อาหารการกินนั้นมีบทบาทต่อสุขภาพของเรา และยิ่งมีบทบาทมากเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะการกินอาหารอย่างเพียงพอเหมาะสมจะส่งผลดีต่อการซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง พร้อมรับมือกับผลข้างเคียงของตัวโรคและวิธีการรักษาโรค
แต่ทุกวันนี้เรามักได้ยินหรือได้อ่าน ‘คำแนะนำ’ เรื่องอาหารกับการรักษามะเร็งอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะมาจากโลกอินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียลมีเดีย ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ คุณลุงข้างบ้าน หรือคนที่นั่งกินข้าวติดกันเมื่อคืน เป็นคำแนะนำประเภทที่ ‘บอกต่อๆ กันมา’ หาใช่คำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งแต่อย่างใด คำแนะนำเหล่านี้แม้บางครั้งอาจจะมาจากความหวังดี แต่มันคือ ‘ความเข้าใจผิด’ ที่อาจส่งผลเสียต่อการรักษามะเร็งได้
ชีวิตดี by hhc Thailand อยากชวนมาไขข้อข้องใจกับความเข้าใจผิดยอดฮิตเรื่องอาหารของผู้ป่วยมะเร็งไปด้วยกัน
X น้ำตาลคืออาหารของมะเร็ง X
ความเชื่อ: น้ำตาลคืออาหารที่เซลล์มะเร็งชอบ ทำให้เซลล์มะเร็งลุกลาม
ข้อเท็จจริง: ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยที่ปรากฎว่าน้ำตาลทำให้เซลล์มะเร็งลุกลาม อย่างไรก็ตาม อาหารที่มีน้ำตาลสูงก็มักจะมีแคลอรี่สูงตามไปด้วย ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าอาจส่งผลให้มีน้ำหนักตัวมากเกิน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน (Obesity) หรือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินปกติ ซึ่งจุดนี้ต่างหากที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคมะเร็ง (รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง) กองทุนวิจัยโรคมะเร็งของโลก (WCRF) และสถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งอเมริกา (AICR) เผยว่าการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนตลอดช่วงวัยผู้ใหญ่นั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็ง 12 ชนิดด้วยกัน
สรุป: ผู้ป่วยมะเร็งไม่จำเป็นต้องงดเว้นน้ำตาล แต่ให้บริโภคอย่างพอดี ไม่มากเกินไปจนเกิดโรคอ้วน หรือน้อยเกินไปจนขาดพลังงานและสารอาหารที่จำเป็น
X เป็นมะเร็งต้องงดเว้นเนื้อสัตว์ X
ความเชื่อ: เนื้อสัตว์เป็นตัวเร่งให้มะเร็งเติบโต
ข้อเท็จจริง: งานวิจัยหลายชิ้นที่สังเกตการณ์ผ่านกลุ่มตัวอย่างพบว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง (Red Meat) หรือกลุ่มเนื้อสัตว์ที่มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว หมู แกะ มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า ‘เนื้อแดงอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์’
อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งสำคัญของโปรตีน รวมทั้งธาตุเหล็ก วิตามินบี12 สังกะสี และสารอาหารที่สำคัญอื่นๆ เช่นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้ การงดเว้นเนื้อสัตว์แบบสิ้นเชิงอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยมะเร็ง ที่อาจรู้สึกเบื่ออาหารเพราะได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา และจำเป็นต้องเสริมสร้างร่างกายและซ่อมแซมความเสียหายจากการรักษา ปัญหาที่น่ากังวลกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ก็คือ ผู้ป่วยมีภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็นจนร่างกายอ่อนแอ รับมือกับการรักษาไม่ไหว
สรุป: ผู้ป่วยมะเร็งสามารถกินเนื้อสัตว์ได้ และควรได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร แต่ให้เลือกชนิดของเนื้อที่หลากหลาย เลือกแหล่งที่มาปลอดภัย ปรุงสุกเสมอ หลีกเลี่ยงเนื้อติดมัน เลี่ยงการปรุงแบบปิ้งย่าง ไม่ควรบริโภคเนื้อแดงครั้งละมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่กินผักหรือผลไม้ร่วมด้วย รวมทั้งเลี่ยงเนื้อแดงแปรรูป เช่น เบคอนและไส้กรอก ที่มักจะมีเกลือสูง และอาจมีสารกันบูด นอกจากนี้ก็ควรเสริมโปรตีนจากอาหารประเภทอื่นร่วมด้วย เช่น ไข่ ถั่ว หรือผลิตภัณฑ์จากนม
X ถั่วเหลืองกระตุ้นมะเร็งเต้านม X
ความเชื่อ: ไอโซฟลาโวนที่พบในผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ซึ่งจะไปกระตุ้นให้มะเร็งเต้านมเติบโตและแพร่กระจายได้
ข้อเท็จจริง: ยังไม่มีงานวิจัยที่พบว่าไอโซฟลาโวนจากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองสามารถกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโตได้
สรุป: ผู้ป่วยมะเร็งบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองได้ ไม่อันตราย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบถั่วต้ม ถั่วอบ นมถั่วเหลือง หรือเต้าหู้ ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง อย่างไรก็ตามควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ควบคู่ไปกับอาหารอื่นๆ ให้สมดุลกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า การรับประทานถั่วเหลือง 25 กรัมต่อวันมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
X นมวัวกระตุ้นเซลล์มะเร็ง X
ความเชื่อ: ฮอร์โมนที่ใช้ในการผลิตนมส่งเสริมการเติบโตของมะเร็ง
ข้อเท็จจริง: ยังไม่มีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่านมวัวมีผลโดยตรงต่อการเกิดมะเร็ง แม้จะมีการศึกษาบางชิ้นที่พบว่ามีความเสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นในผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์นมเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานมารองรับมากพอ เช่นเดียวกับงานวิจัยที่พบความเป็นไปได้ว่านมช่วยลดการเกิดมะเร็งบางชนิดด้วยเช่นกัน
สรุป: ผู้ป่วยมะเร็งดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมได้ และยังส่งผลดีอีกด้วย เพราะนมเป็นแหล่งแคลเซียมและโปรตีนที่ดี เลือกดื่มนมที่ไม่มีรสหวานจัด ควบคู่ไปกับการกินอาหารชนิดอื่นที่หลากหลายอย่างสมดุล
และนี่ก็เป็นตัวอย่างความเข้าใจผิดหรือข้อสงสัยเรื่องอาหารกับผู้ป่วยมะเร็ง โดยสรุปแล้วหัวใจหลักอยู่ที่ การบริโภคอย่างสมดุล ไม่มากไปน้อยไป และ มีเป้าหมายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมต่อสู้กับความเจ็บป่วยและกระบวนการรักษาได้ นั่นเอง นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า อาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็งนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวเหมือนกันทุกคน เพราะแต่ละคนนั้นมีปัจจัยรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกาย ชนิดของมะเร็ง ระดับความรุนแรงของอาการ ดังนั้นควรดูแลอาหารการกินภายใต้คำแนะนำของแพทย์ที่ดูแล เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกายและได้ประโยชน์จากอาหารสูงสุด
–
อ้างอิง:
www.chulacancer.net
www.cancer.net
www.si.mahidol.ac.th
www.cancerresearchuk.org