10 ความเข้าใจผิดเรื่องกรดไหลย้อน

Digestive / Health

กรดไหลย้อน’ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อนี้กันมาบ้างแล้ว โรคนี้เกิดจากการที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร หากปล่อยจนเรื้อรังจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อหลอดอาหารในระยะยาวได้ เช่น หลอดอาหารตีบ หรือมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ แล้วเกิดจากความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร (Esophageal Sphincter) ที่มีภาวะคลายตัวมากกว่าปกติ ทำให้กรดสามารถไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ หรือเกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร 

เชื่อหรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนอยู่หลายเรื่อง แต่จะเป็นอะไรบ้างไปติดตามกัน

1. เมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อนต้องลดปริมาณการทานอาหารทุกชนิด

จริงๆ แล้วเราควรลดอาหารบางชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ช็อคโกแลต โกโก้ ชา และอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งอาหารเหล่านี้มีผลทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากกว่าปกติจึงทำให้กรดไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารง่ายขึ้น

2. ควรทานผักผลไม้แทนการทานมื้ออาหารหลัก

ผักและผลไม้ส่วนใหญ่มีผลดีกับสุขภาพ แต่ก็มีผักและผลไม้บางชนิดที่ทำให้กรดไหลย้อนมีอาการมากขึ้น เช่น ผักผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูงหรือมีรสจัด ได้แก่ ส้ม เลมอน เบอร์รี่ สับปะรด มะนาว มะเขือเทศ เปปเปอร์มินต์ พริก เป็นต้น

3. ห้ามออกกำลังกายหลังรับประทานอาหาร

สำหรับโรคกรดไหลย้อนแล้ว ถ้าเราได้ออกกำลังด้วยการเดินช้าๆ 15-30 นาทีหลังทานอาหารจะช่วยทำให้อาหารผ่านไปยังลำใส้เล็กได้รวดเร็วมากขึ้น ดีกว่าการนอนดูทีวีหรือนั่งเล่นโทรศัพท์เป็นไหนๆ

4. ควรหลีกเลี่ยงไขมันทุกชนิด

ถึงแม้การเป็นโรคกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าเราเลือกทานไขมันที่มีผลดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันปลา น้ำมันมะพร้าว ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ดีกว่าการงดไขมันไปเลยเช่นกัน

5. การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีผลกับโรคกรดไหลย้อน

เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดของหลายๆ คนว่า การสูบบุหรี่มีผลกับมะเร็งปอด และการดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อตับเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้อาการกรดไหลย้อนแย่ลงอีกด้วย

6. ถ้ามีอาการแสบร้อนยอดอกต้องเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน

จริงๆ แล้ว อาการแสบร้อนยอดอกไม่ได้มีแค่โรคกรดไหลย้อนเท่านั้น แต่มีสาเหตุได้หลากหลาย เช่น หลอดอาหารเป็นแผล โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Atypical Chest Pain) ภาวะลำไส้เส้นเล็กอุดตัน เป็นต้น ซึ่งหากใครมีอาการแสบร้อนยอดอก ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ถูกต้องในการรักษาอาการ

7. โรคกรดไหลย้อนมีอาการแสบร้อนยอดอกเพียงอย่างเดียว

อาการแสบร้อนยอดอกเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ อาการของภาวะกรดไหลย้อนเท่านั้น จริงๆ แล้วโรคกรดไหลย้อนมีอาการได้หลากหลายมาก เช่น เจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง อาการหอบหืด ไอเรื้องรัง มีกลิ่นปาก ฟันผุ เป็นต้น แต่ละคนอาจจะมีอาการแตกต่างกันได้และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการเช่นกัน

8. การรักษาโรคกรดไหลย้อน ต้องทานยาลดกรดเท่านั้น

ยาลดกรดเป็นส่วนประกอบหลักของการรักษาเท่านั้น โรคกรดไหลย้อนยังต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนัก ปรับการกินอาหาร งดอาหารก่อนเข้านอน 2 ชั่วโมง การนอนยกหัวสูงหรือนอนตะแคงซ้ายก็จะช่วยลดอาการกรดไหลย้อนด้วยเช่นกัน

9. ผู้ป่วยกรดไหลย้อนควรได้รับการส่องกล้องกระเพาะอาหารทุกราย

จริงๆ แล้ว การส่องกล้องกระเพาะอาหารในคนที่เป็นกรดไหลย้อนไม่จำเป็นต้องทำทุกราย แต่จะจำเป็นในรายที่ทำการรักษาด้วยยาและปรับพฤติกรรมเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการกลืนอาหารติด น้ำหนักลด เป็นต้น

10. กรดไหลย้อนรักษาไม่หายขาด

ภาวะกรดไหลย้อนส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาและการปรับพฤติกรรม แต่ที่อาการไม่หายขาดนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วแต่มักชะล่าใจกลับไปทานอาหารและทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ เช่น การทานอาหารมื้อดึก การปล่อยให้น้ำหนักตัวขึ้น เลยทำให้อาการกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่นั่นเอง ถ้าอยากให้อาการหายขาดจริงๆ ก็ต้องทำการปรับพฤติกรรมในระยะยาว

มาถึงตรงนี้แล้วจะพบว่าโรคกรดไหลย้อนมีอาการได้หลากหลาย แต่อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการแสบร้อนยอดอก เรอเปรี้ยว และอาการจุกแน่นในลำคอ โดยส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาและการปรับพฤติกรรม มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังทำการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจต้องได้รับการส่องกล้องในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เพื่อดูความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร การเคลื่อนไหวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร รวมถึงบางรายอาจจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร (H. Pylori) ที่เป็นต้นเหตุทำให้การรักษาไม่หายขาดได้ รู้อย่างนี้แล้วพร้อมที่จะปรับพฤติกรรมเพื่อห่างไกลกรดไหลย้อนกันหรือยัง

บทความที่เกี่ยวข้อง