ปวดหลังแบบไหนที่ต้องผ่าตัด

เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่เคยปวดหลังมาก่อนเป็นแน่ เพราะอาการปวดหลังนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย อีกทั้งยังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากการออกกำลังกายจนเกิดการบาดเจ็บ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเช่น การยืน การนั่ง หรือการนอนที่ไม่ถูกลักษณะ หรืออาจจะเกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งการปวดหลังที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีอาการแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่กลัวนั้นคือการต้องผ่าตัดจากอาการปวดหลังที่เกิดขึ้น มาดูกันว่าอาการปวดหลังแบบไหนกันแน่ที่ต้องผ่าตัด

บาดเจ็บกล้ามเนื้อหลัง…ทำยังไงดี

อาการปวดหลังโดยทั่วไปที่พบเจอมักเกิดจากการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณหลังจนมีการอักเสบเกิดขึ้น สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการประคบเย็นในช่วงแรกที่ได้รับการบาดเจ็บ แล้วตามด้วยประคบร้อนเมื่ออาการอักเสบบรรเทาลงบ้างแล้ว เพื่อช่วยลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามในการประคบร้อนหรือประคบเย็นนั้นควรหุ้มอุปกรณ์ไว้ไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์นั้นมีความร้อนหรือเย็นมากจนเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายกับผิวหนังได้ และควรพักการใช้งานในบริเวณที่ปวดก็จะทำให้อาการปวดนั้นดีขึ้นเองได้ภายใน 1 สัปดาห์

ทำอย่างไรเมื่อปวดหลังร้าวลงขา ชาอ่อนแรง 

หากอาการปวดหลังนั้นเกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง เนื่องจากการที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังอาจเสียความยืดหยุ่นไปและเมื่อมีการเคลื่อนไหวผิดจังหวะ อาจจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา หรือมีอาการชาอ่อนแรงที่ขา ถ้ามีอาการมากขึ้นอาจจะทำให้เดินลำบากหรือเดินไม่ได้ไกล ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหลังร้าวลงขาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง อาจจำเป็นต้องทำการเอกซเรย์ (x-ray) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยการรักษานั้นเริ่มต้นจาก

  • การทานยาและอาจต้องทำกายภาพบำบัดร่วมด้วยในกรณีที่มีอาการกดทับเส้นประสาทมากๆ 
  • หากทานยาหรือทำกายภาพแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องฉีดยาแก้อักเสบเข้าสู่โพรงไขสันหลังในขั้นถัดไป 
  • แต่ถ้าหากทำการรักษาทั้งสองวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือมีการกดทับเส้นประสาทรุนแรง อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด 

ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง…ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน ทำให้การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังสามารถทำได้โดยง่ายและปลอดภัยมากขึ้น โดยทำการเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรแล้วใส่เครื่องมือพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อร่วมกับการใช้กล้องขยาย เพื่อนำเอาหมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาทอยู่นั้นให้เคลื่อนออกมา ผู้ป่วยจะสามารถลุกขึ้นยืนเดินได้ภายใน 1 วันและพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วันเท่านั้น ในระหว่างที่ผู้ป่วยพักอยู่ในโรงพยาบาลนั้น นักกายภาพบำบัดจะทำการแนะนำเกี่ยวกับท่าทางการยืน เดิน นั่ง นอน รวมถึงการพลิกตะแคงตัวที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย เมื่อเวลาผ่านไป 7-14 วัน แพทย์จะนัดมาเปิดแผล ซึ่งถ้าเป็นไหมละลายก็ไม่ต้องตัดไหม ภายหลังจากเปิดแผลแล้ว 2-3 วันก็สามารถถูกน้ำได้ สำหรับกิจกรรมบางอย่าง เช่น การก้ม การยกของหนัก หรือการเล่นกีฬาที่มีการปะทะ แนะนำให้หลีกเลี่ยงไปก่อนเป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดแบบแผลเล็กนั้นทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

กระดูกสันหลัง…ดูแลอย่างไรไม่ให้รุนแรง

อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับการผ่าตัดไปแล้วแนะนำให้ออกกำลังกายโดยใช้การเดินและการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น อีกทั้งยังลดอาการปวดจากการผ่าตัดได้ด้วย ที่สำคัญควรดูแลท่าทางในการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เช่น

การยืน – ควรยืนให้หลังตรงไหล่ผาย ถ้ายืนนานควรมีที่วางพักเท้า

การนั่ง – ควรนั่งหลังตรงพิงพนักเก้าอี้ 

การยกของ – ควรย่อเข่าลงไปหยิบของและควรถือของให้ชิดตัว

ทั้งนี้เพื่อดูแลกระดูกสันหลังของเราและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ลุกลามรุนแรงตามมาก็ควรบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกลักษณะ งดเว้นการยกของหนัก และถ้ามีปัญหาผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

Share :
go to top