะทำ แต่ถ้าการรักษานั้นไม่สามารถทำให้เรากลับมาเป็นปกติสุขได้อีกแล้ว ทางเลือกเราอาจจะไปในแนวทางที่แค่ไม่ทำอะไรที่ทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น 

“การทำงานเราจะทำงานกับ 4 มิติของชีวิต ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ ทางด้านร่างกาย คุณหมอจะจัดการดูแลอาการต่างๆ ให้ทุเลาและบรรเทาลงได้ด้วยการให้ยา เช่น อาการปวด หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ในเรื่องจิตใจ คือการเข้าไปดูว่าคนไข้ยังมีความห่วง ความกังวล หรืออะไรที่ค้างคาใจไหม เราจะพยายามดึงความรู้สึกของคนไข้ออกมาให้ได้ แล้วเราจะไปช่วยเขา ทำหน้าที่เหมือนเป็นสะพานให้ญาติๆ ผู้ป่วยเข้ามาช่วยกันดูแลส่วนนี้ในกรณีที่คนไข้ทำเองไม่ได้ ทางด้านสังคม เราจะพยายามสื่อสารว่ามีใครบ้างนะที่เขาอยากจะให้มาอยู่ด้วยในช่วงท้ายชีวิต เราจะพูดคุยกับคนไข้ไว้ก่อนล่วงหน้าและพยายามรวบรวมบุคคลเหล่านั้นมาเป็นผู้สนับสนุนด้านสังคมให้กับเขา สุดท้ายคือด้านจิตวิญญาณ ที่เราจะพยายามไปดูว่าเขามีความเชื่ออะไรบ้าง สิ่งที่เขายึดเหนี่ยวจิตใจ ที่พบในเคสคนไทยจะดูแลได้ไม่ยากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในกรณีแบบนี้เราจะนำศาสนามาใช้ในการโน้มน้าวให้เขารู้สึกสงบลงได้ มีการสวดมนต์ เปิดเพลงต่างๆ แต่เรายังเจออีกหลายๆ เคสที่ไม่ได้มีศาสนาชัดเจน เช่น มีความเป็นพุทธแต่ก็มีความคาทอลิคอยู่ในตัวด้วย เป็นต้น ในกรณีแบบนี้ เราจะให้เขาบรรยายแล้วในมุมของเขาว่าอะไรบ้างที่จะทำให้เขารู้สึกสงบและยึดเหนี่ยวจิตใจได้ เพื่อเวลาที่ใกล้ออกเดินทาง เราจะใช้สิ่งนี้ในการโน้มเขาให้เขาคิดถึงแต่สิ่งดีๆ ก่อนจากไป” 

“จริงๆ เรื่องของการจากลา หมอคุ้นเคยตั้งแต่ทำงานในเคสคนไข้ไอซียูแล้ว แต่ละเดือนก็มีอย่างน้อย 4-5 เคส เราจึงมีความเข้าใจในสถานการณ์นั้น และเมื่อมาทำ Palliative Care หมอรู้สึกว่าตัวเองส่งพวกเขาได้ดีขึ้น แน่นอนว่ามีเคสที่เราเองก็ร้องไห้ไปกับเขานะ แต่ไม่ได้เป็นความรู้สึกเสียใจ เรียกว่าท่วมท้นมากกว่า เป็นน้ำตาที่เราเข้าใจถึงการสูญเสียของเขา มีกรณีแบบนี้อยู่เป็นระยะๆ แต่ความรู้สึกเหล่านี้มันจบนะคะ เพราะเราไม่ได้เก็บกลับไปบ้านด้วย สิ่งที่หมอจะทำหลังจากส่งคนไข้คือการกลับมาทบทวนว่า เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง เราส่งเขาได้ดีที่สุดไหม มีตรงไหนที่เราต้องกลับมาทบทวน เรียนรู้ และปรับปรุงร่วมกับทีมเพื่อให้งานในครั้งต่อๆ ไปดีขึ้นไหม 

“ส่วนความเครียดที่เกิดขึ้น ก็เป็นปกติที่ต้องมีในการทำงาน ซึ่งส่วนมากอย่างที่บอก ไม่ได้มาจากคนไข้ แต่จะเกิดจากการงานในเชิงการบริหารมากกว่า แล้วทุกวันนี้ ชีวิตหมอหมดไปกับการทำงานเยอะมาก ไม่มีการดูซีรีส์หรือกิจกรรมแบบที่คนอื่นๆ เขาทำกัน แต่จะใช้การออกกำลังกายที่รวบไปเป็นการพักผ่อนและใช้ในการลดความเครียด หมอชอบวิ่งและวิ่งเยอะมากเลยนะ 60-70 กิโลในหนึ่งอาทิตย์ได้ รวมถึงเข้าร่วมมาราธอนอย่างสม่ำเสมอมาได้ 7 ปี แล้ว ตอนนี้ ถ้าไม่มีอาการบาดเจ็บ หมอก็ยังซ้อมและลงสนามอยู่ตลอด ที่จะไปต่อจากนี้แพลนไว้ว่าจะเป็นที่ชิคาโก หมอกะจะทำ BQ หรือ Boston Qualify สำหรับการสมัครเข้าร่วมแข่งในรายการ Boston Marathon ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักวิ่งมาราธอนที่นั่น ถ้าไม่บาดเจ็บก็อยากจะทำให้สำเร็จค่ะ (ยิ้ม)”

“เวลาทำงาน หมอจะเต็มที่กับสิ่งที่ทำ ใส่ไปเกินร้อย ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เราจะอิ่มกับผลลัพธ์นั้นเสมอ ที่เห็นใจคือลูกทีมที่ต้องมาทำงานเกินร้อยและเหนื่อยไปกับเรามากกว่า ต้องขอบคุณทุกคนที่ลุยมาจนถึงตอนนี้ร่วมกัน และหมอยังใช้หลักนี้กับการดำเนินชีวิต ก็จะเต็มที่กับการใช้ชีวิต ยิ่งมาทำ Palliative Care ก็ยิ่งอยากทำทุกอย่างให้สุดความสามารถ และจะยึดปัจจุบันสำคัญที่สุด 

“สำหรับหมอ ถ้าจะตายตอนนี้ก็ได้เลยนะ เพราะหมอได้ทำสิ่งที่อยากทำและประสบความสำเร็จในจุดเราที่ตั้งเป้าไว้แล้ว ไม่มีอะไรต้องเสียใจและเสียดาย ถ้ามีคงเป็นห่วงมากกว่าว่าถ้าเราไม่อยู่ แล้วใครจะดูต่อ งานตรงนี้ยังไม่มีผู้สานต่อ ถ้าในมุมของหมอ ถ้าหมอจะจากไปอย่างสงบได้จริงๆ คงเป็นวันที่เห็นแล้วว่าคูนและงาน  Palliative Care สามารถไปต่อได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งเราแล้ว สามารถดำเนินไปด้วยตัวเขาเอง 

“เวลานี้ หมออยากทำกองทุนเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่เข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองไม่ได้ให้มากขึ้น เรารู้สึกจริงๆ ว่าเรื่อง Palliative Care ดีสำหรับทุกคน เพียงแต่ในหลายๆ กรณีที่ประชาชนยังเข้าถึงไม่ได้เนื่องจากเรื่องทุนทรัพย์ บางเคสติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เวลาได้ยินแบบนั้นเรารู้สึกเจ็บปวดมากเหมือนกัน ซึ่งเราน่าจะช่วยเขาได้ แพลนคร่าวๆ ในอนาคตหมออยากเปิดเป็น Social Enterprise อยากหาวิธีที่จะดูแลคนไข้กลุ่มนี้ได้มากขึ้นเพื่อส่งเขาไปสู่ปลายทางอย่างดีและมีความหมายที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ หมอไม่อยากให้เรื่องค่าใช้จ่ายไปเป็นอุปสรรคให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการดูแบบนี้ไม่ได้ โจทย์ของหมอในเวลาคือจะทำอย่างไรให้การดูแลแบบประคับประคองสามารถเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น ซึ่งพวกเรากำลังทำงานกันอย่างแข็งขันเลยค่ะ (ยิ้ม)”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

อ้างอิง: www.sdgmove.com 

ข้อมูลเพิ่มเติม:
Facebook: www.facebook.com/koonhospital 
Website: www.koonhospital.com 
Line: @koonhospital  
Email: Support@koonhospital.com 
Tel: 02-405-3899  

บทความที่เกี่ยวข้อง