อาการชา…อย่าปล่อยให้ชิน

Health / Others

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันคงจะหลีกเลี่ยงการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตไปไม่ได้เลย ในขณะที่ใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้เราก็มักจะเผลอตัวใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ อีกทั้งท่าทางในการนั่งใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ก็มักจะนั่งแบบไม่ถูกสุขลักษณะเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ชอบนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ รู้หรือไม่…ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการชา ไม่ว่าจะเป็นชาขา ชาเท้า หรือแม้กระทั่งชานิ้วเท้า อาการชาเหล่านี้ถ้าปล่อยไว้นานๆ จนชินคงไม่ดีแน่

ชา…อย่ารอจนชิน

คนที่มักมีอาการชาส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานและมักไม่ค่อยสะดวกไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเท่าไหร่นัก เนื่องจากการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจะต้องลางานและใช้เวลาค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ที่มีอาการชาจึงเลือกที่จะไปพบเภสัชกรที่ร้านขายยามากกว่า อาการชาส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งกดทับท่าเดิมซ้ำๆ นานๆ เป็นหลัก แต่หากเรื้อรังมากๆ ทานยาระยะหนึ่งแล้วยังไม่หายหรือมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ถ้าจะให้แน่ใจจริงๆ ควรตรวจร่างกายเพื่อดูปัจจัยอื่นประกอบ

ชา…เป็นๆ หายๆ อันตรายหรือไม่ 

โดยส่วนใหญ่อาการชาคนมักปล่อยให้ชินและจะแสวงหาการรักษาเมื่อรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น ชามากขึ้น ชาบ่อยขึ้น หรือเริ่มอ่อนแรงบริเวณที่ชา ในกรณีที่อาการชาเกิดจากปลายประสาทอักเสบโดยไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน อาจจะไม่ได้อันตรายมากนัก แต่อาการชาก็จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดี หรือถ้าเกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคกระดูกข้อเสื่อม หรือโรคอื่นๆ ต้องรีบหาสาเหตุที่แน่ชัดและรักษาแต่เนิ่นๆ ดีกว่าปล่อยให้เรื้อรัง เพราะนอกจากจะทำให้มีอาการเยอะขึ้นแล้วยังจะใช้เวลาในการรักษานานขึ้นอีกด้วย

(ยา) ไม่ปล่อยให้ชา…จนชิน

ส่วนใหญ่ในการให้คำปรึกษาคนไข้นั้นมักจะแนะนำการรับประทานยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น ลดการกดทับบริเวณที่ชา เลี่ยงอิริยาบทที่ทำให้ชามากขึ้น เป็นต้น เนื่องจากพฤติกรรมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการชา ดังนั้นจึงควรหาทางแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั้นๆ เป็นหลัก สำหรับยาที่ใช้รักษาจะเป็นกลุ่มของ มีโคบาลามิน ( วิตามิน 12 รูปแบบ active form) ซึ่งมีผลการศึกษาที่ใช้รักษาคนไข้ที่มีอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ โดยช่วยในส่วนของการซ่อมแซมเส้นประสาทโดยตรง บางรายหากต้องการวิตามินเสริมอาจใช้ในกลุ่มของวิตามินบี 1-6-12 ร่วม และกลุ่มของกาบาเพนตินหรือพรีกาบาลินควบคู่ได้ในบางราย ซึ่งระยะเวลาในการทานยาเพื่อรักษาอาการชานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการเป็นหลัก เภสัชกรจะสังเกตอาการเบื้องต้นเพื่อประเมินความรุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ก็จะแนะนำให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ แล้วประเมินอาการอีกครั้ง แต่หากมีโรคประจำตัวที่อาจเป็นปัจจัยเสริมให้มีอาการมากขึ้น เช่น เบาหวาน กระดูกและข้อ หรือมีภาวะขาดสารอาหาร เถสัชกรจะแนะนำให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องขั้นต่ำ 2-3 เดือน ควบคู่กับการประเมินอาการเป็นระยะ

ชา…แบบไหนควรไปพบแพทย์

อาการชาแบบที่ควรพบแพทย์อย่างทันท่วงที จะเป็นลักษณะของอาการชาที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจากภาวะหลอดเลือดแตก ตีบ หรืออุดตัน โดยคนไข้จะมีอาการชาข้างใดข้างหนึ่ง ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อน หรือเห็นครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ซึ่งคนไข้หรือคนรอบข้างควรสังเกตอาการโดยละเอียด 

ร้านขายยาถือเป็นแค่ด่านหน้าในเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน สำหรับคนไข้ที่มีอาการต่างๆ และยังไม่สะดวกที่จะไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลแล้วละก็ การปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาน่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เนื่องจากทางเภสัชกรสามารถทำการประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น รวมถึงให้คำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อช่วยรักษาและบรรเทาอาการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจาก ‘ยา’ นั้นมีคุณสมบัติในการรักษาอาการแต่ก็มาพร้อมผลข้างเคียงด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้วก่อนเลือกใช้ยาใดๆ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณ

บทความที่เกี่ยวข้อง