ณรัชต์หทัย เหมือนประสิทธิเวช นักสร้างสุข ‘ผู้ก่อการดี’ ผ่านดนตรีและเสียงเพลง

Human / Social-Inspiration

ณรัชต์หทัย เหมือนประสิทธิเวช หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักเธอในชื่อ ‘แป้ง – ปล้ำแรง’ เจ้าของร้านอาหาร ข้าวซอย ปล้ำแรงแป้งรัม เจ้าของวงดนตรีแบบคอมเมดี้ทอล์กโชว์ ผู้ก่อตั้งเพจ Pang Plumrang – แป้ง ปล้ำแรง และเพจ ผู้ก่อการดีย์ เธอคือผู้สร้างความสุขและส่งต่อความดีผ่านการร้องเพลงเปิดหมวกที่รายได้ในแต่ละครั้งจะถูกนำไปสนับสนุนกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ ตั้งแต่การเป็นทุนการศึกษา การสร้างห้องสมุดในโรงเรียน รวมไปถึงการออกไปร้องเพลงในเรือนจำ โรงพยาบาล และสถานที่ต่างๆ เพื่อกล่อมเกลา บรรเทา และเป็นกำลังใจให้กับผู้ชมและผู้ฟังมาอย่างยาวนาน และวันนี้เธอจะมาเล่าถึงชีวิต ตัวตน เรื่องราว และแรงบันดาลใจในการก่อการดีที่เธอบอกกับเราว่า เธอมีความสุขจากการทำความดีในทุกวัน 

เส้นทางการเป็นนักร้องของแป้งเริ่มตั้งแต่ตอนที่เธอเรียนอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในช่วงเวลา 4 ปีของการเป็นนักศึกษา เธอใช้เสียงเพลงในการส่งตัวเองเรียนจนจบ เมื่อก้าวสู่วัยทำงาน เธอยังคงเดินสายการร้องเพลงกลางคืน ไปพร้อมๆ กับการได้ทำสิ่งที่รักอีกอย่างคือการทำอาหาร โดยร้านอาหารแห่งแรกของเธอดำเนินไปในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อธุรกิจไปได้ดี เธอหยุดพักบทบาทการเป็นนักร้องวิ่งสายในเวลานั้นเพื่อมาทุ่มเทให้ร้านอาหารของเธออย่างเต็มตัว แต่เพราะความเป็นปัจเจกไม่เหมือนใคร เธอพบว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จกับทำงานร่วมกับผู้อื่น แป้งจึงหันกลับไปร้องเพลงอีกครั้งหนึ่ง จนเสียงของเธอไปเข้าหูผู้กำกับเวทีของ Cicada Market ที่หัวหินเข้า และมีโอกาสได้จัดแสดงดนตรีแบบคอมเมดี้มิวสิก (Comedy Music) ที่ผสมผสานการร้องเพลง โชว์ และคอมเมดี้ ทอล์ก เข้าด้วยกัน 

“แนวดนตรีของเราจะเป็นคอมเมดี้มิวสิกซึ่งเป็นทั้งโชว์และคอมเมดี้ ทอล์ก แบบไม่มีสคริปต์ เป็นการสื่อสาร 2 ทางระหว่างเรากับผู้ชมที่เราจะออกมาคุยกับผู้ชมว่าอยากฟังเพลงอะไร แล้วเราจะจัดสดแบบเรียลไทม์ ณ ปัจจุบันขณะตรงนั้นเลย จำได้ว่า ตอนนั้นตลาด Cicada เพิ่งเปิดได้ 6 เดือนเอง เราเริ่มร้องเพลงตั้งแต่วันแรกๆ ที่ยังไม่ค่อยมีคน จนเริ่มมีคนชอบเสียงเพลงของเรามารอฟังเกิดเป็นกลุ่มก้อนของคนที่ชอบดนตรีและโชว์แบบแบบนั้น นั่นคือจุดเริ่มของ ‘ปล้ำแรง ฟังกี่ทีก็มีอารมณ์’ ตอนนั้นประมาณปี 2550 จนทุกวันนี้ก็ 16 ปีแล้วที่เรากลับมาเล่นดนตรีแบบจริงจัง ดำเนินชีวิตอยู่กับการไปๆ กลับๆ หัวหิน จนถึงวาระที่ต้องขอหยุดบทบาทตัวเองที่หัวหิน แล้วกลับมาทำงานร้านอาหารของตัวเองที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง รอบนี้ไม่ใช่ร้านอาหารที่เป็นสถานที่บันเทิงแบบเก่า แต่เป็นร้านอาหารที่เราใฝ่ฝัน เราชอบกินข้าวซอย ขนมจีนซาวน้ำ อาหารไทย นอกเหนือจากเป็นนักร้องและนักพูดสร้างใจบันดาลแรงแล้ว เราอยากเป็นคนที่ทำอาหารแล้วคนกินมีความสุขด้วย ที่นี่จึงเกิดขึ้นกับร้านอาหารไทยปล้ำแรงแป้งรำ

“สำหรับเรื่องงานอาสา เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ที่ถ้าจำกันได้ พวกเราเจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ของประเทศ ปีนั้นเราอยู่หัวหิน เลยตั้งกลุ่มเล็กๆ จากแฟนเพลงที่อยากส่งต่อความช่วยเหลือให้ผู้ที่ลำบาก โดยเริ่มจากการลงพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ พื้นที่พุทธมณฑล พื้นที่ที่ประสบภัยทั้งหลาย โดยเราขออนุญาตไปดูแลกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยผู้เดือดร้อนอีกทีหนึ่ง”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของกลุ่มที่แป้งสร้างขึ้นด้วยความรักของเธอและจากผู้คนที่มีความชื่นชมในวงดนตรีปล้ำแรง ชื่อกลุ่ม คณะผู้ก่อการดี เป็นชื่อที่เธอตั้งขึ้นแทบจะคนแรกๆ โดยเวลานั้นยังไม่มี ‘ย์’ ที่คำว่า ‘ดี’ แต่เธอเพิ่งมาเติมเมื่อไม่นานมานี้ในวาระครบรอบ 12 ปีของการก่อตั้ง เพื่อให้มีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ 

“ด้วยเรามีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบของการปฏิบัติตน พระองค์ท่านทรงสอนว่า ความดีต้องหลากหลาย ความดีต้องไม่จำกัดรูปแบบในการลงมือทำ เพราะฉะนั้น หลังจากวิกฤตน้ำท่วมผ่านไป เราเลยมีความคิดว่า เราสามารถทำความดีได้หลากหลายรูปแบบนะ ไม่ว่าจะทำห้องสมุด ปลูกป่า ช่วยน้องหมาน้องแมว ช่วยคนที่มีสภาวะบกพร่องทางร่างกาย จากนั้นเราจึงเริ่มไล่ตามมาเป็นลำดับและไม่ได้หยุดเลยจนปัจจุบัน  

“อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา ร้านอาหารของเราปิดตัวสนิทเหมือนกับร้านอื่นๆ ในเวลานั้น เราเลยพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส ปรับพื้นที่ของร้านตัวเองมาเป็นโรงทานผู้ก่อการดีย์ที่ตื่นเช้ามา เราจะทำอาหารส่งคุณหมอ บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในกระแส เราส่งอาหารกล่องให้กับชุมชนที่แจ้งความจำนงมา หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราไปเอาทุนปัจจัยมาจากไหนล่ะ คงเพราะคนเคยเห็นสิ่งที่เราทำมาก่อนหน้า พอได้ข่าวว่าเราเรากำลังทำโรงทาน พอมีกำลังอะไรก็จะหอบหิ้วมาช่วยได้ เขาก็นำมาให้ และถ้าต้องขอ เราจะไม่ขอในรูปแบบของเงินทอง แต่จะเป็นวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาร น้ำมัน ไข่ เชื่อไหมว่าในสภาวะโควิดที่คนขับมารับข้าวกล่อง แต่เขาเองก็ซื้อไข่มาร่วมกับเราด้วยหกฟอง เอาน้ำมันมาช่วยหนึ่งขวด เป็นการช่วยเหลือตามกำลังที่เขาพอจะสนับสนุนเราได้ เป็นภาพของความเอื้ออาทรและช่วยกันในยามยากจริงๆ (ยิ้ม) จนทุกวันนี้ที่ร้านอาหารของเรายังทำเป็นโรงทานสองอาทิตย์ครั้ง หรือบางทีก็ทุกอาทิตย์เลยตามจังหวะเวลาที่ร่างกายของเราไหวและสะดวก โดยที่จะไม่เบียดเบียนตัวเองและคนอื่น ใครอยากมาช่วย มาสมทบ ก็ทำได้ตามกำลังที่อยากจะช่วย และยังส่งกำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ยังทำข้าวกล่อง การให้ การมอบ การลงพื้นที่เป็นปกติ” 

แป้งยังเป็นตัวตั้งตัวตีในโครงการ ‘บทเพลงเพื่อผ่าตัดหัวใจน้อง’ ที่ทุกบาททุกสตางค์ที่เธอได้มาจากการร้องเพลงเปิดหมวก จะถูกส่งต่อไปยังมูลนิธิโรคหัวใจ

“โครงการนี้เริ่มต้นจากที่เรามองว่าทุกๆ เดือนกุมภาพันธ์ ทุกคนจะใส่ใจเรื่องความรัก พอเรามองรูปของหัวใจ เลยฉุกคิดขึ้นว่าฉันมีวัตถุดิบคือการร้องเพลง เป็นทรัพยากรส่วนตัวที่เรามี เลยรับอาสาไปร้องเพลงเปิดหมวก ไปคนเดียว ไปยืนร้อง และเชิญชวนผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ถ้าชื่นชอบ เราขอชวนมาช่วยเหลือตามกำลัง หลังจากทำแบบนั้นอยู่ 1 เดือน เราหอบสตางค์ 1 แสนบาทไปให้ที่มูลนิธิโรคหัวใจ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว โครงการนี้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 2 ปีที่ 3 ที่มีโควิด และปีที่ 4 ซึ่งแต่ละปียอดเงินที่รวบรวมได้ สามารถช่วยเด็กๆ ที่มีปัญหาเรื่องหัวใจได้ทั้งหมด 22 คน อายุน้อยสุดคืออายุ 1 เดือน 2 คน เด็กที่หัวใจของพวกเขาเล็กนิดเดียว นี่คือโครงการที่เราทำเป็นประจำทุกปีเหมือนเป็นธรรมเนียมของตัวเอง ปีนี้โครงการบทเพลงเพื่อผ่าตัดหัวใจน้องเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว และมีผู้ใหญ่ใจดีอย่างช่างชุ่ยที่ให้พื้นที่เราในการไปเปิดหมวก โดยภารกิจนี้จะจบประมาณเดือนมกราคมปี 2567 ค่ะ” 

หรือย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 แป้งได้สร้างอีกกิจกรรมอย่าง ‘ค่ายผู้ก่อการดี’ ที่จะจัดขึ้นทุกๆ วันที่ 1 พฤษภาคม ณ เสถียรธรรมสถาน กิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยประกอบด้วยการเข้าฝึกสมาธิภาวนา การฟังธรรมจากแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และการใช้เสียงเพลงขับกล่อมผู้เข้าร่วม การโดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะผลิตผู้ก่อการดีออกไปสู่สังคม เป็นคนที่พร้อมจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

“งานนี้ต้องยกคุณงามความดีและความเมตตาให้กับครูบาอาจารย์อย่างท่านคุณยายจ๋า (แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต) ที่ท่านบอกกับเราว่า ‘ฉันอยากให้มีคนอย่างเธอเยอะๆ’ ท่านพูดเท่านี้ พอได้ยินประโยคนั้น เราเลยตอบท่านกลับไปว่า ‘คุณยายคะ ถ้าอย่างนั้น แป้งอยากจะจัดค่ายผู้ก่อการดี’ ซึ่งปกติที่เสถียรธรรมสถานจะไม่อนุญาตให้คนทั่วไปจัดอีเว้นท์เลย พอคุณยายไฟเขียว เราเลยจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมาให้เป็น One Day Camp ที่ในหนึ่งวัน ตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสองทุ่ม เราจะมีเวิร์กช็อปต่างๆ ที่จะเข้าไปกล่อมเกลาหัวใจผู้ที่มาร่วมคลาส ตั้งแต่การฝึกภาวนา การพับดอกบัว โยคะหัวเราะ ประเด็นสำคัญของสิ่งที่เราต้องการนำพาผู้คนเข้ามา คืออยากให้พวกเขารู้จักการจัดระเบียบชีวิตตัวเองเพื่อให้พร้อมจะออกไปรับใช้ผู้อื่น เกลาหัวใจให้พวกเขากลายเป็นคนที่กล้าพอที่จะออกไปรับใช้คนอื่น ตอนกิจกรรมนี้หยุดไปชั่วคราวหลังจากคุณยายท่านคืนลมหายใจ แต่ทุกอย่างจะกลับมาอีกครั้งในปี 2567 นี้ค่ะ” 

“จริงๆ กลไกของการเริ่มต้นทำความดีสำหรับเราเรียบง่ายมาก เรามองจุดประสงค์ว่าเวลาเราออกแบบการทำความดี เหมือนเรากำลังโยนหินลงไปในน้ำ แล้วเกิดแรงกระเพื่อมให้สังคมหันมาฉุกคิดได้ว่า ‘อย่างนี้ฉันก็ทำได้หนิ’ ถ้าคนอย่างยัยแป้งทำได้ เพราะฉะนั้น หลังจากที่ทำความดีในรูปแบบที่หลากหลาย แล้วได้เห็นกลุ่มก้อนของคนในสังคมเริ่มขยับทำกันเอง นั่นถือว่าเป็นการบรรลุเป้าหมายของเราเลยนะ ซึ่งเราไม่ได้หมายความว่าเราต้องการให้ใครต้องมาสมทบโดยตรงกับกลุ่มเรา เพียงแต่อยากให้คนอื่นๆ เกิดใจที่บันดาลแรงเพื่อขับเคลื่อนการทำความดีด้วยตัวเขาเองจากสิ่งที่เราทำทุกวันนี้มากกว่า

“หลายคนถามว่า ที่เราทำทุกวันนี้ เราทำไปเพื่ออะไร มีคำถามและคำพูดจากคนสังคม ในโซเชียลสะท้อนมายังเราอยู่เหมือนกันว่า ‘ไม่เหนื่อยเหรอ ตะบี้ตะบันทำแบบนั้น’ ‘จะทำไปจนถึงขนาดไหน?’ บางครั้งแรงถึงขนาดที่ว่า ‘ป่วยหรือเปล่า?’ ก็ยังมีเลย เพราะฉะนั้น ก่อนหน้านี้ เราจึงปฏิเสธการสัมภาษณ์สื่อมาตลอด อยากทำในแบบของเราอย่างเงียบๆ จนวันหนึ่งคุณยายจ๋าบอกว่า ‘ถ้าเธอปฏิเสธคนทำงานสื่อ สังคมจะไม่มีแรงบันดาลใจเกิดขึ้น เวลาเธอปฏิเสธ เธอเห็นแก่ตัวนะแป้ง’ ในใจเราได้แต่สงสัยว่า ‘จริงเหรอคะคุณยาย’ เพราะส่วนตัวเราไม่อยากเป็นคนในกระแส ให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าเรายังกลัวการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงว่าการฝึกฝนในธรรมะของเรา ยังไม่สำเร็จอะไรเลย ยังคงอยู่ชั้นอนุบาลมากแบบยังแคร์เสียงพูดคนนั้นคนนี้ การอยู่กับครูบาอาจารย์ทำให้เห็นว่าเสียงที่ดังรอบๆ ตัวเรา ไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับการเดินหน้าที่จะมีอุดมการณ์ในการที่อาจหาญจะทำ อาจหาญจะเสียสละ ซึ่งมันไม่น่าอายเลยถ้าคนคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาร้องเพลงบนรถไฟฟ้าเพื่อจะเป็นสะพานบุญจากผู้ที่ศรัทธาถึงผู้ต้องการความช่วยเหลือ

“ตอนนี้ ผลกระทบที่เข้ามาหาเรามีไหม ยังมี หากเทียบผลที่เข้ามา 100% ใน 100% นั้นเรากลับรู้สึกว่าการที่เราถูกจับตามอง เรายิ่งต้องทำให้สุจริตทั้งในใจและการกระทำมากกว่าเดิม และทุกครั้งที่มีคนหันมามอง แสดงว่าวิธีการทำงานของเรามันเข้าตาเขาแล้ว ส่วนจะเข้าตาในแง่มุมไหน เราปฏิเสธความนานาจิตตังของคนไม่ได้ อาจจะเห็นด้วย เฉยๆ หรือไม่ชอบเลย แต่เราจะเอาความคิดเห็นของคนเหล่านี้มาทำให้เราชะลอการทำเรื่องราวดีๆ ให้น้อยลงกว่าเดิมไม่ได้ เรามองแบบนั้นนะ ทุกวันนี้เราจึงขอใช้คำว่า ‘อาจหาญที่จะทำดีให้มากที่สุด’ อาจหาญในส่วนของเราโดยที่ไม่สนใจใคร แต่ไม่เบียดเบียนใคร เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะตื่นหรือเปล่า ตอนนี้เราอายุ 19,000 กว่าวันแล้ว (55 ปี) สิ่งที่เราทำและให้ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ได้ใหญ่ เราจะเริ่มต้นจากสิ่งรอบตัวเราก่อน เช่น เราดูแลครอบครัวดีพอไหม สมบูรณ์ในบทบาทหน้าที่เราหรือยัง”

“เรามีบุคคลต้นแบบอยู่ในชีวิตอยู่ 3 คน คนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราพลิกผันและเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คนแรกคือคุณยายวีณา คุณยายแท้ๆ เราเติบโตมาจากการเลี้ยงดูของคุณยาย ไม่ได้โตมากับคุณพ่อคุณแม่ ทุกๆ วันท่านจะชวนเราดึกๆ ดื่นๆ นั่งรถตุ๊กตุ๊กไปตลาดมหานาค ไปขนผักมาแบ่งใส่ถุงเพื่อแจกคนที่อนุสาวรีย์ ทำกับข้าวเป็นหม้อๆ โดยเรามีหน้าที่นั่งตักข้าวใส่ถุง ทำเป็นแพ็คๆ แล้วคุณยายจะนำไปแจกตามชุมชน เราเคยถามคุณยายว่า ‘ทำไมเราต้องตื่นไปซื้อของแต่เช้ามืดและต้องเอาสิ่งของ เอาอาหารไปแจกเขาล่ะแม่’ เราเรียกท่านแบบนั้น ซึ่งคุณยายบอกว่า ‘เกิดมาชาติหนึ่ง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ฉันว่าแกเสียชาติเกิด’ แล้วสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดจากสายตาเราคือทุกเช้าและก่อนนอน ท่านจะเรียกเรามานั่งไหว้พระและไหว้รูปในหลวงรัชกาลที่ 9 เราถามว่าทำไมต้องไหว้รูปนี้ คุณยายบอกว่าพระองค์ท่านเป็นเทวดาที่ยังหายใจ ท่านไม่เคยหยุดทำเลยสักวัน แล้วพวกเราคนไทยจะหยุดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น สมัยเด็กๆ เราจะตั้งตารอดูข่าวพระราชสำนัก เพราะคุณยายจะถามว่าวันนี้พระองค์ท่านไปไหนมาบ้าง และจะต้องคอยตอบคุณยายให้ได้ 

“เราคิดว่าคนที่เก่งในเรื่องของการหล่อหลอมและปลูกฝังให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ คือคุณยายวีณานี่แหละที่เป็นทั้งฮีโร่คนแรกและวีรสตรีในชีวิต โดยบุคคลผู้ที่นำพาให้ตัวเราไปถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เราเห็นท่านเป็นแบบอย่างมาเสมอ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่น้อยนิดมากเลยหากเทียบกับสิ่งที่พระองค์ท่านเสียสละ นี่คือสองบุคคลในชีวิตที่รู้สึกว่ามีพลังมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงชีวิต  

“แล้วด้วยความที่เราทำงานเป็นนักร้อง อยู่ในพื้นฐานของดิ้นรนตลอดเวลา เราจึงเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นสูง มีความแรง ไม่ยอมคน ไม่ชอบการเสียเปรียบ แต่ก็ไม่ชอบเห็นใครเสียเปรียบ ในความแรง ความใจร้อน เอาแต่อัตตาตัวเองสูงๆ ถูกระงับให้สงบลงได้เพราะการเจอครูบาอาจารย์ที่ดี นั่นคืออาจารย์คุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ท่านคุณยายจ๋าที่ท่านทั้งสอนงานและกำราบเราว่าควรจะมีชีวิตแบบไหนถึงจะสงบเย็น ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่ตัวเราเอง แต่เป็นความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย และด้วยตัวท่านเองเป็นนักพัฒนา พอเราไปเรียนรู้และอยู่ใกล้ชิด เราจึงเห็นเลยว่าท่านใช้ลมหายใจของท่านในทุกๆ วันเพื่อปลุกหัวใจคนให้ลุกขึ้นมาทำเรื่องราวของกุศล เราได้เห็นคำสอนของท่านจากสิ่งที่ท่านปฏิบัติและลงมือให้เราดู โดยที่เราไม่ต้องไปพลิกตำราไหนเลย ไม่ว่าจะเป็นการที่ท่านปรารถนาจะเข้าไปปลุกฟื้นหัวใจของคนในเรือนจำ ที่เรามีโอกาสได้ติดตามเข้าไปทั้งในตอนที่เป็นนักบวชพุทธสาวิกาและตอนที่เป็นหัวหน้าผู้ก่อการดีย์ จนต่อมาเราเสนอตัวเพราะอยากช่วยแบ่งเบาท่านบ้างว่า ‘ต่อไปนี้คุณยายไม่ต้องสอนสองชั่วโมงรวดเดียวแล้ว คุณยายสอนแค่ 45 นาที ที่เหลืออีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แป้งจะร้องเพลงและสร้างสุขโดยใช้คติธรรมแทรกกับบทเพลง เพลงธรรมดาทั่วไปเองค่ะ’ 

“หลังจากที่มีโอกาสได้ติดตามท่านไปในอีกหลายๆ แห่ง ทั้งสถานพินิจ โรงพยาบาล ไปให้กำลังใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยคุณยายจ๋าท่านสอนวิถีด้วยว่าควรจะเยียวยาลักษณะแบบไหนถึงจะฉุดช่วยได้จริง จนแม้กระทั่งในช่วงเวลาท้ายของชีวิตที่ท่านใกล้จะคืนลมหายใจ ท่านยังย้ำกับเราอยู่ตลอดว่า ‘เธอต้องไม่หยุดทำความดี เธอเป็นคนเดียวที่ฉันไม่เคยห่วงเลยแป้ง’ อาจเพราะท่านเห็นว่าเรานำคำสอนของท่านมาปฏิบัติอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ถ้ามาที่ร้านแห่งนี้ ทุกคนจะเห็นคำสอนของคุณยายจ๋าและในหลวงรัชกาลที่ 9 เต็มไปหมดเลย (ยิ้ม)”

“อย่างที่เล่าว่าเรามีโอกาสได้ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลศรีธัญญาคือหนึ่งในนั้น ที่เราได้ส่งอาหารให้คุณหมอและพี่ๆ น้องๆ ที่นั่นได้ทานเป็นประจำจนเป็นที่รู้จัก กระทั่งก่อนวันแม่ในปี 2566 ที่ผ่านมา เรากลับมาย้อนนึกว่าแล้วผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นแม่ๆ ล่ะ มีไหม จึงได้ถามจากทางโรงพยาบาลและพบว่า ที่แผนกฟื้นฟู 5 มีแต่ผู้ป่วยหญิงสูงอายุ เราเลยขออนุญาตสอบถามว่าแม่ๆ เหล่านี้ประมาณ 60 ชีวิต อยากทานอะไร และได้ทำสิ่งที่ท่านโหวตกันมาไปส่งให้ถึงแผนก ดูแลแบบทั้งวอร์ดที่ไม่ใช่เพียงแม่ๆ เท่านั้น แต่รวมทั้งคนทำงานที่นั่นทุกคนด้วย และเราลองเสนอไอเดียเข้าไปร้องเพลงให้แม่ๆ ได้ฟัง ตอนแรกทางโรงพยาบาลไม่อนุญาตเพราะเกรงว่าเพลงที่ร้องอาจจะไปกระทบใจ แต่เรารู้ว่าสภาวะแบบนี้เราควรและไม่ควรจะร้องเพลงอะไร เราเลยร้องเพลงให้เจ้าหน้าที่ฟังก่อน นั่นคือ เพลงคนดีไม่มีวันตาย เจ้าหน้าที่ได้ฟังก็เริ่มร้องไห้ เพราะไม่เคยมีใครมาร้องเพลงที่มีความหมายสื่อถึงการทำงานที่เสียสละแบบนี้ให้เจ้าหน้าที่ฟังเลย หลังจากได้รับอนุญาต ได้เข้าไปเจอแม่ๆ เราก็ร้องเพลงสุขกันเถิดเรา เพลงที่พาให้พวกเขาให้ลุกขึ้นมาเต้นและสนุกสนานได้ ก่อนกลับวันนั้นเราฝากแป้งฝุ่นและผ้าเช็ดตัวไปให้และบอกกับแม่ๆ ว่า ‘ทุกครั้งที่แม่อาบน้ำเช็ดหน้า ให้แม่รู้ว่ามีลูกสาวอยู่คนหนึ่งที่คิดถึงแม่ๆ นะ และทุกครั้งที่ประพรมแป้ง ให้แม่รู้ว่ามีความรักจากลูกสาวคนนี้อีกคน’ กลายเป็นว่าตอนนี้แม่ๆ เขาจะรอคอยเราไปหา เวลาที่เขาอาจจะมีภาวะที่ดื้อ ไม่ฟัง เกเร เจ้าหน้าที่จะอ้างชื่อเราว่า ‘เดี๋ยวพี่แป้งไม่มาหานะ’ แล้วคุณแม่ทั้งหลายท่านก็ฟัง นี่เป็นหนึ่งผลลัพธ์จากสิ่งที่เราทำที่กลายเป็นความผูกพันแบบที่เราเองก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน 

“จุดเล็กๆ เหล่านี้คือความภูมิใจของเราที่ทำให้ในทุกๆ ครั้งของการทำดี เราไม่ได้แค่เป็นคนไปให้ แต่เราขโมยพลังของผู้รับกลับมาด้วย แม้ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่คนรู้จัก แต่เมื่อสิ่งที่เราลงมือได้ไปช่วยใครแม้เพียงในบางแง่มุมชีวิตของเรา เช่น มีความสุขขึ้น เครียดน้อยลง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่กลับไปเดินทางที่ผิด ไม่ใช้ชีวิตอย่างที่เคยเหลวแหลก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ชุบชูหัวใจของเรา เป็นความชื่นใจ 

“เป้าหมายในแต่วันที่ตั้งไว้คือ ‘ฉันจะสร้างสุขให้มากที่สุด’ เพราะฉะนั้น เราเลยยิ้มให้กับตัวเองได้ตั้งแต่เช้า เดินโปรยยิ้มให้กับทุกคนที่เจอ แต่ขนาดกำลังดีนะคะ (หัวเราะ) และพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์เพื่อช่วยคนโดยที่ไม่ต้องรอวาระ พร้อมที่จะถามว่า ‘มีอะไรให้หนูช่วยได้บ้างไหม’ นี่คือความสุขของการที่ได้ตื่นมาทุกวัน หลังตื่นนอน พอขยับตัวเองได้ เราจะขอบคุณแขน ขา ตา จมูก และร่างกายที่ยังมีชีวิต พยายามใช้ชีวิตแบบเข้าใจโลก ไม่ใช่ให้โลกเข้าใจเรา  

“ความฝันสูงสุดที่คิดมาตลอดคือบั้นปลายชีวิต เราอยากทำโฮมสเตย์ที่มีที่พักให้คนสามารถพักได้สัก 6 ห้อง ทำไม 6 เพราะเลข 6 เป็นเลขแห่งศิลปะ ศิลปิน เป็นเลขแห่งความสุนทรีย์ ไม่ต้องมีทีวี ไม่มีตู้เย็น อยู่กันแบบธรรมชาติ ทำอาหารจากสิ่งที่ปลูก มีกิจกรรมสร้างงานสร้างอาชีพกันทุกสุดสัปดาห์ ให้คนสามารถมาเรียนอาชีพฟรีได้ ตอนที่คุณยายจ๋าท่านยังแข็งแรง เรายังบอกเลย ‘หนูจะมานิมนต์คุณยายจ๋ามาสอนธรรมะที่นี่’ ให้สอนฟรี คืนกำไรให้สังคม จะชวนคนมาพักกินข้าวเย็นด้วยกัน ร้องเพลงหลังมื้อค่ำก่อนส่งพวกเขาเข้านอน แม้ตอนนี้เรายังไม่เจอที่ที่จะทำโฮมสเตย์ ที่ดินติดน้ำ มีต้นไม้ใหญ่ มีต้นจามจุรีแผ่งาม แต่เราตั้งชื่อไว้แล้วว่า ‘สราญปราน’ เราตั้งมั่นไว้แล้วว่าจะสร้างสถานที่นั้นให้ได้เพื่อทำให้คนที่ได้อยู่ตรงนั้นเบิกบานใจ สุขใจ และมีความสุขไปด้วยกัน เราไม่รู้เหมือนกันว่าที่ตรงนั้นจะอยู่ที่ไหน จะเจอเมื่อไหร่ แต่คนเราต้องมีความฝันและความมุ่งมั่น เราจะหาให้เจอ หรือใครเจอที่แบบนั้น อย่าลืมมาบอกเรานะ (ยิ้ม)” 

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

อ้างอิง:
www.facebook.com/ผู้ก่อการดีย์ 
www.facebook.com/Pangplumrang

บทความที่เกี่ยวข้อง