‘สองศาสตร์ สร้างสุข’ กับ พัชรินทร์ แซ่เจี่ย ผู้ผสานโยคะและจิตวิทยาเพื่อเยียวยาร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยทางจิตเวช

Human / Self-Inspiration

“ครู” มาจากคำว่า คุรุ ในภาษาสันสกฤต และ ครุ / คุรุ ในภาษาบาลี ซึ่งมีความหมายตรงตามพจนานุกรมว่า “ผู้ถ่ายทอดความรู้” และครูก็ยังมีความหมายแยกย่อยไปถึงผู้ที่มีความหนักแน่นในจิตใจ ผู้ซึ่งพร้อมที่จะแบ่งปันวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติในการหาเลี้ยงชีพและดำเนินชีวิต โดยมีหลักชัยคือช่วยให้ผู้อื่นเกิดความเจริญก้าวหน้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

สำหรับ แอน – พัชรินทร์ แซ่เจี่ย ความเป็นครูของเธอดูไม่ได้ห่างไกลจากนิยามข้างต้นมากนัก แอนรู้จักกับโยคะเมื่อ 15 ปีก่อน ก่อนที่ศาสตร์โบราณที่ว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อตัวเอง จนกระทั่งความรักนั้นได้นำทางเธอไปสู่บทบาทของการส่งต่อความรู้ให้ผู้อื่นในฐานะครู แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการที่เธอสามารถบูรณาการสิ่งที่รักอย่างโยคะกับองค์ความรู้พื้นฐานของตัวเองในทางจิตวิทยาเข้าด้วยกัน โดยนำทั้งสองศาสตร์ดังกล่าวนี้มาใช้ในการดูแล ปลอบโยน และสอนให้คนไข้ รวมทั้งลูกศิษย์ของเธอยอมรับและรักตัวเองในแบบที่เป็น 

เพราะอยากเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น

“เราเลือกเรียนปริญญาตรีที่คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นที่สนใจด้านจิตวิทยาเพราะคิดว่าคงจะสนุกดีและได้เรียนวิชาที่สามารถนำไปใช้ได้เลย เช่น เรื่องของจิตใจมนุษย์ที่จะได้ทำความเข้าใจตัวเอง รวมถึงคนรอบข้าง เราเลือกเรียนสาขาจิตวิทยาคลินิกที่เกี่ยวกับพยาธิสภาพทางจิตใจ ความผิดปกติทางจิตใจ อารมณ์ โรคทางจิตเวช ซึ่งงานหลักๆ ก็จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือวอร์ดจิตเวช เน้นเรื่องของคนป่วยแบบจริงๆ จังๆ ตอนเลือก คิดว่าสาขานี้ได้เรียนเยอะดีและยากดี” 

จากนักศึกษาจิตวิทยาสู่การเป็นผู้นำกิจกรรมใน child development center 

“ณ ช่วงที่เรียนจบ ประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นทั้งเรื่องจิตวิทยาและจิตเวชในประเทศไทยยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก ดังนั้น ตำแหน่งงานนักจิตวิทยาหรือวอร์ดจิตเวชจะไม่ได้มีในทุกโรงพยาบาล ก็เลยต้องพักเรื่องนี้ไปก่อน แล้วไปทำงานอย่างอื่นแทน งานแรกที่ทำคือการเป็น class leader หรือผู้นำกิจกรรมที่ child development center ชื่อ Gymboree ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์ที่เปิดให้ผู้ปกครองและเด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน

การทำงานที่นี่อาจจะไม่ได้เกี่ยวโดยตรงกับที่เราเรียนมา แต่ด้วยเนื้องานที่ต้องคลุกคลีกับเด็กๆ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้และเข้าใจก็คือจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองด้วย ซึ่งการดีลงานกับคนที่หลากหลายก็ถือว่าเป็นการปูพื้นฐานและเพิ่มทักษะให้เราไม่น้อยเลย ด้วยหน้าที่ทำให้เรากล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าสื่อสาร ทั้งกับเด็กๆ และพ่อแม่ การเป็นผู้นำกิจกรรมฝึกให้เราสื่อสารอย่างชัดเจน เป็นบวก และมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เด็กเข้าใจและได้เรียนรู้ รวมทั้งให้ผู้ปกครองเห็นว่ากิจกรรมที่น้องๆ ทำอยู่เป็นประโยชน์กับลูกของพวกเขาอย่างไร”

Some call it ‘Yoga’, but I call it ‘Life’

“งานที่ Gymboree มีข้อดีอย่างหนึ่งคือเป็นงานที่เป็นเวลา ทำให้เราสามารถจัดสรรเวลาให้กับตัวเองได้อย่างเต็มที่ แล้วสถานที่ทำงานอยู่ใกล้กับโยคะสตูดิโอในระยะที่เราสามารถเลิกงานแล้วเดินไปได้แบบ 10 นาที เราเริ่มฝึกโยคะด้วยเหตุผลแค่ว่าอยากออกกำลังกาย เพราะไม่เคยออกกำลังกาย เราเลยจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าการคอนเน็กกับตัวเองเป็นอย่างไร โยคะทำให้รู้ว่านี่คือร่างกายของเรานะ นี่คือความรู้สึกที่ส่วนนั้นส่วนนี้ของร่างกาย เราเรียนรู้ที่จะควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย เรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย โยคะทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น สบาย นอนหลับดี และเป็นเรื่องใหม่ที่สนุก นั่นเป็นความประทับใจแรก

หลังจากได้ฝึกอย่างสม่ำเสมอไปสักพัก เราเริ่มรู้สึกถึงความสงบ การฝึกโยคะเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเอง กับร่างกาย ลมหายใจ หรือแม้กระทั่งความคิดที่เข้ามา ณ ขณะนั้น จนกระทั่งโยคะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและเริ่มคิดว่า หรือว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปได้นานๆ แล้วถ้าเราเลี้ยงชีพตัวเองได้จากสิ่งนี้ด้วยจะเป็นอย่างไร เราเริ่มมีภาพในหัวว่าถ้าตัวเองไปยืนสอนอยู่หน้าชั้นเรียน มีนักเรียนเรียกเราว่าครูแอนจะเป็นอย่างไร ภาพนี้เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จนเราอยากเห็นภาพตัวเองแบบนั้นและคงมีความสุขถ้าได้ออกแบบคลาสว่าเราจะให้อะไรกับนักเรียน จะช่วยให้เขารู้สึกดีกับตัวเองได้อย่างไร”

เมื่อก้าวสู่สังเวียน

“หลังจากเป็นนักเรียนอยู่ 3 ปี เราเริ่มต้นเทรนจากหลักสูตรแอชทังก้า (Ashtanga) ซึ่งจะมีขั้นตอนพรีคอร์สที่เราจะต้องอ่านหนังสือ ทำ assignment เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะไปฝึกแบบเข้มข้นอีก 1 เดือนที่สมุย โดยระยะเวลาทั้งคอร์สจนจบสมบูรณ์ก็กินเวลา 6 เดือนเต็ม แต่เมื่อลงสนามจริง นักเรียนที่เจอจะมาด้วยปัญหาทางร่างกายที่แตกต่างกัน ทั้งปวดคอ ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดขา ซึ่งเรางงมากว่าแล้วจะสอนอย่างไร ก็ต้องหาข้อมูลและอ่านหนังสือเพิ่มเพื่อประยุกต์สิ่งที่เรียนมาให้ง่ายสำหรับคนที่มาด้วยอาการเจ็บและมีข้อจำกัดเรื่องร่างกาย จนคิดว่าต้องไปเรียนเพิ่มแล้วล่ะ ก็เลยไปเรียน yoga therapy ที่อินเดีย ซึ่งทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าการทำแต่ละท่าเกิดผลข้างในอย่างไร ทั้งร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งทางด้านจิตใจ”

เกิดประโยชน์กับนักเรียน สร้างสติให้ตัวเอง

“สิ่งที่ชอบมากสำหรับการเป็นครูคือการได้เห็นนักเรียนได้ประโยชน์กลับไป เช่น หลังจากฝึก เขาสบายตัวขึ้นจากที่ปวดหัวตึ้บๆ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าอย่างน้อยในเวลา 1 ชั่วโมงที่เราสอนเป็นเวลาที่มีประสิทธิภาพแล้ว แต่สิ่งที่เราชอบมากไปกว่านั้นก็คือการได้เห็นว่านักเรียนสามารถต่อยอดได้ จากการฝึกเพื่อประโยชน์ทางร่างกายไปสู่การสร้างสมดุลในชีวิตด้วยโยคะและสามารถนำโยคะไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ในส่วนของเรา เราชอบการสอนโยคะเพราะจะเป็นช่วงเวลาที่เรามีสติมากที่สุด เวลาสอน บทบาทสำคัญของครูคือเราจะต้องโฟกัสอยู่กับสิ่งที่เราคิด ที่เตรียมมา ต้องมีสติอยู่กับตรงหน้าว่าตอนนี้ว่านักเรียนเป็นอย่างไร เขาทำได้หรือไม่ได้ สีหน้า ร่างกายที่ตอบสนองเป็นอย่างไร จะให้เขาทำต่อดีไหม หรือจะให้เขาเบรค หรือจะปรับท่าให้เขา นี่คือสิ่งที่จะต้อง detect ให้เร็ว ต้องคิด และจดจ่ออยู่ตรงนั้นตลอดเวลา”

ครูแอนกับบทบาทหมอใจ

“ตอนนั้นเราสอนโยคะแล้ว โดยประจำอยู่ที่สมุย ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่แม่เราไม่สบาย เราจึงออกจากงานเพื่อกลับมาดูแลแม่ หลังจากแม่เสีย ก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ เป็นเพื่อนพ่อและพี่ชาย ช่วงนั้นครูเยอะเพราะโยคะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตอนแรกคิดว่าจะเรียนต่อโท แต่เพื่อนก็แนะนำว่าไม่ลองไปฝึกงานในสายจิตวิทยาดูล่ะ จะได้เชคตัวเองด้วยว่าอยากทำงานสายนี้จริงๆ ไหม ซึ่งเวลานั้นเขามีให้สอบใบประกอบโรคศิลปะได้โดยที่ต้องเข้าไปฝึกงานก่อน เราคิดว่าก็ดีนะ ได้เข้าไปในสถานที่จริง จะได้รู้ว่าเรายังสนใจสิ่งที่เราเรียนมาอยู่ไหม หรือว่าไม่ชอบแล้ว ก็เลยไปฝึกงานที่สถาบันสมเด็จเจ้าพระยา ทำงานที่นั่น เราต้องรื้อฟื้นวิชาทั้งหมดขึ้นมาใหม่ พอจบระยะเวลาฝึกงานก็ไปสอบใบประกอบโรคศิลปะ สมัครเข้าไปอยู่ในแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลเอกชน”

เมื่อสองศาสตร์ผสานเป็นหนึ่งเดียว

“ช่วงที่เป็นนักจิตวิทยา เราสอนโยคะควบคู่กันไปด้วยหลังเลิกงาน จนสุดท้ายก็ตัดสินใจออกมาสอนแบบเต็มตัวอีกครั้ง ประจวบเหมาะกับพี่ที่ทำงานด้วยกันที่โรงพยาบาลแรกเขาออกไปทำอีกโรงพยาบาลหนึ่ง แล้วจำได้ว่าเราสอนโยคะและเป็นนักจิตวิทยาด้วย ก็เลยมาบอกว่าที่โรงพยาบาลที่เขาทำอยู่กำลังจะเปิดแผนกจิตเวชนะ เราสนใจไปสอนโยคะให้คนไข้ไหม ซึ่งเรารู้สึกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรารอมานานมากกก (ยิ้ม)

ด้วยชั่วโมงบินของเราจะอยู่กับโยคะมากกว่าการเป็นนักจิตวิทยา ดังนั้น เราจะรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกมั่นใจ ในบทบาทของครูโยคะมากกว่า เราจึงเริ่มงานที่นั่นในฐานะครูโยคะ โดยตั้งใจจะรวมความรู้ด้านจิตวิทยากับโยคะเข้าด้วยกัน ให้เป็นประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายในเรื่องงานของเราขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ที่นั่น เราสอนโยคะแบบกลุ่มสำหรับคนไข้ที่สนใจฝึกโยคะร่วมกับการทำจิตบำบัดและการพบแพทย์ สักพักจึงเริ่มขยับไปทำกลุ่มบำบัด ซึ่งจะเป็นการพูดคุยในหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่การดูแลตัวเอง การทำความเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ตนเอง ก็เป็นสิ่งที่ค่อยๆ เขยิบเข้ามาใกล้ความเป็นนักจิตวิทยามากขึ้น พอทำไปๆ ก็ได้รับคำถามมาว่าเราอยากรับเคสแบบ individual session ไหม เราก็บอกว่ารับได้ แต่ถ้ารับ เรายังขอใช้ session เราไปในแนวทางของโยคะนะ ก็ทำที่นั่นอยู่พักใหญ่ๆ จนตอนนี้ออกมาประจำที่คลินิกให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิต แล้วก็ยังใช้โยคะนี่แหละเป็นเครื่องมือสำคัญ” 

แล้วโยคะช่วยเยียวยาผู้ป่วยอย่างไร 

“การที่ผู้ป่วยได้มีโอกาสให้เวลากับตัวเองในโยคะจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เขาจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น การเชื่อมต่อกับร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จะค่อยๆ สร้างความรู้สึกด้านบวกต่อตัวเอง บางคนเคยชินกับการตำหนิตัวเอง ไม่ชอบหลายๆ อย่างในตัวเอง รวมถึงร่างกายของเขาด้วย การฝึกโยคะจะค่อยๆ ฝึกให้เขาฟังเสียงร่างกายและจิตใจตัวเองมากขึ้น อ่อนโยนกับตัวเอง ยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น ตำหนิตัวเองน้อยลง และค่อยๆ พัฒนาเป็นความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และรักตัวเองได้ในที่สุด

ที่ผ่านมา เราใช้โยคะกับคนไข้ที่มีความวิตกกังวลและมีภาวะ panic attack ซึ่งเมื่อเขามีอาการตื่นตระหนก ร่างกายเขาจะตอบสนองโดยการที่หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น บางคนมีภาวะ hyperventilation หรือว่ามือสั่น เหงื่อออก ควบคุมร่างกายตัวเองไม่ได้ โยคะจะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้คนไข้สามารถเชื่อมต่อกับร่างกายตัวเองว่า ตอนนี้ร่างกายส่วนต่างๆ รู้สึกอย่างไร หัวใจเต้นอย่างไร หายใจอย่างไร พอสมองอยู่กับการเคลื่อนไหว คนไข้จะมาอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น แทนที่จะเอาความคิดไปอยู่กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง รวมทั้งความเครียดและวิตกกังวลด้วย 

จริงๆ แล้ว โยคะใช้ได้กับทุกคนเลยนะ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบโยคะ ถ้าเราพูดถึงการเยียวยาผู้ป่วย กลุ่มที่มีความเครียด ความวิตกกังวล มีประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง มีปัญหาในการจัดการกับอารมณ์ หรือมีความคิดลบต่อตัวเอง โยคะจะเป็นประโยชน์มากๆ” 

สองความรู้ที่เติมเต็มกันและกัน

“การฝึกโยคะจะอยู่บนพื้นฐานของการอยู่กับปัจจุบัน เราจะใช้กระบวนการของโยคะ ทั้งการเคลื่อนไหว การหายใจ ความผ่อนคลาย การจดจ่อกับปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ฝึกได้เชื่อมต่อกับร่างกายตนเอง เกิดการตระหนักรู้ทางร่างกาย (Body Awareness) เปิดโอกาสให้ผู้ฝึกสังเกตร่างกายในสภาวะต่างๆ จนค่อยๆ พัฒนาเป็นการตระหนักรู้ทางอารมณ์ (Emotional Awareness) ซึ่งความตระหนักรู้ทางอารมณ์นี่สำคัญมากในการที่จะเข้าใจตนเอง และนำไปสู่การทำจิตบำบัดที่ได้ผลดียิ่งขึ้น

ส่วนความรู้และประสบการณ์ทางจิตวิทยาทำให้เราเข้าใจว่านักเรียนและคนไข้ทุกคนมีความแตกต่าง ทักษะการฟัง การสังเกต การใส่ใจ ทำให้เราไวต่อปฏิกิริยาของนักเรียน และสามารถเลือกการฝึกให้เหมาะกับเขาได้ รวมไปถึงสังเกตพฤติกรรมของเขาขณะฝึกและเลือกนำประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์มาคุยกับเขาต่อได้

แนวทางที่แต่ละคนฝึกโยคะจะเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับที่เขาใช้ชีวิตนั่นแหละ การเผชิญกับสิ่งที่ยาก การจัดการกับอุปสรรค มันจะออกมาให้เห็น การที่เรามีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ทางจิตวิทยาช่วยให้เราเข้าใจนักเรียนได้เยอะขึ้น และช่วยให้การฝึกโยคะของเขาได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่แค่บนเสื่อโยคะ แต่ขยายไปยังความเข้าใจตนเอง และปรับการใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้นด้วย

สำหรับเรา โยคะ รวมไปถึงการออกกำลังกายอื่นๆ ด้วยนะคือ self love เพราะเป็นการใช้เวลาเพื่อดูแลตัวเอง ขณะที่จิตวิทยาทำให้เราเข้าใจตัวเอง โยคะก็ช่วยให้เรามีเวลาได้อยู่กับตัวเอง จิตวิทยาต้องการพลังใจ ต้องการความรัก และการเคารพตัวเองเพื่อที่จะผ่านปัญหาไปได้ โยคะก็สร้างพลังนั้นได้”

ความท้าทายของนักจิตวิทยา

“การทำงานเป็นนักจิตวิทยา เป็นงานที่ต้องมีสติตลอดเวลาไม่ต่างจากโยคะ แต่ตลอดเวลาของนักจิตวิทยา หมายถึงทุกๆ การแสดงออก ทุกๆ ภาษากาย ทุกๆ คำพูด หรือสีหน้า เราต้องมีสติแบบจริงๆ เพราะว่าทุกอย่างจะมีผลต่อความรู้สึกของผู้รับ เราต้องเข้าใจว่ากลุ่มคนไข้เขามาด้วยปัญหา มาด้วยความไม่สบายใจ มีความทุกข์ อ่อนไหว และเปราะบางต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจะต้องเต็มร้อยในการมีสติเวลาทำงาน ซึ่งความยากก็คือ เราไม่สามารถมีสติเต็มร้อย มีพลังงานเหลือล้นได้ทุกวัน

ในวันที่ไม่พร้อม เราก็ยังอยากตั้งใจทำงานให้เต็มที่ ในขณะเดียวกัน เราสามารถจริงใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้ว่า วันนี้เราเองก็เหนื่อย ซึ่งเรามองว่าความจริงใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมันไม่ใช่เรื่องแย่ บางที คนไข้เองก็อาจจะเรียนรู้และเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าใครก็มีปัญหา หมอก็มีปัญหาได้ นักจิตก็เครียดได้นะ เราคิดว่ามันโอเค เพียงแต่ว่าต้องตระหนักได้เสมอว่านี่คือบทบาทเราในการทำงาน เต็มที่เท่าที่เราทำได้ ต้องรู้ตัวให้เร็ว จัดการให้ได้ว่าความเหนื่อย ความเครียด หรือพลังงานที่หดหายของเราจะต้องไม่มีผลกระทบกับงาน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกเหนื่อยจนไปกระทบกับงาน เริ่มเบลอ ลืมนั่น ลืมนี่ คิดอะไรไม่ออก ก็ต้องพัก และหาวิธีรีชาร์จตัวเอง ไม่ฝืนทำงานไปแบบนั้น นั่นคือความยาก”

แยกย่อยปัญหาเพื่อเข้าสู่กระบวนการหาทางออก

“ทุกครั้งที่เกิดความเครียดหรือมีความเหนื่อยจนกลายเป็นอุปสรรคต่องานและการใช้ชีวิต เราจะแยกก่อนว่าความเหนื่อยนั้นมาจากความยากของเคสหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้น เราต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ลองคุยกับทีม คุยกับแพทย์ กับนักจิตวิทยาคนอื่น หรือปรึกษาครูโยคะของเรา ว่าเราจะดูแลเคสนี้อย่างไร สิ่งที่เราทำอยู่ดีหรือยัง แต่ถ้าความเครียดนั้นมาจากความเหนื่อยสะสม มาจากข้างใน หรือปัญหาส่วนตัวของเราเอง อย่างนั้นเราจะพัก หยุดทำงาน หรืออาจมีช่วงที่อยู่กับตัวเอง พักผ่อน ฝึกโยคะ ออกกำลังกาย หรือทำงานบ้านมากขึ้น”

ความหลากหลายของคนคือตำราเล่มใหญ่

“การทำงานที่ผ่านมาทำให้เรามีโอกาสได้เจอคนหลากหลายมาก และผู้คนเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยความแตกต่างของแนวคิด การจัดการปัญหา ที่บางทีเราก็แบบ “อ้อทำแบบนี้เหรอ” ซึ่งสนุกและน่าสนใจ แล้วพอได้เจอคนเยอะ โลกของเรากว้างขึ้น ได้ฝึกการเป็นคนฟัง ว่าฟังแบบตั้งใจ ใส่ใจ และเข้าใจ โดยที่ไม่ไปตัดสินเขา ทำอย่างไร บางที ในใจเราอาจจะแว้บคิดไปแล้วว่า “เหรอวะ?” แต่นั่นก็ต้องกลับมาให้ทันความคิดตัวเองว่าเรากำลังตัดสินเขาแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่เราชอบมากว่ามันทำให้ใจเรากว้างขึ้น ทำให้เราฟังเป็น เข้าใจชีวิตและคนอื่นมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างของคนได้มากขึ้น แล้วก็ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ไม่อยู่ในกรอบเล็กๆ อันเดิมเหมือนตอนเด็กๆ” 

แต่การยอมรับและเข้าใจความแตกต่างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ถ้าในทางจิตวิทยา จะมีคำหนึ่งที่เขาใช้กันคือคำว่า ‘boundary’ ถ้าเทียบก็เหมือนกับรั้วบ้านของเรา ซึ่งความคิด ทัศนคติ ความชอบ ความไม่ชอบ รวมไปถึงเรื่องศาสนา การเมือง อะไรทุกอย่างในหัวเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทีนี้การที่เราจะอยู่กับความแตกต่างได้ เราจะต้องเข้าใจก่อนว่าทุกคนต่างมีบ้านมีรั้วของตัวเอง การข้ามรั้วเข้าไปแบบไม่ได้กดกริ่ง นั่นคือการไปรุกล้ำเขา ถ้าเราอยากจะทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาคิด ก็เหมือนกับเราไปบ้านเพื่อนหรือบ้านญาติผู้ใหญ่ เราก็ต้องเกรงใจ ไปแบบมีมารยาท ไม่ทำข้าวของเขาเสียหาย ไม่ไปทำกิริยาที่ไม่ดี ขณะที่ถ้าเราอยากจะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เราสามารถทำได้ แต่ในแบบที่ไม่ทำร้ายเขา อยู่บนในพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ได้เข้าไปเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกัน แต่เพื่อที่จะทำความเข้าใจกัน เพื่อที่จะไม่เกลียดชังกัน ไม่ทำร้ายกัน และถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราควบคุมขอบเขตตรงนั้นไม่ได้ ก็ต้องเดินออกมา ไม่ล้ำเส้นกัน เพราะความแตกต่างในทัศนคติบางอย่าง จริงๆ มันแค่บางอย่าง ซึ่งไม่ควรจะทำให้บางอย่างนั้นเสียหายไปสู่ทัศนคติหลายๆ อย่างที่เราเข้ากันได้ดี หรือมิตรภาพที่มีกันมานาน” 

หากฟังกันมากขึ้น เราจะเข้าใจกันมากขึ้น

“เอาจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยนะ แต่รวมถึงสังคมโดยรวมด้วย คือถ้าคนเราฟังกันมากขึ้น เราก็น่าจะเข้าใจกันมากขึ้น ทุกคนอยากพูดใช่ไหมล่ะ นั่นแปลว่าเราอยากให้มีคนฟังเรา ซึ่งถ้าทุกคนอยากพูดกันหมด มันไม่มีใครเป็นบทบาทผู้ฟัง เราก็จะไม่เข้าใจกันสักที แม้ว่าเรามีความเห็นของเรา แต่ฟังเขาก่อน หรือผลัดกันฟังน่าจะดี 

ในมุมของผู้ป่วย ถึงแม้ตอนนี้สังคมจะเปิดกว้างเรื่องผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้นกว่าอดีต แต่มุมมองที่คนภายนอกมองเข้ามายังมีอีกหลายเรื่องเหมือนกันที่คนไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจในที่นี้ อาจเพราะว่าเขาไม่มีข้อมูลมาก่อน ดังนั้นการแปลความไปตามสิ่งต่างๆ ที่เขารู้และได้ยินมาจึงเป็นแบบนั้น เช่น โรคซึมเศร้า ไม่มีหรอก ที่เป็นอย่างนั้นเพราะแค่อ่อนแอ หรือเรียกร้องความสนใจ ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าเขามีความรู้ กรอบความคิดของเขาจะใหญ่กว่านั้น จะพบว่า โรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลากหลายมาก ตั้งแต่พันธุกรรม ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง โรคทางกายบางอย่าง สังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางจิตใจ ทักษะการควบคุมอารมณ์ การจัดการกับปัญหา หรือคนคนหนึ่งอาจจะเจอเรื่องเลวร้ายมากๆ มา แบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็ได้

เราอาจจะไม่ต้องไปหาความรู้เรื่องจิตวิทยาอะไร แต่สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เลยก็คือฟังกันเสียหน่อยว่าคนนี้เขาเป็นอะไร ฟังโดยที่อย่าเพิ่งรีบเสนอความคิดเห็น ฟังด้วยความอยากรู้เพื่อที่จะเข้าใจว่าเป็นอะไร ไม่สบายใจเรื่องอะไร อยากพูดอะไร อยากได้ยินอะไร อยากทำแบบไหน ซึ่งถ้าลองนั่งฟังแล้ว เราอาจจะตัดสินใครช้าลง แทนที่จะบอกว่าคนนี้ฆ่าตัวตายเพราะอ่อนแอ น่าสงสารพ่อแม่นะ เราอาจจะตัดสินช้ากว่านั้น อาจจะมีความเข้าอกเข้าใจและเห็นใจมากขึ้นก็ได้” 

ใช้ชีวิตอย่างพอดี ยืดหยุ่นพอสมควร และอยู่ในกรอบที่พอเหมาะ

“ปัจจุบันนี้ เราใช้ชีวิตแบบสบายๆ เรามีกรอบในการใช้ชีวิต แต่กรอบนั้นยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ได้มีตารางแน่นหนา เช่น จากแต่ก่อนที่ตื่นมาตอนเช้าจะฝึกโยคะ ถ้าไม่ฝึกก็จะรู้สึกผิด ตอนนี้ก็ไม่ได้เข้มงวดกับตัวเองแบบนั้น ฝึกบ้าง พักบ้าง ออกกำลังกายอย่างอื่นบ้าง ก็พบว่าแบบนี้สบายดี ไม่เครียด รวมไปถึงเรื่องการกิน อะไรก็ตามที่เราทำไม่ได้ตลอด เราจะไม่ทำ เช่น ห้ามกินไก่ทอด ก็ไม่ต้องห้าม เราจะไม่ตึงไปจนเครียด หรือหย่อนไปแบบกินไม่เลือก เรายังกินในสิ่งที่อยาก แต่รู้ว่าจะกินอะไรในปริมาณเท่าไหร่ รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีประโยชน์กับร่างกาย แต่มีประโยชน์ทางด้านจิตใจนิดหน่อยนะ เราก็กินนิดหน่อย เราไม่ได้ออกกำลังกายฝึกหนักเพื่อจะไปวิ่งมาราธอนอีกแล้ว แต่การออกกำลังกายของเราเป็นไปเพื่อทำให้เรารู้สึกดีกับร่างกาย ทำให้เอ็นโดฟินมันหลั่ง ทำให้เรารู้สึกสบาย โล่ง อย่างนั้นมากกว่า ถ้าเครียดก็ต้องมีคุยกับเพื่อนบ้าง มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่แม้จะอยู่กับตัวเอง แต่ก็ยังต้องคอนเน็กกับคนอื่นอยู่ การแชร์ทุกข์สุขกันบ้างก็ทำให้ชีวิตเราไม่แห้งแล้งจนเกินไป”

เมื่อชีวิตมีความหมายและรักตัวเองอย่างที่เป็นได้ นั่นแหละคือความสุข

“ความสุขในการทำงานของเราคือสิ่งที่ทำอยู่เป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะมันมีความหมายมากกว่าแค่ทำงานแล้วได้ค่าตอบแทน ถ้าความตั้งใจ ความรู้ ความใส่ใจของเราส่งผลดีต่อนักเรียน ต่อคนไข้ ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นเป็นความสุขแล้ว แน่นอนว่าเรามีช่วงที่เหนื่อยไม่อยากทำอะไร แบบยังไม่ต้องหาเงินได้ไหมช่วงนี้ แต่เมื่อกลับมามองว่า เอ๊ะ งานเรายังเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอยู่ นักเรียนยังรอเราไปสอนอยู่ เขายังอยากเจอเรา อยากเรียนรู้อะไรจากเรา หรืออยากแชร์พลังงานดีๆ กับเราอยู่นะ นั่นจะเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เราหลุดจากความเหนื่อยเพื่อกลับมาทำงาน

ความสุขจากการทำงานร่วมไปกับนักเรียน กับคนไข้ คือการที่ได้เดินทางไปด้วยกันกับเขา ดูแลกันระหว่างทาง จนกระทั่งเราเติบโตไปด้วยกัน ได้เห็นเขาเข้าใจตัวเองดีขึ้น เห็นวิธีการจัดการกับอุปสรรคในชีวิตแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างเข้าใจมากขึ้น เติบโตขึ้น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากขึ้น แล้วในฐานะของเพื่อนร่วมทาง เราอยากให้เขาเข้าใจชีวิต ว่าชีวิตประกอบไปด้วยความสุข ความทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง ปัญหา ไม่ได้มีแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งการที่เราเข้าใจชีวิต เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่กับสิ่งที่เราเจอได้ นั่นคือชีวิตที่ประสบความสำเร็จนะ

มีนักเรียนและคนไข้ถามเราเยอะเหมือนกันว่า “เวลาที่ครูแอนมีปัญหา จัดการอย่างไร” ซึ่งทุกคนจะขมวดคิ้วทุกทีเวลาที่ตอบว่าไป “อ๋อ ไปออกกำลังกายค่ะ” อย่างที่บอกว่าสำหรับเรา โยคะหรือการออกกำลังกายคือ self love เวลาเจอปัญหา แล้วยังไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร เราจะวางมันไปก่อน แต่สิ่งที่จะทำได้เลยคือการดูแลตัวเอง รักตัวเอง รักร่างกายเรา จะทำให้ร่างกายเราดี สบายตัว สบายใจ ซึ่งหลังจากออกกำลังกาย เรานอนดีขึ้น เมื่อเรานอนดีขึ้น ทุกอย่างมันเคลียร์ขึ้น และจะค่อยๆ คิดอะไรออกมากขึ้น ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ นะ ซึ่งโม้เม้นต์ของการออกกำลังกายแบบนั้นคือความสุขของเรา เราคิดว่าถ้าไม่มีโยคะหรือไม่ได้การออกกำลังกาย ชีวิตเราคงจะยากกว่านี้มากๆ”

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง 
ภาพบางส่วน: พัชรินทร์ แซ่เจี่ย  
ขอบคุณสถานที่: The Oasis

บทความที่เกี่ยวข้อง