พิมพ์ใจ ดวงเนตร นับศูนย์สู่วิถี Zero Waste ความธรรมดา และความยั่งยืน

Human / Self-Inspiration

พิมพ์ใจ ดวงเนตร เป็นสาวชาวกรุงที่หลงเสน่ห์วีถีชีวิตและธรรมชาติในต่างจังหวัด หลังเรียนจบ เธอจึงตัดสินใจไปทำงานอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ขึ้นเหนือลงใต้อยู่กับงานประจำในสายงานบริการกว่า 20 ปี สั่งสมความรักที่มีต่อธรรมชาติจนได้ปลุกปั้นเฟซบุ๊กเพจ “Down to Earth Thailand” ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน กระทั่งเพจดังกล่าวเริ่มมีความเคลื่อนไหวจริงจังเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา พร้อมกับความมุ่งมั่นที่อยากจะถ่ายทอดและส่งต่อความรู้เรื่องวิถีธรรมชาติสู่สาธารณชนในวงกว้าง และก่อร่าง “Down To Earth FarmStay: ลี้นคร นอนม่วน ฟาร์มสเตย์” เพื่อให้ความรู้และความตั้งใจถูกลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม การพูดคุยกับพิมพ์ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องการปูทางบั้นปลายชีวิตในสายธรรมชาติของเธอ แต่ยังรวมไปถึงทัศนะเรื่องการดูแลสุขภาพแบบอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ การสร้างความยั่งยืนให้ทรัพยากร และปลายทางชีวิตที่จะไปให้ถึง 

หลังจากย้ายตัวเองไปประจำการในจังหวัดต่างๆ เรื่อยมาจนกระทั่งได้ประจำตำแหน่ง Sustainability Manager ที่โรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ในช่วงปีท้ายๆ ของการทำงานประจำในสายบริการ ได้เปิดโอกาสให้พิมพ์ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และคน ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้เธอพบว่าการดูแลธรรมชาติสามารถเริ่มต้นได้จากตัวเอง

เริ่มนับศูนย์สู่วิถี Zero Waste

“พิมพ์เริ่มใช้ชีวิตแบบ zero waste lifestyle ตอนทำงานที่เกาะยาวน้อย ในแต่ละวันพิมพ์จะพยายามสร้างขยะให้น้อยที่สุดด้วยการใช้ของเท่าที่จำเป็น ทานอาหารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นก็เริ่มคิดว่าตัวเองจะต้องทำอะไรมากกว่านี้แล้ว งานด้านโรงแรมที่ทำมาตลอด 20 ปีน่าจะมาถึงจุดอิ่มตัวของมันด้วย เลยอยากใช้ชีวิตที่เหลือแบบ sustainable living และพึ่งพาตัวเองได้ จนกระทั่งพิมพ์กับสามี (Geoffrey Richard) ได้ที่ดินมาหนึ่งแปลงในจังหวัดลำพูน เราตัดสินใจจะใช้บั้นปลายชีวิตที่นี่ บนผืนดินที่สามารถจะสร้างแหล่งอาหารที่ดีให้กับตัวเอง ขณะที่คนในชุมชนก็จะมีงานทำได้ด้วย ซึ่งลำพูนเป็นจังหวัดที่ยังมีความเป็นธรรมชาติสูง สงบ ร่มรื่น ไม่พลุกพล่าน แต่ก็ไม่เงียบเหงา ผู้คนยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและน่ารัก ซึ่งพิมพ์คิดว่าน่าจะเหมาะกับการใช้ชีวิตอย่างสงบ มีความสุข และสร้างประโยชน์ได้ที่นี่”

Down to Earth Thailand 

จริงๆ แล้ว พิมพ์ตั้งเพจ “Down to Earth Thailand” ไว้ในปี 2016 ตั้งแต่ยังทำงานอยู่ที่เกาะยาวน้อย แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นกิจจะลักษณะ จนมาเกิดวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา โครงการหลังเกษียณของเธออย่าง “Down to Earth Farmstay: ลี้นคร นอนม่วน ฟาร์มสเตย์” ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งคิดว่าจะเริ่มต้นในวัย 50 ก็ขยับมาเร็วขึ้นกว่าที่คิด 

“การมาอยู่ลำพูนทำให้พิมพ์ได้อยู่กับธรรมชาติแบบเต็มตัว ได้เรียนรู้ว่าท้ายที่สุด สิ่งที่มนุษย์ต้องการมีไม่กี่อย่าง หนึ่งคือปัจจัย 4 สองคือความมั่นคงและปลอดภัยจากข้างใน เมื่อรู้แบบนั้น พิมพ์เลยอยากรีบสื่อสารสิ่งที่ได้รับให้คนเข้าใจว่า การใช้ชีวิตแบบที่เรารู้สึกปลอดภัยและมั่นคงจากข้างในมันให้ผลที่ยั่งยืนกว่าการพึ่งพาปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เพจนี้เลยถูกแอ็คทีฟขึ้นมาแบบจริงๆ จังๆ เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารเรื่องดังกล่าว” 

ในมุมมองของพิมพ์ การสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงคนน่าจะเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวที่ย่อยง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ใน episode แรกๆ ของการไลฟ์ผ่านเพจ Down to Earth Thailand จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารการกิน เป็นต้นว่าการสอนทำคอมบูชา แจกหัวเชื้อ และให้คำปรึกษาฟรี, การให้ความรู้เรื่อง whole food plant based หรืออาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องสุขภาพในมิติต่างๆ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากแบบที่เธอเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน ส่วนของฟาร์มสเตย์ก็จะเป็นไปในรูปแบบการให้บริการที่พักซึ่งผู้เข้าพักจะได้รู้จักและใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงผิวเผิน

“พิมพ์ตั้งใจจะสื่อสารให้คนรู้ว่าอาหารส่งผลกับคุณภาพชีวิตของเรามากๆ บางคนอาจไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารเท่ากับการไปออกกำลังกาย แต่การทานอาหารที่ดีในแต่ละวันคือ ‘การป้องกัน-ดูแล-รักษา’ ที่ทำได้ด้วยตัวเองและยั่งยืนด้วย นอกจากนี้เรายังสามารถใกล้ชิดธรรมชาติได้ทุกวันจากการกินอาหารนี่แหละ คุณไม่จำเป็นต้องออกไปต่างจังหวัดเพื่อจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของเราก็คืออาหารทุกมื้อ ถ้าเราเข้าใจอาหารที่เรากิน เราจะมองอาหารด้วยมุมมองใหม่ว่าอาหารจานนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งส่วนประกอบเหล่านั้นก็เชื่อมโยงไปกับดิน น้ำ ลม ไฟ แดด ฝน นั่นจะทำให้เรามองเห็นและสัมผัสความเชื่อมโยงของตัวเองกับธรรมชาติได้ในที่สุด”

รู้จักชีวิตที่พอดี เข้าใจความธรรมดาของชีวิต

สำหรับพิมพ์ คุณภาพชีวิตที่ดีคือการใช้ชีวิตแบบพอดี “พอดีคือไม่มากและไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนใคร เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง คนอื่น และถ้าดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่” เธอยึดหลัก ‘3 ห่วง 2 เงื่อนไข’ แบบที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงอธิบายไว้ สามห่วงคือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สองเงื่อนไขคือมีความรอบรู้และมีคุณธรรม โดยหลักการที่ว่าได้นำทางเธอสู่การใช้ชีวิตที่สมดุลอย่างปัจจุบันนี้

“การอยู่ต่างจังหวัดทำให้ทักษะในการใช้ชีวิตของพิมพ์พัฒนาขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองและรู้จักการสังเกตธรรมชาติ อย่างมองฟ้า มองเมฆ มองต้นไม้ ก็จะรู้ได้ว่าฝนจะตกแล้ว ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้ทำให้พิมพ์เชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ พร้อมๆ ไปกับเข้าใจสัจธรรมชีวิตในเรื่องการเปลี่ยนแปลง เติบโต งอกงาม เสื่อมสลาย ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งถ้าอยู่ในชีวิตที่เร่งรีบ พิมพ์คงไม่เข้าใจสัจธรรมตรงนี้ เพราะว่าเราก็จะมุ่งไปสู่สิ่งที่ต้องการเพียงอย่างเดียว การมีวิถีชีวิตที่ช้าลงกว่าในกรุงเทพฯ ทำให้มีโอกาสและมีเวลามากพอที่จะได้มองเห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้น เหมือนเวลาเราขึ้นรถไฟ เราจะมองเห็นทัศนียภาพข้างทาง ได้เห็นรายละเอียดต่างๆ มากกว่าขึ้นเครื่องบินซึ่งจะเห็นเพียงภาพกว้างในมุมสูง”

ความสุขที่แตกต่าง

“ตอนเรียนและใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นช่วงชีวิตที่เราต้องศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจ ซึ่งพิมพ์ไม่ได้รู้สึกอึดอัดและคับข้องใจอะไร มีความสุขในแบบชีวิตคนเมืองที่มีความสะดวกสบาย มีความเจริญทางด้านวัตถุ มีเพื่อนฝูงและครอบครัวอยู่ที่นั่น และไม่ได้รู้สึกโหยหาอะไรมากเป็นพิเศษ ขณะที่ชีวิตในต่างจังหวัดก็เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งที่แค่นั่งเฉยๆ ดูต้นไม้ก็มีความสุขแล้ว เป็นความสุขที่เรียบง่ายโดยไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็น ไม่ต้องทำอะไรเยอะ เป็นสุขที่สงบจากข้างใน ซึ่งถ้าพิมพ์ไม่ได้อยู่และมีความสุขในกรุงเทพฯ มาก่อน ก็จะไม่รู้ว่าการอยู่ในต่างจังหวัดเป็นอย่างไร ดังนั้น เราคงจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะชีวิตที่ผ่านมาทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตทั้งสองแบบ การได้รับความสุขที่ต่างกันไป การได้พัฒนาทักษะและมีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน 

คนที่มาเห็นพิมพ์ในวันนี้อาจจะมองภาพไม่ออกว่าเมื่อก่อนพิมพ์มีวิถีชีวิตอย่างไร ซึ่งพิมพ์ลองมาหมดแล้วไม่ว่าจะกิน ดื่ม เที่ยว อะไรทั้งหลายที่ไม่ดีกับสุขภาพ และไม่ค่อยจะอ่อนน้อมกับธรรมชาติเสียเท่าไหร่ แต่เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นประโยชน์ เราก็วางลงและพบว่าความสุขมันเรียบง่ายมาก สมัยอยู่ที่เกาะยาวน้อย แค่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์รอบเกาะออกไปดูฟ้า ดูดาว ดูอากาศ นั่นก็สุขแล้ว และเป็นความอิ่มใจที่ไม่ต้องใช้เงินสักบาท”

อิคิไกและความเข้าใจชีวิต

“พิมพ์เชื่อในหลัก ‘อิคิไก’ ที่ประกอบด้วยหลัก 4 อย่าง คือ What do you love, What do you good at, What the world needs และ What it can be paid for นั่นทำให้ทุกครั้งที่พิมพ์ทำงานไม่ว่าจะอะไรก็ตาม พิมพ์จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ มีแพชชั่น และสนุกไปกับมัน เมื่อชอบ มันก็จะขับดันให้เราขวนขวายและมีเรี่ยวแรงที่จะศึกษาหาความรู้ พัฒนาจนเก่งและดี แล้วสิ่งนั้นก็ควรเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ ท้ายที่สุดคือเราสามารถหาเงินจากสิ่งที่เราชอบได้ด้วย ฉะนั้น ชีวิตก็จะมีแรงขับเคลื่อนทุกก้าวที่เดินและความสุขก็จะเกิดขึ้นตามมา”

“พิมพ์ยังมีหลักคิดที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ทักษะในการหาทางออกของเราเก่งขึ้น ทุกๆ อุปสรรคที่เข้ามาจะทำให้เราดึงศักยภาพของตัวเราออกมา พิมพ์ไม่ได้คาดหวังว่าชีวิตตัวเองจะต้องไม่มีปัญหา ปัญหาจะน้อยลงหรือง่ายขึ้นนะ เพราะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่พิมพ์คาดหวังคือเราจะสามารถแก้ปัญหาครั้งถัดๆ ไปได้ดีขึ้น แน่นอนว่าชีวิตก็มักจะมีบททดสอบยากขึ้นมาท้าทายเราเสมอ และทุกครั้งที่ผิดพลาด นั่นก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้หันกลับมาทบทวนตัวเองด้วยว่า ชีวิตมนุษย์ไม่เคยสมบูรณ์แบบและมีเรื่องให้ต้องแก้ไขอีกมาก ที่สำคัญคือต้องขอบคุณทุกความผิดพลาดที่ให้โอกาสเราได้พัฒนาตัวเอง แล้วก็ขอบคุณตัวเองที่ยอมเรียนรู้เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นด้วย” 

“พิมพ์จะไม่ยึดติด เพราะว่ายึดอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น แต่เราควรจะเป็นคนที่ปรับตัวและเอนจอยกับทุกสถานการณ์มากกว่า ไม่ว่าจะติดดินที่สุดหรือจุดสูงที่สุด เหมือนเวลาที่พิมพ์ไปปีนเขา พิมพ์ไม่ได้ชอบแค่การเดินไปสู่ยอดเขาที่สูงที่สุด เพราะตีนเขาก็มีความงาม ขณะเดียวกัน ทุกๆ ก้าวที่เดินไปก็มีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้น ฉะนั้น ทุกช่วงของชีวิต ไม่ว่าเราอยู่ที่จุดไหน เราสามารถเรียนรู้จากมันไปได้ด้วย แน่นอนว่ามันอาจจะเหนื่อยบ้าง มีปัญหาบ้าง แต่พิมพ์จะมองให้เป็นเรื่องสนุก นี่เป็นเทคนิคที่ทำให้สามารถเอนจอยกับทุกจังหวะในชีวิตของพิมพ์” 

ต้นไม้ชื่อ “พิมพ์ใจ”

“เป้าหมายในชีวิตของพิมพ์ไม่ได้ต้องการจะเป็นเศรษฐี เพราะพิมพ์คิดว่าตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ก็เลยคิดว่าสิ่งที่ทำได้และอยากทำคือการแสวงหาความสุขระหว่างทางในแต่ละวัน ทำตัวเองให้เป็นประโยชน์ ถามว่าความสำเร็จคืออะไร พิมพ์ปลูกต้นไม้ได้ 1 ต้น แล้วไม่ตาย ทำอาหาร 1 จานแล้วอร่อย ไม่ไหม้เกิน ไม่ดิบเกิน นั่นคือความสำเร็จแล้ว เป็นความสำเร็จในตัวมันเองแบบที่เป็นประโยชน์เป็นเรื่องๆ ไป หากยังมีลมหายใจอยู่ พิมพ์ก็อยากใช้ลมหายใจเราให้เป็นประโยชน์ในการสร้างคุณงามความดี ทำทุกก้าวที่เดินไปด้วยความเพียร ความตั้งมั่น และนั่นจะเป็นสิ่งที่เสริมให้เราถึงจุดเป้าหมายที่แท้จริงของเราได้”

ก่อนจบบทสนทนา เราโยนคำถามทิ้งท้ายกับเธอว่า หากสามารถเป็นต้นไม้ได้สักต้นในจักรวาลนี้ เธออยากเป็นต้นไม้แบบไหน เธอว่าเธออยากเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา ผลิดอก ออกผล เพื่อให้สรรพสัตว์ได้ใช้เป็นยาและอาหาร เป็นต้นไม้ที่หยั่งรากลงลึกในดิน ช่วยดูดซับน้ำและพยุงแผ่นดินไว้ ค่อยๆ แผ่ขยายและเติบโตให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป แน่ล่ะ นี่ไม่ใช่แค่คำพูด เพราะต้นไม้ชื่อพิมพ์ใจต้นนี้กำลังทำหน้าที่ของเธออย่างแข็งขันและเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างดีเชียวล่ะ

–   

ภาพ: สราวุฒิ ขันโปธิ

บทความที่เกี่ยวข้อง