หวาน…ถ้าไม่เบาก็ ‘เบาหวาน’ 7 พฤติกรรมที่ช่วยคุมเบาหวานได้อยู่หมัด

“เบาหวาน” เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติมากที่สุด แต่การใช้ยาเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหาร จึงเข้ามามีบทบาทมากในการบรรเทาและป้องกันโรค

ทั้งนี้ เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อภาวะที่ฮอร์โมนดังกล่าวมีความผิดปกติ ร่างกายจึงไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลคงเหลือในกระแสเลือดมีมากกว่าปกติ 

แล้วผู้ป่วยเบาหวานควรทานอย่างไร?

หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวานนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากหลักการรับประทานอาหารให้มีสุขภาพดีของคนทั่วๆ ไป นั่นคือการรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเลือกชนิดอาหารให้มีความหลากหลายและหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน รวมทั้งจัดสรรปริมาณให้พอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยไม่มากหรือน้อยจนเกินไป 

ปรับพฤติกรรมอย่างไรให้ห่างไกลเบาหวาน

1. ควบคุมระดับน้ำตาล

ลดพฤติกรรมการบริโภคแบบติดหวานและหลีกเลี่ยงอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลประเภทต่างๆ อย่างน้ำผึ้ง น้ำตาลทราย น้ำตาลอ้อย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลก้อน รวมทั้งสารให้ความหวาน เพราะเมนูเหล่านี้แฝงไปด้วยความหวานอย่างที่คาดไม่ถึง ซึ่งจะเข้าไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มน้ำหนักด้วยเช่นกัน   

2. ทานคาร์โบไฮเดรตแต่พอดี

ชนิดและปริมาณของแป้งนับเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แม้ว่าอาหารจำพวกแป้ง ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ผักที่มีแป้งมาก เช่น เผือกและมัน เมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสได้ก็ตาม แต่อาหารในกลุ่มดังกล่าวเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับเพื่อให้เรามีพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงไม่ควรงดอาหารหรือจำกัดจนเกินไป แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะกับกิจวัตรในแต่ละวัน และเลือกทานคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ได้ขัดสี หรือผ่านการขัดสีเพียงเล็กน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท และธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโพด เป็นต้น

3. บริโภคไขมันแต่น้อย

หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ อาหารทอด อาหารที่ทำจากกะทิ เนย ครีม นมสด โยเกิร์ต ไขมันสัตว์ เนื้อสัตว์ติดหนัง น้ำมันมะพร้าว เนื่องจากไขมันอิ่มตัวที่มีในปริมาณสูงนี้จะเข้าเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวาน โดยหันมาเลือกทานอาหารที่มีไขมันดีและมีคอเลสเตอรอลต่ำ เช่น ปลาทะเล น้ำมันปลา เลือกใช้น้ำมันอย่างน้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันรำข้าว ในการปรุงอาหาร หรือเลือกวิธีปรุงอาหารแบบหุง นึ่ง ต้ม แทนการทอด  

4. ควบคุมปริมาณโปรตีน

ขณะที่คนทั่วไปต้องการพลังงานจากโปรตีนประมาณ 180 – 240 กรัม ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับในแต่ละวัน แต่ผู้ป่วยเบาหวานต้องการโปรตีนน้อยกว่าคนทั่วไป เพียงวันละ 90 – 120 กรัม เลือกทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย ไม่ติดมันและหนัง เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ในปริมาณ 1 กำมือ 

5. ลดเค็ม

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่มักมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย การเลี่ยงหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น อาทิ อาหารประเภทหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง กะปิ ปลาเค็ม ปลาแห้ง หมู/เนื้อแดดเดียว อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น หมูหยอง หมูแผ่น ไส้กรอก แฮม เบค่อน หมูยอ และควรใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา เกลือ ผงชูรส ซอสปรุงอาหาร น้ำจิ้มต่างๆ แต่น้อยในการประกอบอาหาร

6. รับความหวานธรรมชาติจากผลไม้

แม้ว่าผลไม้จะมีน้ำตาล แต่ก็ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงไม่จำเป็นต้องงดรับประทานผลไม้ เพียงแค่เลือกชนิดและกำหนดปริมาณผลไม้ที่จะทานให้เหมาะสม ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว โดยผลไม้ที่สามารถทานได้ก็อย่างเช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง แก้วมังกร กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ซึ่งปริมาณที่แนะนำคือ 7-8 ชิ้น/ครั้ง/มื้อ สามารถกินได้ 2-3 มื้อใน 1 วัน สำหรับผลไม้ที่ควรงด คือผลไม้ที่มีน้ำตาลมาก เช่น องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด มะขามหวาน มะม่วงสุก เป็นต้น

7. ทานผักให้หลากหลายใน 1 วัน

เนื่องจากกลุ่มผักนั้นจะมีปริมาณน้ำตาลน้อย เป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ สารพฤกษเคมีที่สามารถช่วยป้องกันเบาหวาน อีกทั้งยังมีเส้นใยที่ช่วยในการชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยเบาหวานจึงสามารถทานผักก้าน ผักใบ ผักใบเขียวได้ทุกชนิด โดยเลือกทานให้หลากหลายใน 1 วัน อาทิ ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง บวบ มะเขือ ฟัก แตงกวา น้ำเต้า ถั่วฝักยาว ถั่วงอก โดยปริมาณที่เหมาะสมคือ 4-6 ทัพพี/วัน

การรักษา ควบคุม หรือชะลอการเป็นโรคเบาหวานนั้น นอกจากการทานยาตามแพทย์สั่ง ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งตรวจติดตามภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมไปถึงการออกกำลังกาย 30-60 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3-5 วันต่อสัปดาห์  

สำหรับพฤติกรรมการบริโภค หากผู้เป็นเบาหวานวางแผนการทานอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย เหมาะสมกับสภาวะของโรคในขณะนั้นๆ ไปจนถึงเลือกทานความหลากหลาย ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและสามารถอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุข

ที่มา:
www.thairath.co.th
www.sanook.com 
www.thonburihospital.com
www.posttoday.com
www.thaihealth.or.th
www.bangkokpattayahospital.com
www.dmthai.org

Share :
go to top