หลายคนอาจมองข้ามรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับการกินยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกินยาพร้อมกับนม น้ำผลไม้ หรือการกินยาก่อนและหลังอาหารพร้อมกัน เพราะมีความเข้าใจว่าจะกินตอนไหน กินกับอะไร ก็คือกินยาเหมือนกัน แต่ทราบหรือไม่ว่า การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการรักษา และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เพื่อความปลอดภัยในการกินยา ภญ.ญาณัจฉรา ยอดสง่า จะช่วยอธิบายข้อเท็จจริงต่างๆ ของการกินยาที่ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาในบทความนี้ค่ะ
กินยากับนมจะได้ไม่กัดกระเพาะ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การดื่มนมนั้นไม่ได้ช่วยเคลือบกระเพาะอาหารแต่อย่างใด แค่อาจจะทำให้คนไข้รู้สึกสบายขึ้นหลังจากดื่มเท่านั้น เนื่องจากนมมี PH ประมาณ 6 ( PH คือค่าที่แสดงความเป็นกรด-ด่าง ซึ่งมีค่าระหว่าง 1-14 ถ้า PH มีค่าเท่ากับ 7 แสดงว่ามีภาวะเป็นกลาง) ซึ่งสูงกว่าค่า PH ในกระเพาะอาหารที่มีอยู่ประมาณ 4 เมื่อเราดื่มนมเข้าไปจะทำให้ค่า PH ในกระเพาะอาหารสูงขึ้นกว่าเดิมจึงทำให้รู้สึกสบายขึ้นนั่นเอง นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต หรือไอศกรีม มีส่วนประกอบของแคลเซียมสูง หากกินร่วมกับยาบางชนิดจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างกันจนอาจทำให้ยาไม่ถูกดูดซึม ไปลดการดูดซึมของยา หรืออาจทำให้ยาหมดฤทธิ์ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคได้ นอกจากนมและผลิตภัณฑ์จากนมแล้ว ยังหมายรวมถึงยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม อะลูมิเนียม หรือแร่ธาตุเสริม เช่น ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม อีกด้วย ที่ไม่แนะนำให้กินพร้อมกับยาบางชนิด เนื่องจากส่งผลลดการดูดซึมยาเช่นเดียวกัน หากมีการดื่มนมหรือกินอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบแล้วต้องกินยา ก็แนะนำให้ดื่มนมก่อนหรือหลังกินยานั้นๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำพิเศษ เพราะยาบางชนิดก็อาจต้องเว้นระยะเวลามากกว่า 2 ชั่วโมงได้เช่นกัน ดังนั้น หากเรากินนม แร่ธาตุเสริม หรือแคลเซียมเสริมเป็นประจำ อาจสอบถามจากเภสัชกรทุกครั้งว่ามีปัญหากับยาที่ได้รับมาหรือไม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการใช้ยาสูงสุด
กินยากับน้ำผลไม้จะได้ไม่ขม
น้ำผลไม้ส่วนใหญ่มักมีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด การกินยากับน้ำผลไม้อาจทำให้กรดในน้ำผลไม้เข้าไปเปลี่ยนแปลงการทำละลายของตัวยาและต่อต้านการดูดซึมของตัวยาได้ ส่งผลให้ปริมาณยาในร่างกายเปลี่ยนแปลงจนมีประสิทธิภาพน้อยลงได้ มีงานวิจัยในยาบางประเภท พบว่าการดื่มน้ำเกรปฟรุตมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน ฟิโลดิปีน (felodipine) แอมโลดิปีน (amlodipine) ยาลดไขมันในเลือด ซิมวาสตาติน (simvastatin) ยาคลายเครียด ไอดะซีแพม (diazepam) เป็นต้น เนื่องจากเกิดการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในการเปลี่ยนแปลงยาจนระดับยาในเลือดสูงขึ้นและอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้นเครื่องดื่มที่ควรกินกับยามากที่สุดคือน้ำเปล่าธรรมดาๆ และต้องเป็นน้ำอุณหภูมิห้องจะดีที่สุด ถึงแม้ว่าน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นจะไม่มีรายงานออกมายืนยันแน่ชัดว่าทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายในตัวยาทุกตัว แต่อย่างน้อยน้ำดื่มที่อุณหภูมิห้องธรรมดาก็ไม่ทำให้การละลายของยาเปลี่ยนแปลงเหมือนน้ำอื่นๆ แน่นอน
มื้อนี้ลืมกินยา ไปรวมกับมื้อหน้าเลยแล้วกัน
ปัญหาทั่วไปที่มักพบเสมอเวลาจะกินยา คือ ต้องกินก่อนหรือหลังอาหาร และก่อนอาหารนานเท่าไหร่ หลังอาหารกี่นาที ก่อนนอนนานแค่ไหน ถ้าลืมแล้วจะทำอย่างไร จึงขอสรุปหลักการและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องทั่วไปของวิธีการกินยาเหล่านี้
ยาก่อนอาหาร: ควรกินก่อนอาหารในช่วงที่ท้องว่าง อย่างน้อย 30 นาที เนื่องจาก
● ยาอาจถูกทำลายและเสียประสิทธิภาพในการรักษา เมื่อพบกับกรดปริมาณมากที่กระเพาะอาหารหลั่งออกมาหลังมื้ออาหาร ดังนั้นการกินยาในช่วงที่ท้องว่างจะทำให้ยาไม่ถูกทำลายและช่วยให้ประสิทธิภาพของยาไม่ลดลงด้วย
● อาหารและส่วนประกอบของอาหาร อาจลดการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกายจึงไม่สามารถกินยาพร้อมหรือหลังอาหารได้
● ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมทั้งยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลิน จะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก่อนที่จะออกฤทธิ์ ดังนั้นการกินยาก่อนอาหารจึงเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมให้ระบบทางเดินอาหารก่อนที่จะมีการกินอาหารเข้าไป
หากลืมกินยาก่อนอาหาร หรือห่างจากมื้ออาหารไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แนะนำให้ข้ามการกินยามื้อนี้ไปเลย โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลินที่ต้องกินก่อนอาหาร เพราะยาจะถูกทำลาย และอาหารอาจไปลดการดูดซึมของยาได้ อาจต้องรอให้กระเพาะอาหารว่างก่อนแล้วจึงกินยา ซึ่งก็คือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังกินอาหารนั่นเอง แต่หากเป็นยาที่ต้องกินในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ก็ให้เรากินยาก่อนอาหารมื้อถัดไปแทนได้เลย โดยไม่ต้องกินยาซ้ำ
ยาหลังอาหาร: ควรกินพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีและไม่ควรนานเกิน 15 นาทีหลังอาหาร เนื่องจาก
● ยานั้นมีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การกินพร้อมหรือหลังอาหารทันทีจะช่วยลดอาการข้างเคียงเหล่านี้ได้
● ยานั้นต้องการกรดในกระเพาะอาหารไปช่วยในการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกรดในกระเพาะอาหารจะหลั่งออกมาสูงสุดในระหว่างที่กินอาหารเท่านั้น
หากลืมกินยาหลังอาหาร ก็สามารถกินยาได้ทันทีที่นึกได้และไม่เกิน 15 นาทีหลังกินอาหาร แต่ถ้าเกิน 15 นาทีไปแล้ว ควรข้ามไปกินหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน หรืออาจกินอาหารมื้อย่อยแทนมื้อหลักก่อนกินยาก็ได้ กรณีที่ยานั้นมีความสำคัญมาก
ยาก่อนนอน: ควรกินยาก่อนเข้านอน 15 – 30 นาที เนื่องจาก
● ยานั้นมีผลข้างเคียงสำคัญคือ ทำให้ง่วงนอนหรือวิงเวียนศีรษะมาก ถ้ากินก่อนนอนนานเกินไปอาจส่งผลให้ทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในกรณีที่ยังไม่พร้อมจะเข้านอน
● ยาที่ต้องการช่วยให้นอนหลับ มักใช้เวลาประมาณ 15 -30 นาทีก่อนที่จะออกฤทธิ์ และส่งผลต่อการนอนหลับ
หากลืมกินยาก่อนนอน มักจะนึกขึ้นได้เมื่อถึงเช้าของวันรุ่งขึ้นแล้ว จึงไม่ควรกินยานั้นอีก ให้ไปกินยาในเวลาก่อนเข้านอนของคืนถัดไปเลย
ยากินเมื่อมีอาการ ก็ควรกินต่อเมื่อมีอาการจริงๆ ยาในกลุ่มนี้มักระบุในฉลากว่ากินทุก 4-6 ชั่วโมง ทุก 8 ชั่วโมง หรือทุก 12 ชั่วโมง เวลามีอาการ เมื่อเรามีอาการสามารถกินยาได้เลย ไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร เนื่องจากอาหารไม่ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หลังกินยาไปแล้วหากยังมีอาการอยู่สามารถกินยาซ้ำได้ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ แต่…ไม่ควรกินบ่อยกว่าที่ระบุไว้บนฉลากยา เมื่ออาการหายแล้วสามารถหยุดยาได้เลย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า การกินยามีรายละเอียดปลีกย่อยพอสมควร เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการกินยาในเบื้องต้นนั้น แนะนำให้กินยาพร้อมน้ำเปล่าเท่านั้น ไม่ควรกินยาพร้อมนม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ รวมถึงวิตามิน เสริมอาหาร และยาลดกรด ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับยาบางชนิดจะมีข้อแนะนำในการใช้ยาเพิ่มเติม ก็ควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจอย่างละเอียดเสียก่อน หากมีข้อสงสัยไม่ควรตัดสินใจเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา