ฟัง ‘เรื่องเล่าของหมอสูติ’ ดูบัคเก็ตลิสต์ก่อนตายสู่ชีวิตที่มีความหมายของ นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ

หลังจากสิ้นสุดบทสนทนาอันยาวนานกับ หมอแป๊ะ-นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ เราคิดอยู่นานว่าจะเล่าเรื่องราวของคุณหมอชาวสุราษฎร์ธานีที่มาทำงานที่สงขลานานกว่าครึ่งชีวิตคนนี้อย่างไรให้ครอบคลุมทั้งตัวตน สิ่งที่เขาทำ และอยากทำแบบครบบริบูรณ์ได้ เพราะเรื่องราวตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเขาน่าเล่าไปเสียหมด ย้อนเวลากลับไปก่อนจะมาเป็นหมอสูติแบบในปัจจบุัน หมอแป๊ะเคยอยากเป็นนักการทูต นักเดินเรือ นักบิน (ที่ปัจจุบันก็ยังอยากเป็นอยู่) และเภสัชกร กระทั่งโดนยิงคำถามแบบโต้งๆ จากคุณหมอเจ้าของไข้ตอนไปโรงพยาบาลสมัยอยู่ ม.ปลายว่า “แล้วเราอยากเป็นหมอหรือเปล่าล่ะ?” วันนั้นเอง ความฝันที่ถูกกดทับมาตลอดได้นำทางหมอแป๊ะเข้าสู่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อนจะรับวุฒิบัตรเป็นสูตินรีแพทย์ และไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านนรีเวชระบบปัสสาวะจากสิงคโปร์ จนกลับมาทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ในภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 

ในอีกฟากหนึ่ง เขาคือนักเขียนมือฉมังที่เริ่มต้นจับปากกาจากการจดบันทึกเรื่องราวชีวิตของการเป็นหมอในยุคเริ่มต้นกว่า 600 ฉบับ ซึ่งจัดเก็บอยู่ในเว็บไซต์ GotoKnow เขาเคยขึ้นแท่นบรรณาธิการให้กับวารสารของสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ ม.อ. อยู่หลายปี ก่อนจะย้ายสำมะโนครัวมาเล่าเรื่องราวแสนสนุกทั้งงานและไลฟ์สไตล์แบบสาระคละบันเทิงในเฟซบุ๊ก Thanapan Choobun และเขายังเป็นนักเขียนภายใต้นามปากกกา ‘ธนพันธ์ ชูบุญเปลี่ยนไปเรื่อยๆ’ ที่สร้างสรรค์ผลงาน ‘เรื่องเล่าของหมอสูติ’ ออกมาจำหน่ายจริงแล้ว 4 เล่ม 4 ตอน จนถึงตอนนี้ หมอแป๊ะยังมีอีกหลายสิ่งที่อยากทำ เป็นต้นว่าการสร้างคุณภาพและมาตรฐานที่ดีให้กับการฝากครรภ์เพื่อลดตัวเลขการเสียชีวิตของผู้หญิงตั้งครรภ์ในเขตพื้นที่ที่ทำงาน 7 จังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง รวมไปถึงการรณรงค์ให้การทำแท้งเป็นการบริการสุขภาพปกติและเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดของชีวิตที่ใครก็สามารถเลือกได้ นี่คือบทสัมภาษณ์ที่จริงจัง จริงใจ และเต็มไปด้วยชีวิตชีวาที่สุดเรื่องหนึ่ง กับเรื่องราวแบบหมอๆ ของหมอแป๊ะ ไปจนถึงความฝันเพื่อคน ชุมชน และสังคมที่ไม่ไกลเกินเอื้อม 

เมื่อคนไข้สอนหมอ

“ถ้าย้อนกลับตอนยังเป็นเด็ก ผมเองยังไม่กล้าพูดแบบเต็มปากเลยว่าอยากช่วยเหลือคน ตอนนั้นรู้สึกแค่อยากจะเป็นหมอ อยากฟังหัวใจ อยากฉีดยา อยากเจาะเลือด อยากผ่าตัดคน อยากใส่เฝือกได้ เวลานั้นเหมือนเป็นความอยาก แต่สิ่งที่บอกว่าผมเป็นหมอได้ หรืออยากเป็นหมอจริงๆ น่าจะตอนที่อยู่ชั้นปีที่ 2 ที่ได้เรียนวิชากายวิภาค จำได้ว่าทุกๆ เช้า ผมจะเฝ้ารอว่าจะเจออะไรอีก วันนี้ได้ส่องกล้องจุลทรรศน์ พรุ่งนี้จะได้ดูเซลล์ไต อีกวันได้จับไตของจริงแล้ว ผมเรียกการเฝ้ารอนี้ว่าเป็นแพชั่นของการเดินทางเพื่อก้าวสู่การเป็นหมอละมั้ง 

“พอวันที่ก้าวพ้นจากการเป็นนักศึกษาแพทย์มาเป็นคุณหมอที่จับเครื่องมือจริงๆ เจอคนไข้จริงๆ โอ้โห แตกต่างกันมหาศาลเลย แต่ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ดูแลความเจ็บป่วยหรือความทุกข์ของคนไข้ แม้ว่าในคนไข้บางรายที่เราไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ ผมถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขนะ ซึ่งความสุขนั้นไม่ได้เป็นความสุขที่ได้จากการตายของคนไข้นะครับ แต่เป็นความสุขที่เรามีโอกาสเข้าไปเรียนรู้เพื่อที่จะนำประสบการณ์ต่างๆ ไปช่วยเหลือคนไข้คนอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น คนไข้ทุกคนไม่ว่าเป็นใครหรือในช่วงเวลาไหนของชีวิตความเป็นหมอจึงเป็นครูของผมทั้งหมด

“มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองในการทำงานของผมไปพอสมควร ตอนนั้นผมเรียนชั้นปี 4 อยู่ในเหตุการณ์ที่มีการช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการปั๊มหัวใจ ซึ่งมี ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย ยืนบัญชาการอยู่ หลังจากที่คนไข้เสียชีวิตแล้ว อาจารย์ท่านยืนมองและพูดกับคนไข้ว่า “เหนื่อยมามากแล้ว พักผ่อนเถอะนะ” นี่เป็นคำพูดที่ธรรมดามาก แต่ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของการเคารพผู้เสียชีวิตที่อยู่ตรงหน้า นั่นเป็นจุดแรกเลยที่อาจารย์สอนเราโดยการกระทำและทำให้เห็นว่าเราควรให้คุณค่าของชีวิตหลงเหลืออยู่ในทุกๆ จุดของการทำงาน กลายเป็นว่า ในขณะที่ความอยากที่จะเข้าไปเรียนรู้กับร่างกายคนไข้ยังคงมีอยู่ แต่ทุกๆ ครั้งที่มีการวินิฉัยโรค ตรวจรักษา หรือเรียนรู้จากร่างกายของคนไข้ ทั้งบุคคลที่มีและไม่มีชีวิตแล้ว ผมจะเคารพและขอบคุณพวกเขาเสมอ”

มากกว่าการจดบันทึก คือการได้ขัดเกลาหัวใจ

“ผมเริ่มเขียนมาตั้งแต่อยู่มัธยมปลายแล้วนะ เคยเป็นนักเขียนให้กับวารสารของเพื่อนๆ ในวิชาภาษาไทย พอเข้ามาเป็นนักเรียนแพทย์ ผมเริ่มเขียนบันทึกเรื่องการเรียนหมอว่าเราทำอะไรบ้าง แต่ปรากฏว่าเขียนได้แค่เทอมแรกเทอมเดียวเพราะเรียนหนักจริงๆ จนกระทั่งเริ่มงานเป็นอาจารย์แพทย์ใหม่ๆ ผมมีโอกาสไปเป็นบรรณาธิการให้กับวารสารของสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ ม.อ. นอกจากเป็นนักเขียนแล้ว ผมยังต้องเป็นคนวางแผนการออกหนังสือ สัมภาษณ์ เอาเนื้อหาต่างๆ มาลง เป็นคนทำรูปเล่มทั้งหมด รื้อฟอร์แมตเดิมที่เป็นแผ่นพับแล้วทำเป็นรูปแบบนิตยสารอย่างจริงจัง ตอนทำผมสนุกมากและได้รู้ในเวลานั้นว่า เราเป็นนักเขียนได้เหมือนกันแฮะ 

“พอเดินทางไปเรียนเฉพาะทางสาขานรีเวชระบบปัสสาวะที่สิงคโปร์ ผมคิดถึงบ้านมาก เลยคิดว่าจะเขียนบันทึกขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้อาจารย์ที่เคารพรักแนะนำให้ไปเขียนไว้ใน GotoKnow ซึ่งสมัย 2550 เว็บนี้ฮิตมากเลยนะครับ ผมบันทึกเรื่องการเรียนที่สิงคโปร์ว่ามาเรียนอะไร ชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร เจออะไรกับการทำงานที่นั่นบ้าง ปรากฏว่าพอเขียนเสร็จมีคนมาอ่าน พอมีคนอ่านมากขึ้นก็ชักสนุกแล้วสิ กลับจากสิงคโปร์ผมเลยเขียนบันทึกทุกวัน โดยบันทึกของผมหลากหลายมากๆ บันทึกไหนที่เป็นเรื่องเป็นราวก็จะนำไปจัดเก็บในคลังของ GotoKnow จนถึงยุคของเฟซบุ๊ก ผมย้ายมาเขียนลงในนั้น เริ่มมีคนอ่านมาติดตามมากขึ้นทีละน้อย ปรากฏว่าวันหนึ่งผมเขียนเรื่องการตกเลือดจากภาวะรกเกาะต่ำ ตามมาด้วยอีกหลายๆ โพสต์ที่เป็นเรื่องสุขภาพในมุมมองของหมอ แต่ใช้ภาษาของชาวบ้านที่คนทั่วไปอ่านแล้วสนุก เข้าใจ และได้ความรู้ไปด้วย เมื่อมีคนแชร์โพสต์ออกไปเยอะขึ้นๆ จึงมีคนมาทาบทามว่าลองทำเป็นหนังสือไหม จนได้ออกหนังสือมา 4 เล่ม คือ เรื่องเล่าของหมอสูติ เล่ม 1 และเล่ม 2  โดยเล่มที่ 1 และ 2 เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องบนเตียงตรวจคนไข้ เตียงคลอด เตียงนอน สารพัดเตียงที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ตามมาด้วย เรื่องเล่าของหมอสูติ เล่ม 3 ตอน หมอกลัวผี และ เรื่องเล่าของหมอสูติ เล่ม 4 ตอน เครื่องเพศ 

“นอกจากเรื่องของหมอสูติในมุมต่างๆ ทั้ง 4 เล่มที่ผ่านมาแล้ว ผมยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากจะเขียน หนึ่งในนั้นคือการเขียนเรื่องราวของคนไข้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่เรายังระลึกถึงอยู่และรู้สึกว่าพวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ผมอยากจะนำคนเหล่านี้มาอยู่ในหนังสือ โดยผมจะใช้ชื่อดอกไม้นานาพรรณแทนชื่อจริงๆ ของพวกเขาและใช้เรื่องราวของคนไข้เหล่านี้สื่อสารในเรื่องของความตายเพื่อให้คนเข้าใจว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และการตายด้วยสภาวะเหตุแห่งโรคนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และอีกเล่มที่คิดว่าน่าจะออกในอนาคตข้างหน้าคงจะเป็นเส้นทางของการเรียนหมอ ผมอยากจะเล่าตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าระหว่างทางมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง 

“ถ้าถามว่าการเขียนให้อะไรผม ผมเปรียบการเขียนเสมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เมื่อเราเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ พอวันพรุ่งนี้ เรื่องราวของเมื่อวานจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ขณะเดียวกัน การเขียนยังช่วยปลดล็อกความรู้สึกบางอย่างที่ยังคั่งค้างหรือขุ่นมัวออกไปด้วย เพราะหลายๆ ครั้งที่ได้เขียนออกมา เหมือนกับผมได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจ ได้กลับมาทบทวน เกิดการไตร่ตรองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรารู้สึกอย่างไร ทำไมเราถึงเป็นอย่างนั้น เราโกรธหรือโมโหแล้วได้อะไร เหมือนว่าการเขียนได้เข้ามาขัดเกลาจิตใจของผมมากอยู่เหมือนกัน”

เครียดได้ แต่ต้องวางให้เป็น 

“สำหรับมนุษย์ ความเครียดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นะ ผมก็เช่นกัน แต่เมื่อเครียดแล้ว เราต้องวางให้เป็น บางสิ่งบางอย่างหากเกินความสามารถของเราในการจัดการ เราต้องปล่อยวาง เช่น คนไข้บางคนมาด้วยอาการที่รุนแรงมาก แล้วเราสูญเสียเขาไปหรือมีความพิการเกิดขึ้น แม้ว่าความสูญเสียนั้นอยู่ในมือเรา แต่เราเองต้องวางและยอมรับความพ่ายแพ้ให้เป็นด้วย เมื่อก่อนตอนที่เป็นหมอใหม่ๆ ผมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนไข้รอดตาย พยายามทำให้การตายนั้นยืดยาวออกไป โดยไม่สนใจเรื่องอื่น เพราะเรายังวางไม่ได้ เพราะเราลืมไปว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนหนึ่งคนที่จะอยู่ได้นั้นประกอบไปด้วยร่างกายและจิตใจ ฉะนั้น สำหรับผมในเวลานี้ แทนที่จะ prolong death ผมจะให้ความสำคัญกับการ prolong life มากกว่า นั่นคือคนไข้จะต้องอยู่อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี หรืออยู่และยอมรับกับภาวะโรคที่เขาเจ็บป่วยได้ 

“เอาจริงๆ ผมไม่สามารถวางความเครียดเหล่านี้ได้ทันที แถมมีพลังงานลบติดตัวออกไปนอกเวลางานอยู่บ่อยๆ มีเรื่องหนึ่งในชีวิตที่วางได้ยากจริงๆ คือตอนที่ผมเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งนอกจากหน้าที่หลักอย่างการเป็นหมอแล้ว ผมยังต้องทำหน้าที่บริหารไปพร้อมๆ กันด้วย เวลานั้นมองไปทางไหนเจอแต่ปัญหาเต็มไปหมด ทำให้เกิดความเครียดสะสมแบบที่เราไม่รู้ตัวเลย กระทั่งวันหนึ่งภรรยามาบอกกับผมว่า “พ่อคงไม่รู้ตัวว่าพ่อทำให้บ้านร้อน เพราะพ่อแบกความฉุนเฉียวกลับมาด้วย” ผมหาทางวางมาตั้งนาน พอภรรยาพูดทีเดียวเข้าใจเลย สุดท้ายจึงต้องปล่อย แล้วหันมายอมรับและเข้าใจแทน ซึ่งถ้ามีปัญหา มีความขุ่นข้องหมองใจ หรือความเครียดอะไรที่ยังวางไม่ได้ แบบที่ให้ตายอย่างไรก็คิดและสลัดไม่ออก ผมจะปล่อยเอาไว้ก่อน รอให้หัวโล่งๆ แล้วมาว่ากันใหม่”

ลำดับความสำคัญเพื่อชีวิตที่สมดุล

“การแบ่งชีวิตการทำงานกับเวลาส่วนตัวคือการหาจุดที่พอดีและการลำดับความสำคัญ ถ้าระหว่างที่ผมทำงานแล้วเกิดมีปัญหาขึ้นกับครอบครัว เช่น ลูกต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเป็นความช่วยเหลือที่สามารถรอได้ ผมจะจัดการภาระหน้าที่ตรงหน้าให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่หากความต้องการนั้นเร่งด่วนมาก แบบที่ไม่มาตอนนี้ชีวิตเขาเปลี่ยนแน่ๆ ผมจะเอาตัวเองออกจากงานก่อน แล้วลูกจะได้ตัวผมเร็วที่สุด แต่ครอบครัวจะทราบถึงตารางทำงานของผมว่าวันไหนเป็นงานสำคัญที่ผมต้องให้เวลาอย่างเต็มที่ พวกเขาจะเข้าใจถึงระดับของความเร่งด่วนนั้นว่าระดับไหนถึงต้องโทรหา แต่ผมจะทำอย่างนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มีเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ที่เข้าใจและพร้อมช่วยเหลือเสมอ โดยผมเองจะทำในแบบนี้ด้วยเช่นกันหากเพื่อนๆ หรือลูกศิษย์ต้องการตัวผมไปช่วย ณ เวลานั้น ผมจึงขอบคุณอะไรก็ตามที่ทำให้ผมได้อยู่ในความสัมพันธ์แบบที่มีมิตรจิตมิตรใจต่อกันแบบนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมรักคนที่อยู่แวดล้อมและสถาบันแห่งนี้มากๆ” 

เป้าหมายชีวิตกับบัคเก็ตลิสท์ก่อนตาย

“ผมยังมีอีกหลายอย่างมากในชีวิตที่อยากแต่ยังไม่ได้ทำ ผมอยากเปิดร้านขายขนมปัง ขนมปังธรรมดานี่แหละ อยากเปิดร้านขายอาหารเช้าที่มีขนมปังเป็นเบส ผมอยากทำคราฟเบียร์และผลักดันสุราท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก ผมอยากขับเครื่องบิน ผมอยากเปิดรีสอร์ตที่เป็นโฮมสเตย์ ใช้อุปกรณ์น้อยๆ ทำแบบ eco-tourism และเป็นผู้นำท่องเที่ยวในชุมชน ผมอยากทำเรื่องขยะให้ต่อเนื่อง ตอนนี้ผมทำเรื่องขยะในบ้าน รอบบ้านผมมีดินสำหรับทิ้งขยะเปียก ดินสำหรับใส่ใบไม้และเศษผลไม้ ผมปรุงดินด้วยส่วนผสมของซากอินทรีย์ผสมขี้วัวขี้ควายซึ่งสามารถเลี้ยงไส้เดือนได้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่อง non-medical ที่ผมอยากทำ 

“ส่วนในเรื่องทางวิชาชีพ ผมมีอีก 2 ความฝัน ฝันแรกคือการทำให้การฝากครรภ์มีคุณภาพ ถ้าเราลองไปดูข้อมูลสถิติสาธารณสุขของประเทศไทยจะพบว่า ผู้หญิงในเขต 12 ซึ่งครอบคลุม 7 จังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง มีอัตราการตายของผู้หญิงตั้งครรภ์สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งดัชนีการตายของผู้หญิงตั้งครรภ์ตัวนี้จะเป็นการชี้วัดความเจริญทางสาธารณสุขของประเทศเลยนะครับ เมื่อมาวิเคราะห์ดูแล้ว สาเหตุการตายที่เกิดขึ้นมาจากคุณภาพของการฝากครรภ์ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ผมจึงอยากลงชุมชน ไปนั่งทำงานในโรงพยาบาลภายในชุมชน เพราะการฝากครรภ์เป็นเรื่องยาก งานส่วนนี้จะต้องอาศัยพยาบาลที่มีประสบการณ์สูง ผ่านงานมาเยอะ แต่หน้างานส่วนใหญ่จะเป็นน้องใหม่ เอาจริงๆ จะเอาน้องใหม่มาก็ได้ เพียงแต่น้องๆ เหล่านั้นจะต้องได้รับการฝึกให้พร้อมสำหรับการดูแลเคสลักษณะนี้ ตอนนี้ผมรอให้จำนวนคนที่มาเป็นอาจารย์ซึ่งสามารถดูแลเรื่องนรีเวชระบบปัสสาวะมากพอ ผมจึงจะสามารถวางงานตรงนั้นลงและมุ่งทำเรื่องนี้อย่างจริงจังได้  

“อีกเรื่องหนึ่งคือการทำแท้งที่ผมอยากผลักดันให้เป็นบริการสุขภาพแบบปกติ ปกติหมายความว่า การทำแท้งนั้นจะต้องไม่ต่างไปจากการรักษาไข้หวัดหรือการผ่าตัดไส้ติ่งที่ทุกคนสามารถเข้ามารับบริการทางการแพทย์ได้ โดยที่คนไข้จะได้รับความปลอดภัยและการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ผมอยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะคนทั่วไปหรือบุคลากรทางการแพทย์เข้าใจและปรับมุมมองว่านี่คือการบริการปกติ คุณจะยังเห็นว่าทุกวันนี้ เวลาคนมาขอทำแท้ง พวกเขามักจะกลัวว่าสังคมและผู้ให้บริการสาธารณสุขจะมีปฏิกิริยาในทางลบ ผมอยากให้พวกเขาเข้าไปในโรงพยาบาลด้วยความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นคนป่วยคนหนึ่งที่เข้ามารับการบริการ โดยความป่วยนั้นคือการไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าเรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิในเรือนร่างของผู้หญิงสักคนหนึ่งที่เขาตัดสินว่าเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร เราเองก็ไม่ควรที่จะนำเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในความเป็นร่างกายผู้หญิงคนนั้น แต่ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในใจเขาให้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เขามีความทุกข์อย่างไรมากกว่า ณ เวลานี้ ทางกฎหมายได้อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้แล้ว แต่อย่างที่บอกว่าเรายังติดในเรื่องของความคิดและความเชื่อเหล่านี้อยู่ว่าการทำแท้งเป็นเรื่องไม่ดี ทำให้เรายังก้าวข้ามตรงนี้ไม่ได้ แต่ปัจจุบัน มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปนะครับ เพราะเด็กยุคใหม่ไม่ได้สนใจอะไรไปมากกว่าสิทธิบนเรือนร่างของตัวเอง ดังนั้น ในอนาคตข้างหน้า เรื่องความกลัวจากการทำแท้งน่าจะเบาบางลงได้นะครับ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากทำให้เกิดขึ้นจริงครับ โอ้โห ดูสิความอยากของผมเยอะแยะมากเลยนะ (หัวเราะ) แต่ผมว่าความอยากเหล่านี้ละมั้งที่ทำให้เรามีชีวิตชีวา อยากใช้ชีวิตต่อไป และรู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” 

ภาพ: วิทยา พานิชกุล

Share :
go to top