ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับคำขอให้มนุษยชาติอ่อนโยนต่อโลกและอ่อนโยนต่อกัน

Human / Social-Inspiration

โพสต์อวยปีใหม่ในช่องทางออนไลน์ของ พี่อ้อย – ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ในปี 2568 ที่ผ่านมา เธอขอให้มนุษยชาติอ่อนโยนต่อโลกและต่อกันและกัน ประโยคสั้นๆ นี้นับเป็นการสะท้อนทั้งภาพการทำงานและความรักที่เธอมอบให้สิ่งแวดล้อมกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นที่เธอมาทำงานอนุรักษ์ พี่อ้อยบอกกับเราว่าเธอไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย แต่เพราะโตมากับธรรมชาติ แล้วก็รักเขา เมื่อสิ่งที่รักถูกทำลาย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนับจากนั้นเป็นต้นมา 

พี่อ้อยคือมดงานรุ่นบุกเบิก ผู้เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมูลนิธิโลกสีเขียว เป็นคนที่ทั้งคิดและดำเนินการหลายๆ โครงการที่ได้บ่มเพาะและก่อกำเนิดนักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนในประเทศไทย จนเราได้เห็นคนธรรมดาทั่วไปสามารถทำความรู้จักกับธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาความรู้ที่ซับซ้อนหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ราคาแพงใดๆ ทั้งโครงการนักสืบสิ่งแวดล้อมและ Bangkok Wild Watch ไปจนถึงโครงการจักรยานกลางเมือง ปัจจุบันเธอคือเจ้าของพื้นที่ทุ่งน้ำ ‘นูนีนอย’ ณ ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ปลุกปั้นคอร์สและผู้แต่งหนังสือในชื่อเดียวกันอย่าง ‘Homo Gaia (มนุษย์กาย่า)’ ทั้งหมดทั้งมวลที่เธอทำตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมามีเป้าหมายไม่เพียงแต่เพื่อการฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติด้วยความเคารพ อ่อนน้อม และถ่อมตน แต่ยังตั้งใจที่จะชวนผู้คนมาคืนดีกับธรรมชาติเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้นและรักกันมากกว่าเดิม 

“พี่เกิดมาท่ามสภาพแวดล้อมที่ยังเป็นป่า ซึ่งป่าในที่นี้คือป่าที่เราสามารถเข้าถึงต้นไม้ บึง ทุ่งนาได้เลยโดยไม่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด แต่อยู่กลางสุขุมวิทแบบนี้ แต่ก่อนแถบนี้เป็นนาข้าวมาก่อน จำได้เลยว่าตอนเด็กๆ บ้านคุณยายที่อยู่อีกฟากหนึ่งสามารถไปมาหาสู่กันผ่านท้องนา แล้วก็มีบึงบัวหลวงสีชมพู พี่โตมาในสภาพแวดล้อมแบบนั้น มีพื้นที่ Wetland พอถึงหน้าหนาวนี่หนาวอย่าบอกใครเลย เรียกว่าได้สัมผัสหมอกเป็นสายสวยๆ พี่จึงชินและคุ้นเคยกับการที่มีธรรมชาติอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา เป็นคนรุ่นที่เขาเรียกกันว่า ‘Last Child in the Woods’ ภาษาไทยคงประมาณว่าเป็นเด็กคนสุดท้ายในป่า” 

จนกระทั่งสิ่งต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ยุค 70 – 80 โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติที่เริ่มถูกทำลาย การพัฒนาในเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างเร่งรีบ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมในยุค 80 จึงเป็นช่วงเวลาที่คนหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น เราเริ่มเห็นกลุ่มนักอนุรักษ์รุ่นบุกเบิกในเมืองไทย รวมไปถึงการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสาธารณะที่ก่อตัวมาเรื่อยๆ ในมุมของพี่อ้อยในวัย 20 ที่เพิ่งกลับมาจากอังกฤษและพบว่าธรรมชาติที่เคยเจอและเคยอาศัยอยู่หายไป ณ เวลานั้น เธอยังไม่รู้ตัวว่าเธอเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและรักธรรมชาติมากแค่ไหน

“พี่ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรก ตอนเด็กความสนใจของพี่ถูกโปรแกรมว่าเราจะเป็นศิลปิน เพราะชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่สุดท้ายก็ไปเรียนปริญญาตรีด้านโบราณคดีที่ Institute of Archaeology, University College London เป็นเด็กที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Lucy บรรพบุรุษรุ่นแรกๆ ของมนุษย์ ความสนใจในเวลานั้นคือมนุษย์โบราณมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับธรรมชาติ จำได้ว่าพี่สนุกมากเลยนะ เลยได้มาเรียนต่อด้านมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และเรียนต่อจนไปจบเอกที่ School of Oriental and African Studies พอจบกลับมา ถึงเริ่มมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม 

“งานแรกคือการทำหนังสือ แต่การทำหนังสือสมัยนั้นไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่มีข้อมูลและสื่อหลากหลายช่องทางเพราะฉะนั้น เวลาเราสนใจเรื่องธรรมชาติในช่วงเวลาที่ยังมีธรรมชาติรอบตัวอยู่มากก็จริง แต่หนังสือเรื่องธรรมชาติมีน้อยมากๆ ที่มีก็เป็นป่าจากประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซียหรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นป่าฝนแท้ๆ แบบเขตร้อนชื้น แต่ของประเทศเราเป็นป่าที่ไม่เหมือนกัน พี่เลยอยากทำหนังสือเป็นซีรีส์ ตอนแรกตั้งใจทำเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัว จนกระทั่งพี่สา (ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิโลกสีเขียวต้องการคนเข้ามาช่วย เลยมีโอกาสเข้าไปทำ เริ่มต้นจากตำแหน่งเลขาธิการที่ตอนแรกยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะไม่มีรายละเอียดงานระบุไว้ ที่รู้จักก็แต่เลขานุการ พอเข้าไปทำงานจริง เรียกว่าได้ทำทุกอย่างเลย ทั้งหาทุน บริหาร และริเริ่มโครงการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม พวกเราในองค์กรต่างช่วยกันคลำทางและค่อยๆ สร้างทีมขึ้นมา งานหลักๆ ในมูลนิธิโลกสีเขียวนอกเหนือไปจากงานของพี่สาที่มีทีมทำนิตยสารอยู่แล้ว งานของพี่จะเป็นลักษณะของการไปเปลี่ยนไดเร็กชันให้ผลงานมีความหลากหลายขึ้น ซึ่งพี่มองว่าในทีมมีการทำสื่อด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ตัวแล้ว เลยอยากให้มีกิจกรรมด้วยนอกจากสื่อ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทดลองโครงการนั่นนี่ว่าอะไรเวิร์กไม่เวิร์กบ้าง” 

เธอเล่าย้อนไปถึงชีวิตตอนเป็นนักเรียนอังกฤษว่าเวลานั้นเธอได้เรียนรู้อะไรมากมาย หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรม ‘Biomornitoring’ หรือการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์ของคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพ โดยข้อมูลที่ได้มา ไม่ใช่เพียงแค่มาจากนักวิทยาศาสตร์ แต่จากคนทั่วไปแบบเราๆ ท่านๆ ที่ช่วยกันรวบรวมข้อมูลด้วย 

“เท้าความไปตอนปี 2531 เป็นปีที่ประเด็นเรื่องโลกร้อนถูกสื่อสารออกมาสู่สาธารณชนครั้งแรก ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นวาระของโลก แน่นอนว่ามีเสียงคัดค้านมากมายว่าโลกร้อนจริงหรือไม่ จากนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ขึ้นในเวลาต่อมา โดยองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) มีนักวิทยาศาสตร์มารวมตัวกันและนำข้อมูลต่างๆ ออกมากาง ช่วงแรกๆ ข้อมูลยังกระจัดกระจายและมีไม่มากนัก แต่ที่อังกฤษมีคนที่เป็นนักธรรมชาติวิทยาและคนที่มีอาชีพอื่นแต่มีงานอดิเรกคือการเฝ้าดูและสังเกตการณ์ธรรมชาติอยู่จำนวนมากและทำมาเป็นเวลานานแบบที่เป็นวัฒนธรรมของเขาเลย เพราะฉะนั้น ที่นั่นจึงสามารถดึงความรู้จากคนทั่วไปมาได้เยอะและยังมีการทำงานที่ร่วมมือกับสื่อด้วย เช่น BBC ออกอากาศแล้วแจ้งประชาชนว่า หากใครพบเห็นแมงมุมชนิดนี้ ช่วยรายงานเข้ามาหน่อย เชื่อไหม แค่เดือนเดียว มีคนรายงานเข้ามาเยอะมาก จน BBC มาเฉลยเรื่องการกระจายตัวและอพยพของแมงมุมชนิดนี้ว่าสัมพันธ์ไปกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก นั่นจึงเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นผลกระทบจากโลกร้อนและถูกบรรจุอยู่ในรายงานเรื่องโลกร้อนของ IPCC ฉบับแรก โดยครึ่งหนึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากคนธรรมดาที่รวบรวมผ่านสื่อ สมัยนั้นเรายังไม่มีคำว่า ‘Citizen Science’ (วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง) เลยด้วยซ้ำ ที่นั่นทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้หมด ซึ่งมันเจ๋งมาก ประสบการณ์ที่พี่ได้เห็นเลยเป็นสารตั้งต้นที่ดีมากในการนำกลับมาเป็นแนวทางในการทำกิจกรรมและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในไทยซึ่งมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ต่างออกไป” 

แนวทางการทำงานแบบนักวิทยาศาสตร์พลเมืองถูกนำมาใช้ในการรันโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหลายๆ โครงการที่ผ่านมาของมูลนิธิโลกสีเขียว จนกลายเป็นโปรแกรมที่ชื่อว่า ‘นักสืบสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำความรู้จักกับธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง แบบลงมือทำด้วยตัวเองในพื้นที่ธรรมชาติจริงๆ 

หากคำจำกัดความของคำว่า ‘นักสืบ’ คือผู้รับหน้าที่สอดแนม พร้อมเก็บข้อมูลของเรื่องราวต่างๆ โดย 

มีหน้าที่สำคัญคือการทำความรู้จักกับเป้าหมายให้ดีที่สุดก่อนจะลงมือปฏิบัติการณ์ ทั้งเฝ้าสังเกต ติดตามพฤติกรรม ค้นหาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมาย แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนเพื่อให้งานสำเร็จสุล่วง นักสืบสิ่งแวดล้อมที่พี่อ้อยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการสร้างกิจกรรมนี้ขึ้นก็ทำงานแบบเดียวกัน แต่เป็นการเสาะหาเบาะแสตามแม่น้ำลำธาร ชายหาด ต้นไม้ และสายลม เพื่ออ่านสภาพความเป็นไปของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าธรรมชาติรอบตัวของพวกเรามีคุณภาพเป็นอย่างไร 

เธอเริ่มต้นด้วยโครงการ ‘นักสืบสายน้ำ’ หรือการอ่านสุขภาพสายน้ำลำธารว่าสะอาดมาก-น้อย จากสังคมของสัตว์เล็กน้ำจืดหรือตัวอ่อนแมลงที่อาศัยอยู่ตามก้อนหิน พื้นทราย และระบบนิเวศต่างๆ ในท้องน้ำ ตามมาด้วย ‘นักสืบชายหาด’ ที่เป็นการสำรวจสุขภาพชายหาดว่าดีหรือย่ำแย่จากความหลากหลายของสัตว์และพืชที่อาศัยอยู่ตามชายหาด ต่อด้วย ‘นักสืบสายลม’ โครงการอ่านค่าคุณภาพอากาศรอบตัวเราว่าดีหรือไม่จากไลเคน โดยมีจุดประสงค์ทำให้คนทั่วไปสามารถอ่านสุขภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกได้ด้วยตัวเอง

“สำหรับโครงการนักสืบสายน้ำ เราจัดที่แม่น้ำปิงตอนบน เพราะว่างานวิจัยเบื้องต้นมาจากแม่น้ำปิง โดยเราเน้นไปที่สัตว์ที่อยู่บริเวณชายน้ำ เช่น แมลงน้ำ นก และปลา มีกิจกรรมให้สำรวจชายน้ำ ระบบนิเวศ กายภาพน้ำ และบ้านของสัตว์ แต่สิ่งมีชีวิตที่เป็นพระเอกเลยคือแมลงน้ำ เพราะนอกจากมันจะสามารถเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำที่อยู่อาศัยได้แล้ว ที่มันเวิร์กเพราะว่าคนไม่รู้จักและไม่ค่อยสังเกต พอได้เห็นกิจกรรมของเจ้าแมลงน้ำว่ามันสร้างบ้านของตัวเองแบบใกล้ๆ เลยเซอร์ไพรส์มากขึ้นไปอีก ในกระบวนการนักสืบสายน้ำ เราจะเน้นการทำกิจกรรมด้วยความเคารพสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่มีการจับตัวสัตว์โดยตรง ไม่มีการทำให้สัตว์บาดเจ็บ เราจะใช้ภาชนะอย่างถ้วยน้ำจิ้มใส่น้ำให้สัตว์แช่อยู่เวลาที่เราดูมัน  ทำให้เขาแฮปปี้และสบายที่สุด จากนั้นจึงค่อยสังเกตและบันทึกสิ่งที่เห็น แล้วปล่อยให้เขากลับบ้าน พอได้เห็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนแบบละเอียด แถมพวกเขาน่ารักด้วย มันว้าวสำหรับใครหลายคนมาก หลังจากนั้น สายตาที่มองลำธารก็เปลี่ยนไปทันที เพราะว่าน้ำที่เห็นไม่ใช่แค่ H2O แต่เป็นบ้านของสัตว์ เป็นบ้านของเพื่อนเรา นี่คือลำน้ำที่มีชีวิต  

“พอเป็นแบบนั้นโครงการนี้เลยได้ใจคน เราจึงได้ต่อทุนจากรัฐบาลเดนมาร์ก จากตอนแรกที่โครงการวางไว้แค่ลุ่มแม่น้ำปิงสู่การจัดฝึกอบรมทั่วทั้งประเทศ โดยมีแกนนำเป็นนักอนุรักษ์และครูในแต่ละพื้นที่ที่ไปขยายผลต่อ พี่ดีใจที่ได้เห็นความสำเร็จตรงนั้น แล้วสักประมาณ 5 – 6 ปี หลังจากเราเริ่มทำโครงการนี้ ปรากฏว่า บริษัท ปตท. มีรางวัลนักอนุรักษ์ที่ชื่อว่ารางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเราพบว่าประมาณ​ 70% ของเยาวชนที่ทำงานอนุรักษ์มีที่มาที่ไปจากนักสืบสายน้ำ การได้เห็นการกระจายความรู้ต่อๆ กันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งคนปลายทางไม่รู้จักพี่แล้ว พี่ดีใจมากเลยล่ะและเป็นเรื่องที่ดี เพราะแปลว่าสิ่งที่เราทำส่งต่อกันได้สำเร็จ มันมีคุณค่าในตัวเอง และมันอยู่ได้เองโดยไม่ต้องมีเราแล้ว 

“หลังจากนักสืบสายน้ำเสร็จสิ้นไป กลุ่มอนุรักษ์ทางใต้บอกว่าพวกเขาอยากทำที่ชายหาด เราเลยเริ่มทำนักสืบชายหาดเป็นลำดับถัดมา จะได้ให้ระบบนิเวศต่อเนื่องกัน ซึ่งตอนนั้นประจวบเหมาะกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กำลังหาคนศึกษาเรื่องชายหาด เนื่องจากเป็นระบบนิเวศที่ไม่มีการศึกษาวิจัยมาก่อน เลยได้ต่อยอดมาทำโครงการนี้ที่เริ่มจากศูนย์เลย”

ในเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว ให้รายละเอียดของโครงการดังกล่าวที่เราพอหยิบจับใจความมาเล่าให้ฟังต่อได้ว่า ‘นักสืบชายหาด’ เป็นการสำรวจปริศนาและความเป็นไปในหาดท้องถิ่น โดยนักสืบชายหาดที่หมั่นเก็บข้อมูลและเฝ้าระวังหาดในท้องถิ่นจะสามารถบอกให้สังคมได้รู้ว่าควรจะจัดการและดูแลพื้นที่ชายหาดอย่างไร ระหว่างปี 2546 – 2549 มูลนิธิโลกสีเขียวเริ่มทำโครงการนักสืบชายหาดนี้ขึ้นในพื้นที่ชายหาดจังหวัดระนอง โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงสืบค้นให้เยาวชนในจังหวัดระนอง ด้วยจุดประสงค์เบื้องต้นให้เด็กๆ ในท้องถิ่นรู้จักความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนชายหาด รู้จักสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่นของตัวเอง เก็บข้อมูลความเป็นไป และดูแลเฝ้าระวังหาดได้ด้วยตนเอง โดยมีนักเรียนและครูจากโรงเรียน 19 แห่งในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และตรัง อาสากันเป็นนักสืบชายหาดผู้บุกเบิกรุ่นแรก ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นอย่างศูนย์ศึกษาธรรมชาติอุทยานแห่งชาติทางทะเล จังหวัดตรัง, กลุ่มระบัดใบ, ชมรมป่าสร้างฝัน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา และอุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง

“หลังจากทำชายหาดแล้ว เราก็กลับเข้าสู่เมือง เพราะช่วงปี 2548 – 2549 เราเห็นแนวโน้มแล้วว่าคนทั่วโลกเริ่มเข้ามาอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท แล้วพี่มองว่าเราต้องกลับมาที่เมืองเพราะว่าเมืองเป็นพื้นที่อาศัยของมนุษย์ แต่คนมักคิดว่าเมืองจะเป็นอย่างไรก็ได้ เป็นสิ่งแวดล้อมพังๆ ก็ได้ เพราะว่าเป็นที่แค่ศูนย์กลางในการหาเงิน ดังนั้น ก็ทนๆ กันไป แต่จะให้ความสำคัญกับการปกป้องพื้นที่รอบนอกเสียมากกว่า เช่น พื้นที่ป่า ทะเล เกาะแก่งต่างๆ พี่รู้สึกว่าเราต้องกลับมาดูแลเมือง นั่นเลยเป็นที่มาของการเริ่มทำเรื่องของไลเคนผ่านโครงการนักสืบสายลม หลายๆ ประเทศทั่วโลกใช้ไลเคนเป็นเครื่องมือทางชีวภาพในการตรวจคุณภาพอากาศควบคู่ไปกับการใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ

“ก่อนที่จะทำโครงการนี้ ยังจำได้เลยว่ามีคนถามขึ้นมาว่ากรุงเทพฯ ไม่ใหญ่และเยอะไปเหรอ ลองหาเมืองอื่นที่เล็กกว่านี้หน่อยดีไหม ซึ่งที่เขาพูดมาก็มีเหตุผลอยู่ แต่พี่เป็นคนกรุงเทพฯ แล้วถ้าไปเมืองอื่น พี่ไม่มีสถานะและพันธะผูกพันอะไรกับเมืองนั้นๆ เราจึงต้องทำงานที่เริ่มจากบ้านเราก่อน โครงการนี้เป็นการฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายคือครูและเยาวชนจาก 51 โรงเรียน และกระจายกำลังออกไปเพื่อสำรวจสังคมไลเคนในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด 214 จุด ในช่วงเวลา 9 เดือน (กันยายน 2552 – พฤษภาคม 2553) พบว่าพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีคุณภาพอากาศที่แย่ถึงแย่มาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พอเราทำเป็นแผนที่ไลเคน มันจะเห็นได้ชัดเจน ซึ่งคุณภาพอากาศมันสัมพันธ์ไปกับความหนาแน่นของเมืองและการจราจร 

“พอเราทำไลเคนเสร็จ เราก็ต่อยอดไปสู่ ‘Bangkok Wild Watch’ ที่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ไลเคนแล้ว แต่จะชวนคนเมืองมาร่วมเดินสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากจะทำให้เรารับรู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่รอบๆ ตัวเราบ้างแล้ว ยังเป็นการตรวจสุขภาพเมืองผ่านสวนสาธารณะ ที่เป็นแหล่งอาศัยหากินของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ถ้าความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากก็สามารถอนุมานได้ว่าสิ่งแวดล้อมของเมืองดีตามไปด้วย

“หลังจากเปิดทางนำโครงการเข้าสู่เมืองด้วยสองโครงการข้างต้น เลยคิดต่อไปว่าเราสามารถโบลว์กรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองที่คนปั่นจักรยานได้อีกนะ เพราะหากโฟกัสเรื่องอากาศ สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่อากาศที่ดีขึ้นอย่างเดียว แต่จะไปแตะทั้งหมดเลยตั้งแต่โครงสร้างของเมือง ความเหลื่อมล้ำ การใช้พื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงคนขี่จักรยานจะสามารถสัมผัสกับทุกอย่างได้โดยตรง ดังนั้น เมืองจักรยานคือเมืองที่เป็นมิตรต่อทุกชีวิตรวมถึงในเชิงของเศรษฐกิจด้วย จักรยานกับการเดินทำให้คนเข้าถึงธุรกิจเล็กน้อยได้หมด สามารถลดค่าใช้จ่ายสาธารณะได้มากมายโดยเฉพาะด้านสุขภาพ จักรยานจึงเป็นไม้งัดคานที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ อย่างปัญหาการพัฒนาเมืองในทุกด้านด้วยทางออกง่ายๆ มูลนิธิโลกสีเขียวจึงริเริ่ม ‘โครงการจักรยานกลางเมือง’ ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการมุ่งสร้างความตระหนักแก่ผู้คนในสังคมหันมาให้ความสำคัญและความเป็นไปได้ของการใช้จักรยานในการสัญจร เหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการสำรวจ สังเกตการณ์ และตรวจสุขภาพเมือง ซึ่งหากสัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่ได้ มันหมายถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตสำหรับเราที่เป็นมนุษย์” 

“หลังจากทำเรื่องจักรยาน พี่ได้เห็นปฏิกิริยาที่เปลี่ยนไปของผู้เข้าร่วมที่ได้สัมผัสทุกสิ่งรอบตัวได้หมด ลองคิดดูการปั่นจากถนนสาทรที่ร้อนผ่าว อากาศเป็นพิษ ไอเสีย เสียง แถมห้อมล้อมไปด้วยอาคารคอนกรีต แต่พอปั่นเข้ามาถึงถนนวิทยุที่มีร่มเงาของต้นไม้ อุณหภูมิต่างกันถึง 5 องศา ซึ่งความต่างนั้นทำให้เราสัมผัสถึงสิ่งที่ดีกว่า ทั้งความเย็น ร่มไม้ อากาศ ฝุ่น ควันต่างๆ ที่น้อยลงจนเกิดจุดพลิกหลายอย่างกับผู้ร่วมกิจกรรม ทุกๆ คนรู้ดีอยู่แล้วว่าต้นไม้และธรรมชาติดีและมีความหมายต่อมนุษย์อย่างเราแค่ไหน แต่คนขี่จักรยาน พวกเขาจะรู้ถึงคุณค่าเหล่านี้ด้วยเนื้อด้วยตัวของพวกเขาเองเลย มันคือประสบการณ์ตรงผ่านหัว กาย สมอง และใจ

“การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ประกอบกับพี่เห็นได้ชัดเจนว่ามีความป่วยไข้หลายๆ ระดับที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เลยนำมาสู่โจทย์ ‘Nature Connection’ ของพี่ที่เป็นเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โครงการนี้เกิดขึ้นช่วง 2558 – 2559 ที่พี่พยายามสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้คนได้เชื่อมโยงธรรมชาติมากขึ้น จากคนที่ถูกทำให้ห่างไกลจากธรรมชาติ เราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเรากลับมาได้ สำหรับพี่การมานั่งถกเถียงกันด้วยข้อมูลทางหัวอย่างเดียว แบบนั้นไม่สำเร็จหรอก มันต้องสร้างความสัมพันธ์นี้ขึ้นจริงๆ ด้วย พี่อยากกลับไปสู่สิ่งเดิมที่เคยได้เห็น สัมผัส และอยู่ร่วม และ ‘นูนีนอย’ คือสิ่งที่เกิดขึ้น” 

นิยามสั้นๆ ในเพจของนูนีนอยบอกไว้ว่า ที่นี่คือศูนย์ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติภายใต้ความยิ่งใหญ่ของดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยตัวทุ่งน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสร้างขึ้นใหม่ท่ามกลางนาระบบเหมืองฝายโบราณและปล่อยให้ธรรมชาติและสัตว์ป่าฟื้นตัวขึ้นมาเอง เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ผลิตอาหาร โดยนูนีนอยจะมีการจัดโปรแกรมหลายหลากหัวข้อการเรียนรู้และฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติ

“จริงๆ ที่ดินแปลงนี้พี่ซื้อไว้นานแล้วตั้งแต่ช่วงฟองสบู่แตก แล้วค่อยๆ ทยอยซื้อที่ดินรอบๆ แปลงเดิมจนครอบคลุมพื้นที่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ภาพดอยหลวงสำหรับพี่ไม่เคยหยุดนิ่งเลยสักวัน พี่เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามวัน เวลา ความอ่อนเข้มของแสงในแต่ละช่วงของวัน และฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ไม่มีวันไหนที่เหมือนกัน พี่จึงตั้งใจปลูกบ้านให้หันหน้ารับวิวดอยหลวงเชียงดาวเพื่อเปิดรับพลังจากดอยแห่งนี้ และที่บ้านแห่งนี้ พี่จอบ (วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) สามีของพี่ แกอยากปลูกข้าว ซึ่งตรงนั้นเป็นพื้นที่ท้องนา พี่ก็เห็นด้วย เราไม่อยากไปสร้างบ้านสร้างอะไรเต็มไปหมด และไม่อยากให้พื้นที่เกษตรหายไป อีกเรื่องคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พี่เห็นมาตลอดมาจากการทำลายธรรมชาติ ดังนั้น ทางแก้คือหยุดทำลายแล้วมาฟื้นฟูแบบทุกหนทุกแห่ง ให้ธรรมชาติหล่อเลี้ยงเรา ทั้งในเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมด้วย เราจะต้องอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดทุกหนแห่งให้สอดคล้องไปในแต่ละพื้นที่

“สำหรับนูนีนอย ระบบนิเวศที่เหมาะสมคือ ‘Wetland’ ซึ่งพี่ประดิษฐ์คำขึ้นมาเองว่า ‘ทุ่งน้ำ’ โดยทุ่งน้ำนี้จะมีสองฟังก์ชั่น หนึ่งคือการเป็นนิเวศบริการ เช่น การบำบัดน้ำ โดยเราออกแบบให้น้ำจากลำเหมืองชลประทานด้านนอกที่ปนเปื้อน ไหลเข้ามาผ่านระบบนิเวศทุ่งน้ำแบบต่างๆ เพื่อให้พืชน้ำช่วยบำบัดบ้างและให้ทางน้ำไหลเพิ่มออกซิเจนบ้าง จนกระทั่งน้ำสะอาด เป็นต้น กับสองคือการฟื้นคืนบ้านของพืชและสัตว์ที่เคยอยู่ที่นั่น เมื่อเราสร้างบ้านให้สัตว์ และพวกเขาเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น มาใช้ประโยชน์มากขึ้น เราเองก็จะได้ประโยชน์จากพฤติกรรมการหากินของสัตว์เหล่านี้ อย่างเช่นเป็ดป่าซึ่งจะกินศัตรูข้าว หรือแมลงปอซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่กินยุงทั้งตอนที่เป็นตัวอ่อนในน้ำและตอนที่มันโตเต็มวัย พอนิเวศรอบตัวดี ชีวิตในดินก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้ ผลผลิตจากดินดีขึ้น ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น นิเวศแบบนี้แหละที่จะโอบอุ้มเราและช่วยเรารับมือเวลาที่มีภัยพิบัติได้”

“พอเราทำนูนีนอยสำเร็จ เราเลยอยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธิตด้วยว่าจะทำอย่างไรในการฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่และช่วยผลิตอาหาร รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติที่สามารถมาเรียนรู้ได้ ดังนั้น เราจึงจัดคอร์ส ‘Homo Gaia’ ขึ้นที่นี่ด้วย เพราะพี่เชื่อในพลังของดอยหลวง ทุกคนมาที่นี่แล้วเจอดอยหลวงอยู่ข้างหน้ามันทรงพลังมากนะ หลายคนอาจไม่เคยคิดว่าความสงบแต่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติจะมากระทบเราได้ขนาดนั้น

พี่อ้อยบอกกับเราว่าคำว่า ‘Homo Gaia (มนุษย์กาญ่า)’ เป็นคำที่เธอประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในยุคโฮโม เซเปียนส์ ส่วนมนุษย์กาญ่าคือเผ่าพันธุ์มนุษย์หลังจากโฮโม เซเปียนส์ที่สามารถรอดชีวิตมาจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้น แล้วสามารถที่จะดำรงชีวิตของตัวเองอยู่ได้ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกอย่างเป็นสมาชิกร่วมสังคมโลกกัน มนุษย์กาญ่าจึงเป็นเผ่าพันธ์ุที่กลับไปเชื่อมต่อกับธรรมชาติอีกครั้ง เป็นเผ่าพันธ์ุที่สามารถใช้ชีวิตเคียงข้างกับสรรพชีวิตอื่นๆ และเป็นสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการผ่านพ้นวิกฤติการทำลายล้างธรรมชาติของโฮโม เซเปียนส์

“กิจกรรมหนึ่งของ Homo Gaia พี่จะมีรูทีนให้ผู้เข้าร่วมมาเปิดผัสสะต่างๆ นอกจากจากผัสสะพื้นฐานผ่านตา หู จมูก ปาก ก็จะเริ่มเปิดรับผัสสะที่ละเอียดขึ้นๆ จนสามารถสื่อสารข้ามสายพันธุ์กับเพื่อนร่วมโลกได้ หลายๆ คนจึงเกิดความรู้สึกของการถูกบำบัดและเยียวยา เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งที่ผู้เข้าร่วมจะรู้สึกถูกโอบอุ้มและคุ้มครองจากธรรมชาติ เวลาที่ได้เห็นผลลัพธ์ซึ่งแตกต่างกันของผู้เข้าร่วมเป็นสิ่งที่พี่เองก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน เอาจริงๆ เพียงแค่ว่าตัวพี่มีโอกาสได้ดูแลพื้นที่ตรงนี้ ได้เห็นคนมาแล้วความคิด จิตใจ รวมถึงชีวิตเขาเปลี่ยนไป หายจากทุกข์ที่สะสมมานาน พี่รู้สึกดีใจและขอบคุณมากๆ เหมือนว่าจักรวาลจัดสรรมาให้เราได้รับเกียรตินี้ที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคลี่คลายปัญหาที่เขาเผชิญมาและเผชิญอยู่ด้วยปัญญาเขาเอง”

สำหรับใครหลายคน การสื่อสารกับธรรมชาติเหล่านี้อาจฟังดูเป็นเรื่องเหนือจริง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของพวกเราทุกคน และเธอได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ลงในหนังสือที่มีชื่อว่า ‘Homo Gaia มนุษย์กาญ่า’ หนังสือที่เล่าถึงการกลับไปเชื่อมโยงถึงกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างต้นไม้หรือสัตว์ป่า เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตเคียงข้างกับสรรพชีวิตอื่นๆ ได้ด้วย 

“พี่เขียนหนังสือเล่มนี้หลังโควิดที่ผ่านมา เพราะมันเป็นสิ่งต่อเนื่องกับสิ่งที่ตัวเองพยายามพัฒนาร่วมกันมาจากการจัดคอร์สหลายอย่างในนูนีนอยเพื่อดูเรื่องการฟื้นความสัมพันธ์ของธรรมชาติกับคน แล้วพี่อยากจะสื่อในวงที่กว้างขึ้น การเขียนหนังสือดีตรงที่ว่ามันทำให้เรานำสิ่งที่ตกผลึกออกมาเล่าได้เป็นชิ้นเป็นอัน เรียกว่าเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่พี่ได้รับและสัมผัสด้วยตัวเองแบบนั้นก็ได้ แต่ก่อนพี่ไม่ได้พูดออกมา เพราะว่าเรามีแบ็คกราวด์นักวิชาการและทำงานสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยก็วิทยาศาสตร์พลเมือง แต่พอตกผลึกได้อย่างที่บอก พี่เลยคิดว่าเอาล่ะถึงเวลาที่จะเอาออกมาแบ่งปันได้แล้ว”

“อย่างที่เล่าให้ฟังว่าพี่ชอบงานบุกเบิก ซึ่งต้องผ่านการลองผิดลองถูก มีทั้งสำเร็จและผิดพลาด แต่ในความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมันสนุกมากและนำพี่ไปสู่การค้นพบและแสวงหาโจทย์ กระบวนการ และเครื่องมือใหม่ๆ เสมอ เวลาเจออะไรแบบนี้พี่จะฟินมาก โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง แต่ที่ฟินเลเวลสองคือเวลาที่เราได้เห็นว่าคนที่เราได้ถ่ายทอดเครื่องมือ ประสบการณ์ และแนวคิดเหล่านี้ออกไป เขานำไปใช้เพื่อพัฒนาและต่อยอดจนสามารถแก้ปัญหาชีวิตเขาได้ พบกับความสุข อะไรแบบนี้จะทำให้ความฟินถูกอัพเลเวลขึ้นไปอีก 

“จริงๆ การเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งมันเป็นความสามารถของมนุษย์เราอยู่แล้ว เราแค่ลืมมันไปเพราะเราไปหยุดการเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งเหล่านั้น เราจึงควรจะกลับมาเป็นสมาชิกของสรรพสิ่งในสังคมโลกใบนี้ โดยสมาชิกแต่ละคนจะซัพพอร์ตซึ่งกันและกันในมุมต่างๆ ของชีวิต ตลอดจนเป็นตัวงัดคานรักษาสมดุลให้กับสังคม

“คนชอบคิดว่านักอนุรักษ์คงจะบอกให้คนกลับไปอยู่ในถ้ำ ไม่ใช่นะ เราไม่ได้ต้องกลับไปอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่โย้ๆ ปลายนาแบบนั้น ไม่ใช่เลย เรายังสามารถอยู่ในอารยธรรมสะดวกสบายได้ แต่เราจะต้องอยู่แบบใหม่ที่ไม่สร้างปัญหาแก่ชีวิตอื่นอย่างในปัจจุบัน ทุกวันนี้ เราอยู่แบบทำลายธรรมชาติและใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก เราต้องฉลาดขึ้น เช่น คำว่า Smart City ของพี่ไม่ใช่ AI อะไรแบบนั้น แต่คือ Nature Smart ก่อนว่าคุณจะอยู่อย่างไร ออกแบบอย่างไรให้สอดรับกับระบบนิเวศพื้นถิ่น ไม่ใช่การไปต้านธรรมชาติแล้วขุดพลังงานจากใต้พิภพ คุณฉลาดกว่านั้นได้ และอย่าคิดว่าคุณเหนือธรรมชาติ ต้องรู้และตระหนักเสมอว่าธรรมชาติเหนือเรา มีพลังที่ขับเคลื่อนพื้นที่ แต่เราฉลาดพอที่จะรู้ว่าทำอย่างไรให้เขาเข้ามาดูแลเรา มาบริการเรา มาเกื้อหนุนเรา ซึ่งสิ่งแรกที่จะเกิดได้ก็จากความคิดที่เคารพและรักเขาก่อน จากนั้นเราจะเชื่อมโยงไปกับเขาได้ แล้วออกแบบให้เขามาเกื้อหนุนชีวิตของเรา ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องที่น่าสนุก น่าตื่นเต้น และเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรที่คุณจะออกแบบให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติและชีวิตอื่นๆ ได้ เช่น ฉันอยากหาวิธีใช้พลังงานพระอาทิตย์ได้เจ๋งเหมือนใบไม้ เพราะว่าพระอาทิตย์ขับเคลื่อนทั้งโลกได้ดี หรือการยืมปัญญาจากปะการังที่สร้างบ้านปูน โดยไม่ต้องระเบิดภูเขา แถมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก พี่เชื่อว่าถ้ามนุษย์ฉลาดและถ่อมตัวพอ รู้จักที่จะเคารพสรรพสิ่งอื่นแล้วสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกัน โลกจะเปลี่ยนไปได้และเปลี่ยนไปได้อย่างดีด้วย”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: https://www.facebook.com/nunienoi 

บทความที่เกี่ยวข้อง