ความเชื่อผิดๆ ของการกินยาที่ควรรู้

ความเชื่อที่เราเข้าใจกันนั้นมักเป็นการเชื่อมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยที่อาจจะมีหรือไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนหรือพิสูจน์ก็ได้ ความเชื่ออาจเกิดจากประสบการณ์ตรงหรือการได้รับข้อมูลต่อๆ กันมา ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรับประทานยาเช่นกัน หลายๆ คนคงเคยได้ยินว่า ให้รีบทานยาแก้ไข้หลังจากที่โดนฝน หรือแม้แต่การแบ่งปันยากันทาน เพราะเชื่อว่าเป็นโรคเดียวกันทานยาเหมือนกันคงได้ เป็นต้น ซึ่ง ภญ.ญาณัจฉรา  ยอดสง่า จะช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ ในการกินยาที่ควรรู้ในบทความนี้ค่ะ

โดนฝนมา…กินยากันไว้ก่อนจะได้ไม่เป็นไข้ 

ความเชื่อที่ว่า…หากโดนฝนมาให้กินยากันไว้ก่อนนั้น ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลและไม่ก่อเกิดประสิทธิภาพในการรักษาแต่อย่างใด และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้อีกด้วย โดยปกติแล้วยาที่นิยมรับประทานเพื่อป้องกันอาการไข้จากการโดนละอองฝนนั้นมักเป็นยาพาราเซตามอล ถึงแม้ว่าจะปลอดภัย แต่การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือการกินยามากจนเกินความจำเป็นก็จะส่งผลเสียต่อการทำงานของตับ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน และภาวะตับวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ยาพาราเซตามอล หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “ยาพารา” จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีติดบ้านแทบทุกครัวเรือนเพื่อใช้ลดไข้ บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยจากไข้หวัด ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดจากข้อเสื่อม เป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่เป็นอันตราย แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ผิดขนาด หรือผิดวิธี ก็สามารถก่อให้เกิดโทษและอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน

ขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

ในผู้ใหญ่ แนะนำให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม/วัน และไม่ควรกินยาต่อเนื่องเกิน 5 วัน

ในเด็ก หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคตับ อาจจำเป็นปรับขนาดยา ดังนั้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนกินยา เพื่อจะได้กินยาในขนาดที่ถูกต้อง เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ข้อควรปฏิบัติ

1. ไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ด / วัน เพราะจะทำให้ตับต้องทำงานหนักเกินไป
2. ควรกินยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
3. ห้ามกินยาร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มผลเสียให้กับตับ
4. ใช้ยาเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น ห้ามกินยาแก้ปวดก่อนจะมีอาการ มิฉะนั้นอาจได้รับยาแก้ปวดเกินขนาดได้

เจ็บคอ…ต้องกินยาฆ่าเชื้อถึงจะหาย

อาการหวัด เจ็บคอ ควรที่จะพิจารณาถึงสาเหตุก่อนว่าเกิดจากติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ส่วนใหญ่แล้วกว่า 80% ของอาการเจ็บคอเป็นการติดเชื้อไวรัสซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะก็สามารถหายได้เอง 

เมื่ออาการไข้หวัดหายไป แต่หากการเจ็บคอนั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาปฏิชีวนะจึงจะเป็นประโยชน์ในการรักษาเพื่อฆ่าเชื้อได้ ซึ่งหากมีอาการดังต่อไปนี้

1. เป็นไข้หวัด และมีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
2. ไม่มีอาการไอ
3. มีฝ้าขาวที่คอหอย หรือต่อมทอนซิล
4. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอมีอาการบวมโต กดแล้วเจ็บ

หากมีอาการเหล่านี้มากกว่า 3 ข้อขึ้นไป ให้สงสัยว่าอาจเป็นอาการเจ็บคอที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากมีอาการแค่ 1-2 ข้อ ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะในทุกโรค ทุกอาการ ควรใช้เมื่อมีหลักฐานการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อจะสะสมแบคทีเรียดื้อยาไว้ในร่างกายได้ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ซื้อยาฆ่าเชื้อมารับประทานเอง เพราะหากอาการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแล้ว การกินยาฆ่าเชื้อเข้าไปบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่ออาการดื้อยาได้ หากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นมาจริง ๆ ยาฆ่าเชื้อปกติที่กินแล้วหายก็จะไม่หายอีกต่อไป ต้องใช้ยาที่แรงขึ้น แพงขึ้น การรักษาเป็นไปด้วยความลำบากมากกว่าเดิมหลายเท่า

แบ่งยาให้เพื่อนกิน…เพราะเป็นโรคเดียวกัน

การใช้ยา ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ควรแบ่งยาจากเพื่อนมาทานเอง ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน  เพราะอาการของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ซึ่งนั่นหมายความว่า ชนิดของยา ปริมาณ และวิธีรับประทานของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นเราไม่ควรปล่อยให้ตนเองเป็นหนูทดลองยา ใช้ยาตามโฆษณาเกินความจริง หรือใช้ยาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกร จนอาจก่อให้เกิดผลเสียอื่นๆ ตามมาอีก ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ถึงหลักการใช้ยาให้เข้าใจจนสามารถปฏิบัติได้จึงจะทำให้การใช้ยานั้นรักษาโรคให้หายได้และปลอดภัยด้วย

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจึงควรใช้ยาให้ถูกหลักการ ดังนี้

1. ใช้ยาให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น ควรให้แพทย์หรือเภสัชกรผู้รู้เป็นผู้จัดให้ เราไม่ควรซื้อยาหรือใช้ยาตามคำบอกเล่าของคนอื่นหรือหลงเชื่อคำโฆษณาต่างๆ เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรคอาจจะทำให้ได้รับอันตรายจากยานั้นได้หรือไม่ได้ผลในการรักษา และยังอาจเกิดโรคอื่นๆ แทรกซ้อน

2. ใช้ยาให้ถูกคน คือ ต้องดูให้ละเอียดก่อนใช้ยาว่า ยาชนิดใดใช้กับใคร เพศ อายุ เพราะอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนแต่ละเพศแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน รวมถึงสตรีมีครรภ์ก็ต้องคำนึงถึงทารกในครรภ์ด้วย เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านจากแม่ไปสู่เด็กในครรภ์ได้ อาจมีผลทำให้เด็กที่คลอดออกมาพิการ การใช้ยาในสตรีมีครรภ์จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

3. ใช้ยาให้ถูกเวลา คือ ช่วงเวลาในการรับประทานยาหรือการนำยาเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อให้ปริมาณยาในกระแสเลือดมีมากพอในการบำบัดรักษา โดยไม่เกิดพิษและไม่น้อยเกินไปจนไม่สามารถรักษาโรคได้ ยาก่อนอาหาร ต้องรับประทานอย่างน้อยก่อนครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึม ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าว ให้กินเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ยาที่รับประทานหลังอาหาร โดยทั่วไปจะให้รับประทานหลังอาหารทันทีหรือหลังอาหาร 15 นาที เพื่อให้เกิดการดูดซึมร่วมกับอาหารในลำไส้เล็ก ส่วนยาก่อนนอน ให้รับประทานหลังอาหารมือเย็นแล้วประมาณ 3-4 ชั่วโมง

5. ใช้ยาให้ถูกขนาด คือ การใช้ยาจะต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป ต้องให้ถูกขนาดตามแพทย์สั่งจึงจะได้ผลดีในการรักษา โดยคำนึงถึงโรคว่า โรคชนิดไหนต้องใช้ยาปริมาณเท่าไร ระยะเวลาและความถี่มากน้อยแค่ไหนจึงจะทำให้หายได้ เช่น ยาปฏิชีวนะต้องกินอย่างน้อยประมาณ 5-7 วันติดต่อกัน หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน เป็นต้น รวมถึงการใช้ยาน้ำที่บอกขนาดเป็นช้อนชา ช้อนโต๊ะ ซึ่งยังเป็นปัญหาเข้าใจกันผิดๆ เพราะไม่เท่ากับช้อนกาแฟหรือช้อนกินข้าว (ถ้าเป็นไปได้ควรซื้อช้อนหรือถ้วยยาที่บอกขนาดจากร้านขายยามาเก็บไว้ประจำตู้ยา)

6. ใช้ยาให้ถูกวิธี เนื่องจากการนำยาเข้าสู่ร่างกายมีหลายวิธี เช่น การกิน การฉีด ซึ่งการใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของยานั้นๆ ดังนั้นก่อนใช้ยาต้องอ่านฉลากแนะนำการใช้ก่อนทุกครั้ง

อย่างไรก็ตามการใช้ยาในการโรคต่างๆ จะหายไป หากเราเรียนรู้ที่จะรักตัวเองและมีวินัยในการดูแลตนเอง รวมถึงการหมั่นรับประทานยาที่ถูกต้องตรงต่อเวลาอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพที่ดีของเราทุกคน

Share :
go to top