อาการชาปลายประสาท สัญญาณเตือนความผิดปกติของระบบประสาท

Health

อาการชาปลายประสาท หรืออาการชาจากปลายประสาทอักเสบ เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาทภายในร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วอาการชาที่ปลายประสาทจะเกิดจากความเสียหาย หรือการทำงานผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งมีหน้าที่รับ-ส่งสัญญาณและเชื่อมต่อระหว่างสมอง ไขสันหลัง และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย 

โดยอาการชาปลายประสาทนี้จะพบได้มากในผู้ป่วยที่มีอายุเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป และอาจเกิดจากปัจจัยข้างต้น ดังนี้…

  • โรคเบาหวาน 
  • การติดเชื้อ 
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง 
  • การบาดเจ็บจากบาดแผล 
  • การได้รับสารพิษ 

ผู้ที่มีอาการชาปลายประสาทจะรู้สึกชา, เสียว, แสบร้อน หรือปวดคล้ายถูกเข็มแทง อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ในบางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะและการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร การขับถ่ายปัสสาวะ และการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น ซึ่งอาการข้างต้นนี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคล ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การนอนหลับ และความเป็นอยู่โดยรวม 

ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการชาปลายประสาท หรืออาการชาจากปลายประสาทอักเสบจึงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับการวางแผนพัฒนาสุขภาพเพื่อรู้ถึงสาเหตุที่แน่ชัดและป้องกันการเกิดอาการเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที 

อาการชาปลายประสาท แบ่งได้กี่ประเภท?

อย่างที่รู้กันไปแล้วในข้างต้นว่าอาการชาปลายประสาทมักจะมีอาการรวม ๆ ส่วนใหญ่ คืออาการชา, เสียว รวมถึงปวดเหมือนโดนเข็มทิ่ม แต่รู้หรือไม่? ว่าจริง ๆ แล้วอาการชาปลายประสาท จะขึ้นอยู่กับประเภทของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนำไปสู่อาการและอาการที่แสดงออกมาแบบเฉพาะ ดังนี้…

  • เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory nerves) 

เส้นประสาทเหล่านี้เชื่อมต่อกับผิวหนังและมีหน้าที่ส่งต่อความรู้สึกต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ, ความเจ็บปวด, การสั่นสะเทือน และการสัมผัส เมื่อเส้นประสาทรับความรู้สึกได้รับผลกระทบจากอาการชาปลายประสาทก็จะมีอาการต่าง ๆ เช่น

– มีอาการชา หรือความรู้สึกลดลงในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

– ปวดคล้ายถูกเข็มแทง 

– ปวดแสบปวดร้อน

– ความบกพร่องของการรับรู้อากัปกิริยา

  • เส้นประสาทสั่งการ (Motor nerves)  

เส้นประสาทเหล่านี้เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อเส้นประสาทสั่งการได้รับผลกระทบจากอาการชาปลายประสาทก็จะมีอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อ เช่น

– กล้ามเนื้ออ่อนแรง

– ตะคริวหรือกล้ามเนื้อกระตุก

– การควบคุมกล้ามเนื้อบกพร่อง ซึ่งนำไปสู่ความยากลำบากในการเดิน หยิบจับสิ่งของ หรือเคลื่อนไหว 

– กล้ามเนื้อลีบในรายที่เป็นมาก

  • เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nerves)

เส้นประสาทเหล่านี้เชื่อมต่อกับอวัยวะภายในและมีหน้าที่ควบคุมการทำงานอัตโนมัติของร่างกาย รวมถึงความดันโลหิต การขับเหงื่อ อัตราการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร และการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เมื่อเส้นประสาทอัตโนมัติได้รับผลกระทบจากอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ ก็จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับบริเวณต่าง ๆ เช่น

– ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)

– อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ

– ปัญหาทางเดินอาหาร ได้แก่ ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูก

– ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะที่นำไปสู่ภาวะปัสสาวะเล็ดหรือปัสสาวะลำบาก

อาการเฉพาะที่พบอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุและความเสียหายของเส้นประสาทที่เกิดขึ้น ดังนั้นการประเมินอาการชาปลายประสาทอย่างครอบคลุมโดยแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยในการระบุประเภท ขอบเขตของอาการชาปลายประสาท และพัฒนาแผนการรักษา รวมถึงการวางแผนพัฒนาสุขภาพที่เหมาะสมได้

อาการชาปลายประสาทร้ายแรงแค่ไหน? แบบไหนต้องรีบพบแพทย์ด่วน

อาการชาปลายประสาทนั้นอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความเสียหายของเส้นประสาท และปัจจัยต่าง ๆ ในแต่ละบุคคล ในบางกรณี อาการชาที่ปลายประสาทอาจไม่รุนแรงและไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก ในขณะที่บางกรณีอาจรุนแรงกว่าและส่งผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิต ซึ่งอาการชาปลายประสาทแบบไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนนั้น เราได้รวบรวมมาให้แล้วด้านล่างนี้

เกิดอาการชาบ่อยครั้ง หรือต่อเนื่อง

หากมีอาการชาตามแขนขาบ่อย ๆ สม่ำเสมอ เช่น ปลายนิ้วมือ มือ นิ้วเท้า หรือเท้า สิ่งสำคัญคือต้องไปพบแพทย์ เพราะอาการชาแบบต่อเนื่องอาจเป็นสัญญาณความเสียหายของเส้นประสาทที่เกิดขึ้น

เกิดอาการชากระจายไปยังส่วนต่าง ๆ  

หากอาการชาค่อย ๆ แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อาจบ่งชี้ถึงการลุกลามของอาการชาปลายประสาท โรคปลายประสาทอักเสบ 

เกิดอาการชาโดยไม่ทราบสาเหตุ

หากมีอาการชาโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บหรือกดทับเส้นประสาทที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ

เกิดอาการชาส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

หากอาการชารบกวนความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวัน เช่น การเขียน เดิน หรือหยิบจับสิ่งของ อาจจะเกิดจากเส้นประสาทที่มีการเสียหายมากขึ้น

 เกิดอาการชาร่วมกับอาการอื่นที่เกี่ยวข้อง

หากมีอาการชาร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปวด รู้สึกเสียว แสบร้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือภาวะกล้ามเนื้อสูญเสียการประสานสัมพันธ์กัน อาการเพิ่มเติมเหล่านี้อาจให้ความชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของอาการชาปลายประสาท

เกิดอาการชาที่ส่งผลต่อความสามารถในการรับรู้

หากอาการชาส่งผลต่อความสามารถในการรับรู้อุณหภูมิ การสัมผัส หรือความเจ็บปวด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แผลไหม้ หรือการบาดแผลโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น ดังนั้นการขอคำแนะนำทางการแพทย์สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

หากคุณมีอาการเหล่านี้ที่บ่งชี้ว่าเป็นอาการชาปลายประสาท หรือกำลังมีอาการแล้วไม่แน่ใจ ควรเข้ารับคำแนะนำและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อรับการวินิจฉัยที่เหมาะสมและวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาหรือไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม อาการชาปลายประสาทอาจส่งผลร้ายแรงและนำไปสู่อาการ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่แย่ลง

อาการชาปลายประสาทเกิดจากอะไร?

อาการชาปลายประสาทอาจมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งการทำความเข้าใจสาเหตุเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยและการจัดการอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาปลายประสาท หรือชาตามปลายประสาท ได้แก่…

โรคเบาหวาน

สาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยคือโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อเวลาผ่านไปจะส่งผลให้เกิดความเสียหายของเส้นประสาทและทำให้การทำงานของเส้นประสาทส่วนปลายบกพร่องจนมีอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ 

2. การติดเชื้อ ไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิด

การติดเชื้อสามารถทำให้เกิดอาการชาปลายประสาท เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น โรคไลม์, งูสวัด, เอชไอวี/เอดส์ และไวรัสตับอักเสบซี สามารถทำลายเส้นประสาทโดยตรง หรือกระตุ้นการตอบสนองภูมิต้านทานผิดปกติที่ส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาท

3. ความผิดปกติของภูมิต้านทานตนเอง

ภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิต้านทานตนเอง เช่น โรคลูปัส (Lupus) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE), โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) กลุ่มโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) รวมถึงโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammatory เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่โจมตีเส้นประสาทส่วนปลายที่นำไปสู่อาการชาปลายประสาท

4. การได้รับสารพิษและสารเคมี

การสัมผัสกับสารพิษบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โลหะหนัก (ตะกั่ว ปรอท), สารเคมีประเภทตัวทำละลายที่ใช้ในอุตสาหกรรม และยาเคมีบำบัด อาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายและนำไปสู่โรคปลายประสาทอักเสบได้

5. ปัจจัยทางพันธุกรรมและกรรมพันธุ์

ความผิดปกติที่สืบทอดมาจากพันธุกรรมและกรรมพันธุ์ อย่าง โรคชาร์คอต-มารี-ทูธ (Charcot-Marie-Tooth Disease: CMT) อาจทำให้เส้นประสาทเสียหายมากขึ้นและเกิดอาการชาปลายประสาท หรืออาการชาจากปลายประสาทอักเสบได้

6. ภาวะขาดสารอาหาร

การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดวิตามิน B12, B6 และ E รวมทั้งไทอามีน มีส่วนทำให้เส้นประสาทถูกทำลายและปลายประสาทอักเสบ

7. การบาดเจ็บจากบาดแผล

ภาวะบาดเจ็บที่กดทับเส้นประสาท จากอุบัติเหตุ หกล้ม หรือการเล่นกีฬา ที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทจากการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ หรือการกดทับเป็นเวลานาน และการบาดเจ็บทางร่างกาย อาจส่งผลให้เส้นประสาทส่วนปลายเสียหายและเกิดโรคปลอกประสาทอักเสบตามมา

8. การใช้ยารักษาบางชนิด

ยาบางชนิด รวมทั้งยาปฏิชีวนะ เช่น ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) ยากันชัก และยาเคมีบำบัด อาจทำให้ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้พบกับผลข้างเคียง อย่าง อาการชาปลายประสาท ตามมา

9. โรคพิษสุราเรื้อรัง

 การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารและส่งผลเป็นพิษโดยตรงต่อเส้นประสาท ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาท หรือชาตามปลายประสาท

นอกจากนี้ ในบางกรณี อาจไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการชาปลายประสาทถึงแม้จะมีการประเมินทางการแพทย์แล้วก็ตาม เนื่องจากอาจมีปัจจัยของการเกิดอาการหลายอย่างรวมกัน ดังนั้นการวางแผนดูแลสุขภาพที่ครอบคลุม ด้วยการวางแผนพัฒนาสุขภาพจึงเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการชาปลายประสาท หรืออาการชาจากปลายประสาทอักเสบได้ตั้งแต่ต้น

การวินิจฉัยอาการชาปลายประสาททำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?

สำหรับการวินิจฉัยอาการชาปลายประสาทมักประกอบด้วยการประเมินประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย และการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ ซึ่งขั้นตอนแรกจะมีการซักประวัติโดยแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ การเริ่มมีอาการ การลุกลาม และเงื่อนไขทางการแพทย์อื่น ๆ หรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคปลายประสาทอักเสบ หลังจากนั้นก็จะมีการวินิจฉัยแยกไปตามแต่ละวิธี ดังนี้…

การตรวจร่างกายเพื่อประเมินการทำงานของระบบประสาท

การตรวจการนำกระแสประสาท (Nerve Conduction Study : NCS) เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสียหายหรือความผิดปกติในเส้นประสาทส่วนปลายหรือไม่

 การตรวจวินิจฉัยไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ (Electromyographic Study :EMG) เพื่อระบุความผิดปกติของกล้ามเนื้อและระบุว่าเกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทหรือไม่

 การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  (CT-Scan) และเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจสอบบริเวณที่ได้รับผลกระทบ หาสาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการชาปลายประสาท เช่น การกดทับเส้นประสาท เนื้องอก หรือความผิดปกติทางโครงสร้าง

การตรวจเลือด เพื่อระบุสภาวะพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับโรคปลายประสาทอักเสบ รวมถึงเบาหวาน การขาดวิตามิน ความผิดปกติของภูมิต้านทาน การติดเชื้อ และพันธุกรรม

การส่งตรวจเส้นประสาท (Nerve Biopsy) เพื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์หาสาเหตุเฉพาะของอาการชาปลายประสาท

อาการชาปลายประสาทรักษาอย่างไรได้บ้าง?

ในส่วนของการรักษาอาการชาปลายประสาท หรืออาการชาจากปลายประสาทอักเสบสามารถทำได้หลายวิธี โดยแนวทางการรักษาทั่วไปสำหรับบรรเทาอาการจะมี ดังนี้…

ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) กลุ่มโอปิออยด์ หรือยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิด

การรักษาเฉพาะที่ ครีม เจล หรือแผ่นแปะที่มียา เช่น ลิโดเคน หรือแคปไซซิน

กายภาพบำบัด เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและปรับปรุงการเคลื่อนไหวโดยรวม

การออกกำลังกายและการยืดเหยียด

การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนัง  (TENS) โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน

การใช้วิธีการรักษาทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การนวด โยคะ หรือการทำสมาธิ 

การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasmapheresis) 

การให้อิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous immunoglobulin)  ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน 

การผ่าตัด กรณีผู้ป่วยมีสาเหตุจากการกดทับเส้นประสาท เช่น การกดทับจากเนื้องอก

สำหรับแนวทางการรักษาอาการชาปลายประสาทอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการเฉพาะที่พบ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษากับแพทย์เพื่อรับแผนการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ซึ่งการตรวจพบอาการชาจากปลายประสาทอักเสบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้สามารถการจัดการภาวะชาที่ปลายประสาทที่เกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงทีก่อนที่จะมีอาการแทรกซ้อนใด ๆ เกิดขึ้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง