ชูทวน บุญอนันต์ เล่าเรื่อง ‘บ้าน’ ผ่านสารคดี ‘Come Home บ้านที่กลับมา’  

Human / Self-Inspiration / Social-Inspiration

ตามพจนานุกรม ‘บ้าน’ หมายถึง สิ่งปลูกสร้างสำหรับอยู่อาศัย ซึ่งมีความหมายโดยนัยไม่ใช่เป็นพื้นที่ทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยร่องรอยของความทรงจำ ความผูกพัน และการใช้ชีวิต เป็นที่ที่ความสัมพันธ์เติบโตและก่อร่างสร้างตัวขึ้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้ความหมายของ ‘บ้าน’ มีความพิเศษบางอย่างกับผู้อยู่อาศัย และยังเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Come Home บ้านที่กลับมา‘ รายการสารคดีที่ถ่ายทอดภาพชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเอง หรือเลือกใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ตัวเองเรียกว่าบ้าน จนนำมาซึ่งเรื่องราว วิถี และวิธีการดำรงอยู่ของคนกลุ่มดังกล่าวในพื้นที่ที่พวกเขาเลือกและคุ้นเคยเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการกลับบ้านให้แก่ผู้ชม มาฟัง ต้น – ชูทวน บุญอนันต์ ผู้อยู่เบื้องหลังสารคดีฟีลกู้ดเล่าถึงที่มาที่ไปของการฉายภาพชีวิตที่เริ่มต้นและลงเอยในพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ กัน 

Come Home บ้านที่กลับมา

ต้นเติบโตมาในยุคที่สิ่งพิมพ์กำลังเฟื่องฟู เขาเป็นคนชอบอ่าน เลยเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หลังจากเรียนจบ เขาเริ่มต้นเส้นทางอาชีพของตัวเองในฐานะนักข่าวสายการตลาด ก่อนจะมาลงหลักปักฐานอยู่ในฝ่ายศิลปกรรมโฆษณาให้กับสำนักพิมพ์ใหญ่อย่าง อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน และได้ทำงานที่นั่นอยู่เกือบ 10 ปี จนกระทั่งวงการสื่อไทยก้าวมาถึงยุครอยต่อระหว่างยุคสิ่งพิมพ์กับยุคออนไลน์เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ นูญ – มนูญ ทองนพรัตน์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ได้ชักชวนต้นมาร่วมคิด ร่วมทำงานให้กับ Dropkick Design บริษัทที่สนใจในการจัดการคอนเทนต์ให้เป็นที่เป็นทาง และสร้างความน่าสนใจในการสื่อสารส่งต่อให้ลูกค้า และนี่คือการเริ่มต้นบทบาทใหม่จากชีวิตบนหน้ากระดาษมาสู่การทำงานบนหน้าจอมอนิเตอร์ ที่นี่เองที่เขาได้หยิบเอากระบวนการ ‘การเล่าเรื่อง’ แบบที่คุ้นเคยในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มาใช้กับการเล่าเรื่องในแบบออนไลน์ โดยมีรายการ ‘Come Home บ้านที่กลับมา’ เป็นหนึ่งในผลิตผลที่เกิดขึ้น 

“จุดเริ่มต้นของ ‘Come Home บ้านที่กลับมา’ ต้องให้เครดิตพี่มนูญ ที่ไปเจอว่าช่อง Thai PBS กำลังมองหาผู้ผลิตรายการอยู่ ในทีมเลยมานั่งคุยกัน และพบว่า 99% ของทีมงานในบริษัทเป็นคนต่างจังหวัด เราเลยมักจะมีคำถามกันเสมอว่า “ปีใหม่กลับบ้านรึเปล่า? วันหยุดไปไหนกัน?” ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกว่า “กลับบ้านพี่” หรือ “ผมคงกลับบ้านครับ” จุดร่วมที่เรามักพูดเรื่องการกลับบ้าน เรื่องเด็กต่างจังหวัด การหาพื้นที่ชีวิต เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเราที่อยากจะลองเล่าเรื่องการกลับบ้านกันดู แต่กลับบ้านแล้วอย่างไร อยู่กับใคร ใช้ชีวิตแบบไหน น่าจะเป็นสาระสำคัญที่เราอยากสื่อสารออกไปให้ผู้ชม พร้อมกับหาคำตอบให้ตัวเองไปในเวลาเดียวกัน”

‘Come Home บ้านที่กลับมา’ เป็นรายการสารคดีความยาว 25 นาทีที่พูดถึงกลุ่มคนซึ่งตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเอง โดยนำเสนอให้เห็นถึงการกลับบ้าน รวมทั้งการจัดการชีวิตให้อยู่ได้และอยู่ดีในพื้นที่ที่พวกเขาคุ้นเคย พร้อมๆ ไปกับการบอกเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคน งาน และสถานที่หรือ ‘บ้าน’ ว่าทั้ง 3 สิ่งนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร 

“พวกเราจะย้ำเสมอว่า Come Home ไม่ได้มีเป้าหมายให้คนดูดูแล้วอยากลาออก หรือหันหลังจากชิวิตปัจจุบัน แล้วเดินหน้าสะพายกระเป๋ากลับบ้านเลย แต่เราอยากนำเสนอให้เห็นถึงทางเลือกและเปิดโอกาสให้เกิดการทบทวนว่าสิ่งที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ เราอยู่กันถูกที่ถูกเวลาไหม และอย่างไร ซึ่งคำว่า ‘กลับบ้าน’ สำหรับ Come Home เป็นนิยามที่กว้างและลึกพอสมควร อย่างเช่นแขกรับเชิญในรายการบางท่านเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เลือกไปสร้างโรงเรียนศิลปะอยู่ที่อำเภอเชียงดาวในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขาอาจรู้สึกว่ากรุงเทพฯ คือ บ้านเกิด แต่ที่เชียงดาวคือบ้านของเขา เป็นพื้นที่ที่เขาเลือกใช้ชีวิตและมีความสุขอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น ‘บ้าน’ ในความหมายของเราไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภูมิลำเนาในบัตรประชาชน แต่ ‘บ้าน’ คือสถานที่ที่คุณอยู่แล้วมีความสุข ปลอดภัย ได้ทำในสิ่งที่รัก เป็นที่ที่คุณชอบ และได้แบ่งปันอะไรบางอย่างกับคนรอบข้างหรือสังคม นี่คือนิยามในการทำงานในแต่ละตอนของรายการครับ” 

สนุก สร้างสุข มีประโยชน์

“การเลือกแขกรับเชิญของ Come Home จะมีเกณฑ์กว้างๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ 1. สนุก 2. มีความสุข และ 3. มีประโยชน์ อีกเรื่องสำคัญคือคนแขกรับเชิญคนนั้นจะต้องทำจริง ลงแรงกายแรงใจจริง ล้มลุกคลุกคลานเองจริงๆ ซึ่งความจริงเหล่านี้จะสามารถบอกเล่าได้ทั้งในเรื่องความล้มเหลวและความสำเร็จ ขณะที่มู้ดและโทนจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามเรื่องราวของคนต้นเรื่อง แต่หลักๆ การเล่าเรื่องจะถูกนำเสนอให้มีความเป็นภาพยนตร์สารคดีซึ่งไม่ใช่เป็นการตั้งกล้องแล้วสัมภาษณ์อย่างเดียว ดังนั้น สิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นและสัมผัสคือลักษณะของความเป็นฟิล์มในบางจังหวะ ผสมกับการปล่อยให้ภาพเล่าเรื่อง โดยสิ่งที่ทีมงานให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การถ่ายทอดเรื่องราวและตัวตนของแขกรับเชิญออกมาให้ได้มากที่สุด” 

Come Home บ้านที่กลับมา ออนแอร์เทปแรกในปี 2562 ออกอากาศสัปดาห์ละ 1 ตอน โดยแบ่งออกเป็นซีซั่น ซีซั่นละ 13 ตอน ซึ่งในปี 2565 นี้ Come Home ได้เดินทางมาสู่ปีที่ 3 ซีซั่นที่ 8 โดยออกอากาศมาแล้วกว่า 100 ตอน “ในแต่ละตอนจะมีความประทับใจและบรรจุสาระสำคัญที่แตกต่างกันไป ถ้าลองย้อนไปดูตอนแรกสุดของ Come Home แขกรับเชิญคือคุณเมธา เดชะ (https://youtu.be/OqjNaGF-iWg) เขาเคยเป็นช่างภาพ ทำงานในองค์กรใหญ่ แล้วตัดสินใจไปใช้ชีวิต ทำงานอยู่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนสุดท้ายได้กลับมาทำผ้าย้อมครามที่จังหวัดสระบุรีบ้านเกิด ช่วงหนึ่งในตอนนี้ เราได้ไปสัมภาษณ์พี่ไพศาล จุนกระโทก ช่างสกรีนเสื้อของคุณเมธา เขาได้พูดถึงคุณเมธาไว้ช่วงหนึ่งว่า ตัวเขาเองเป็นคนพิการ แต่คุณเมธาก็ว่าจ้างเขามาทำงานเพราะทักษะที่เขามีและปฏิบัติกับตัวเขาแบบคนทั่วไปคนหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เรามองเห็น คือการให้คุณค่าของชีวิตคนในฐานะของการเป็นมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ใช่เป็นการให้โอกาสเพราะความสงสาร เลยรับมาทำงาน หรือในซีซั่นหลังๆ เราได้พบกับแขกรับเชิญอย่างคุณไพร่า – พีรลดา สุขวัฒก์ ศิลปินนักร้อง ซึ่งเป็นคนในเจเนอเรชั่นที่มีความเชื่อว่าปัจจุบันคือยุค global citizen  นิยามคำว่า ‘บ้าน’ สำหรับเธอ จึงหมายถึงโลกทั้งใบคือบ้านหลังเดียวและทุกคนล้วนเป็นพลเมืองของโลกใบนี้ ทุกคนจะอยู่ จะใช้ชีวิต และมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรที่ไหนก็ได้ ถ้าไม่เดือดร้อนใคร ทำให้คำจำกัดความของ ‘บ้าน’ คือสถานที่ที่ทำให้เขาเป็นตัวเอง ดังนั้น ที่ใดที่มีคุณสมบัติและทำให้เขารู้สึกแบบนั้นได้ ที่นั่นก็คือบ้าน”  

ทุกๆ ซีซั่นของ Come Home จะมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน ในซีซั่นแรกเมื่อ 3 ปีก่อน หลักใหญ่ใจความคือการเล่าในประเด็น ‘การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่แขกรับเชิญแต่ละคนได้เรียนรู้และพวกเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร ขณะที่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางช่องไทยพีบีเอส ลองให้ผู้ผลิตรายการปรับคอนเซ็ปต์ ช่วงนั้นแนวคิดของรายการเองได้ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่หัวข้อ ‘ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ อยู่รอด’ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ดังกล่าว “สำหรับในปี 2565 เป็นอย่างไร ผมคิดว่าเราคงรู้กันอยู่แล้วว่าโควิดยังคงอยู่กับพวกเรานั่นแหละ สาระสำคัญจึงเป็นการมองไปข้างหน้า และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับวิกฤติอย่างไรให้ดีที่สุดมากกว่า Come Home ในปีนี้เลยเป็นการเล่าในมุมของการเลือกใช้ชีวิตที่อิสระมากขึ้น ทำให้นิยามคำว่า ‘บ้าน’ ของ Come Home กว้าง ลึก และแตะประเด็นสังคมมากขึ้น  แต่ยังคงอยู่ในแก่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคน งาน และสถานที่เหมือนเดิม ที่สำคัญคือยังต้องสนุกและต้องสร้างประโยชน์ได้เหมือนเดิมด้วย”

‘คุยให้ลึก ฟังให้ซึ้ง’ เรียนรู้อย่างเข้าใจ

“ผมรู้สึกว่ามนุษย์เราสามารถเรียนรู้กันและกันผ่านการพูดคุยและพบเจอ การตั้งคำถาม การหาคำตอบ การนั่งฟังกันอย่างเปิดใจ พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากลายเป็นหนทางที่ทำให้ผมได้ทบทวนตัวเองและสร้างความชัดเจนในตัวเองไปพร้อมๆ กัน ตอนเด็กๆ พวกเราถูกสอนว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ตอนนั้นผมไม่เข้าใจคำคำนี้เลยนะว่าอะไรคือความแตกต่าง เพราะเราไม่ได้ออกไปเห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างนั้นด้วยตัวเอง หรือเอาง่ายๆ ว่าคำว่า ‘วิถีชีวิต’ คืออะไรยังไม่รู้เลย แต่พอมาทำ Come Home ทำให้ผมเข้าใจหลายๆ คำในอดีต เช่น แขกรับเชิญที่อยู่ภาคอีสาน เขาเล่าให้ฟังว่า เขากลับบ้านไปวันหนึ่ง ไม่รู้จะทำอะไร ก็นอนเปลเล่น ซึ่งบ้านเขาอยู่ภาคอีสานซึ่งรู้กันว่าแห้งแล้งที่สุด พอเวลาฝนตกปั๊บ ชาวบ้านทุกคนจะแห่กันออกไปจับกบจับเขียดกิน พอผมได้เห็นสิ่งนั้นอยู่ตรงหน้า ผมถึงได้เข้าใจว่า นี่ไง วิถีชีวิตเป็นอย่างนี้ไง หรือเรื่องการแบ่งปัน ผมเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนเวลาผมไปต่างจังหวัด แล้วพ่อเฒ่าแม่แก่ที่ไม่ได้รู้จักมักคุ้นกันมาก่อนชวนมากินข้าวร่วมกัน ขณะที่เราอยู่ในเมือง เราสั่งข้าวของใครของมัน ต่างคนต่างกิน ต่างมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง

หรือผมเคยได้ยินนักสร้างแรงบันดาลใจใน YouTube พูดบ่อยๆ ว่า “คุณต้องทำสิ่งที่รักก่อน” แล้วสิ่งที่รักคืออะไรล่ะ? เราจะรักได้อย่างไร? แต่เมื่อผมนั่งดูผ่านจอมอนิเตอร์ เห็นแขกรับเชิญนั่งย้อมคราม ปั้นดินเผา แล่ปลา ทำอาหาร หรือวาดรูป ทำให้เห็นความตั้งใจของพวกเขา ผมมักถามตัวเองในใจเสมอว่า ทำไมพวกเขาถึงได้จดจ่อกับสิ่งที่ทำเหมือนเข้าไปอยู่ในโลกของตัวเองได้ขนาดนั้น และผมได้พบคำตอบว่า คนที่เขารักงานเขาจริงๆ เป็นแบบนี้นี่เอง แบบที่เขาเองอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ แต่ทุกอย่างได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากการกระทำหมดแล้ว นั่นเลยทำให้ผมเรียนรู้ว่า ความรักในงาน รักในสิ่งที่ทำคืออะไรและเป็นอย่างไร

นอกเหนือไปจากมุมมองและความคิดที่เราได้จากแขกรับเชิญแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือความรู้สึกขอบคุณและดีใจ ทุกครั้งที่แขกรับเชิญบอกกับพวกเราว่า การได้พูดคุยกันครั้งนั้นทำให้เขาได้ทบทวนตัวเองและได้คำตอบว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ เขามาถูกทางแล้วนะ การกลับบ้านของเขาคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เลยทำให้ผมสิ้นสงสัยว่าเราทำรายการนี้ขึ้นมาเพื่อและเพราะอะไรสำหรับผม Come Home คือไลฟ์โค้ชที่ดีที่สุด ชีวิตของแขกรับเชิญแต่ละคนได้ตอบตัวผมว่า คงเป็นเรื่องจำเป็นอยู่เหมือนกันกับการออกจากบ้าน เพราะการออกจากบ้านทำให้เราได้หันกลับมามองสิ่งที่มีอยู่ที่บ้านชัดขึ้น ถ้าเราไม่ได้ออกไป เราคงมองไม่เห็นหรอกว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดมีความหมายหรือมีค่ากับเราขนาดไหน รวมถึงเมื่อออกไปแล้วมองกลับมา เราได้อะไรจากตรงนั้นด้วย Come Home เลยตอบคำถามหลายๆ อย่างที่ผมเคยไม่เข้าใจและสงสัยในอดีตได้เกือบหมด ผมได้เข้าใจคำเล็กๆ อย่าง ‘ครอบครัว’ ‘บ้าน’ ‘การเดินทาง’ ‘ความสุข’ ‘วิถีชีวิต’ ‘การใช้ชีวิต’ ได้มากขึ้นเยอะเลยครับ”

สารคดีที่ดีในสายตาคนทำหนังสือ 

“ถ้าตอบในเชิงคนที่ทำงานทางคอนเทนต์มาก่อน สารคดีที่ดีสำหรับผมประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 อย่าง อย่างแรกคือเรื่องที่จะเล่าและคนต้นเรื่องต้องชัดเจน ชัดเจนคืออะไร คือแขกรับเชิญต้องมีประสบการณ์จริง อย่างที่สอง ผู้ผลิตต้องเอาสิ่งที่ได้มาถ่ายทอดให้ชัดเจนที่สุด เช่น ฟุตเทจถ่ายแบบนี้เล่าเรื่องอะไร เลือกสีแบบนี้ต้องการสื่อสารอะไร ใส่เพลงตรงนี้ช่วยเสริมอารมณ์ตรงไหน ใส่เสียงตรงนี้มีความหมายอะไร นี่คือกระบวนการและเทคนิคในการเล่าที่ต้องตอบคำถามในการทำงานให้ได้ และสามต้องมีประโยชน์ ผมเชื่อเสมอว่า คนทุกคนมีประโยชน์เรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ หน้าที่ของคนผลิตคือการนำประโยชน์ตรงนั้นมานำเสนอและสร้างคุณค่าให้ได้ ดังนั้น องค์ประกอบที่ดีของสารคดีสำหรับผมคือ สารตั้งต้นดี การเล่าเรื่องดี และถ่ายทอดประโยชน์ รวมถึงคุณค่าออกมาให้ดี

สำหรับ Come Home เช็กลิสต์ของพวกเรา นอกจากการประเมินจากคนดู ในมุมของผมและทีมงาน พวกเราต้องมีการตรวจสอบซ้ำด้วยสองมุมมองเสมอ ในครั้งแรกมองด้วยสายตาคนทำงาน เราจะพิจารณาในเชิงเทคนิคว่าครบองค์ประกอบแล้วหรือยัง เช่น เวลาครบ สีสันไม่ผิดเพี้ยน หลังจากนั้น เราจะถอดหมวกของการเป็นทีมงานออกและมองไปด้วยสายตาของคนดูเข้าไปแทน เพราะถ้าเรามองจากสายตาคนทำงาน เราจะนึกไปถึงตอนสัมภาษณ์ตรงนั้น เราถามเขาตรงนี้ กล้องตั้งตรงไหน เห็นเป็นภาพแบบ behind the scene ไปหมด แต่เมื่อเราใช้สายตาของคนดู แน่นอนว่ามุมมองและการโฟกัสของเราจะเปลี่ยนไปแล้ว เช่นว่า การเล่าตรงนี้หรือประโยคนี้ที่เขาตอบมาทำให้เรารู้สึกอย่างไร หากเรารู้สึกอะไรบางอย่าง ผู้ชมก็น่าจะรู้สึกเช่นเดียวกับเราบ้างนะ ส่วนจะสื่อสารออกไปได้สำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น คนดูจะชอบหรือไม่นั้น เราไม่อาจรู้ได้เลย แต่ถ้าทีมเราดูแล้วรู้สึกใจฟูๆ หรือตรงนี้ดูแล้วน้ำตาซึมๆ รู้สึกสนุก อบอุ่น ได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของแขกรับเชิญ นั่นคือจบ ปิดจ๊อบ แล้วส่งงานที่เราชอบที่สุดไปให้ช่องครับ” 

‘บ้าน’ แบบต้น

“ชีวิตที่ดีสำหรับผมคือการมีสมดุลในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องงานกับชีวิตส่วนตัว ทุกวันนี้ความสุขของผมมาจากการพูดคุยกับคน การแลกเปลี่ยนความคิด การถามและตอบ ได้เดินทางไปเก็บเรื่องราวเหล่านั้นมาส่งต่อ อย่างเวลาเราทำ Come Home พวกเรามักจะถามกันและกันอยู่เสมอว่า ทำงานนี้แล้ว เรามีความสุขไหม สนุกไหม โอเคหรือเปล่า? แขกที่เราไปคุยด้วยมีความสุขหรือเปล่า? เช่นว่า ศิลปินท่านหนึ่งเท่มาก ทำงานศิลปะ วาดรูปชิ้นหนึ่งได้ผลตอบแทนมากมาย แต่สิ่งน่าสนใจกว่านั้นคือการทำงานศิลปะของเขาได้ไปเชื่อมโยงกับชุมชน สร้างโอกาสและก่อให้เกิดการเกื้อกูลระหว่างผู้คนในพื้นที่ หรือภาพของเขาได้เล่าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ ออกมา นี่เป็นมิติหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าคือความสุข และจะสุขยิ่งกว่าถ้าเราไปเจอเขาและนำเรื่องราวอะไรแบบนี้มาบอกต่อเพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้คนได้อีก”

แล้วบ้านของต้นล่ะ เป็นอย่างไร? “คงเป็นบ้านที่เลือกเอง เลือกพื้นที่ชีวิตเอง เป็นบ้านที่พอจะสร้างประโยชน์กับตัวผมเองและเพื่อนบ้านที่แวดล้อมบ้านของผมได้บ้าง แน่นอนว่าต้องเป็นที่ที่มีความสนุก มีความสุข และอย่างน้อยก็คงจะเป็นบ้านที่มีประโยชน์อยู่ในนั้นด้วย”

ช่างภาพ: มณีนุช บุณเรือง
ภาพบางส่วน: ชูทวน บุญอนันต์

บทความที่เกี่ยวข้อง