ความจําสั้นขี้ลืม เสี่ยงสมองเสื่อมจริงหรือ

Health

ความจําสั้นขี้ลืมแบบนี้ เสี่ยงป่วยโรคสมองเสื่อมจริงหรือ

การใช้ชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย บางครั้งอาจตกอยู่ในภาวะความจำสั้นขี้ลืม หรือหลงลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นแม้เวลาผ่านไปเพียงไม่นาน แต่การเป็นคนขี้ลืมหลายครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่เกี่ยวกับสมอง วันนี้ Eisai’s hhc Thailand ขอพาทุกคนไปดูกันว่าอาการขี้ลืมเกิดจากอะไร ? ขี้ลืมความจำสั้นแบบไหนที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงวิธีป้องกันอัลไซเมอร์

สาเหตุที่ทำให้กลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ที่หลายคนไม่เคยรู้

หลายคนอาจเคยลืมว่าวางกุญแจรถ กุญแจห้อง หรือโทรศัพท์มือถือไว้ตรงจุดไหนของห้องหรือของบ้าน แน่นอนว่าอาการความจำสั้นขี้ลืมแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย จนมองว่าการเป็นคนขี้ลืมของตนคือเรื่องปกติ เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราจะหลงลืมบ้าง แต่ถ้าหลงลืมบ่อย ๆ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายอย่างอัลไซเมอร์อาการเริ่มต้นที่มาในรูปแบบขี้ลืมความจำสั้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันโรคร้าย ตามมาดูกันว่าสาเหตุที่ทำให้กลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมมีอะไรบ้าง

พักผ่อนไม่เพียงพอ

การนอนไม่พอส่งผลให้วันนั้นอาจมีอาการเบลอ มึน ๆ งง ๆ แล้วรู้สึกว่าสมองทำงานช้ากว่าปกติ และส่งผลกระทบต่อการคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ให้ช้ากว่าปกติ

ทานยารักษาโรคบางชนิด

ตามที่ทราบกันดีว่ามียารักษาโรคบางตัวที่ทานแล้วจะมีอาการง่วงซึม หรือส่งผลต่อความจำโดยตรง ซึ่งเมื่อต้องทานยาประเภทนี้เป็นประจำย่อมส่งผลให้สมาธิในการจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ลดลง จนนำไปสู่อาการขี้ลืมความจำสั้น

ความเครียดและอาการวิตกกังวล

ช่วงไหนที่มีปัญหาให้คิดหนักหรือมีเรื่องให้คิดวนไป อาจทำให้คุณพลาดข้อมูลใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เพราะไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นเอง เช่น มีเรื่องให้ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ภายใน 1 สัปดาห์ แต่เงินออมที่มีอยู่ไม่พอ ทำให้ต้องคิดหาวิธีหาเงินก้อนให้ทันในกำหนด จนเป็นเหตุให้หลงลืมเรื่องรอบตัวไปชั่วคราว

แอลกอฮอล์

ใครที่เป็นสายดื่ม ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจส่งผลให้ความทรงจำบางส่วนหายไป หรือที่บางคนชอบบอกว่ากินจนภาพตัด และที่สำคัญยังส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นคนขี้ลืมมากขึ้นอีกด้วย

ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

การทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันอาจทำให้คุณมีอาการเบลอและหลงลืมว่า จะต้องทำสิ่งไหนบ้าง เนื่องจากสมองจดจ่อกับอะไรได้เพียงอย่างเดียว หากทำทุกอย่างพร้อมกันจะขาดสมาธิจนเผลอลืมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้

เป็นคนความจำสั้นขี้ลืมแบบนี้เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมหรือป่าว

เชื่อว่าถ้าเลือกได้หลายคนคงไม่ยากมีอาการหลงลืมแน่นอน เพราะถ้าอาการขี้ลืมความจำสั้นเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ แต่ถึงอย่างนั้นไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการความจำสั้นขี้ลืมแล้วจะเสี่ยงป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เนื่องจากอาการหลงลืมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทำให้ต้องรู้วิธีสังเกตการลืมแบบธรรมดาทั่วไปกันก่อนว่าอาการเหล่านี้ต้องหาวิธีป้องกันอัลไซเมอร์หรือไม่ ?

ลักษณะของการลืมแบบธรรมดาทั่วไป

ลักษณะของการลืมแบบธรรมดาทั่วไปจะมีอาการหลงลืมชั่วคราว เช่น ถ้ากำลังออกจากบ้านไปทำงาน แล้วไม่มั่นใจว่าปิดไฟ ปิดแอร์หรือยัง ?  จนต้องเปิดประตูเข้าไปเช็กใหม่อีกรอบ แบบนี้ถือเป็นอาการขี้ลืมความจำสั้นแบบธรรมดาทั่วไป เพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นตอนที่ไม่มีสมาธิจดจ่อเป็นผลให้สมองไม่จดจำเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น

ความจำสั้นขี้ลืมแบบไหนถึงเสี่ยงอัลไซเมอร์ มาหาคำตอบกัน

อาการของคนขี้ลืมความจำสั้นที่เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์จะแตกต่างกับคนขี้ลืมแบบธรรมดาทั่วไป เพราะไม่สามารถจดจำได้เลยว่าเพิ่งไปทำอะไรมาก่อนหน้านี้ เช่น จำได้ไม่ว่ากินข้าวไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งกินข้าวไป หรือจำไม่ได้ว่าอาบน้ำแล้ว แม้ตัวจะยังเปียกอยู่ และเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นตามมาดูลักษณะของการลืมแบบเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ที่ Eisai’s hhc Thailand นำมาฝากกัน

ลักษณะของการลืมแบบเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์

อย่างเช่นปกติเคยแขวนกุญแจรถไว้ที่ผนังบ้าน แต่ครั้งนี้กลับรื้อหาในกระเป๋าสะพาย กรณีนี้สามารถเป็นได้ทั้งอาการความจำสั้นขี้ลืมแบบธรรมดาทั่วไปและอาการเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นได้เช่นเดียวกัน เว้นแต่ตามปกติจะแขวนกุญแจรถไว้บนฝาผนังเป็นประจำโดยไม่เคยเก็บไว้ในกระเป๋าสะพายเลย แบบนี้ถึงเข้าข่ายเป็นโรคอัลไซเมอร์นอกจากนี้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดง่ายแบบไม่มีสาเหตุ หรืออยู่ดี ๆ ก็นั่งยิ้ม นั่งหัวเราะทั้ง ๆ ที่ไม่มีเรื่องอะไรให้ยิ้มให้หัวเราะ รวมไปถึงการสับสนเรื่องเวลา หรือพูดไม่รู้เรื่อง พฤติกรรมเหล่านี้เมื่อนำมารวมกับอาการหลงลืมในข้างต้นก็ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มมีความจำสั้นขี้ลืมของอัลไซเมอร์แล้ว

วิธีสังเกตว่าแค่ลืมแบบปกติหรือเริ่มเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมแล้ว

แม้อาการความจําสั้นขี้ลืมแบบปกติจะมีความแตกต่างกับอาการของคนเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ตรงที่คนเป็นโรคสมองเสื่อมไม่สามารถจดจำได้เลยว่าเพิ่งหยิบของหรือทำกิจกรรมอะไรมาก่อนหน้านั้น แต่เชื่อว่าหลายคนมองว่าการเป็นคนขี้ลืมกับเป็นโรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งเพื่อให้ทุกคนสามารถสังเกตตัวเองและคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น ตามมาดูเช็กลิสต์กันว่าอาการแบบไหนที่เข้าข่ายภาวะสมองเสื่อม

เช็กลิสต์สัญญาณเตือนภาวะสมองเสื่อม ก่อนสายเกินแก้

  • เริ่มเป็นคนขี้ลืมที่มีอาการย้ำคิด ย้ำทำ หรือชอบถามอะไรซ้ำ ๆ บ่อย ๆ

  • มีอาการหลงทิศทาง เช่น ต้องการเดินตรงไปหน้าบ้าน แต่กลับเดินไปทางซ้ายเพราะคิดว่าเป็นหน้าบ้าน

  • มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เช่น ไม่สามารถเรียงลำดับการใช้คำได้เหมือนเดิม หรือมีอาการพูดไม่รู้เรื่อง เพราะนึกคำที่ต้องการใช้ไม่ออก

  • คิดเรื่องยาก ๆ ไม่ออก แม้ปกติจะสามารถคิดและตอบได้ทันที เช่น เมื่อก่อนเคยคำนวณเลขหลักหน่วย หลักสิบได้ แต่ตอนนี้กลับคิดไม่ออกหรือใช้เวลานานกว่าปกติ

  • เริ่มวางสิ่งของผิดที่ เช่น เอาโทรศัพท์มือถือไปไว้ในไมโครเวฟ เก็บกุญแจไว้ในตู้เย็น หรือเก็บช้อนส้อมในตู้เสื้อผ้า

  • มีความสับสนเรื่องเวลา โดยคิดว่าเวลาผ่านไปนานมาก ทั้งที่จริงผ่านไปไม่กี่นาทีเท่านั้น

  • มีบุคลิกภาพและอารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น อยู่ ๆ ก็ยิ้ม หัวเราะเสียงดัง โดยไม่มีสาเหตุ หงุดหงิดง่าย หรือหวาดกลัวไม่สมเหตุสมผล

  • มีสมาธิสั้น ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำมาก่อนได้ เช่น ลืมวิธีเปิดโทรทัศน์  เปิดเครื่องปรับอากาศไม่ได้ ทำอาหารที่เคยทำไม่ได้

แชร์ 6 วิธีป้องกันอาการขี้หลงขี้ลืมแบบง่าย ๆ ใครก็ทำตามได้

คงดีไม่น้อยหากเราไม่ต้องเป็นคนขี้ลืมความจำสั้น หรือสามารถยืดเวลาที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ออกไปให้ได้นานที่สุด วันนี้ Eisai’s hhc Thailand ได้นำเอาเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยแก้อาการความจําสั้นขี้ลืมมาฝากกัน ไปดูกันเลย

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    หากพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันหลายวันจะทำให้สมองมีอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ส่งผลให้ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย รวมถึงมีอาการหลงลืมเกิดขึ้น

  2. จดบันทึก
    การจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ลงสมุดหรือโน้ตไว้ในโทรศัพท์มือถือช่วยให้การใช้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น นอกจากสามารถทบทวนเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้แล้ว ยังนำมาใช้วางแผนสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ได้อีกด้วย

  3. ทำกิจกรรมทีละอย่าง
    บางคนการจดจำสิ่งต่าง ๆ พร้อมกันก็อาจหลงลืมได้ง่าย ๆ ดังนั้นการทำกิจกรรมที่สนใจทีละอย่างช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น เพราะจะมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ 

  4. หมั่นบริหารสมอง
    นอกจากกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำ ควรแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่แตกต่างเพื่อบริหารสมอง เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง ดูหนัง เล่นดนตรี เล่นหมากรุก หรือเล่นเกมฝึกสมอง

  5. ทานวิตามินหรืออาหารเสริมที่ช่วยบำรุงสมอง
    บางครั้งการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาจไม่เพียงพอต่อการบำรุงสมอง ดังนั้นการหาวิตามินหรืออาหารเสริมที่มีสรรพคุณช่วยเรื่องความจำมาทานเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่มีอาการขี้ลืมความจำสั้น โดยเฉพาะวิตามินหรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของใบแปะก๊วย ผักโขม หรือน้ำมันตับปลา ล้วนมีส่วนช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้

  6. ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ช้าลง
    สำหรับใครที่เป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่เพราะการทำอะไรรวดเร็วเป็นผลให้คุณจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้น้อยลง ดังนั้นการทำอะไรให้ช้าลงหน่อยจะช่วยให้คุณใส่ใจและจดจำรายละเอียดของสิ่งที่ทำได้มากขึ้น การเป็นคนขี้ลืมก็จะดีขึ้น

หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการความจําสั้นขี้ลืมหรือตกอยู่ในสภาวะขี้ลืมความจำสั้นอยู่บ่อยครั้ง จนไม่มั่นใจว่าเป็นคนขี้ลืมแบบปกติหรือเข้าข่ายอัลไซเมอร์ ให้ลองทบทวนพฤติกรรมขี้ลืมเกิดจากอะไร ถ้ามีสัญญาณเตือนภาวะสมองเสื่อม แนะนำให้นำวิธีลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ไปปรับใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ภัยร้ายนี้เกิดขึ้นกับคุณหรือคนที่คุณรัก

บทความที่เกี่ยวข้อง