Permaculture: การทำสวนที่ดีต่อกาย ใจ และสิ่งแวดล้อม

Care / Social Care

การปลูกต้นไม้ ทำสวน เป็นงานอดิเรกที่หลายคนโปรดปราน เพราะการได้เห็นใบเขียวๆ ของต้นไม้ ดอกไม้รูปทรงน่ารักน่าชังสีสันสดใส ได้สัมผัสดิน น้ำ และแสงแดด ช่วยสร้างความรื่นรมย์และผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี

แต่นอกเหนือจากความสุขทางใจแล้ว หากคุณอยากให้การทำสวนครั้งต่อไปเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันด้วย เราขอแนะนำให้คุณรู้จัก การทำสวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) 

Permaculture คืออะไร? 

แนวคิดหลักของสวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์ คือสวนที่เน้นการอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันระหว่างพืชและสัตว์แต่ละชนิดตามระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ เมื่อต้นไม้แต่ละต้น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว ผลไม้ และดอกไม้ ให้การสนับสนุนพึ่งพากันและกัน เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง ต้นไม้แต่ละต้นจะดูแลกันเอง เช่น ดินและปุ๋ยในสวนเพอร์มาคัลเจอร์จะได้มาจากใบไม้หรือต้นไม้ที่หมดอายุขัย ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ หรือหากจะใช้ปุ๋ยเพิ่มเติมเข้าไปก็จะเป็นปุ๋ยหมักธรรมชาติ (compost) ที่ได้จากการนำเศษอาหาร (food waste) มาหมักโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย นอกจากนั้น การเลือกปลูกพืชที่หลากหลายจะช่วยให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ดินอย่างครบถ้วน และการปลูก “พืชคู่หู” (companion plants) จะช่วยให้พืชเติมสารอาหารแก่กันและกัน รวมทั้งป้องกันแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย 

เมื่อสวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์เน้นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างพืชแต่ละต้นและปล่อยให้สัตว์แต่ละชนิดทำหน้าที่ตามระบบนิเวศน์ คล้ายรูปแบบที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ สวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์จึงมีลักษณะที่โดดเด่นข้อหนึ่งคือ สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องการการดูแลรักษามากนัก (low maintenance) ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของสวนทั้งในเรื่องการประหยัดเวลา แรงงาน และต้นทุน นอกจากนั้น ดินที่สมบูรณ์และการเติมสารอาหารให้กันระหว่างพืชแต่ละชนิด ยังส่งผลให้สวนเพอร์มาคัลเจอร์ให้ผลผลิตสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนกว่าสวนหรือระบบการเกษตรที่เห็นธรรมชาติเป็นศัตรูที่ต้องเอาชนะและควบคุม

คำว่า Permaculture เกิดขึ้นในปี 1978 โดยนักวิจัยทางด้านระบบนิเวศวิทยาและนักเขียน Bill Mollison และ David Holmgren ที่นำเอาคำว่า permanent (ยั่งยืน คงทน) และ agriculture (เกษตรกรรม) มารวมกัน เพื่อแสดงถึงปรัชญาความยั่งยืนและวิถีชีวิตแบบองค์รวม แต่ต่อมา Mollison และ Holmgren ได้เปลี่ยนคำว่า agriculture เป็น culture (วัฒนธรรม) เพื่อให้ความยั่งยืนของ Permaculture มีความหมายรวมไปถึงที่อยู่อาศัยและความต้องการทางสังคมของมนุษย์

ทำสวนเพอร์มาคัลเจอร์แบบง่ายๆ

ถ้าคุณเริ่มอยากลองทำสวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์กันบ้างแล้ว เรามีคอนเซ็ปต์พื้นฐาน 3 ข้อของเพอร์มาคัลเจอร์มานำเสนอ 

1 ทำความรู้จักพื้นที่สำหรับทำสวน

ข่าวดีก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่กว้างขวางเสมอไปเพื่อที่จะทำสวนเพอร์มาคัลเจอร์ อาจเป็นแค่พื้นที่เล็กๆ หลังบ้าน หรือแม้แต่บนระเบียงบ้านก็ยังได้ จากนั้น เมื่อมีพื้นที่ที่พอจะปรับเป็นสวนได้แล้ว ให้คุณลองสำรวจดูว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแสงแดดส่องถึงไหม แดดส่องถึงในช่วงเวลาไหนหรือฤดูไหนบ้าง ใกล้แหล่งน้ำหรือเปล่า ลมแรงไหม ฯลฯ เพื่อที่คุณจะได้วางแผนเลือกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ 

สำหรับใครที่มีพื้นที่กว้างขว้างพร้อมทำสวนเพอร์มาคัลเจอร์ขนาดใหญ่ คุณอาจออกแบบโซนนิ่งของแต่ละพื้นที่ให้มีปัจจัยความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น บริเวณที่อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ปลูกพืชที่ต้องการแดดรำไร บริเวณที่ไม่มีร่มเงาปลูกผักที่ต้องการแดดจัดตลอดทั้งวัน บริเวณที่คุณสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายปลูกพืชที่ต้องการการดูแลมากที่สุดหรือมีการเก็บเกี่ยวบ่อย และบริเวณที่ห่างไกลปลูกพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากที่สุด เพื่อให้เป็นพื้นที่คล้ายป่าที่พืชและสัตว์เกื้อหนุนกันเองตามธรรมชาติโดยไม่มีมนุษย์เข้าไปรบกวน

2 เลือกพันธุ์ไม้

เมื่อรู้จักพื้นที่ที่จะใช้ทำเป็นสวนเพอร์มาคัลเจอร์แล้ว ก็ถึงเวลาเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมต่อสภาพดิน อากาศ และแสงแดด หรือ พันธุ์ไม้พื้นถิ่น (native plants) ของแต่ละท้องที่ เพราะเมื่อเลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและอากาศ คุณก็ไม่จำเป็นต้องดูแลสวนมากนัก แต่สวนของคุณยังให้ผลผลิตสูงตามคอนเซปต์ของเพอร์มาคัลเจอร์ เช่น ในพื้นที่ราบลุ่มของประเทศไทยควรปลูกพืชผักหรือไม้ดอกไม้ผลสำหรับเมืองร้อน อย่าง กล้วย มะละกอ มะม่วง ฯลฯ สำหรับการปลูกผัก แนะนำให้เลือกปลูก พืชคู่หู (companion plants) ที่จะแลกเปลี่ยนสารอาหารและป้องกันศัตรูพืชให้แก่กันและกัน เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก ปลูกคู่กับ กุยช่าย แตงกวา พริก มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง และ พริก ปลูกคู่กับ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเทศ กะเพรา ต้นอ่อนทานตะวัน เป็นต้น 

นอกจากนั้น คุณอาจเลือกพืชที่ให้ดอกหรือผลผลิตในเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อที่สวนของคุณจะได้สลับสับเปลี่ยนกันให้ผลผลิตตลอดปี ที่สำคัญ อย่าลืมเลือกปลูกพันธุ์ไม้ให้หลากหลายตามหัวใจหลักของเพอร์มาคัลเจอร์ เพื่อที่ดินจะได้มีสารอาหารครบถ้วนและเกิดการพึ่งพาอาศัยกันของพืชแต่ละชนิด

3 วางแผนใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุด

สวนเพอร์มาคัลเจอร์จะไม่ใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด แต่ดินและปุ๋ย จะได้มาจากซากพืชที่ตายแล้วและการนำเอาเศษอาหารจำพวกพืชผักมาหมักโดยใช้จุลินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดและได้ปุ๋ยจากธรรมชาติที่ไม่มีสารเคมีตกค้างแล้ว ก็ยังช่วยลดปริมาณขยะได้อีกด้วย ส่วนปัญหาเรื่องศัตรูพืชนั้น สามารถจัดการได้โดยการปลูกพืชคู่หู การเลี้ยงไก่หรือห่านที่กินแมลง เป็ดกินวัชพืช และกบกินทาก ตามระบบนิเวศน์ธรรมชาติ

น้ำ เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่สวนเพอร์มาคัลเจอร์จะพยายามใช้อย่างจำกัดที่สุด สวนเพอร์มาคัลเจอร์บางแห่งทำทางให้น้ำจากครัวไหลออกมาด้านนอก ผ่านดินและไม้น้ำที่จะช่วยดักจับและกรองตะกอนได้ส่วนหนึ่ง หรือหากสามารถทำทางน้ำไหลต่างระดับลดหลั่นกันลงมาได้ก็จะช่วยบำบัดน้ำให้มีออกซิเจนมากขึ้น ทำให้น้ำที่ไหลผ่านระดับต่างๆ ลงมายังบ่อพักด้านล่าง เป็นน้ำใสสะอาดที่สามารถนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ได้ แต่สำหรับสวนเพอร์มาคัลเจอร์ขนาดเล็กหรือมือใหม่ คุณไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นก็ได้ แค่อาจหาบ่อ โอ่ง หรือถังมารองน้ำฝนเพื่อเก็บไว้ใช้แทนน้ำประปา ปลูกพืชคลุมดินหรือใช้ซากใบไม้คลุมดินเพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น เท่านี้ก็ช่วยลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้แล้ว 

หากใครสนใจและมีทักษะการทำสวนมากหน่อย อาจลองทำแปลงผักยกสูง หรือที่เรียกว่า Hugelkultur โดยใช้ท่อนซุง กิ่งไม้ เศษใบไม้ มากองเป็นฐานด้านล่าง ก่อแปลงผักให้สูงขึ้น โดยแปลงผักยกสูงนี้จะช่วยรักษาความชื้นตามธรรมชาติ ทำให้เรารดน้ำน้อยมาก (บางตำรากล่าวไว้ว่า หากทำได้ถูกวิธี อาจไม่จำเป็นต้องรดน้ำนานเป็นสิบปีเลยก็ได้) รวมทั้งเศษใบไม้กิ่งไม้จะให้สารอาหารที่ดีแก่ผักอีกด้วย

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นหลักการของสวนเพอร์มาคัลเจอร์แบบเบื้องต้น ซึ่งเราคิดว่าคนเมืองน่าจะนำไปปรับใช้ในการทำสวนที่บ้านของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย ถึงแม้จะไม่สามารถทำตามวิธีของสวนเพอร์มาคัลเจอร์ขนาดใหญ่ครบวงจรได้ทั้งหมด แต่การเริ่มต้นใช้วิถีเพอร์มาคัลเจอร์ก็จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้พืชผักที่ปลอดสารพิษ 

ที่มา:
homesandgardens.com
theecologist.org
returntonow.net
baanlaesuan.com
greenfarmthai.com

บทความที่เกี่ยวข้อง