เต้าเล็กหรือเต้าใหญ่ก็เสี่ยงมะเร็งเต้านมได้เท่ากัน

Cancer / Health

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า ตุลาคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านมสากล เพื่อให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการตรวจเช็คเต้านม และลดโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ครองอันดับหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

หนึ่งในความเข้าใจผิดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมก็คือความเชื่อที่ว่า คนที่มีหน้าอกใหญ่เท่านั้นถึงจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งความเข้าใจผิดนี้อาจส่งผลให้คนที่มีหน้าอกเล็กละเลยการตรวจเช็คเต้านม จนอาจทำให้ตรวจเจอความผิดปกติได้เมื่อสายเกินไป 

ข้อเท็จจริง: Breast size does not matter!

แม้จะมีการตั้งข้อสงสัยและพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างขนาดหน้าอกกับความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถฟันธงได้แน่ชัดว่าขนาดหน้าอกที่ใหญ่หมายถึงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าขนาดหน้าอกเล็ก 

แต่สิ่งที่แพทย์ทั่วโลกยืนยันตรงกันก็คือ ไม่ว่าเราจะมีขนาดหน้าอกเล็กหรือใหญ่ก็ควรหมั่นตรวจเช็คความผิดปกติของเต้านมอยู่เสมอ เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไหร่​ โอกาสที่จะรักษาหายก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ขนาด: ไม่น่าห่วงเท่าความหนาแน่น

มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม โดยเฉพาะเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนม (ductal cancer) และเซลล์ที่อยู่ในต่อมน้ำนม (lobular cancer) ดังนั้น สิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญเวลาตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมก็คือการดูที่ ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม (breast density) 

การจะรู้ว่าเต้านมมีความหนาแน่นมากน้อยแค่ไหนจะต้องตรวจผ่านวิธีการเอกซเรย์ที่เรียกว่า แมมโมแกรม (mammogram) ภาพแมมโมแกรมจะแสดงส่วนไขมันเป็นสีดำและส่วนท่อและถุงน้ำนมเป็นสีขาว หากภาพแมมโมแกรมออกมามีสีขาวทึบมาก แปลว่ามีความหนาแน่นมาก เพราะมีท่อและถุงน้ำนมจำนวนมาก ตรงส่วนนี้นี่เองที่มักเกิดมะเร็งเต้านม (ไม่ใช่ส่วนไขมัน) เราจะถือว่าคนที่มีความหนาแน่นของเต้านมสูงเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ จึงควรเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพกับแพทย์อยู่เป็นประจำ 

ขนาดเปลี่ยนแปลงไป แบบนี้ต้องสงสัย

ถ้าอยู่ดีๆ เต้านมของเรามีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม และเมื่อคลำดูแล้วพบก้อนเนื้อที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพียงข้างใดข้างหนึ่ง แบบนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป อย่านิ่งนอนใจ

นอกจากก้อนเนื้อแล้ว หากพบความผิดปกติอื่นๆ ของเต้านมโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ผิวบริเวณเต้านมเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูปร่าง มีรอยบุ๋ม รอยแดง รอยช้ำ เป็นแผลอักเสบ หรือส่วนหัวนมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น บวมโต มีหนอง หรือเลือดออก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของอาการมะเร็งเต้านม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันทีอย่ารีรอ 

ถึงมีความเสี่ยง แต่ถ้าตรวจพบไว อาจแก้ไขทัน

แม้ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่สามารถบอกสาเหตที่แท้จริงของมะเร็งเต้านมได้อย่างชัดเจน แต่จากการรวบรวมสถิติของผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก ทำให้พบปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม เช่น มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วนในวัยหมดประจำเดือน มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็ง หรือมีพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งต้องหมายเหตุไว้ตัวใหญ่ๆ ด้วยว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป ในทางกลับกันคนที่ไม่พบปัจจัยเสี่ยงใดๆ ก็อาจตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน’ 

ดังนั้น ทั้งผู้มีความเสี่ยงและไม่มีความเสี่ยง ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ รวมทั้งหมั่นเช็คสุขภาพร่างกายกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ เพราะถ้าตรวจพบไวและได้รับการรักษาที่ดี ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

คำแนะนำจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มีดังนี้

  • การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง ควรทำทุก 1 เดือน เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป 
  • การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง) 
  • การตรวจภาพรังสีเต้านม (แมมโมแกรม) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ตรวจประจำ คลำไม่พบ ใช่ว่าไม่เสี่ยง

ข้อควรระวังอย่างหนึ่งก็คือ มะเร็งเต้านมในระยะแรกนั้นอาจไม่แสดงอาการอย่างเด่นชัดออกมา ทำให้ดูจากภายนอกก็ไม่เห็นความผิดปกติ หรือตรวจคลำด้วยตัวเองก็ไม่พบก้อนอะไรเลย เนื่องจากยังมีขนาดที่เล็กมาก ดังนั้น การตรวจคลำด้วยตัวเองอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้วว่าเป็นวิธีที่สามารถตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นอย่างได้ผล

นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยังแนะนำทางเลือกด้านพฤติกรรมที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ได้แก่ ออกกำลังกายเป็นประจำ (สุขภาพที่แข็งแรงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของมะเร็งทุกชนิด) เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลานาน ควบคุมน้ำหนัก (ไม่ผอมเกินไปหรืออ้วนเกินไป) หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการสัมผัสกับควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีมากเกินไป

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง หรือผู้ไม่มีความเสี่ยงแต่ต้องการตรวจสุขภาพเต้านมก่อนจะสายเกินไป สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลได้แทบทุกแห่ง ตัวอย่างสถานพยาบาลของรัฐที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญในการตรวจและรักษามะเร็งเต้านม ได้แก่

  • ศูนย์ถันยรักษ์ ชั้น 7 อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์โรงพยาบาลศิริราช โทร 0-2411-5657-9 เว็บไซต์ www.thanyarak.or.th/center_service.php 
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร. 0-2202-6800, 0-2202-6888 เว็บไซต์สำหรับการนัดหมายที่คลินิกตรวจสุขภาพ www.nci.go.th/th/New_web/service/sv9.html 
  • ศูนย์วินิจฉัยเต้านม โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2201-2412 
  • ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อโรคมะเร็งเต้านม แผนกผู้ป่วยนอก อาคารล้วน-เพิ่มพูน ว่องวานิช ชั้น 2 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0-2256-4693

แหล่งข้อมูล:
www.thanyarak.or.th
www.thaibreast.org
www.nci.go.th
www.chulacancer.net
www.who.int
www.webmd.com

บทความที่เกี่ยวข้อง