‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่ว่ามาแน่! เอาจริงๆ … ลดโลกร้อนได้แค่ไหน? 

Care

รถยนต์ไฟฟ้า หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า รถอีวี (Electric Vehicles หรือ EV) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยข้อดีหลายอย่าง เช่น ไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย รัฐบาลยังสนับสนุนด้วยการลดค่าใช้จ่ายบางส่วนให้แก่ผู้ซื้อ โดยจากข้อมูลของ  International Energy Agency ระบุว่า ในปี 2564 ทั่วโลกมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 6.6 ล้านคัน ซึ่งนับเป็น 10% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด และแค่ในครึ่งปีแรกของ 2565 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นอีก 6.2% เป็น 4.3 ล้านคัน

แต่ก่อนที่เราจะเดินไปข้างหน้าพร้อมกับนวัตกรรมยานยนต์ชิ้นใหม่นี้ เราน่าจะต้องมาทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้ากันให้รอบด้านเสียก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการลดปัญหาโลกร้อน ว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ว่าจะทำได้จริงแค่ไหน 

รถยนต์ไฟฟ้า ลดมลพิษ ประหยัดค่าใช้จ่าย

ข้อดีข้อแรกที่แข็งแรงที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าคือ เมื่อไม่ใช้น้ำมัน แต่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟกลับเข้าไปใหม่ได้ รถยนต์ไฟฟ้าจึงช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก โดยหากใช้การคำนวณจากสมรรถนะของรถยนต์ทั่วไป ราคาน้ำมันที่เฉลี่ยลิตรละ 40 บาท และระยะทางการใช้รถยนต์ที่ 2,000 กิโลเมตร เราจะต้องเสียค่าน้ำมันโดยเฉลี่ย 5,000 บาท/เดือน แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า วิ่งในระยะทางเท่ากัน ค่าไฟที่เราต้องเสียจะอยู่ที่ราว 1,121 บาท/เดือน เท่านั้น ซึ่งจะยิ่งประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นอีกหากการชาร์จไฟนั้นใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนั้น รถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ายังไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามากเหมือนเครื่องยนต์สันดาปที่ต้องใช้น้ำมันเครื่อง และยังอาจทำให้คุณไม่จำเป็นต้องนำรถเข้าไปเช็กสภาพที่ศูนย์บริการบ่อยเท่าเดิมอีกด้วย 

การใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปยังทำให้ไม่เกิดกระบวนการเผาไหม้ รถยนต์ไฟฟ้าจึงไม่มีควันจากท่อไอเสีย (ไม่มีท่อไอเสียเลยด้วยซ้ำ) ซึ่งนับว่าส่งผลดีอย่างมากต่อปัญหามลพิษทางอากาศและ PM 2.5 อย่างไรก็ดี แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีควันจากท่อไอเสีย แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นรถยนต์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (zero emission) เพราะในกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่นำมาชาร์จแบตเตอรี่ยังคงก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

แต่เดี๋ยวก่อน! กระบวนการผลิต ‘แบตเตอรี่’ รถยนต์ไฟฟ้า คือตัวการทำให้โลกร้อน

ในขณะที่หลายคนพูดถึงแต่ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ถูกหลงลืมไปคือ แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจกได้จริง แต่กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (รวมถึงยานพาหนะอื่นๆ และข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่) กลับปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามหาศาล

แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่ลิเทียมไออน (Lithium-ion battery) ที่ชาร์จไฟได้ โดยส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ดังกล่าวก็คือ ลิเทียม (Lithium) ธาตุเคมีที่ได้จากการทำเหมือง ซึ่งการทำเหมืองลิเทียมนั้นปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหมเชื้อเพลิงฟอสซิลออกมาเป็นจำนวนมาก โดยทีมนักวิจัยจากสถาบัน MIT Climate ให้ข้อมูลว่า การผลิตลิเทียมทุก 1 ตัน จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกถูกปลดปล่อยออกมาในสภาพอากาศถึง 15 ตัน 

การทำเหมืองลิเทียมยังต้องใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมาก โดยการผลิตลิเทียม 1 ตัน จะต้องใช้น้ำราว 2.2 ล้านลิตร ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำและเสี่ยงต่อการมีสารเคมีปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำด้วย ปัญหานี้แสดงให้เห็นแล้วในเขตสามเหลี่ยมลิเทียม (Lithium Triangle) ที่อยู่ในเขตประเทศชิลี โบลิเวีย และอาร์เจนตินา แหล่งที่พบลิเทียมมากที่สุดของโลก คือราว 56% ของจำนวนลิเทียมทั้งหมด โดยเหมืองแห่งหนึ่งในชิลีที่ใช้น้ำมากถึงชั่วโมงละ 400,000 ลิตร ในปีที่ผ่านมา เริ่มพบรายงานการล้มตายของต้นคารอบ (Carob) ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และในทะเลทรายเกลืออาตากามาก็มีรายงานการลดจำนวนลงของนกฟลามิงโกสองสายพันธุ์ ยังไม่นับที่ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภคและอันตรายจากการปนเปื้อนของสารเคมี

แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องกลับมาที่ ‘ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว’ 

เมื่อราวสามปีก่อน ในงาน Innovation Thailand Expo 2019 เราเคยได้มีโอกาสฟัง ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความเห็นเกี่ยวกับ “เมืองในอนาคต” อย่างน่าสนใจไว้ว่า ก่อนหน้านี้เราอาจเคยจินตนาการถึงเมืองในอนาคตว่าต้องเป็นเมืองทันสมัยที่มีรถยนต์เหาะได้ไปมา แต่ในวันนี้ แม้เรากำลังจะมีรถยนต์เหาะได้กันจริงๆ แต่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการเติบโตของเมืองกลับมองว่า เมืองแห่งอนาคตที่น่าอยู่และยั่งยืนอย่างแท้จริง ควรเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียว ผู้คนสามารถกลับคืนสู่วิถีชีวิตที่เรียบง่ายได้ด้วยการเดินถนนและขี่จักรยานอย่างปลอดภัย รวมทั้งมีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย จนเราไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัว

แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปหลายเท่าตัว แต่เมื่อกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มคนและธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณเขตเหมืองลิเทียม (ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ดีพอ แต่หวังว่าในอนาคตจะมีทางออกที่ดีกับทุกฝ่ายมากกว่านี้) ดังนั้น hhc Thailand จึงมีความเห็นว่า การลดโลกร้อนที่ยั่งยืนที่สุด นอกจากการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว น่าจะต้องทำควบคู่ไปกับการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้ขนส่งสาธารณะระบบไฟฟ้าให้มากขึ้น หรือใช้จักรยาน และเดินสำหรับระยะทางที่สามารถทำได้ เพื่อที่เราจะสามารถลดการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมให้ได้มากที่สุด

และก็อย่าลืมว่า ถึงรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่สร้างมลพิษ แต่ถ้าเรามีจำนวนรถเท่าเดิมบนถนน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหารถติดได้อยู่ดี นอกจากนั้น หากเราลดจำนวนรถยนต์ได้ เราก็จะได้พื้นที่สีเขียวและพื้นที่เมืองกลับคืนมาเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายด้วย อย่างที่โครงการทดลองในหลายเมืองทั่วโลกเคยทำให้เราเห็นมาแล้ว 

ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในเขตเมือง ชนบท ประเทศศิวิไลซ์ หรือประเทศที่อยู่ในเขตเหมือง เราทุกคนล้วนอยากอาศัยอยู่ในสถานที่ที่สะอาด สะดวกสบาย ปลอดภัย ไร้มลพิษ และยั่งยืน และเราก็อยากให้โลกใบนี้อยู่กับเราอย่างงดงามไปอีกนานแสนนานกันทั้งนั้น

… แน่นอนว่าการจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เราทุกคนต้องร่วมมือกัน

อ้างอิง:

conserve-energy-future.com
climate.mit.edu
euronews.com
thairath.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง