เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก

Cancer / Health

มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบมากติดอันดับต้นๆ ของสถิติผู้ป่วยมะเร็งผู้หญิงทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 6 คนด้วยกัน แน่นอนว่าโรคนี้น่ากลัว แต่เราสามารถป้องกันได้ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะรักษาให้หายได้ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรก

ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ติดต่อกันได้

สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Human Papillomavirus หรือที่เรียกกันว่าเชื้อ HPV  ซึ่งการส่งต่อของเชื้อไวรัส HPV ตัวนี้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศโดยเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก ปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัส HPV มีอยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่มีอยู่ประมาณ 14 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ 

เกิดขึ้นได้ทั้งหญิงและชาย

ผู้ชายก็ติดเชื้อไวรัส HPV ได้เช่นกัน โดยเชื้อตัวนี้สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งองคชาต มะเร็งช่องปากและหลอดคอ รวมถึงมะเร็งทวารหนัก กรณีศึกษาที่ทำเอาคนตกใจกันทั่วโลกเกิดขึ้นกับไมเคิล ดักลาส ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง เมื่อเขาให้สัมภาษณ์ว่าสาเหตุของการป่วยเป็นโรคมะเร็งทางช่องปากและลำคอของเขานั้น เป็นผลจากการติดเชื้อ HPV ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก แม้ว่ากรณีของดักลาสจะยังไม่สามารถฟันธงได้แน่ชัด แต่ปัจจุบันแพทย์เริ่มพบความเกี่ยวข้องกันของเชื้อไวรัส HPV ที่พบในมะเร็งปากมดลูก กับการเกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ได้แปลว่าไม่ป่วย

โรคมะเร็งปากมดลูกก็เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ที่มักซ่อนอาการป่วยไว้อย่างมิดชิดในระยะเริ่มต้น ด้วยเหตุนี้การตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปีจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ผู้มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน ผู้ที่มีบุตรหลายคน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด รวมทั้งผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานด้วย

แต่ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เช่น มีตกขาวผิดปกติจากช่องคลอด (เช่น มีจำนวนมาก มีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน) มีเลือดออกขณะที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อเชื้อมะเร็งลุกลามเพิ่มระดับขึ้น อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ก็ไม่ได้สัมพันธ์กับโรคมะเร็งปากมดลูกเสมอไป ควรรับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

ถึงตัดมดลูกไปแล้ว ก็ควรตรวจคัดกรองเป็นประจำ

ในกรณีที่เคยตัดมดลูกจากการรักษามะเร็งปากมดลูก และรักษาจนหายแล้ว แพทย์ยืนยันว่าควรกลับมาตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่ามะเร็งจะไม่กลับเป็นซ้ำ โดยเฉพาะถ้าเป็นการตัดเฉพาะส่วนมดลูก แต่ไม่ได้ตัดปากมดลูกออกไปด้วย ถือว่ายังคงมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อีก 

ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ได้ แต่ก็ต้องตรวจคัดกรองอยู่ดี

ปัจจุบันการแพทย์พัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อ HPV ได้สำเร็จ โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งมดลูกของผู้หญิงทั่วโลกถึงร้อยละ 70 ทุกคนสามารถฉีดได้ แต่เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9 – 26 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป เพราะวัคซีนไม่ได้ครอบคลุมเชื้อ HPV ทุกสายพันธุ์ ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ต้องทำแม้ได้รับวัคซีน

แหล่งข้อมูล: 
สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

บทความที่เกี่ยวข้อง