คลายสงสัย…ทำไมต้องกลืนแร่เมื่อเป็น ‘มะเร็งไทรอยด์’

มะเร็งไทรอยด์เป็นปัญหาสุขภาพที่เราต้องดูแลสุขภาพให้ดี ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ที่ลุกลามกลายเป็นก้อนมะเร็ง จากสถิติพบว่ามะเร็งไทรอยด์มักเกิดขึ้นกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์เผยว่ามะเร็งไทรอยด์จัดอยู่ในอันดับ 7 ของมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง

ชีวิตดี by hhc thailand มีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับมะเร็งไทรอยด์ พร้อมวิธีการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี การเตรียมตัว และการปฏิบัติตัวระหว่างการรักษามาฝากกันค่ะ

ต่อมไทรอยด์อยู่ตรงไหน?

ตำแหน่งของไทรอยด์จะอยู่ช่วงกึ่งกลางลำคอแถวๆ หลอดลมและกล่องเสียง (ถ้าเป็นผู้ชายก็คือบริเวณลูกกระเดือก) ต่อมนี้จะมีสองข้างซ้ายขวา มีจุดเชื่อมตรงกลาง จึงดูเหมือนผีเสื้อที่กางปีกสองข้าง แต่ละข้างมีขนาดประมาณ 4×2 เซ็นติเมตร และมีนํ้าหนักประมาณ 15-25 กรัม  

ความสำคัญของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นหนึ่งในต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญในการสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ดังนั้น หากต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติ เช่น มีค่าไทรอยด์ต่ำไป หรือสูงเกินไป ก็จะส่งผลให้ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติตามไปด้วย ในกรณีที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำไป ระบบเผาผลาญก็จะทำงานได้ไม่ดี จึงมักมีอาการเฉื่อยชา อ่อนแรง น้ำหนักเพิ่ม ท้องผูก เป็นต้น ซึ่งตรงข้ามกับคนที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนสูง มักจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักน้อย (ทั้งที่กินเยอะ) และท้องเสียง่าย เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์?

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์มักมาพบแพทย์หลังจากคลำเจอก้อนที่ลำคอ โดยมักเป็นก้อนที่มีลักษณะแข็ง อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน รวมทั้งอาจมีอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริเวณลำคอร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก หายใจลำบาก เสียงแหบ หรือมีอาการบวมที่ต่อมน้ำเหลือง อย่างไรก็ตาม การคลำพบก้อนที่คอก็อาจไม่ใช่ก้อนมะเร็งเสมอไป แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที 

การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติและการตรวจเลือด จากนั้นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดต่อไป เช่น อัลตราซาวนด์เพื่อดูลักษณะรูปร่างของก้อนเนื้อ หรือการเจาะเอาเซลล์ที่ชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาหรือเป็นเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงการวางแผนรักษาที่เหมาะสมกับอาการและระยะของโรค 

การรักษาด้วยไอโอดีนรังสี

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว แนวทางการรักษาขั้นต่อไปมักเป็นการ ผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือผ่าออกข้างใดข้างหนึ่ง (ข้างที่มีปัญหา) หรืออาจผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอด้วยถ้าหากเซลล์มะเร็งนั้นกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอแล้ว 

นอกจากนี้วิธีการรักษาที่มีบทบาทไม่แพ้กันก็คือการรักษาด้วยสารไอโอดีนรังสี (I-131) ที่มักอยู่ในรูปของยาเม็ดแคปซูล และยาน้ำ เมื่อเรากลืนสารไอโอดีนรังสีเข้าไป (ที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “กลืนแร่”) รังสีไอโอดีนจะช่วยจัดการเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลือหลังการผ่าตัด ทั้งบริเวณไทรอยด์และบริเวณรอบๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ปอด และกระดูก รวมทั้งช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลือหรือเกิดขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น การกลืนแร่เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งโดยที่ไม่ทำลายเซลล์ปกติ ซึ่งปริมาณการกลืนแร่จะแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับอาการของโรค

การเตรียมตัวก่อนได้รับรังสีไอโอดีน

  • งดอาหารที่มีไอโอดีนสูงก่อนการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ เช่น อาหารที่มีรสเค็มจากเกลือไอโอดีน หรืออาหารที่มีธาตุไอโอดีนสูง เช่น อาหารทะเล
  • งดยาต้านไทรอยด์เพราะมีผลต่อการจับตัวของไอโอดีนในต่อมไทรอยด์
  • งดการตรวจร่างกายที่ใช้สารทึบรังสีอย่างน้อย 1 เดือน
  • คุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ลดโอกาสที่รังสีจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์

การปฏิบัติตัวหลังได้รับรังสีไอโอดีน

  • รังสีไอโอดีนที่ได้รับเข้าไปจะมีการขับออกมาผ่านทางน้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ และสารคัดหลั่งต่างๆ ดังนั้น ช่วงเวลาหลังจากได้รับรังสีไอโอดีนประมาณ 1 สัปดาห์ (หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต) ควรรักษาระยะห่างจากผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กและสตรีมีครรภ์ 
  • งดการให้นมบุตร งดการมีเพศสัมพันธ์ (รวมทั้งคุมกำเนิดต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน) รวมไปถึงไม่ใช้เสื้อผ้าและอุปกรณ์ของต่างๆ ร่วมกับผู้อื่นด้วย 
  • ควรดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากเป็นพิเศษ (อย่างน้อย 1 ลิตรต่อวัน) เพื่อขับสารรังสีออกจากร่างกาย 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และงดการออกกำลังกายอย่างหนัก อย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • หลังกลืนแร่ 24 ชม. สามารถกินยาต้านไทรอยด์ได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ 
  • พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนกว่าปริมาณรังสีในร่างกายจะลดลงมาในระดับที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่น
  • หลังการรักษา ควรกลับมาพบแพทย์ตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อตรวจติดตามผล และปรับลดขนาดและชนิดของยาให้เหมาะสม 

ปัจจุบันแพทย์และนักวิจัยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเป็นมะเร็งไทรอยด์ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็คือ ปริมาณไอโอดีนที่ร่างกายได้รับ (น้อยเกินไป) การมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งไทรอยด์ มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือมีประวัติเคยได้รับรังสีบริเวณต่อมไทรอยด์มาก่อน แต่แม้ว่าจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมานี้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีทางเป็นมะเร็งไทรอยด์ และคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นมะเร็งไทรอยด์เสมอไปเช่นกัน รวมทั้งในผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกอาจคลำไม่พบก้อนอะไรเลย (แต่มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว)

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้มีหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รักษาสมดุลของอาหารการกินและการใช้ชีวิต รวมทั้งตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และหากพบความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายก็ควรหาเวลาไปพบแพทย์ทันทีก่อนที่จะสายเกินไป

อ้างอิง:
www.si.mahidol.ac.th
www.dms.go.th
www.thaicancernews.nci.go.th 
www.chulacancer.net

Share :
go to top