โรคกระดูกพรุน… ภัยเงียบที่สาววัย 40+ ต้องระวัง! 

Bone & Muscle / Health

กระดูกของเรามีการเสื่อมสลายและสร้างใหม่อยู่เสมอ ความหนาแน่นและแข็งแรงของกระดูกจะพัฒนาถึงขีดสุดเมื่อเราอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะค่อยๆ เสื่อมถอยลงตามอายุ และสำหรับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปใน วัยก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) และวัยหมดประจำเดือน (Menopause) อันเป็นช่วงวัยที่ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในร่างกายลดลง จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกระดูก กระดูกเปราะและอ่อนแอ จนนำไปสู่โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

โรคกระดูกพรุน… ภัยเงียบที่ต้องระวัง

โรคกระดูกพรุนมักดำเนินไปอย่างเงียบๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนภัยใดเกิดขึ้นเลย กว่าเราจะรู้ตัวอีกทีก็ได้สูญเสียมวลกระดูกไปเป็นจำนวนมากจนเกิดกระดูกแตกหัก ที่โดยมากแล้วมักเกิดขึ้นที่กระดูกสันหลังและสะโพก ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อมีกระดูกแตกหักอันเป็นผลมาจากโรคกระดูกพรุนแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะมีแนวโน้มที่จะเกิดกระดูกแตกหักในส่วนอื่นๆ ตามมาอีกด้วย 

สาวใหญ่วัยทอง… กลุ่มเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

สาเหตุที่ผู้หญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน รวมถึงผู้ที่ทำการผ่าตัดรังไข่ออกไปแล้วทั้งสองข้าง (รังไข่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง) มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนนั้น เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีหน้าที่ส่งเสริมการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และในขณะเดียวกันก็ยังช่วยลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ดังนั้นเมื่อร่างกายไม่มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกต่อไป จึงกระทบต่อการสร้างและเสื่อมของมวลกระดูกทั้งสองทาง

ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม:

  • สาวร่างเล็กและผอมบางจะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นอีก เพราะมีมวลกระดูกน้อยกว่าสาวๆ ที่มีน้ำหนักตัวในเกณฑ์ปกติ
  • โรคกระดูกพรุนยังมีแนวโน้มการเกิดมากขึ้นตามพันธุกรรม ดังนั้นหากพ่อแม่หรือปู่ยาตายายของคุณมีประวัติเกี่ยวกับปัญหาทางกระดูก เช่น กระดูกสะโพกหักแม้จะหกล้มเพียงเบาๆ คุณก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากคุณมีประวัติใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หรือมีอาการป่วยของโรคมะเร็งและหลอดเลือดสมอง

เตรียมตัวให้พร้อม ‘ตรวจมวลกระดูก’ ให้อุ่นใจ 

อย่างที่บอกไปว่าผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะไม่แสดงอาการใดๆ ก่อนหน้าจนกระทั่งเกิดกระดูกแตกหรือหักแล้ว ดังนั้นผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วหรือผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น อาจพิจารณาเข้ารับการตรวจมวลกระดูก (Bone Densitometry) เพื่อดูว่าคุณมีสุขภาพกระดูกอยู่ในระดับไหน หรือมีภาวะกระดูกพรุนเกิดขึ้นหรือไม่ จะได้เตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิธีการตรวจมวลกระดูกจะใช้การเอ็กซเรย์ด้วยรังสีที่มีพลังงานต่ำเข้าไปสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก ผลการตรวจค่อนข้างแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ

ป้องกันไว้ก่อนหากไม่อยาก ‘กระดูกพรุน’

ถึงแม้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสื่อมถอยของร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุได้ แต่เราสามารถป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

  • กินอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามิน D เป็นประจำ
  • กินอาหารเสริมที่ให้แคลเซียมและวิตามิน D
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ และกระโดดเชือก
  • ออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance Exercise) ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์กล้ามเนื้อและกระดูก เช่น การยกเวต
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • รับแสงแดดยามเช้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามิน D 

แม้ทางการแพทย์จะสามารถให้ฮอร์โมนทดแทน (Estrogen Replacement Therapy หรือ ERT) เพื่อบำบัดอาการของวัยทอง รวมทั้งป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ แต่แพทย์ส่วนมากไม่แนะนำให้สาวๆ เลือกใช้วิธีนี้ เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า การให้ฮอร์โมนทดแทนจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคอีกมากมาย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น เพราะฉะนั้นหันมาป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ กันดีกว่า

ที่มา: 
webmd.com
medicalnewstoday.com

บทความที่เกี่ยวข้อง