ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา นักการตลาดเพื่อธรรมชาติกับงานสานสัมพันธ์ผู้คนและสรรพสิ่งในเมือง

Human / Social-Inspiration

ช่วงเวลาเย็นย่ำของวันกลางอาทิตย์เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เรามีนัดกับ บาส – ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ณ ร้านกาแฟในย่านอารีย์ ย่านที่บาสพาเรามินิทัวร์ไปดูต้นไม้รอบๆ อยู่ราว 10 กว่านาที ก่อนการพูดคุยอีกหนึ่งชั่วโมงกว่าเกี่ยวกับตัวเขาและสิ่งที่เขากำลังทำจะเริ่มขึ้น บาสเริ่มเล่าให้เราฟังถึงชีวิตตั้งแต่การเป็นนิสิตในคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาดที่ University of Strathclyde ในสกอตแลนด์ กระทั่งเรียนจบและกลับมาทำงานด้านการตลาดให้กับธุรกิจของครอบครัว รวมถึงการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์อย่าง ‘พสุธารา’ และ ‘Ali Natural’ ธุรกิจที่มีและวัดความสำเร็จของการดำเนินกิจการจากสามปัจจัยอย่าง กำไร ผู้คน และโลกอย่างสมดุลกัน 

ในเวลานี้ เขาลดบทบาททางธุรกิจมาสู่การเป็นที่ปรึกษาให้กับสองแบรนด์ดังกล่าว และหันมาทำงานเพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัวผ่านโครงการ Ari Ecowalk หรือกิจกรรมการสำรวจพื้นที่ธรรมชาติในเมืองย่านอารีย์และพื้นที่รอบๆ ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเชื่อมคนเมืองกับสิ่งแวดล้อมให้ใกล้กันมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สามารถนำไปสู่การยกระดับคุณภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเมืองให้ดีขึ้นต่อไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

“ผมเรียนจบปริญญาตรีที่คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทการตลาดที่สกอตแลนด์ พอเรียนจบกลับมาไทย ก็มาทำงานในสายงานขายและงานการตลาดเลย ทำอยู่ 10 กว่าปีให้กับธุรกิจของที่บ้าน ได้ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นมา 2 แบรนด์ ชื่อ พสุธารา กับ Ali Natural แต่ตอนนี้ผมขยับมาเป็นที่ปรึกษาแล้วหันมาทำงานสิ่งแวดล้อมอิสระได้หลายปีแล้ว 

“ถ้าถามว่าความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ จำได้ว่าตั้งแต่เด็กเลยนะครับ แต่เวลานั้นเรายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ที่เริ่มเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแบบจริงๆ จังๆ น่าจะเป็นตอนที่ทำแบรนด์แรกที่ชื่อพสุธารานี่ล่ะ ตอนนั้นเรามีแก่นของการทำธุรกิจคือจะทำอย่างไรให้ได้กำไร ขณะที่ยังมีทั้งคนและโลกอยู่ในสมการของการทำธุรกิจของเราได้ด้วย พอแก่นเป็นแบบนั้น สิ่งที่ทำจึงเป็นเรื่องของการทำฟาร์มแบบออร์แกนิก ฟาร์มที่ทำงานกับธรรมชาติ การแปรรูปอาหารที่พยายามใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งนับว่าจุดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนของตัวผมเอง 

“หลังจากที่ผมถอยออกมาเป็นที่ปรึกษาให้กับสองแบรนด์ ไม่ได้ทำเกี่ยวกับธุรกิจแล้วอย่างที่เล่าไป โครงการที่ได้ทำหลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมที่ชื่อ ‘Ari Ecowalk’ จริงๆ ตอนเริ่มต้น ผมทำโดยไม่เกี่ยวกับย่านอารีย์เลยนะ แต่เกี่ยวกับตัวเองล้วนๆ จำได้ว่าเป็นช่วงโควิดที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่กับบ้านมากเกินไปแล้ว อยากออกไปเดินเล่น เพราะผมชอบการอยู่นอกบ้าน ชอบกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่า ฉะนั้น เลยมาดูว่าแล้วจะทำอะไรดีล่ะ ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่าปัญหาสำคัญของโลกคือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อรู้แล้ว ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา โดยหาทางทำสิ่งที่เราอยากเล่นมาตอบโจทย์ในสิ่งที่เราอยากจะแก้ปัญหาด้วย สิ่งที่ผมคิดจะทำอาจจะไม่ได้ไปแก้เรื่องการลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้ แต่สิ่งที่ผมทำได้เลยคือการทำให้คนรับรู้ได้ว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ในสเต็ปแรกก่อน นั่นเลยเป็นการเริ่มต้นของ Ari Ecowalk ที่จะชวนคนมาเดินดูความหลากหลายทางชีวภาพรอบตัวเรา ซึ่งเป็นการสำรวจพื้นที่ในย่านอารีย์ที่ผมอาศัยอยู่ ในระยะแรกจะเป็นการทำความรู้จักกับสิ่งต่างๆ ผ่านชื่อต้นไม้ว่า ต้นไม้ต้นนี้ต้นนั้นชื่ออะไร โดยความรู้ในเรื่องต้นไม้ผมศึกษาด้วย ถ้านับตั้งแต่เริ่มต้น Ari Ecowalk ดำเนินการมาครบปีที่ 3 แล้วครับ”  

“หนึ่งในผลที่เป็นรูปธรรมจากการทำ Ecowalk คงเป็นการได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวรอบบึงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเล่าย้อนกลับไปตอนที่เราทำ Ecowalk กันครั้งแรก เราเดินไปพบโดยบังเอิญว่าในกรมควบคุมมลพิษมีบึงน้ำ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปรบกวน คือมีมนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์อยู่ล่ะ เช่น ไปตกปลา แต่ไม่ได้เข้าไปจัดแจง ปูหญ้า โรยหินทางเดิน สภาพแวดล้อมที่นั่นถ้าให้ผมบรรยาย ขอให้ลองนึกภาพต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ด้านล่างเป็นทุ่งดอกไม้สีม่วงสีเหลือง เป็นทุ่งแบบทุ่งจริงๆ วินาทีที่ผมเห็น ในใจผมคิดว่ามันมีสิ่งนี้เหลืออยู่ได้อย่างไร ด้วยความบังเอิญอีกที่พวกเราได้พบกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอนแรกผมยังชั่งใจอยู่ว่าจะถามเกี่ยวกับพื้นที่นั้นดีไหมนะ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเดินไปถามจนทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกนำไปทำเป็นเส้นทางวิ่ง ซึ่งในความคิดของผม ด้วยหลักการของโลกสมัยใหม่ เมืองจะต้องเก็บรักษาความแตกต่างทางชีวภาพให้ได้มากที่สุด เพราะจะช่วยแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง เรียกว่าเป็น Nature-based resolutions (แนวทางการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐาน) เลยก็ว่าได้ จากที่ไม่เห็นด้วยในวันนั้น เราได้มีการเสนอแนวคิดต่อทีม AriAround ที่ผมเป็นหนึ่งในอาสาสมัครและเพื่อนฝูงเรา จนในที่สุด เราได้ไปถึงจุดที่เปิดโต๊ะเจรจากับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งท่านอธิบดีฯ รับฟังและมีความคิดไปในแนวทางเดียวกับเราว่า โลกในวันข้างหน้าจะต้องรักษาธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ทำไปสอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงทรัพย์ฯ ด้วย นั่นเลยเกิดการเจรจากันจากแบบแรกที่เป็นลู่วิ่งรอบ สุดท้ายกลายเป็นการแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งให้ยังคงเดิม ให้สัตว์ยังมีที่อยู่อาศัย โดยอีกครึ่งหนึ่งอนุญาตให้คนเข้าไปใช้งานได้ ซึ่งเราไม่ขัดในหลักการเพราะว่าเราต้องการให้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติได้อยู่ 

“จริงๆ ต้องบอกว่าผมแทบไม่ได้ทำไรเลย สิ่งที่ทำเพียงแค่นำเสนอแนวคิด ทำแบบสอบถาม และพาผู้ที่สนใจมาร่วมเดินสำรวจพื้นที่ตรงนั้นร่วมกัน จำได้ว่า 2 วัน เดินไป 16 รอบได้ และรอบมันใหญ่มากเลยนะบึงตรงนั้น กินพื้นที่ราวๆ 8 ไร่ แต่ใครมา เราก็พาเดินหมด จำได้เลยว่ามีความสุขมาก รู้สึกว่าดีจังเลยที่คนสนใจและอยากมามีส่วนร่วม แล้วงานนี้ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่มาช่วยเหลือ อย่างเช่น การออกแบบพื้นที่โดยรอบที่มีหน่วยงานอย่าง We Park ที่เขาทำเรื่องสวนอยู่แล้วเข้ามาช่วย ที่สำคัญเลยคือทีม AriAround ที่ช่วยรวบรวมชาวบ้านในย่านให้ สำหรับผมถือว่าอเมซซิ่งมากเลยนะครับ เพราะที่อารีย์มีความเป็นเมืองมากๆ และผู้อาศัยมีความเอกเทศ เหมือนคนที่อยู่ในคอนโดแล้วเราไม่รู้จักข้างห้อง คล้ายๆ กันแบบนั้น แต่พอเห็นพวกเขาออกมา คือโคตรประสบความสำเร็จเลยนะ เพราะนี่คือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจริงๆ และอย่างที่เล่าไป สุดท้ายเราสามารถเจรจาต่อรองกัน ทำความเข้าใจร่วมกันว่า เราทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังขยายไปสู่พื้นที่ราชการอื่นๆ รอบย่านด้วย แต่ว่ายังเป็นเฟส 2 ซึ่งคงต้องรอติดตามความคืบหน้าต่อไป แต่อย่างน้อยเราสามารถเก็บพื้นที่นั้นไว้ได้ครับ (ยิ้ม)”

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ ผมค้นพบว่าธรรมชาติเป็นเรื่องใหญ่ต่อสุขภาวะของผู้คนมากๆ หลายคนมาเพราะเขาเริ่มรู้สึกและเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า การมีธรรมชาติในชีวิตน่าจะทำให้เขามีสุขภาวะทางใจดีขึ้นได้ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ แล้วหลายๆ คนยังค้นพบว่าเขาสามารถมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติเมืองรอบตัวได้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ใครๆ ก็ทำได้ ในหลายๆ ครั้งเราจะคิดว่าธรรมชาติเป็นเรื่องของคนชนชั้นกลางที่มีเวลาว่างพอ ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าเมืองไม่เคยมีผังเมืองที่เปิดโอกาสให้คนได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้ เราจึงต้องขับรถออกไปต่างจังหวัด ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เวลาเราคิดว่าเราจะไปเที่ยวธรรมชาติ เราจะไปที่ไหนกัน หลายๆ คนอาจนึกไปถึงสถานที่ไกลออกไปอย่างเช่นเขาใหญ่ คล้ายกับว่าเราแบ่งเกรดของธรรมชาติ เพราะเรารู้สึกว่าเมืองไม่ได้มีธรรมชาติแบบเขาใหญ่อยู่ที่นี่ แต่จริงๆ ถามว่ามีได้ไหม ในความคิดของผมคือมีได้ เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้เลยล่ะว่าคนเริ่มรู้แล้วว่าธรรมชาติมีผลกับพวกเขา ขณะเดียวกันก็รู้ด้วยว่าเขาสามารถสานสัมพันธ์กับธรรมชาติได้ โดยสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ด้วย

“ในมุมมองของผมกับคำถามที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ความคิดต่อธรรมชาตินี้เปลี่ยนไปได้บ้าง ผมคิดว่าเราต้องเอาตัวเองออกมาสัมผัสก่อน วิธีการของ Ecowalk จึงเป็นการชวนให้คนออกมาเดินเพื่อที่จะเป็นหนทางในการทำให้เราช้าลง เมื่อทุกอย่างช้าลง เราจะสามารถชี้ชวนให้คนดูและตั้งคำถามได้ต่อไป เพราะบางที การที่เราอยู่ในเมืองที่ถูกออกแบบมาให้เรารู้สึกปลอดภัย มีรั้วรอบขอบชิดมาจนชิน เช่น อยู่ในรถสี่เหลี่ยม ในคอนโด ในบ้าน ความปลอดภัยเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ตัดเราออกจากโลกภายนอกจนอาจจะลืมสิ่งอื่นๆ รอบตัวไป เพราะฉะนั้น การจะมีสัมพันธ์กับธรรมชาติได้คือการที่เราออกไปมีประสบการณ์ตรงต่อสิ่งสิ่งนั้น จากนั้น มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่คำถามและความรู้สึกต่างๆ ว่าเรารู้สึกกับสิ่งรอบตัวอย่างไร เช่น ลองง่ายๆ ก่อน อย่างการนั่งใต้ต้นไม้ต้นนี้ เรารู้สึกร้อนนะ เราชอบ หรือไม่ชอบ แบบนี้ เป็นต้น 

“ส่วนประเด็นใหญ่ที่สุดที่ผมอยากพูดตอนนี้คือ ผมอยากให้คนเมืองทั้งหลายอยากได้สิ่งแวดล้อมที่ดีมาอยู่รอบตัว เวลาเรามองสิ่งแวดล้อม เรามักจะมองว่ามันเป็นสวนสาธารณะ สวนการเรียนรู้ มองในฐานะสิ่งที่มานันทนาการให้เรา แต่จริงๆ แล้ว ผมอยากให้ขยับไปสู่การเป็นสิ่งที่ไม่ใช่สำหรับการนันทนาการ แต่คือการอยู่กับสิ่งแวดล้อม ขยายความก็คือ ถ้าเราลองดูไปคลองที่พาดผ่านในกรุงเทพฯ มีสักคลองไหมที่เราสะดวกใจลงไปเล่น เอาเท้าไปจุ่มแช่ เท่าที่เคยไปคลองต่างๆ มา ผมพบว่ามันดูไม่น่าเล่นเหมือนสมัยก่อน เพราะเราเห็นคลองเป็นฟังก์ชั่น เราไม่ได้เห็นคลองเป็นสิ่งที่เราอยู่ด้วย ถ้าเราเห็นคลองว่าเป็นสิ่งที่เราอยู่ด้วย เราจะอยากโดดลงเล่นน้ำในนั้น อยากเอาเท้าไปจุ่มแช่ อยากจะกินปลากินกุ้งที่เราตกมาได้จากคลองตรงนั้น เราจะพยายามทำให้น้ำในลำคลองสามารถลงไปเล่นได้ ซึ่งก่อนที่แม่น้ำลำคลองจะสะอาด เราจะต้องทำอะไรบ้าง เราต้องเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม การกระทำ เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน นั่นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเมือง จากนั้นก็จะมีกฎหมายที่จริงจังเรื่องการปล่อยน้ำเสียลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีการตรวจสอบและติดตามอย่างจริงจัง เหมือนเป็นการแก้ที่ต้นทาง จากพฤติกรรมคนไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย การออกนโยบาย ทุกอย่างก็จะคืนสู่พวกเรา คุณลองคิดดูสิว่าจะมีความสุขขนาดไหนถ้าเราสามารถกระโดดลงไปในคลองบางกอกน้อย แล้วเล่นน้ำได้ ดังนั้น พอเราเปลี่ยนวิธีคิดว่าหน้าที่ของสิ่งสิ่งนี้ทำอะไรให้ฉัน ไปเป็นฉันจะอยู่ร่วมกับสิ่งนี้อย่างไร ทุกอย่างจะพลิกเลยนะ

“แล้วถ้าเราจะทำให้เกิดขึ้นจริง ถามว่าทุกคนต้องรู้สึกเหมือนกันไหม ผมว่าไม่ต้อง เพียงแต่มันต้องมีคนจำนวนมากพอที่คิดเห็นแบบนี้ นั่นคือเริ่มจากข้างล่างคือประชาชนขึ้นไปสู่ผู้มีอำนาจ กับหนทางที่สองคือผู้มีอำนาจบอกว่าฉันจะทำอันนี้แหละ เพราะฉันเห็นวิธีการจัดการบริหารงบประมาณให้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณมามีประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติก่อน ว่าคุณรู้สึกอย่างไร ไม่ใช่ไปดูวิวถ่ายรูปแล้วจบแบบที่ยังไม่ทันรู้สึกอะไรเลยแบบนั้น” 

“ในวันนี้และอนาคตใกล้ๆ ผมและทีมกำลังขยับขยายโครงการ Ecowalk ด้วยการเปิดโอกาสให้คนที่สนใจสามารถมาเข้าร่วมได้ ตอนนี้ผมได้ตระเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจ ซึ่งถ้าใครอยากจะนำโมเดล Ecowalk ไปทำรอบๆ บ้านตัวเอง พวกเขาสามารถทำเองได้เลย ตอนนี้ผมและทีมได้เตรียมอยู่ โดยการเข้ามาสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและความรู้ของธนาคารจิตอาสา ความสุขประเทศไทย และ สสส. (สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เขาทำเรื่องสุขภาวะทางปัญญา น่าจะเสร็จเรียบร้อยประมาณเดือนพฤษภาคมปี 2567 นี้ จะเป็นลักษณะของคู่มือว่าจุดเริ่มต้น หลักการ และความหมายของ Ecowalk มีที่มาที่ไปอย่างไร ผู้นำกิจกรรมควรจะมีทักษะแบบไหน ทักษะของผู้นำเหล่านี้ฝึกฝนได้อย่างไรบ้าง รวมไปถึงการเก็บข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมรอบบ้านสามารถทำได้อย่างไร นี่จะเป็นส่วนคู่มือ แล้วยังมีโลโก้ด้วย เช่นว่า ถ้ามีคนสนใจจะนำไปทำในย่านอื่นๆ เช่น จะทำที่เจริญกรุง คุณจะสามารถทำเป็นโลโก้ว่า Charoenkrung Ecowalk ของตัวเองได้เลย แต่เอาจริงๆ ถ้าคนไหนอยากทำตอนนี้ ก็สามารถทำได้เลยนะครับ พวกเราเองพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนว่าเราทำอะไร อย่างไร และต้องทำอะไรบ้างเสมอแหละ 

“นอกจากนี้ ผมยังทำคลังข้อมูล ซึ่งเป็นบันทึกของคนรุ่นใหญ่ๆ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาถ่ายทอดให้เราฟังว่า พวกเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง เพราะว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้แบบเป็นกิจจะลักษณะแบบที่ถ้าใครสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจะสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้เลย ผมจึงอาสาไปรวบรวมข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่เขาทำเรื่องเหล่านี้ แล้วมาอัดวิดีโอไว้ให้ ทั้งเรื่องกฎหมาย วิทยาศาสตร์พลเมือง การสื่อสาร ซึ่งถ้าใครสนใจเรื่องไหนก็มาฟังได้เลย ผมพยายามทำให้คนหยิบไปใช้ได้ง่ายที่สุด ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นกุศโลบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมใหม่ของเมืองได้ อย่างตอนนี้ที่อารีย์ พอเราทำ Ecowalk ไปเรื่อยๆ ภาพของคนที่เคยมาเดิน จากเมื่อก่อนที่คิดว่ามาอารีย์จะเจอแต่คาเฟ่ ตอนนี้พวกเขาพบแล้วว่าอารีย์ยังมีสิ่งแวดล้อมให้เราได้เดินได้ด้วยนะ เป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งไม่มีมนุษย์เข้าไปรบกวนด้วยนะ ผมว่านี่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ สร้างเรื่องเล่าในหัวใหม่ว่าพื้นที่นี้มีความหลากหลายกว่านั้น 

“นอกจากนี้ สิ่งที่ผมอยากทำมากๆ คือการทำให้เรื่องการฟื้นฟูธรรมชาติเป็นนโยบายบริหารจัดการเมือง ตอนนี้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาดเพื่อธรรมชาติอยู่ก็เพื่อที่จะทำเรื่องเหล่านี้แหละ ผมอยู่กับการขายการตลาดที่เป็นด้านธุรกิจมา 10 กว่าปี ตอนแรกตัวเองรู้สึกอคติอยู่เหมือนกันเพราะรู้สึกว่าการตลาดหลอกล่อให้คนบริโภค แต่ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่าการตลาดมีข้อดีของมันอยู่เช่นกัน คุณจะพบว่าการตลาดที่เจ๋งสามารถเข้าไปเปลี่ยนวัฒนธรรมได้ องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือองค์การที่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมคนได้ เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากนำด้านดีของการตลาดมาใช้เพื่อที่จะไปถึงจุดที่เราต้องการ นั่นเป็นเป้าหมายที่ผมอยากจะทำให้ได้

“ถ้าถามว่าความสุขคืออะไร สิ่งที่ผมหวังและอยากเห็นคือทุกคนทุกอาชีพพบว่าต่างมีส่วนร่วมในการดูแลธรรมชาติตามทักษะของตัวเอง งานดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่งานผูกขาดของนักอนุรักษ์ นักชีววิทยา หลักการมีแค่นิดเดียว คือการ minimal intervention หรือแทรกแซงให้น้อย อะไรไม่แน่ใจให้ดูก่อน กับธรรมชาติบางทีแค่ต้องการพื้นที่ที่การรบกวนน้อย เขาก็จะกลับมาฟื้นฟูได้เอง ผมอยากเห็นการฟื้นฟูธรรมชาติและอยู่ร่วมกันเป็นวัฒนธรรมและเป็นโยบายทางการเมืองที่สำคัญของศตวรรษนี้ครับ”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
อ้างอิง: www.facebook.com/AriAroundTH

บทความที่เกี่ยวข้อง