เมย์ลภัส บุญสิทธิ์วิจิตร นักจิตวิทยาที่ปรึกษาที่เชื่อว่าทุกคนคู่ควรกับความรักที่ดี

Human

การมีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลมากมายที่มาพร้อมประสบการณ์และมุมมองชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สำหรับเราแล้วถือเป็นโชคดีของชีวิต และ มิล – เมย์ลภัส บุญสิทธิ์วิจิตร นับเป็นหนึ่งในบุคคลที่ว่านี้ เพราะเธอมีทั้งมิติของอาชีพและชีวิตส่วนตัวที่ลึกและกว้าง ยิ่งเราเจาะเข้าไปค้นหาตัวตนเธอมากเท่าไหร่ เรายิ่งไปพบลิ้นชักอีกมากมายซ่อนอยู่ และลิ้นชักของเธอเหล่านั้นได้ประกอบร่างกลายเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ยังมีพื้นที่อีกเหลือเฟือสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบของเธอ และความรู้เหล่านั้นไม่เพียงจะเป็นประโยชน์กับตัวของมิลเองเท่านั้น แต่เธอยังนำสิ่งที่ได้สั่งสม เรียนรู้ และตกผลึกมาช่วยเหลือคนรอบข้าง รวมถึงผู้คนในสังคมที่เธออาศัยอยู่ในฐานะนักจิตวิทยาที่ปรึกษา นักจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการเป็นนักออกแบบกระบวนการพัฒนาภาวะผู้นำแบบกลุ่มโดยใช้หลักการ Transformative Learning และ Contemplative Education (จิตตปัญญาศึกษา) รวมทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง My Home at Last สถานที่ที่เธอรักและทำด้วยใจเพื่อให้ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนในการสร้างความตระหนักรู้ในตัวเอง เข้าใจธรรมชาติของชีวิต และมีความสัมพันธ์ที่สอดคล้องสมดุลในครอบครัวและสังคม 

นี่คือการย่อบทสนทนาความยาว 2 ชั่วโมงให้สั้นที่สุด แต่ยังคงความเข้มข้นของความคิดและทัศนคติซึ่งมีทั้งความเข้มแข็ง อ่อนโยน และอ่อนแอในฐานะมนุษย์แท้ๆ คนหนึ่ง และแม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่มิลบอกกับเราว่า ไม่ว่าใครก็ตามคู่ควรกับความรักที่ดี โดยเฉพาะความรักที่มีต่อตัวเอง เราเชื่อว่าถ้าคุณอ่านแล้ว คุณจะรักตัวเองมากขึ้นอีกหลายๆ เปอร์เซ็นต์เลยล่ะ

มิลนิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักชอบเรียน’ ซึ่งเราเองก็เห็นพ้องกับสิ่งที่เธอเล่า เธอสตาร์ทชีวิตวัยรุ่นตอนปลายในคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ โทภาษาจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่ที่ทำให้เธอรู้ว่านอกจากเรื่องภาษาแล้ว ตัวเองยังสนใจเรื่องการทำงานเพื่อสังคมและกับคนอยู่มาก จนใจแรกคิดไว้ว่าอยากไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Public Policy เมื่อเรียนจบ แต่ทางครอบครัวแนะแนวทางว่าสาขา MBA น่าจะเป็นสายความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างกว่า เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อ MBA ณ Georgetown University ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบ ประจวบเหมาะกับที่บริษัท Exxon Mobil ต้องการหาคนไทยไปทำงานที่เมืองไทยพอดี เมื่อผ่านการสัมภาษณ์เธอจึงได้ย้ายกลับมาที่บ้านเกิด

“หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่ง เราแต่งงานและมีลูก ช่วงที่มีลูกนี่แหละเป็นช่วงที่พบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาก เพราะจากมนุษย์เงินเดือนที่เคยมีความสุขกับการทำงาน กับการแสวงหาความก้าวหน้าให้ชีวิต และมีแนวโน้มว่าจะอนาคตไกลในสายอาชีพที่ทำอยู่ พอมีลูกปุ๊บ เราไม่รู้แล้วว่าจะทะเยอทะยานไปเพื่ออะไร เลยขอเจ้านายลาออก ตอนนั้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เจ้านายให้เราทำงานแบบ work from home อยู่หนึ่งปี เวลานั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ก็ว่าได้กับการทำงานอยู่บ้าน พอครบปี เราตัดสินใจลาออก พอมาเป็นแม่ 100% เราพบว่าชีวิตไม่ได้สวยหรู เรียกว่าทรหดมากเลยก็ว่าได้ เนื่องด้วยว่าลูกชายคนแรกของเราเป็นเด็กเลี้ยงยากคนหนึ่งและยังมีอุปสรรคด้านการเรียนในโรงเรียนพอสมควร เวลานั้นเราตัดสินใจให้ลูกเรียนแบบโฮมสคูล (Home School) ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่มากอีกเช่นกัน จุดนี้เองที่ทำให้เรากลับมาสนใจเรื่องการพัฒนาภายในจิตใจอีกครั้ง เพราะตอนเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นประถม เรามีความสนใจอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือศิลปะ กับสองคือเรื่องการพัฒนาจิตใจ โดยศึกษาจากการนั่งสมาธิและอ่านหนังสือธรรมะไปเรื่อยๆ เหมือนกับได้ยินอะไร ได้ฟังอะไรก็ศึกษาเอาเองแบบนั้น เราชอบสังเกตพฤติกรรมของคน อย่างเช่นบางครั้งครอบครัวเรียกมากินข้าวด้วยกัน เราจะไม่ไปกินข้าวพร้อมพวกเขา แต่จะมามองลอดใต้ช่องบันไดเพื่อสังเกตว่าเวลาที่เราไม่อยู่ พ่อแม่เรา พี่น้องเรา หรือคนอื่นๆ ในบ้านมีพฤติกรรมแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ด้วยความสนใจอยากศึกษาเรื่องจิตใจของคนมาตั้งแต่เด็กจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทอีกใบ ชื่อจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันแรกและสถานบันเดียวในไทยที่เปิดสาขาวิชานี้ขึ้น 

“สำหรับจิตตปัญญาศึกษาเป็นการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาจิตใจ เป็นการเรียนเพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้อีกทีหนึ่ง จิตตปัญญาในเวลานั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่แบบที่ทุกคนถามเลยว่าเรียนแล้วจบมาจะทำอะไร แต่เราเรียนเพราะอยากรู้ว่ากระบวนการเรียนรู้แบบไหนที่แปรเปลี่ยนคนได้จริง อยากรู้แค่นั้นเลย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากการเรียนในครั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะนำความรู้ไปทำอาชีพอะไรแบบนั้นนะคะ แต่คือการแปรเปลี่ยนตัวเราเองได้จริงจากข้างใน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายทางการศึกษาของการเรียนสาขาวิชานี้ 

“และจุดเปลี่ยนที่ว่าคือตอนที่เราทำวิทยานิพนธ์ ตอนแรกหัวข้อที่เราจะทำคือเรื่องการศึกษาการพัฒนาครู เพราะเป็นคนที่อินเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาและทำโฮมสคูลมาด้วย แต่เอาเข้าจริงเราทำไม่ออก ไม่รู้ทำไม เหมือนไม่มีแรงที่จะทำต่อ จนอาจารย์ที่ปรึกษาถามว่า ‘ทุกอย่างที่มิลทุ่มเทไปทั้งหมด มิลทำไปเพื่ออะไร?’ เราอึ้งมากกับคำถามนี้ เพราะคิดมาตลอดว่าที่เราทำวิทยานิพนธ์ก็เพราะเราอินกับเรื่องการศึกษา เพราะเราเห็นความสำคัญของการศึกษาไงล่ะ เลยเว้นช่วงการทำวิทยานิพนธ์ไปเลย ตอนนั้นคิดว่าจะดร็อป ไม่เรียนแล้ว เพราะรู้สึกว่าเราได้วิชาแล้ว ไม่ได้ต้องการปริญญา อาจารย์ท่านแนะนำว่าไม่ต้องดร็อป แต่ให้เวลาเรา เราเลยกลับมานั่งเขียนบันทึกเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ (Journal) เพื่อดูว่าตัวเราทำอะไรต่างๆ ในแต่ละวันไปเพื่ออะไร จนได้คำตอบว่าเราทุ่มเททำไปก็เพื่อลูกไงหละ เหมือนจะเป็นคำตอบง่ายๆ แต่มันมากระแทกใจเราอย่างมาก เราจึงเริ่มสนใจประสบการณ์ในจิตใจของคนเป็นแม่ ว่าอะไรกันนะ ที่ทำให้คนเป็นแม่มีแรงขับเคลื่อนที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ขนาดนี้ นั่นเลยเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เข้าไปศึกษาประสบการณ์ภายในของความเป็นแม่ ใช้ตัวเองเป็นงานศึกษา โดยเราจะเขียนบันทึกทุกวันถึงประสบการณ์ของตัวเอง แม่คนนี้ที่เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งดูเผินๆ แล้วไม่ได้มีประเด็นอะไรที่น่าสำรวจ แต่กลับกลายเป็นหัวข้อที่นักวิจัยละเลย เพราะในชีวิตแม่คนธรรมดานี่แหละที่มีเนื้อชีวิตน่าสนใจและยังไม่มีใครพูดถึงอยู่ 

“แล้วพอเราได้ใช้กระบวนการเขียนเชิงภาวนาเพื่อศึกษาประสบการณ์ภายในจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับตัวตนของเรามาก เพราะว่าความเป็นแม่ของเราจริงๆ แล้วกลับสะท้อนความเป็นตัวเราได้อย่างดี โยงไปถึงนิยามความเป็นเราที่ได้รับอิทธิพลจากการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ของเราอีกทอดหนึ่ง พอเราภาวนาผ่านการเขียนมากขึ้นๆ เราจึงคลายความยึดมั่นถือมั่นของตัวเองลง ทำให้เราเข้าถึงพลังชีวิตได้มากขึ้น รู้ว่าเราเป็นใคร มีข้อจำกัดแค่ไหน มีจุดอ่อนอะไร มีความตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น อยู่กับคนอื่นได้สอดคล้องและกลมกลืนมากขึ้น ทำให้มีความสุขกับการเลี้ยงลูกมากขึ้น จากก่อนหน้าที่รู้สึกเหมือนว่าจะต้องพิสูจน์อะไรบางอย่างกับการเลี้ยงลูก มีคำถามอยู่ตลอดว่าฉันเป็นแม่ที่ดีหรือเปล่า จะพาลูกไปถึงตรงนั้นตรงนี้ได้ไหม พอคลายได้ เราเลยไม่ใช้ชีวิตที่ตรากตรำแบบเดิมอีกต่อไป แต่เป็นการเลี้ยงลูกตามจังหวะชีวิตของเขา เพราะฉะนั้น การจบปริญญาจิตตปัญญาศึกษาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามากแบบที่ไม่ต้องทำเป็นอาชีพก็ได้ เพราะแค่มันแปรเปลี่ยนตัวเราได้คือจบแล้ว”  

“ตั้งแต่ตอนที่เรียนปริญญาโทที่มหิดล เราได้เริ่มจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคุณครู ทำห้องเรียนจิตวิทยาความเป็นครู และจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ ให้กับคนทั่วไปแล้ว จนเริ่มมีคนสนใจ ซึ่งคือฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากองค์กรต่างๆ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เรามาเปิดบริษัทเล็กๆ ของตัวเองเพื่อให้บริการด้านพัฒนาบุคลากรขององค์กร ในขณะเดียวกันก็เปิดศูนย์การเรียนรู้คณิตศาสตร์เพื่อรองรับการเรียนของลูกชายที่เรียนแบบโฮมสคูลชื่อ Math a Day ด้วย ซึ่งแม้โรงเรียนนี้ปิดตัวไปตามอายุวัยที่เติบโตของลูก แต่ระหว่างที่ทำโรงเรียน Math a Day เราพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่พาลูกมาเรียนมักถามเกี่ยวกับเรื่องวิธีการเลี้ยงลูก หลักจิตวิทยาการเลี้ยงลูก ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน เรายังทำงานอีกงานคู่ไปด้วยนั่นคือการให้คำปรึกษาผู้บริหาร เลยได้เห็นว่าปัญหาที่เราช่วยเขาไม่ใช่ปัญหาองค์กร แต่เป็นปัญหาด้านจิตใจมากกว่า สองงานนี้มีส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ จึงตัดสินใจไปเรียนด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (Counseling) อย่างจริงจัง เป็นปริญญาโทด้านจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

“ถ้านับการศึกษา เราเรียนปริญญาโท 3 ใบ คือ MBA, จิตตปัญญาศึกษา และจิตวิทยาการปรึกษา จากนั้นจึงมาเปิดศูนย์ที่ปรึกษาของตัวเอง ปัจจุบันมีชื่อว่า My Home at Last ที่เอกมัยโดยมิชชั่นที่อยากทำคือการขยายส่วนทักษะเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เราอยากทำให้คนรู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น ณ ตอนนี้ ถ้าในประเทศไทย เราเห็นมีคนทำอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าที่เป็นหลักสูตรแบบเฉพาะเจาะจงเลยอาจจะยังมีไม่มาก เราจึงอยากขยายความรู้ตรงนี้ให้มากกว่านี้ 

“จากการที่เราได้ให้คำปรึกษาผู้คนหลากหลายบทบาทสาขาอาชีพ ทำให้เห็นความสำคัญของผลกระทบจากความสัมพันธ์ในครอบครัว อย่างที่เล่าว่าตอนที่เปิดโรงเรียนสอนคณิตศาสตร์มีผู้ปกครองมาปรึกษาว่าเขามีปัญหาอะไรบ้างและจะทำอย่างไรดี จะคุยกับคุณครูอย่างไรดี จะสื่อสารกับลูกอย่างไรดี จนได้คำตอบตอนที่ทำงานวิจัยว่าสิ่งที่เรายึดมาจากการเลี้ยงดูมีผลกระทบต่อเราจนถึงปัจจุบันอย่างที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย เราคิดว่าพ่อแม่เราเลี้ยงเรามาอย่างดี เติบโตบนความรักและความอบอุ่น ไม่น่าจะมีปมที่ค้างคาในใจที่เราไม่คลี่คลายได้เลยนะ แต่เราไม่รู้ตัวว่าจริงๆ ว่าอาจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่คลี่คลายในใจ แล้วยังคงมีผลต่อใจเราในปัจจุบัน จริงๆ การเลี้ยงลูกไม่ได้มีสูตรสำเร็จ พ่อแม่นี่แหละจะเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงลูก ถ้าเราสามารถที่จะมีความตระหนักรู้จักตัวเองได้ดี มองเห็นจากฝั่งของลูกได้อย่างที่เขาเป็นจริงๆ เท่านี้เลยนะคือการเลี้ยงลูกได้อย่างสมบูรณ์แล้ว 

“ถ้าจะแบ่งปันความรู้ที่คิดว่าหากได้เรียนรู้แล้วจะเป็นประโยชน์มากๆ เลยสำหรับผู้ปกครอง คือหนึ่งพัฒนาการมนุษย์ ไม่ใช่พัฒนาการเด็กนะคะ สองกระบวนการทำงานในจิตใจของตัวเอง และสามเครื่องมือการสื่อสาร เราจะสอน 3 อย่าง สำหรับปัญหาที่เข้มข้นมากๆ ของพ่อแม่ที่เจอมา เช่น เรื่องการจัดการอารมณ์ของตัวเอง ไม่ว่าเมื่อลูกไม่ทำตามแบบที่เราต้องการ แล้วสิ่งนั้นเรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่น ลูกติดเกม จากแต่เดิมเด็กๆ เชื่อฟังเราทุกอย่างเพราะว่าเราโตกว่า มีอำนาจมากกว่า เราให้ความรักเขา เราคือคนที่กายสิทธิ์สำหรับลูก แต่เมื่อมาถึงวัยหนึ่ง เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีความคิดเป็นของตัวเอง และเลือกชีวิตของเขาได้ เขาจะเริ่มทดสอบขอบเขตว่าเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน ดังนั้น จากเด็กที่เคยเชื่อฟังพ่อแม่ เคยเรียนดี เคยลงมากินข้าวด้วยกัน กลับเป็นเด็กเก็บตัวไปนั่งเล่นเกม ในกรณีแบบนี้ก็ทำให้พ่อแม่ที่ทุ่มเทเหมือนคนอกหัก ในเวิร์กช็อปที่เราทำ เราจะพาพ่อแม่เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวและความรู้สึกของพวกเขาในพื้นที่ปลอดภัย ที่เขาจะได้ใช้เครื่องมือในการเรียนรู้จากตัวเอง เริ่มได้กำลังใจจากกันและกัน ให้โอกาสตัวเองและลูกค่อยๆ ปรับตัว มีทักษะที่จะสื่อสารกับลูกๆ อย่างถูกต้อง รวมถึงมีโอกาสที่จะมองเห็นด้วยว่า จุดที่เราไม่ไหวหรือไม่ชอบตัวเองรากของมันเกิดจากอะไร เช่น คุณแม่บางคนพบว่าที่ฉันทำทุกวันนี้เพราะฉันอยากจะเป็นแม่ที่ดีพอ ซึ่งเมื่อเขาตระหนักรู้ว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เขาดีเพียงพอแล้ว ใจเขาจะเริ่มสงบ แล้วจะเริ่มกลับมาสู่การปฏิบัติว่า แม่ที่ดีมากพอจะปฏิบัติกับลูกอย่างไรในสถานการณ์นี้ เช่น วันนี้ลูกไม่ยอม วันหน้าค่อยพูดใหม่ ค่อยๆ พูดกันในยามที่ลูกไม่เล่นเกม มีการเตือนกันก่อนหน้านั้นโดยใช้น้ำเสียงที่มั่นคง ไม่อ่อนเกินไปเหมือนยอมลูก และไม่ได้ข่มขู่เกินไป มีข้อตกลงกันในครอบครัว เด็กเองก็จะได้เรียนรู้ว่าแม่เอาจริงนะ แต่แม่ไม่ได้เกรี้ยวกราด เมื่อเราน่าเคารพ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ลูกจะให้ความร่วมมือ แบบนี้เป็นต้น 

“การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นคือพ่อแม่มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หนักแน่นกับตัวเองมากขึ้น มีวิธีการรับมือกับอารมณ์ของลูกได้ดีขึ้น ไม่ใช่ละเลย คนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าหนึ่งในปมค้างใจในวัยเด็กหรือบาดแผลทางใจในวัยเด็กไม่ใช่ว่าจะเกิดจากความรุนแรงทางกายหรือวาจาเท่านั้น แต่หนึ่งสิ่งสำคัญที่ทุกคนนึกไม่ถึงคือการละเลยอารมณ์และความรู้สึกของลูกๆ ด้วย เราอาจจะมองในมุมพ่อแม่ว่าอย่าเล่นเกมสิ แต่เราลืมที่จะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเขาว่า เพื่อนๆ ของเขาเล่นหมดเลยนะ อย่างน้อยรับรู้ความรู้สึกของเขา แต่เรายังยืนหยัดในขอบเขต ในกฎเกณฑ์ได้อยู่ ดังนั้น พ่อแม่เองก็จะได้เรียนรู้วิธีการรับรู้อารมณ์ของเด็ก การรับมือกับอารมณ์ตัวเอง การฝึกทักษะการสื่อสารที่จะมีวิธีการสื่อสารแบบเฉพาะพ่อแม่ที่จะสื่อสารอย่างไรเพื่อที่จะไม่ต้องมีใครแพ้หรือชนะ (No-Lose Method) และมีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้รับความร่วมมือจากลูกด้วย นี่คือพาร์ทหนึ่งของชีวิตที่ผ่านมาและปัจจุบันที่เราทำอยู่ค่ะ”

“สำหรับนักจิตวิทยา เรามีตัวเองเป็นเครื่องมือดูแลคนอื่น ถ้าใจเราไม่ใส เราจะอยู่กับคนอื่นแบบขุ่นหมอง ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราหมั่นทำอยู่เสมอคือการสวดมนต์และนั่งสมาธิ สอง ทุกๆ ครั้งเวลาที่ทำเคส (Session Counseling) เราต้องตระหนักรู้ให้ชัดมากๆ เลยว่าเรามีคำตัดสินเขาหรือเปล่า คำตัดสินนี้มาจากไหน เราต้องทันคำตัดสินใจของเราและเราต้องวางลงให้ได้ เช่น เมื่อเรารับฟังคนคนหนึ่งกำลังตำหนิคุณพ่อคุณแม่ ขณะที่เราฟังเรื่องราวทั้งหมด เราคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ดีกับเขามากเลย เราตัดสินเขาไหมว่าเธอเป็นลูกที่ไม่ดี ถ้าเราตัดสินเขาแบบนั้นไปแล้ว เราจะไม่สามารถเข้าใจเขาได้เลย เพราะเรามีกำแพงกับเขาไปแล้ว แต่แน่นอนในบางครั้งเราห้ามตัวเราไม่ได้หรอก เพียงแต่เราต้องตระหนักรู้และวางคำตัดสินนั้นลง แล้วลองอยู่กับเขาจริงๆ ว่าที่มาที่ไปของสิ่งที่เขารู้สึกนั้นเกิดจากอะไร เมื่อลงลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้ว เราจะเริ่มเข้าใจเขามากขึ้นและให้คำปรึกษา รวมถึงแนะแนวทางที่เหมาะสมกับเขาได้จริงๆ ด้วยใจที่ว่างๆ 

“การทำงานในเคสต่างๆ เราจึงต้องปลุกความตระหนักรู้ของเราให้ถ้วนทั่วมากที่สุด รวมถึงต้องมีแผนที่ในการนำทางของเราซึ่งตรงนี้จะต้องคอยหมั่นศึกษาตำราและอัพเดทตัวเองตลอดเวลา เราอ่านหนังสือทุกวันและวันละหลายๆ เล่มเพื่อให้เราชัดในแผนที่ของตัวเองมากที่สุด และข้อสุดท้าย เราจะต้องทำสรุปเคส ซึ่งการสรุปเคสในแนวทางบำบัดของเรา นอกจากจะนำเคสมาลองวิเคราะห์แล้ว เราจะวิเคราะห์ตัวเราเองด้วยว่า ณ เวลานั้นที่เราอยู่กับเคส เราเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร มีอะไรในชีวิตของเราที่เชื่อมโยงกับผู้ที่เราดูแลบ้างไหม มีอะไรที่แตกต่างบ้าง คนเราจะเชื่อมโยงด้วยความเหมือน เติบโตด้วยความแตกต่าง หมายความว่าเราจะรู้สึกถึงเนื้อชีวิตของเขาได้เลยเมื่อเรารู้สึกเชื่อมโยงกับเขา แต่บางอย่างที่เราอาจจะไม่เหมือนกัน อาจเคยเป็นแบบนั้นมาแล้ว ก้าวข้ามมันมาแล้ว เราก็จะได้เห็นแนวทางที่เราจะพาเขาก้าวข้ามในวิธีของเขาด้วย 

“นอกจากสิ่งที่เล่ามาแล้ว อีกหนึ่งอย่างสำหรับการทำงานของเราคือต้องมีกลุ่มปฏิบัติ (Community of Practice) อย่างตัวเราเองก็จะคอยพบและพูดคุยกับทั้งจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เพื่อที่จะนำเคสมาถกกัน โดยไม่ได้คุยว่าเคสคือใคร แต่จะคุยถึงตัวเราเองว่า เราทำอะไรได้ดีกว่านี้อีกไหม เราติดตรงไหน สุดท้ายคือการมีอาจารย์คอยชี้และนำทางอีกทีหนึ่งว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหนหรือเปล่า ถือเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ทำงานอย่างหนักหน่วงเหมือนกัน บางทีเคสหนึ่งเราอ่านตำรา 5-6 เล่มเลยก็มี แต่คงเพราะเราชอบและมีความสุขในสิ่งที่ทำอยู่ จึงไม่เคยรู้สึกเหนื่อยและรู้สึกกระตือรือร้นมากๆ ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นงานที่ต้องทำ หรือเพราะเขาจ่ายสตางค์มานะเราจึงต้องทำอะไรแบบนั้น แต่เป็นเพราะว่าเราเห็นเขาแล้ว ในความคิดและความรู้สึกคืออยากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาคลายจากทุกข์ เพราะเรารู้ว่าเราพาเขาออกได้แน่ แค่ตรงนี้เอง แค่นิดเดียวเองนะ”

หากย้อนเวลากลับไปดูเหตุการณ์ในอดีต เราจะพบว่าเส้นทางชีวิตของมิลเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทั้งการอยู่ท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น มีความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาและหน้าที่การงานที่ใครต่างชื่นชม ทว่า ท่ามกลางกลีบกุหลาบนั้น ยังมีหนามเล็กๆ ซ่อนอยู่ในเส้นทางนั้นด้วย การต้องก้าวข้ามภาวะจิตใจในบทบาทแม่ การทำงาน หรือความเป็นตัวตนของตัวเอง ซึ่งเธอต้องเรียนรู้ ยอมรับ กระทั่งแก้ไขและปรับจูนให้ชีวิตสามารถดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน เราไม่รู้ว่าจะเรียกว่าชัยชนะได้ไหม แต่เวลานี้มิลข้ามผ่านความยากลำบาก ณ ห้วงเวลานั้นมาแล้ว ได้กลับมารักตัวเอง มีตัวเองอยู่ในลำดับแรกๆ ของสมการชีวิต ที่สำคัญคือการนำประสบการณ์ชีวิตของเธอมาช่วยเหลือคนอื่นต่อ

“ย้อนกลับไปตอนที่เราคลอดลูกคนแรก ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าหลังคลอด แล้วมีผลกระทบต่อครอบครัวสูงมากเช่นกัน ถ้าตอนนั้นมีคนให้ความรู้เรื่องนี้มากขึ้นเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ก็คงจะดี แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าอะไรเกิดอะไรขึ้นกับเรา รู้แค่ว่าจิตเราตก อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้ ซึ่งเราดีลกับความรู้สึกนั้นด้วยการนั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ เยียวยาจิตใจตัวเองไป แต่จริงๆ แล้ว ถ้าตอนนั้นมีกระบวนการทางจิตใจมาช่วยด้วยน่าจะช่วยได้เยอะกว่านี้ คิดว่าน่าจะพาตัวเองขึ้นมาจากหลุมลึกนั้นได้เร็วกว่านี้ แม้ว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนาจะช่วยได้มาก แต่เราต้องเผชิญภาวะนั้นยืดยาวเป็นปีสองปีเลย 

“คงเพราะตัวเราผ่านเฟสของชีวิตมาแบบขึ้นเขาลงห้วยมาเยอะอย่างที่เล่า ซึ่งคนภายนอกอาจจะมองไม่ออก เราเลยไม่อยากให้ใครก็ตามต้องเผชิญประสบการณ์แบบเดียวกัน ถึงเป็นเหตุผลว่าถ้ามีโอกาสช่วยเหลือใคร ด้วยสายอาชีพและประสบการณ์ชีวิตที่เราพอจะช่วยเหลือได้ เราจึงอยากช่วยย่นระยะให้เขาไม่ต้องทนทุกข์นาน ให้เขาได้รู้จักวิธีและเครื่องมือที่จะเยียวยาและจัดการความทุกข์ของเขาได้ เพราะเรารู้ว่าเวลาที่ต้องทุกข์มันทุกข์มากแค่ไหน เราเข้าใจในเนื้อชีวิตของมนุษย์ สามารถเชื่อมโยงกับคนที่มีความทุกข์ เช่น ผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกแล้วเจอความยากเป็นอย่างไร เข้าใจว่าคนเป็นแม่ที่ภูมิใจเมื่อเลี้ยงลูกแล้วดีเป็นอย่างไร หรือการที่ใครสักคนตกทุกข์ได้ยากเหมือนกับเราในบางจังหวะชีวิต ทั้งเรื่องอาชีพการงาน ทั้งเสียความเคารพในตัวเอง หรืออะไรก็ตามเป็นอย่างไร

“เอาเข้าจริง ทุกคนต่างก็ประสบความยากลำบากในชีวิตกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะมีโอกาสใคร่ครวญมากพอไหม บางทีเราไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นเพราะเราอาจเผลอคิดไปว่า เราไม่เห็นเนื้อชีวิตเราในเขา อย่างเช่น เราบอกว่า คนคนนี้เห็นแก่ตัว แต่เรายังไม่เคยคิดว่ามีข้างในเนื้อชีวิตเราไหมที่เราเผลอไม่คิดถึงคนอื่นเพราะมัวแต่จะต้องเอาตัวรอดก่อน พวกเขาเหล่านั้นที่เราตำหนิอาจจะเป็นคนแบบนั้นก็ได้นะ เขาอาจจะเป็นคนที่ตกทุกข์มามากจนกระทั่งไม่มีพื้นที่ช่วยเหลือคนอื่น เพราะเขาต้องช่วยตัวเองก่อน แล้วเราไปเหมาว่าเขาเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเราเชื่อมโยงเขาได้ เราจะมีความเห็นอกเห็นใจเขาได้มาก จะช่วยเขาได้มาก แต่หากเราตัดสินเขาไปแล้ว นั่นจะทำให้ไม่เกิดการเชื่อมโยงกัน จะรู้สึกว่าคนคนนี้เป็นศัตรู ซึ่งการได้เข้าใจเนื้อชีวิตจะเป็นหนทางที่ทำให้เราสามารถชวนเขาไปตรงนู้นตรงนี้ได้ เพื่อให้เห็นว่ามีอีกหลายๆ วิธีนะที่จะเอาตัวรอด เพียงแต่เขายังไม่รู้ แม้แต่นักจิตวิทยาเองก็มีจังหวะชีวิตแบบนั้นเช่นกัน เพียงแต่เราโชคดีที่มีเครื่องมือซึ่งเรียกว่าการรู้เนื้อรู้ตัว เรียกว่าโชคดีที่ได้รู้ตัวก่อนที่เราจะเป็น ประมาณว่าอีกนิดเดียวฉันจะไปแล้วนะเหมือนกัน อะไรแบบนั้น” 

“จริงๆ แล้ว ตัวเราทุกวันนี้ที่ดำเนินชีวิตไป มันมีตัวเรากับตัวเราอีกคนที่มองเราอยู่ แต่คนส่วนใหญ่จะเป็นตัวเราเลย ไม่มีอีกคนนั้น สิ่งที่เราอยากชวนคนมาฝึกกันคือการแยกตัวเองออกมาเพื่อให้มองเห็นตัวเองได้ คล้ายๆ การถอดร่าง ถอดจิต อันนี้เราเรียกว่าความตระหนักรู้ หากเราถอยออกมามองตัวเองได้ เราจะเห็นได้ว่า ตอนนี้ชีวิตฉันรู้สึกอย่างไร เริ่มจากแค่นี้ก่อนเลย อย่างบางคนเวลาที่มาหาเรา เขายังไม่รู้ตัวเลยนะว่ากำลังหงุดหงิด เขาบอกไม่ได้ และอาจจะไม่กล้าบอกด้วย เพราะเขารู้สึกว่าความหงุดหงิดเป็นสิ่งไม่ดี แต่พอเขาตระหนักรู้ได้ เราจะทำให้เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร มาตอนไหน ตอนที่มาก้อนความหงุดหงิดนี้เป็นอย่างไร เมื่อเห็นที่มาที่ไปได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือการทำให้เขาเกิดกระบวนการยอมรับ เมื่อยอมรับได้ มันจะเป็นเส้นแบ่งการเปลี่ยนแปลงแล้ว มันดูเหมือนจะย้อนแย้งกันนะคะ แต่เราจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเรายอมรับได้ ดังนั้น สิ่งที่ช่วยให้คนออกจากความทุกข์ได้คือตระหนักรู้ เพราะส่วนใหญ่คนที่ทุกข์คือคนที่จมอยู่ในความทุกข์ แต่คนที่เห็นความทุกข์ เขาจะไม่ทุกข์ เพราะได้เห็นแล้ว พอเห็นแล้วก็จะไปเห็นสาเหตุ ผ่านกระบวนการเพื่อที่เราจะไม่ตกร่องเดิมอีก เพื่อที่เราจะไหวตัวทัน ให้เรารู้ตัวทัน แล้วที่สำคัญคือเราจะต้องไม่รังเกียจมัน เพราะถ้าเรารังเกียจมัน ก็จะไม่สามารถมองมันได้ ต้องยอมรับว่าทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของเรา พอยอมรับได้ มันจะเกิดความว่างของจิตใจและเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาวะปัญญา’ 

“การต้องฝึกความตระหนักรู้มีวิธีเยอะมากเลย เช่น ผ่านการนั่งสมาธิ ภาวนา ผ่านการเขียนบันทึก การพบนักจิตบำบัด หรือผ่านการพูดคุยและตอบสนองจากคนอื่นๆ การทบทวนตัวเอง หันมามองตัวเอง ตั้งคำถามให้ตัวเอง เราว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่ใช่เพราะว่าเราต้องการเจ๊าะแจ๊ะกันนะ แต่มนุษย์มีความพิเศษบางอย่างในการอยู่ร่วมกันเพื่อที่จะช่วยเยียวยาซึ่งกันและกันได้ เราว่านี่คือความวิเศษของมนุษย์ มนุษย์มีความต้องการเบื้องลึกคือการเชื่อมโยงกับอีกชีวิตหนึ่ง และอาจจำเป็นที่จะต้องให้อีกคนหนึ่งที่เขามีทักษะ อาจไม่ใช่นักจิตวิทยาก็ได้ แต่เขามีทักษะที่จะช่วยทำให้เราตระหนักรู้ในตัวเอง มีคำถามที่ทำให้เราฉุกคิดตัวเองได้ดีขึ้นก็เป็นไปได้

“สำหรับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เราอาจไม่กล้าแนะนำใครได้ขนาดนั้น แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปบอกตัวเองในอดีตได้ เราคงบอกตัวเองว่า ‘Listen to the flow.’ คือหมั่นหยุดและหมั่นมองให้เห็นความจริง เพราะมันง่ายมากเลยที่เราจะตกหรือจมอยู่ในความคิดหรือจมอยู่กับสิ่งที่เราคิดว่าควรจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนเราหลงลืมไปว่าจริงๆ แล้วความจริงคืออะไร อย่างเช่น ความเป็นจริงเธอพยายามมามากแล้ว เธอดีพอแล้ว ถ้าเราหยุดแล้วเรามองได้จริงๆ เราอาจมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับจังหวะของตัวเองได้ดีขึ้นและมีความสุขในแบบของตัวเองได้มากขึ้นด้วย” 

“มีคำถามมากมายมาถึงเราว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องรับฟังความทุกข์คนอื่น ไม่เครียดเหรอ ขอตอบถามความเป็นจริงเลยว่า เราไม่เครียดเลยนะ เวลาที่เราฟังเนื้อชีวิตของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มีความทุกข์ จริงอยู่ที่เราร่วมรู้สึกไปกับพวกเขา แต่เราไม่ได้รับความทุกข์หรือทุกข์ใจไปกับเขาด้วย ณ ขณะที่รับฟัง เราอาจมีน้ำตา นั่นเพราะเราร่วมรู้สึก แต่เมื่อเซสชั่นนั้นจบลง เขากลับไปดำเนินชีวิตของเขา เราเองก็กลับมาดำเนินชีวิตของเราแบบปกติ แต่สิ่งที่ได้รับซึ่งนับว่าเป็นของขวัญสำหรับคนวิชาชีพนี้คือ เมื่อเวลาที่พวกเขากลับมา เราจะได้รับไมตรีจิต คำขอบคุณ หรือการได้เห็นว่าเขามีชีวิตที่ดีแล้วนะ พอได้รับสิ่งเหล่านี้ เรารู้สึกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือคนทำอาหารอร่อยแล้วมีคนชมรสชาติอาหารที่เราทำ ใจเราจะฟูและพองโตเวลาที่ได้เห็นคนที่เราเคยร่วมรู้สึกมีชีวิตที่ดีขึ้น 

“นักจิตวิทยาที่ปรึกษานอกจากเป็นวิชาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตเราแล้ว ยังเป็นอาชีพที่เข้ามาหล่อเลี้ยงหัวใจเราด้วย เราได้รับความอิ่มใจทุกๆ ครั้งหลังทำงาน เหมือนว่าเรานึกย้อนไปกี่ครั้งก็ตาม มันเรียกความอิ่มใจได้เสมอ ถ้าเปรียบเทียบคงจะเป็นเหมือนการลงทุนที่มีดอกเบี้ยให้เราแบบไม่มีวันหมด เราทำงานมาถึงจุดที่ว่าเมื่อเรามองตัวเองในอีก 12 ปีถึง 24 ปีข้างหน้า แล้วย้อนกลับมาในวันนี้ เรายังภูมิใจในตัวเองที่ได้ทำวิชาชีพนี้ เราถามคำถามนี้กับตัวเองทุกวันว่าอยากเห็นตัวเองอย่างไรตอนอายุ 60 เราอยากเห็นตัวเองแบบนี้แหละ เลยคล้ายๆ ว่านี่เป็นวิถีที่เราเป็น เราอาจเป็นคนโชคดีหรือในอีกมุมก็กล้าบ้าบิ่นมากพอที่ตัดสินใจออกมาทำงานนี้ในวันที่อาชีพยังไม่เป็นที่รู้จักเลยในสังคมไทย

“สำหรับมิชชั่นที่อยากทำ ณ เวลานี้คือการขยายส่วนทักษะเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว อยากทำให้คนรู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น ณ ตอนนี้ ถ้าในประเทศไทย เราเห็นมีคนทำอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าที่เป็นหลักสูตรแบบเฉพาะเจาะจงเลยอาจจะยังมีไม่มาก เราจึงอยากขยายความรู้ตรงนี้ให้มากกว่านี้ รวมถึงการทำให้ My Home at Last เป็นบ้านสุดท้ายให้กับใครๆ หลายครั้งตอนที่อ่านหนังสือธรรมะ เรารู้สึกไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่ที่บอกว่า คนเรามีกรรม เลยต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เรารู้สึกว่าเหมือนเรายอมแพ้ให้กับชีวิต การคิดแบบนั้นเหมือนเราปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามชะตากรรม จริงอยู่ที่แนวคิดแบบนี้จะช่วยให้เราอยู่อย่างสอดคล้องได้ถ้าเรามองมันในแง่ดี แต่ถ้าเรามองอีกแง่หนึ่ง เราว่าไม่แฟร์เลย สมมติว่าคนที่เกิดมาถูกพ่อแม่ละเลยทางความรู้สึก หรือมีความรุนแรงทางด้านจิตใจจากการเลี้ยงดู เขาต้องทนทุกข์ไปทั้งชีวิตไหม ในเมื่อเขาเปลี่ยนแปลงพ่อแม่ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่เขาไม่ดีนะ แต่อาจจะไม่มีความรู้ ในเมื่อเขาเลือกพ่อแม่ไม่ได้ แต่เขาเลือกที่จะเป็นบ้านให้กับตัวเองได้ เขาเลือกที่จะเป็นพ่อแม่ให้กับตัวเองได้นะ ทุกคนเกิดมาเลือกพ่อแม่ไม่ได้ แต่ ณ วันหนึ่งเมื่อเราเติบโต เราเลือกที่เราจะสร้างบ้านของตัวเองได้นี่นา

“เราตั้งชื่อ My Home at Last เพราะหนึ่งสถานที่แห่งนี้อยู่ท้ายซอย กับสองคืออยากให้ผู้ที่มาหาเราได้กลับบ้านของใจได้ในที่สุด มีหลายๆ เคสที่มาหาเราและบอกว่าเขามีบ้าน แต่ไม่เคยรู้สึกว่าได้กลับบ้านเลย เราจึงอยากทำพื้นที่แห่งนี้ให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถสร้างบ้านให้ตัวเองได้ ให้รู้สึกว่ามีบ้านอยู่ในหัวใจของเขาไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม และอาจจะยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นได้อีกคือการเป็นบ้านให้คนอื่นได้ด้วย (ยิ้ม)”  

– 

เพิ่มเติม: www.myhomeatlast.co

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

บทความที่เกี่ยวข้อง