Living with diversity: อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ในสังคมที่หลากหลาย 

Care / Social Care

ในช่วงหลายปีมานี้ คำว่า ‘ความหลากหลาย’ หรือ ‘diversity’ ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นวาระสำคัญที่หลายๆ ประเทศพยายามผลักดัน รวมทั้งองค์กรชั้นนำต่างๆ พยายามปรับมาใช้ เพราะในสังคมของเรานั้นประกอบไปด้วยผู้คนที่มีความแตกต่างมาอยู่รวมกันมากขึ้นทุกวัน การให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายนั้นจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ลดความขัดแย้ง และไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (​​Sustainable Development Goals) ที่ทั่วโลกทำข้อตกลงไว้ร่วมกันนั่นเองค่ะ

ถ้าสังเกตดีๆ  เราจะเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา…ตัวอย่างเช่น

  • เพศทางเลือกที่มากกว่าแค่หญิงชาย  

โดยทั่วไปเพศกำเนิดของแต่ละคนจะถูกระบุไว้ว่าเป็นหญิงหรือชาย แต่อัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีของคนเราอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับเพศกำเนิดเสมอไป ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีประชากรกลุ่ม LGBTQI+ (เลสเบี้ยน/ เกย์/ ไบเซ็กช่วล/ ทรานส์/ เควียร์/ อินเตอร์เซ็กส์ และอื่นๆ) อยู่ราว 6% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 

แม้ว่าสังคมปัจจุบันจะค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็ยังพบการเลือกปฏิบัติและการมีอคติต่อกลุ่ม LGBTQI+ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน ถูกล้อเลียน หรือไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว 

  • วิถีครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่เดิมเวลาพูดถึงคำว่าครอบครัว เรามักจะแบ่งเป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ ครอบครัวเดี่ยวกับครอบครัวขยาย โดยหมายถึงครอบครัวขนาดเล็กที่มีแค่พ่อแม่ลูก กับครอบครัวที่เครือญาติอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้รูปแบบครอบครัวมีความหลากหลายมากกว่านั้น โดยอาจจะมีทั้งครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวข้ามรุ่น (ปู่ย่าตายายอยู่กับหลานตามลำพัง) ครอบครัวคู่รักเพศเดียวกัน ครอบครัวผสม (มีการแต่งงานใหม่และมีลูกติดมาจากครอบครัวเก่า) ครอบครัวที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกันตามลำพัง หรือแม้แต่การอาศัยอยู่ตัวคนเดียว หรืออาศัยอยู่กับคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกัน ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการที่คนยุคใหม่ไม่อยากแต่งงานหรือมีลูก

ทุกรูปแบบครอบครัวต่างก็มีลักษณะเฉพาะตัว และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมเหมือนกัน ตราบใดที่สมาชิกในครอบครัวสามารถดูแลกันได้อย่างดี มีความสุข ก็ไม่ควรถูกมองอย่างมีอคติ หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม

  • ชุดความคิดความเชื่อที่แตกต่าง

เมื่อคนในสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมีความรวดเร็วขึ้น โอกาสที่เราจะเจอกับคนที่คิดแตกต่างกันก็เพิ่มมากขึ้น หลายคนอาจรู้สึกว่าสังคมทุกวันนี้ช่างอุดมไปด้วยคนคิดต่างและความขัดแย้งมากมาย แต่อย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะ เปลี่ยนมาทำใจยอมรับกันดีกว่าว่าการมีความคิดความเชื่อที่ต่างกันนั้นมันเป็นเรื่องปกติ เพราะเรามาจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน การมองโลกต่างกัน มีประสบการณ์ต่างกัน อ่านหนังสือคนละเล่มกัน หรือแม้แต่พี่น้องฝาแฝดที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบเดียวกัน อยู่ในบ้านเดียวกัน ก็อาจจะมีความคิดความเชื่อที่ต่างกันได้

การพยายามเปลี่ยนความคิดความเชื่อของคนอื่นให้คิดเหมือนกับเราอาจจะเป็นเรื่องยากมากๆ (และอาจจะเป็นไปไม่ได้) ลองเปลี่ยนมาหาวิธีอยู่ร่วมกับคนที่มีความคิดแตกต่างกันโดยไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลาย ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองและคนอื่นกันดีกว่า

  1. ฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ – เปิดใจให้กับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายไปจากความเคยชินของเรา เช่น ลองฟังเพลงที่ไม่เคยฟัง ลองเรียนภาษาใหม่ๆ ลองกินอาหารที่ไม่คุ้นเคย ลองท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป หรือลองนั่งฟังความคิดเห็นของคนที่แตกต่างจากเรา 
  2. ลดละเลิกการมีอคติ – ไม่ด่วนตัดสินคนอื่นแบบเหมารวม ไม่ลำเอียง ไม่ยึดติดจากสิ่งที่เห็นภายนอก หรือสิ่งที่ได้ยินมา ควรเปิดใจเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายอย่างเป็นกลาง 
  3. รักษามารยาทและกาลเทศะ – พูดจาสุภาพและให้เกียรติคนอื่นอยู่เสมอ ไม่ล้อเลียนหรือพูดจาส่อเสียด ถึงแม้จะคุยกันโดยมีแนวความคิดที่แตกต่าง แต่ความสุภาพ รู้มารยาทและกาลเทศะ ก็อาจช่วยบรรเทาความขัดแย้ง และมีโอกาสที่อีกฝ่ายจะรับฟังความคิดของเรามากขึ้น

ดีกับชุมชนและองค์กร – ผู้คนหลากหลายมาพร้อมกับมุมมอง ความคิด และประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้มีโอกาสเจอไอเดียเจ๋งๆ หรือมีการตัดสินใจที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี มากกว่าการคิดอยู่คนเดียว หรือมีแต่คนที่คิดเหมือนๆ กันไปหมด มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าองค์กรที่มีพนักงานที่หลากหลาย โดยไม่เลือกปฏิบัติกับคนต่างเพศ ต่างศาสนา หรือต่างวัย ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวก และได้รับผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการมีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถมาอยู่ด้วยกัน

ดีต่อเศรษฐกิจ – ความหลากหลายของผู้คน ช่วยกระตุ้นให้เกิดธุรกิจและทักษะอาชีพที่หลากหลาย ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีหลากหลายได้ดี  ทั้งหมดล้วนส่งผลดีต่อการเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ 

ดีกับตัวเอง – การอยู่ร่วมกับความหลากหลายช่วยฝึกทักษะในการจัดการอารมณ์ การเปิดใจกว้าง ใช้เหตุผล ไม่ใช้อคติ มีความเห็นอกเห็นใจ รู้จักยืดหยุ่นและปรับตัว ทั้งหมดนี้เป็นทักษะสำคัญที่จะติดตัวเราไป และช่วยส่งเสริมให้ชีวิตมีความสุข นำไปสู่ความสำเร็จได้ในหลากหลายสถานการณ์

ความหลากหลายของผู้คนในสังคมก็เปรียบเหมือนสีสันหลากหลายที่ข่วยแต่งแต้มให้โลกสวยงามน่าอยู่มากขึ้น เราอยากให้ทุกคนมองความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องที่ดีค่ะ และเราเชื่อว่ามันดีได้แน่ๆ ถ้าทุกคนใช้เหตุผลคุยกันมากกว่าอคติ เคารพในความคิดและสิทธิที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่สร้างความเดือนร้อนให้กัน

(อ่านเพิ่มเติม: ฝึกเป็น ‘คนใจดี’ ส่งผลดีต่อใจและกาย)

อ้างอิง:
mckinsey.com
mandg-skillsforlife.com
infocenter.nationalhealth.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง