การปลูกผักก็เหมือนความรัก…ถึงมีพื้นที่จำกัดก็เติบโตงอกงามได้

Care / Self Care

การปลูกต้นไม้ได้กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมขึ้นมากในช่วงเวลานี้ เพราะสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ทำให้เราต้องตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นนอกบ้านออกไป หลายคนจึงเริ่มหันมาปลูกผักทำสวนครัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการออกไปซื้อของนอกบ้านได้บ้าง อีกหลายคนทำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากการงาน (ซึ่งได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ!) ส่วนบ้านไหนที่มีลูกหลานตัวน้อยก็สามารถชวนมาเล่นและเรียนรู้ไปด้วยกัน เป็นกิจกรรมภายในครอบครัวที่เหมาะกับทุกวัย…มีข้อดีขนาดนี้มาลองปลูกผักทานเองกันดีกว่า 

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีพื้นที่กว้างขวางในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะคนเมืองที่อยู่ในอะพาร์ตเมนต์ คอนโด หรือทาวน์เฮาส์ ถึงอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งถอดใจไป เพราะถ้าเราดูแลใส่ใจให้ถูกวิธี การปลูกผักทำสวนในพื้นที่จำกัดก็ประสบความสำเร็จได้! ส่วนเทคนิคการปลูกผักสำหรับคนเมืองจะมีอะไรบ้าง มาติดตามกันได้เลย

เลือกแสงที่ชอบให้กับผักที่ใช่ 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผักของเรารอดหรือร่วงก็คือ แสงแดด พืชผักบางชนิดต้องการแสงแดดเต็มวัน บางชนิดต้องการแสงครึ่งวัน บางชนิดต้องการแค่แสงรำไร เราจึงต้องประเมินพื้นที่ปลูกผักของเราก่อนว่ามีแสงแดดส่องถึงหรือไม่ และมีแสงมากน้อยแค่ไหน 

ถ้าเป็นบ้านทาวน์เฮาส์โดยมากจะมีพื้นที่ว่างตรงระเบียงชั้นบนบ้านและส่วนหน้าบ้านแถวลานจอดรถ ส่วนอะพาร์ตเมนต์หรือคอนโดก็คงมีแค่พื้นที่ส่วนระเบียงและหน้าต่างเท่านั้น ด้วยพื้นที่จำกัดเช่นนี้ทำให้เราไม่สามารถปลูกทุกอย่างที่ต้องการได้ ควรเลือกปลูกสิ่งที่เหมาะกับปริมาณแสงแดดในพื้นที่ของเราเป็นหลักเท่านั้น

ข้อมูลจากหนังสือ ปลูกผักง่ายๆ สไตล์คนเมือง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้ให้ข้อสังเกตง่ายๆ ไว้ว่า 

  • ผักที่ชอบแดดเต็มวัน มักจะเป็นผักกินผล เช่น มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือเทศ แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว และพริก 
  • ผักที่ชอบแดดครึ่งวัน มักจะเป็นผักกินใบ เช่น ผักสลัด ผักกาด คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง หรือผักโขม 
  • ผักที่อยู่ในแสงรำไรก็เติบโตได้ ได้แก่ ใบเตย สะระแหน่ ชะพลู ขิง ข่า ตําลึง อ่อมแซบ ใบบัวบก ผักชีฝรั่ง ผักกูด ผักหวานป่า ใบย่านาง ผักแพ้ว ตะไคร้ กะเพรา และโหระพา 

หมั่นคอยดูแลรดน้ำให้ดี

นอกจากแสงแดดแล้ว น้ำ คืออีกปัจจัยที่ทำให้ผักเติบโตงอกงามดี ผักบางชนิดต้องการน้ำมาก ดูดซึมน้ำเก่ง ต้องรดน้ำอยู่เสมอถึงจะเติบโตได้ดี แต่ผักบางชนิดชอบน้ำน้อย ถ้ารดน้ำมากไปรากจะเน่า รดแค่วันละครั้งหรือสองวันครั้งก็ยังได้ 

  • หลักการรดน้ำแบบง่ายๆ จากเว็บไซต์ สวนผักคนเมือง บอกไว้ว่า ผักกินใบ เช่น ผักกาด คะน้า วอเตอร์เครส ชะพลู ผักบุ้ง ผักสลัด ใบบัวบก ผักชีฝรั่ง ควรรดน้ำบ่อยๆ และทีละน้อย เพื่อรักษาให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ ส่วนผักกินผล เช่น มะเขือเปราะ มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว พริก มะเขือยาว และแตงกวา ห้ามขาดน้ำเวลาติดผล แต่ก็ไม่ควรมากเกินไปเพราะจะทำให้ผลแตกได้ ส่วนผักกินราก เช่น กระชาย ขิง ข่า ควรระวังเรื่องรากเน่า จึงไม่ควรรดน้ำมากเกินไป 
  • ควรรดน้ำในช่วงเช้ามากกว่าเวลาอื่น เพราะเป็นช่วงเวลาที่อากาศไม่ร้อน น้ำระเหยออกไปได้น้อย ทำให้ดินได้รับความชุ่มชื้นเพียงพอตลอดทั้งวัน แต่ไม่แนะนำให้รดน้ำตอนเย็นหรือตอนค่ำ เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสะสมในดินมากเกินไปจนเกิดโรคเชื้อราได้ 
  • การรดน้ำต้นไม้ที่ปลูกในกระถาง ต้องเข้าใจว่ากระถางต้นไม้จะมีรูด้านล่างเพื่อระบายน้ำออกไปไม่ให้ขัง จึงอาจทำให้ดินแห้งเร็ว ดังนั้นต้องคอยรดน้ำให้บ่อยขึ้น วิธีวัดง่ายๆ ว่าดินแห้งหรือไม่ ให้ใช้นิ้วจิ้มลงไปในดินด้วยความลึกประมาณ 1-2 นิ้ว ถ้ารู้สึกว่าดินแห้งเกินไปก็รดน้ำเติมได้

ปรับตัวเข้าหาพื้นที่ด้วยสวนกระถาง

การปลูกผักในพื้นที่จำกัดโดยเฉพาะอะพาร์ตเมนต์และคอนโด อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือภาชนะปลูก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของกระถางดินเผา กระถางพลาสติก หรือกระถางที่จากวัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดน้ำ หรือหม้อใบเก่า ภาชนะเหล่านี้มีขนาดหลากหลาย และสามารถปรับให้เข้ากับซอกมุมต่างๆ ในพื้นที่เล็กๆ ได้ดี 

ข้อควรใส่ใจคือ การเลือกขนาดของกระถางให้เหมาะกับผักที่เราจะปลูก ถ้าใช้กระถางขนาดใหญ่จะเก็บดินและความชื้นได้มากกว่า และมีพื้นที่เพียงพอให้รากดูดซับน้ำและสารอาหารในดินได้ดีกว่ากระถางเล็ก แต่ถ้าใครสะดวกใช้กระถางเล็กก็ให้หมั่นตรวจสอบระดับความชื้นในดินให้บ่อยขึ้นเท่านั้นเอง 

ผักที่เหมาะจะปลูกในกระถาง คือผักที่มีระบบรากไม่ลึก มีขนาดต้นไม่สูงมาก และเป็นผักที่มีช่วงอายุสั้น เช่น ผักบุ้ง ผักชี คะน้า ต้นหอม และผักกาด แต่ถ้าเป็นผักที่มีลำต้นสูงกว่า 30 ซม.ขึ้นไปโดยประมาณ เช่น กะเพราโหระพา พริก และมะเขือ ควรเลือกกระถางที่มีขนาดใหญ่และมีความลึกเพียงพอกับกับสัดส่วนของราก 

ข้อดีของการปลูกผักกระถางอีกอย่างก็คือ สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ ในกรณีที่เรามีพื้นที่จำกัด เราสามารถใช้วิธีคอยยกกระถางออกไปหาบริเวณที่มีแสงแดด แล้วค่อยยกไปเก็บก็ได้ วิธีนี้จะทำให้เราเพิ่มชนิดของผักที่จะปลูกได้อีก แถมยังเพิ่มกล้ามแขนให้แข็งแรงขึ้นไปอีก 

รักแล้วรอหน่อย…อย่าเพิ่งถอดใจ

สรุปเคล็ดลับแบบง่ายๆ ในการปลูกผักสวนครัวในพื้นที่จำกัด คือ  

1. เลือกชนิดของผักให้เหมาะกับจุดรับแสงในพื้นที่ของเรา 

2. รู้วิธีดูแลรดน้ำให้เหมาะกับชนิดของผักที่เราปลูก 

3. เลือกขนาดของกระถางให้เหมาะกับขนาดของผักที่ปลูก 

4. ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับผักที่เราจะปลูกให้ดีก่อนว่าต้องการแสง น้ำ ดิน และการบำรุงรักษาแบบไหน รวมถึงขนาดของรากและลำต้นเมื่อโตเต็มวัย 

และข้อสุดท้ายที่สำคัญ ต้องใจเย็นและรอคอยให้ได้ ถ้ายังพยายามไม่มากพอก็อย่าเพิ่งถอดใจล้มเลิกกลางคัน

การปลูกผักไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายจนเกินไป นอกจากการทำความเข้าใจในผักที่ปลูกแล้ว ยังต้องคอยสังเกตดูการเจริญเติบโต รวมถึงต้องใส่ใจและให้เวลา ผักที่ปลูกจึงจะเติบโตและงอกงาม มีผลลัพธ์ให้เราเชยชม…ความรักก็เช่นกัน!!

แหล่งข้อมูล: 
www.thespruce.com
www.gardendesign.com
www.thaicityfarm.com
www.kasetorganic.com

บทความที่เกี่ยวข้อง