ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ จากอาจารย์บัญชีในอังกฤษสู่งานวิจัยเชิงนโยบายด้านความยั่งยืนกับภาคธุรกิจไทย

Human / Social-Inspiration

จากจุดเริ่มต้นในสาขาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ หรือโบ ต่อยอดความสนใจของเธอในแขนงวิชาเดียวกันนี้ในระดับปริญญาโทและเอก ณ ประเทศอังกฤษ กระทั่งมีโอกาสเข้าสู่วงการวิชาการด้วยการเป็นอาจารย์และนักวิชาการประจำที่ภาควิชาบัญชี ณ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) ประเทศอังกฤษอยู่ราว 5 ปี ก่อนจะกลับมารับหน้าที่นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ และผู้หญิงคนเดียวกันนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่โฟมล้างมือรูปแบบผงอย่าง LaLye (ละ-ลาย) ภายใต้เเบรนด์ LaLye Homecare ที่เธอ สามี และเพื่อนสนิทร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ขณะที่ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และโบยังเป็นอาสาสมัครในคณะทำงานของแพลตฟอร์มเพื่อย่านและเมืองอย่าง AriAround รวมไปถึงการมีฝันที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมรักษา ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อม และสังคมดีๆ ให้เกิดขึ้นในเมืองที่เธออาศัยอยู่อย่างกรุงเทพมหานครอีกด้วย

แม้ตารางเวลาที่แน่นเอี๊ยดทั้งภาระหน้าที่ รวมไปถึงภารกิจเพื่อส่วนรวมและส่วนตัว แต่เธอก็ยังแบ่งเวลามาพูดคุยกับเราถึงเรื่องราวชีวิตตั้งแต่การเป็นนักศึกษาด้านบัญชีระดับตรี-โท-เอก ชีวิตของนักเรียนไทยในอังกฤษ บทบาทของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สู่การทำงานในฐานะนักวิชาการในปัจจุบันกับการผลักดันให้ธุรกิจในไทยมองความยั่งยืนแบบรอบด้าน พร้อมนานาสาระระหว่างการทางที่เธอเก็บเล็กผสมน้อยจนกลายเป็น โบ ชาริกา แบบในปัจจุบัน มาลองฟังเรื่องราวที่เธอเล่าแบบไม่มีกั๊กผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้กัน 

หลังจากจบปริญญาตรีในสาขาการบัญชีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โบเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทในโปรแกรม Accounting Organizations and Institutions ที่ London School of Economics and Political Science (LSE) ด้วยการเรียนที่ไขว้วิชาบัญชีไปกับศาสตร์อื่นๆ ทำให้โบได้เจอเพื่อนร่วมชั้นจากต่างสาขาทั้งชีววิทยา เคมี และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้โลกของคำว่าบัญชีกว้างขึ้น ได้เห็นมุมมองจากคนภายนอกที่มองศาสตร์บัญชีและนักบัญชีว่าเป็นอย่างไร และยิ่งทำให้รู้อีกว่าบัญชีไม่ได้มีแค่เรื่องเทคนิค แต่ยังมีอิทธิพลต่อสังคมด้วยเช่นกัน

หลังจากการเรียนปริญญาโทจบลง เธอเว้นช่วงการเรียนเพื่อกลับมาทำงานที่ไทยอยู่หนึ่งปี ก่อนจะกลับไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสาขา Sustainability Accounting ที่ The University of Manchester กระทั่งเรียนจบในอีกสี่ปีถัดมา และคงเพราะอยู่กับเรื่องวิชาการมาตลอดสี่ปีเต็ม งานแรกที่โบเลือกทำจึงเป็นงานในบริษัทเอกชนที่อังกฤษ แต่ทำได้อยู่เพียง 1 เดือน ก่อนจะมาได้คุยกับอาจารย์ที่ภาควิชาในอังกฤษ หลายๆ คนแนะนำให้เธอเป็นอาจารย์ที่นั่น ซึ่งเธอพบว่างานนี้น่าสนใจและรู้มาว่ากูรูทางด้าน Sustainability Accounting ทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่าไปรวมตัวกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม และถ้าจะทำงานในวงการนี้ เธอต้องไปที่นั่นเท่านั้น รวมถึงการเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่อังกฤษนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอทำเพจ ‘จารย์ไทยในดงผู้ดี’ ด้วย

“ที่เบอร์มิงแฮม เราได้สอนวิชาบัญชีให้กับนักศึกษาปีหนึ่ง เป็นการสอนแบบ 1:400 คน ซึ่งปีหนึ่งจะเป็นปีที่ไม่ค่อยมีใครอยากสอน แต่เราอยากสอน เราเคยคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่อังกฤษซึ่งท่านอายุมากแล้วและมีโอกาสที่จะไปสอนปีโตๆ ได้ ว่าทำไมท่านยังมาเลือกสอนปีหนึ่งอยู่ ท่านบอกกับเราว่า ‘ปีหนึ่งเป็นปีที่สำคัญที่สุด ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด เขาจะเกลียดวิชานี้ไปเลย’ ซึ่งก็จริงและสะท้อนให้เราเห็นภาพกลับมาตอนที่เราเป็นนักเรียนว่าเพื่อนๆ ที่ได้เกรดวิชาบัญชีไม่ดีตอนปีหนึ่ง หลายคนจะได้เกรดไม่ดีตลอดการเรียน 4 ปี นั่นเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากสอน อยากเป็นคนช่วยให้พวกเขาติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง เรายังได้สอนรุ่นพี่ปีโตๆ ในรายวิชาอย่าง Social and Environmental Accounting (การบัญชีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม) วิชา Financial Accounting Theory and Policy (ทฤษฎีบัญชีการเงินและการนำไปใช้ทางด้านนโยบาย) และ Widening Accounting Horizons ที่ว่าด้วยเรื่องการบัญชีในมิติอื่นๆ ที่มากกว่าเรื่องทางเทคนิคด้วย” 

“หลังจากเป็นอาจารย์ที่อังกฤษได้ประมาณ 5 ปี บวกกับช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดที่ต้องสอนออนไลน์วันหนึ่งหลายๆ คลาส ต้องทำงานวิจัยควบคู่กันไปด้วย แถมอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ถือว่ารุนแรง จึงขอหัวหน้ากลับมาสอนแบบทางไกลที่ไทยอยู่ประมาณหนึ่งปี เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยอยู่เหมือนกัน เรารู้สึกว่าคงจะดีถ้าได้พักชีวิตจากการเป็นอาจารย์ระยะหนึ่ง จนได้มาทำงานที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ถึงตอนนี้ก็ทำมาเกือบ 3 ปีแล้วค่ะ 


“สำหรับหน้าที่ในปัจจุบันคือนักวิชาการ แต่ว่าภาษาอังกฤษที่เรียกอาจจะเข้าใจมากกว่านั่นคือ Research Fellow โดยทีมที่เราเป็นหัวหน้าอยู่ชื่อว่า Business and Sustainable Development จะดูงานวิจัยซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ทำให้ภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ คิดถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเรื่องธรรมาภิบาล ตอนนี้ทีมของเรายังเป็นน้องใหม่อายุเกือบๆ 3 ปี และมีคนทำงานในทีมไม่มาก ในเวลานี้จึงโฟกัสงานวิจัยไปที่บริษัทขนาดใหญ่ก่อน โดยเน้นหนักในประเด็นอย่างการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่จะเป็นประตูให้เราสามารถไปคุยกับเขาในเรื่องที่สำคัญต่อๆ ไปได้ ส่วนในอนาคตอาจจะมีโอกาสได้ทำเรื่อง Sustainable Finance หรือหลักการการเงินเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเรื่อง Thailand Taxonomy หรือการจัดหมวดหมู่ว่ากิจกรรมแบบไหนเขียวหรือไม่เขียวอย่างไร 

“สำหรับการทำงานในบทบาทหน้าที่นี้ จะเป็นเหมือน Middle Manager ที่เชื่อมระหว่างคนสองเจเนอเรชั่น คือน้องๆ และพี่ๆ ในองคก์กร แล้วงานนี้ยังทำให้เรามีโอกาสเข้าไปอยู่ในเครือข่ายต่างๆ ด้วย เช่น เครือข่าย SET ESG Experts Pool ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งแม้จะไม่มีค่าตอบแทน แต่เปิดโอกาสให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันเรื่อง ESG หรือความยั่งยืนองค์กร ที่ประกอบด้วย Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ 3 ด้านที่ผู้ลงทุนจะใช้พิจารณาเมื่อทำการประเมินด้านความยั่งยืนและผลกระทบของการลงทุนในธุรกิจหรือในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เรียกว่าเป็นแรงผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ คิดเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการทำให้ธุรกิจของพวกเขาได้เติบโตไปด้วย

“ความสำคัญของความยั่งยืนสำหรับบริษัท เขาจะมองเรื่องความยั่งยืนที่ไปเชื่อมกับการดำรงอยู่ของบริษัท เป็นกรอบที่บริษัทใช้ประเมินเรื่องความเสี่ยงของการดำเนินการที่จะไปกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะมากระทบการดำเนินการ ประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่พูดถึงกันบ่อยคือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การตั้งเป้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงาน การบริหารจัดการของเสีย การลดการใช้พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ขณะที่ฝั่งสังคมก็จะเป็นเรื่องของคนเป็นหลัก เช่น บริษัทจะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนนะ ซึ่งในอดีตอาจหมายถึงเพียงการเคารพสิทธิพนักงานที่จะไม่ใช้แรงงานโดยไม่เป็นธรรม หรือมีการจ้างงานอย่างเหมาะสม แต่ตอนนี้สิทธิมนุษยชนที่ว่าได้ขยายใหญ่ไปถึงแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทแล้ว นั่นคือไม่ใช่ว่าจะต้องดูแลพนักงานของเราอย่างเดียว แต่ต้องไปดูว่าคู่ค้าของเราดูแลพนักงานของเขาอย่างดีหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขทางการค้าที่มีความยุติธรรมหรือเปล่า เป็นต้น”

นอกจากงานหลักของเธอที่ทำอยู่แล้ว โบยังแบ่งเวลาไปทำภารกิจสาธารณะมาโดยตลอด เธอบอกกับเราว่า เธอเชื่อในเรื่องการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น 

“ตั้งแต่เด็กจนโตเรามีคุณตา (พลโท พิศาล เทพสิทธา) เป็นต้นแบบในหลายๆ เรื่อง เราเห็นท่านทำงานอยู่ตลอด ทุกๆ เช้าที่ตื่นนอนจนถึงเวลาเข้านอน เราจะเห็นคุณตานั่งทำงานอยู่ที่เดิมกับโคมไฟดวงเดิม ที่สำคัญท่านชอบและมีความสุขที่ได้ทำงานเสมอ ตอนเด็กๆ เรายังไม่รู้อะไรมากว่าคุณตาทำงานอะไร แต่ก็ภูมิใจเวลาที่เราได้เข้าร่วมงานรับรางวัลต่างๆ ของท่าน 

จนเมื่อโตและได้รับรู้ว่างานที่ท่านทำนอกจากจะสร้างระบบที่ดีและสร้างคนแล้ว ยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังในการทำงานด้วย คุณตาเราเสียไปเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว จำได้ว่าตอนที่ท่านเสีย เราชอบไปอ่านข้อความที่เพื่อนร่วมงาน หรือลูกศิษย์แชร์เรื่องราวของท่าน ซึ่งมีเรื่องดีๆ แล้วเรื่องที่เราชอบมากที่สุดคือเรื่องของการส่งต่อความดี แม้ท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ท่านทำมีคนรับช่วงทำไปต่อ และคงเป็นสิ่งที่เราได้ซึมซับมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต 

“ถามว่าเราเริ่มทำอะไรๆ เหล่านี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ชัดๆ คงจะเป็นตอนที่ไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษครั้งแรกแล้วกลัวมาก เพราะไม่เคยไปต่างประเทศคนเดียวมาก่อน ไม่มีใครช่วยแนะนำอะไรเลย พอกลับมาเรียนปริญญาเอกอีกครั้ง เราเลยตั้งใจไว้ว่าถ้ามีคนไทยมาเรียนที่ต่างประเทศในเมืองที่เราอยู่ เราจะช่วยให้ได้มากที่สุด เพราะบางคนไม่เคยออกนอกประเทศคนเดียวมาก่อนแบบเราตอนมาเรียนปริญญาโท ตอนนั้นถ้าใครมาโพสต์ในกรุ๊ป Thai Society of Manchester ว่าจะมาเรียน เราจะอาสาไปรับเขาที่สถานีรถไฟแล้วพาไปส่งยังที่พักของเขา พาไปช็อปปิ้ง ซื้อข้าวของราคาถูก ตอนนั้นคิดแค่ว่าอย่างน้อยเขาคงจะอุ่นใจว่าการมาต่างประเทศครั้งนี้ยังมีมนุษย์คนไทยที่ถ้าเขาเป็นอะไรไปจะยังมีคนช่วยนะ จนวันที่เราต้องกลับเมืองไทยประมาณ 2 เดือน พี่คนที่เราไปรับวันนั้นมาพูดกับเราว่า ‘น้องโบกลับไปเที่ยวให้สบายใจเลยนะ ช่วงนี้ถ้ามีใครมา พี่จะไปรับเขาเอง’ เอาจริงๆ วันนั้นฟังแล้วน้ำตาจะไหลเลย เราบอกเขาว่าไม่ต้องทำก็ได้ แต่เขาตอบกลับว่า เขาเคยได้รับสิ่งนี้จากเราและเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เขาเลยอยากส่งต่อสิ่งเดียวกันนี้ให้คนอื่นบ้าง นี่น่าจะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและคำตอบในสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ทุกวันนี้ก็ได้”

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา สถานการณ์ในทุกๆ ประเทศรวมถึงในอังกฤษเรียกว่าหนักหนาสาหัส ขณะที่คนไทยในอังกฤษเองก็เกิดอาการแพนิคด้วยการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ยากแสนยาก โบและกลุ่มอาจารย์ ตลอดจนนักวิจัยไทยในอังกฤษจึงมารวมตัวกันเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานั้นด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาสาขึ้น พวกเขาขอความร่วมมือนักศึกษาแพทย์ไทยเข้ามาช่วยในระบบ และกระจายข่าวออกไปว่า หากใครต้องการจะปรึกษากับทีมแพทย์แบบสายด่วนโดยที่อาการยังไม่หนักจนต้องไปโรงพยาบาล ให้มาปรึกษาทีมแพทย์อาสาเหล่านี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องโควิดอย่างเดียว แต่รวมถึงโรคอื่นๆ ที่คนไทยไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขในช่วงนั้นด้วย นอกจากนี้เธอและเพื่อนๆ ยังได้ทำรายการ ‘ชวนคิด ดิสเซอร์’ ใน Facebook Live และ YouTube เพื่อเป็นเพื่อนคุยและให้คำแนะนำกับนักเรียนไทยที่กำลังทำวิจัยในอังกฤษขณะนั้นด้วย

“ส่วนการมาร่วมงานกับ AriAround ได้อย่างไร ต้องย้อนไปในช่วงที่กลับมาจากอังกฤษเมื่อสองปีก่อน เทรนด์ฮิตในตอนนั้นคือการย้ายประเทศ แต่เราทำในสิ่งตรงกันข้าม จนมีคำถามมาหาเราเยอะมากตอนที่ไปเราไปบรรยายในที่ต่างๆ ว่า ‘ทำไมถึงกลับมาประเทศไทย’ จริงๆ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่ากลับมาทำไม สิ่งที่คิดตอนนั้นคือเราอาจยังเปลี่ยนประเทศหรือระบบใหญ่ๆ ในประเทศไม่ได้ แต่เราสามารถเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงหน้าบ้านตัวเองให้สะอาด ให้มันน่าอยู่ก่อนได้นะ แล้วเราอยู่แถวอารีย์มาตั้งแต่เด็ก จนได้มาเจอกับทีม AriAround เราจึงขอเข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานตามความสามารถที่เรามี เช่น ทำในเรื่องการสื่อสารต่างๆ ในเพจ เป็นคนช่วยวางแผนว่าควรจะสื่อสารแบบไหนให้มี engagement มากขึ้น เขียนบทความ ออกแบบกิจกรรม เราทำมาต่อเนื่องตามเวลาที่เอื้ออำนวย จนสองสามเดือนที่ผ่านมา เราจำเป็นต้องลดบทบาทในฐานะ Management Team ลงเพราะภาระงานหลัก แต่เรายังคงเป็นอาสาสมัครตามโอกาสอำนวย”

“การใช้ชีวิตมาจนถึงวันนี้ เรารู้สึกว่าการได้เจอคนใหม่ๆ ได้พูดคุย และเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรจากพวกเขาเป็นบทสนทนาที่มีคุณค่า มีคุณภาพ และมันคือความสุขที่เราได้รับ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมาพูดเรื่องมีสาระ เป็นเรื่องวิชาการตลอดเวลานะคะ อย่างเพื่อนๆ ร่วมบทสนทนาเราได้ไปเจอระหว่างการทำงานอาสาต่างๆ บทสนทนามันจะลงลึกไปมากกว่าทำไมอาหารจานนี้อร่อยจัง แต่เราได้รับความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ที่อร่อยเพราะเขาใช้ข้าวพันธุ์นี้ กะหล่ำปลีพันธุ์นี้ ซึ่งสามารถต่อยอดบทสนทนาเราให้เราทั้งสนุกและได้รับความรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย

“แล้วพอเราได้เจอคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะตอนที่อยู่ที่อังกฤษ ความแตกต่างของผู้คนในหลายๆ ระดับและมิติ เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราเห็นอะไรที่กว้างขึ้น เมื่อกลับมาไทย แม้เรื่องเหล่านี้เราอาจนำมาปรับใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จริงๆ คือเราจะพยายามเข้าใจคนให้มากขึ้น พยายามมองเห็นแง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้านมากขึ้น บางเรื่องหรือกับบางคน เราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะไปเข้าใจเขาได้ 100% แต่อย่างน้อย เราจะเห็นและจะพยายามทำความเข้าใจ การที่เรามองเห็นคนอื่น มันทำให้เรามี empathy ทำให้เราพยายามเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้มุมมองของเรากว้างและลึกขึ้น เราเลยมีสองสิ่งที่เชื่อและพยายามที่จะรักษาไว้เสมอ หนึ่งคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และอีกสิ่งหนึ่งจะเป็นคำพูดของคุณแม่ซึ่งเราชอบมาก คือปฏิบัติกับคนอื่นในแบบที่เราอยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา เมื่อเราปฏิบัติอย่างไรกับใคร สิ่งเหล่านั้นจะสะท้อนกลับมาหาเราในแบบเดียวกัน (ยิ้ม)

“การได้ทำงานหลายๆ อย่างและได้เห็นตัวเองในหลายบทบาท ทำให้รู้ว่าตัวเราชอบและไม่ชอบอะไร รวมถึงอะไรเป็นขอบเขตของเรา เช่น เรื่องไหนที่เรายอมปิดตาข้างเดียว เรื่องไหนที่เราไม่ยอมปิดตาเลยสักข้าง หรือสิ่งไหนนะที่ทำให้เราได้กลับมาคิดทบทวนว่าควรเดินต่ออย่างไร 

“คนภายนอกมักมองคนทำงานอาสาหรืองานเพื่อสังคมว่าเป็นคนดี แต่ทุกคนมีทั้งข้อเสียและข้ออ้างกันทั้งนั้น พอได้ทำงานเหล่านี้ ทำให้เราสามารถยอมรับตัวเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบได้มากขึ้น บางที การมองตัวเองในบทบาทการทำงานมิติเดียว เราอาจถูกอีโก้ครอบงำ แต่พอเราได้มีโอกาสไปปฏิสัมพันธ์กับคนมากขึ้น เราจะเจอส่วนที่เราไม่ชอบตัวเอง ยอมรับในข้อเสียนั้น และหาทางจัดการกับมันได้ดีขึ้น”

“หากพูดถึงวิกฤตในชีวิตของเรา มันคงไม่ใช่มาแบบตู้มเดียวแล้วชีวิตพลิกขนาดนั้น ถ้าพูดถึงวิกฤตในชีวิตก็จะนึกถึงอยู่สองเหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือตอนที่คุณพ่อกับคุณแม่เลิกกัน ตอนเกิดเรื่องเราไม่ได้รู้สึกเหมือนถูกฟ้าผ่าอะไรขนาดนั้น คงเพราะตอนนั้นรู้สึกว่าไม่สนิทกับคุณแม่และรู้สึกว่าตัวเองรักคุณพ่อมาก ความรู้สึกจะเป็นประมาณว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมคุณแม่ถึงไม่รักเรา ทำไมท่านทั้งสองต้องเลิกกัน พอโตขึ้น เราเพิ่งมาตระหนักได้ว่า การแก้ปัญหาของคุณแม่ในตอนนั้นสะท้อนกลับมาให้เราเรียนรู้ว่า ความเข้าใจของคนคนหนึ่งต่อเหตุการณ์หนึ่งจะมาด้วยวัยและประสบการณ์ ซึ่งเราเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่คุณแม่ทำคือรอให้เราเข้าใจแล้วจึงจะบอกเหตุผลของการแยกทางกัน เพราะถ้าคุณแม่บอกเราตอนนั้นเลย อาจทำให้เกิดการแตกหักขึ้นระหว่างเราและคุณแม่ แล้วจะไปสร้างแผลในใจเราขึ้นได้ เราคิดว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าจังหวะและเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ 

“อีกเรื่องคือช่วงที่เรียนปริญญาเอก คนที่เรียนปริญญาเอกหลายคนมากมักจะเจอปัญหาด้านสุขภาพจิต เพราะว่าเป็นการเรียนที่หนัก ใช้เวลานาน ซึ่งเป็นการสั่งสมความเครียดระยะยาว สำหรับวิกฤตทางสุขภาพจิตที่เราเจอตอนเรียนปริญญาเอกคือ อาการทำงานไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก ตอนนั้นสิ่งที่เราพึ่งพาซึ่งแย่มากเลยนะคะ ก็คือแอลกอฮอล์ เราคิดว่าคนอังกฤษดื่มเบียร์ดื่มไวน์กันปกติ ก็ชิลล์ๆ หนิ เลยคิดว่าไม่เป็นไรหรอก คืนละแก้วสองแก้ว ทำแบบนั้นอยู่เป็นเดือนจนถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่ดื่มจะนอนไม่หลับ พอเป็นแบบนั้นเลยเริ่มรู้สึกว่าติดแล้วล่ะ เป็นช่วงเวลาที่ถือว่าหนักพอสมควรจนมีอาการบ่งชี้ว่าเสี่ยงเป็นซึมเศร้าเลย การแก้ปัญหาคือเราพยายามออกไปเจอคนอื่นเยอะๆ ไปเจอคนต่างสายงาน เช่น ไปช่วยเป็นแบบให้เพื่อนที่เป็นดีไซเนอร์ ซึ่งการไปอยู่ในแวดวงที่แตกต่างจากที่เราอยู่ ถือเป็นการเปิดโลกมากเหมือนกัน ได้รู้ว่าในอีกสายอาชีพเขาทำงานยังไงกัน เขาใช้ชีวิตอย่างไร เขามีปัญหาอะไร และเขาทำอย่างไรให้ชีวิตเขาดีขึ้น 

“นอกจากการไปเจอคนแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่เข้ามาช่วยแก้วิกฤตชีวิตในตอนนั้นคือสามีของเรา ที่ตอนนั้นเรายังเป็นแฟนกันอยู่ เขาพาน้องแมวมา ตอนที่มาน้องตัวเล็กมาก เราตั้งชื่อเขาว่า ‘เวลวี่’ มาจากบ้านที่เราอยู่ชื่อ Velvet House เรียกว่าตัวติดกันมาก เราไปไหน น้องเดินตาม นอนบนไหล่ นอนบนขา เหมือนน้องเข้ามาเยียวยาเรา มาอยู่เป็นเพื่อนให้เรารู้สึกอุ่นใจ น้องอยู่กับเรามาตั้งแต่ปี 2014 ปีนี้เข้าปีที่เก้าแล้ว เวลวี่เลยเป็นส่วนสำคัญในชีวิตที่ทำให้เรามีความสุขขึ้น นอกจาการมีสามีและครอบครัวที่อยู่กับเรา 

“อย่างที่เล่ามา เราเป็นคนสายอ่อนไหวสุดๆ เพราะฉะนั้น เวลามีอะไรมากระทบนิดหนึ่งหรือเป็นวิกฤตสำหรับตัวเอง มันจะกระทบที่ใจเราก่อน แล้วปฏิกิริยาตอบสนองคือเราจะแพนิค ตื่นตูม บางทีใจสั่นไปเลยก็มี อย่างวันแรกที่ไปสอนที่เบอร์มิงแฮม เราตื่นเต้นจนบวกเลขผิดในห้องท่ามกลางเด็กปีหนึ่งประมาณ 300 กว่าคน จำได้เลยว่า ณ ตอนนั้นเหงื่อออกทั้งตัว เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร พอกลับมาที่บ้าน มานอนร้องไห้ นอนใจสั่นอยู่ประมาณ 2 วัน แล้ววันรุ่งขึ้น ต้องไปสอนวิชาเดิมกับอีกกรุ๊ปหนึ่ง มันยากมากเลยที่จะลุกจากเตียงวันนั้น เราร้องไห้และคิดว่าโดนไล่ออกแน่ๆ ถ้ามองย้อนกลับไป ตอนนั้นคือเราตื่นตูมมาก แค่บวกเลขผิดใครเขาจะไล่ออก สุดท้ายสิ่งที่เราทำตอนนั้นคือพยายามหายใจลึกๆ กลับมาตั้งสติ ทุกๆ ครั้งเวลามีปัญหาเข้ามาเราเลยพยายามจะประเมินว่าอะไรคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าฉันบวกเลขผิด แย่สุดๆ คือโดนไล่ออก ถ้าโดนไล่ออกแล้วอย่างไรต่อ เรารับได้ไหม ถ้ารับไม่ได้ ทำอย่างไรเราถึงจะรับได้ เราจะแก้ปัญหาอย่างไร นั่นคือวิธีการที่ใช้รับมือกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต 

อีกวิธีหนึ่งคือการคุยกับคนอื่น เราจะแชร์จุดเปราะบาง สิ่งที่เราทำพลาด สิ่งที่กังวล ข้อเสีย ทั้งกับเพื่อน สามี หรือครอบครัว แล้วให้พวกเขาช่วยประเมินว่าข้อเสียเหล่านี้ที่เรามองตัวเอง มันไม่แฟร์เกินไปกับตัวเราหรือเปล่า เรามองตัวเองแย่เกินไปไหม เราเองมองว่าทุกคนต่างมีจุดที่พลาด หรือแย่ในชีวิต เลยคิดว่า ถ้ามีและรู้ว่าตัวเองไม่ดีอะไร เราจะพยายามแก้ไข แต่สิ่งไหนที่แก้ไม่ได้ ก็จะยอมรับและพยายามหาคนที่อยู่กับเราได้ในความเฟอร์เฟคตรงนั้น”

“อย่างที่เล่าไปว่าคุณตาถือว่าเป็นทั้งต้นแบบและแรงบันดาลใจในหลายๆ เรื่อง แต่สำหรับคุณตาแล้ว งานคือชีวิตและชีวิตคืองาน เราเองได้เห็นท่านทำงานหนักมาตลอดแม้ในวาระสุดท้ายท่านยังทำงานอยู่บนเตียง เราเลยตั้งใจว่าอยากจะสร้างสมดุลชีวิตให้กับตัวเองแบบที่ทั้งชีวิตไม่ได้ทำแต่งานอย่างเดียวนะ อยากมีเวลาให้คนที่เรารักด้วย เวลวี่เขาเหมือนรู้นะว่าเราทำงานหนักเกินไป ถ้า 6 โมงแล้วเรายังนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เขาจะกระโดดขึ้นมาแล้วมากัดเรา แต่เราอาจมโนไปเองว่าลูกบอกให้หยุดทำงานก็ได้ (หัวเราะ) เราเคยคุยเล่นกับสามีว่าเมื่อไหร่สามีจะรวย เราจะได้อยู่บ้าน เป็นแม่บ้านสักที สามีตอบกลับมาว่า ‘เธอไม่มีทางเป็นแม่บ้าน เธอไม่เคยอยากจะอยู่บ้าน เธออยากทำงาน’ คำพูดเขาสะกิดใจเราและคงถึงเวลาที่ต้องหาสมดุลกันเสียที ซึ่งในปีนี้ เราประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่าเราสามารถ say no ได้อย่างสบายใจมากขึ้น เพราะหนึ่งในข้อเสียของตัวเองคือการเป็น yes person เพราะเรามีแนวคิดว่าถ้าคนที่มาขอความช่วยเหลือ เขาไม่เดือดร้อนเขาไม่มาขอความช่วยเหลือเราหรอก เมื่อขอมาแล้ว ถ้าทำได้ เราจะพยายามทำให้ แต่ปีนี้เราตอบปฏิเสธได้หลายโอกาสและดีใจที่ตัวเองทำแบบนั้น แต่วินาทีแรกยากมากเลยนะคะเพราะรู้สึกเสียดายที่อาจทำให้ใครผิดหวัง แต่พอสองสามชั่วโมงให้หลัง ก็รู้สึกโล่งใจว่าเสาร์อาทิตย์นี้จะมีเวลาไปออกกำลังกาย ไปนวด และได้ใช้เวลากับตัวเองแล้วนะ

“แต่ยังไงเราก็ยังอดที่จะทำกิจกรรมงานอาสาต่างๆ ไม่ได้นะคะ ทั้งงานอาสาในสถาบันวิจัยที่เราทำงานอยู่เองหรืองานอาสาภายนอก เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการขยับจากหลายส่วน ปัญหาหรือโจทย์บางอย่าง เช่น เรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในเมือง มลภาวะทางอากาศ ปัญหาขยะ ปัญหาคุณภาพการศึกษา หรือความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่นๆ มันอาจเป็นการแก้ปัญหา และการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่เกินตัวเราคนเดียวจะสร้างได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและผู้มีอำนาจต้องเข้ามาช่วยกันกับประชาชนด้วย เราคิดว่าถ้ามีการขับเคลื่อนจากหลายส่วน คือ ส่วนนโยบาย ส่วนบุคคล และแรงเสริมจากภาคเอกชน จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจะเกิดขึ้นได้ และเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนเหล่านั้น” 

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

อ้างอิง:
www.youtube.com/@-dissertationclinic8548
www.matichon.co.th/news-monitor/news_2144786
www.facebook.com/JarnThaiInUK
www.facebook.com/lalye.homecare    
www.charika-bo.com/charika-channuntapipat

บทความที่เกี่ยวข้อง