ชีวิตในวันกราฟขึ้น กราฟลง และคงที่ของ ปอนด์ ภริษา ยาคอปเซ่น

Human / Self-Inspiration

ปอนด์ ภริษา ยาคอปเซ่น คือหนึ่งในผู้กรุยทางให้กับอาชีพยูทูบเบอร์เมื่อ 10 ปีก่อน หลายๆ คนที่โตมากับตัวละครอย่างคุณพลอย น้องคุกกี้ น้องเอแคลร์ หรือเด็กหญิงวิภาในช่องใจดีทีวีของเธอ คงไม่แปลกใจว่าทำไมผู้หญิงคนนี้จึงถูกยกให้เป็นผู้บุกเบิกและเป็นต้นแบบความสำเร็จของเหล่ายูทูเบอร์ในเวลานั้น สำหรับคนดูอย่างเรา เธอผลิตงานที่ตัวเองอยากเสพเเละมีความสุขที่ได้ทำ แถมทำได้ดีซะด้วย 

ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ปอนด์ได้ขยับขยายบทบาทของเธอสู่งานพิธีกรและทำงานอีกร้อยแปด ตั้งแต่การเป็นวิทยากรเรื่องการพูดในที่สาธารณะ การเปิดภริษามาร์เก็ต สินค้าเพื่อสุนทรียภาพของ everyday living ขณะที่เรายังคงเห็นเธอโลดแล่นและทำคอนเทนต์มากมายในช่องยูทูบภายใต้ชื่อตัวเองอย่าง Bon Jakobsen วันนี้ นอกจากจะมาอัพเดทถึงงานใหม่แกะกล่องอย่างการเป็นโค้ชพัฒนาจุดแข็ง อาชีพที่ทำให้เธอได้พบความพิเศษในตัว แถมยังมีความสนุกในมิติต่างๆ ให้เธอได้ค้นหาอยู่อีกมากแล้ว เธอยังมาบอกเล่าถึงชีวิตที่ผ่านมาว่าตลอดเส้นทางที่เธอเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เหยียบหนามแหลมอยู่หลายครั้งหลายคราเลยล่ะ  

เพราะอยากจะดีกว่านี้

“เอาจริงๆ นะ ชีวิตนี้ปอนด์ไม่เคยคิดจะมาเป็นโค้ชเลย เพราะความเข้าใจในเรื่องโค้ชก่อนหน้าก็คือโค้ชออนไลน์ที่บอกให้คนคอนเน็กกับจักรวาล แต่สิ่งที่ทำให้ปอนด์มีโอกาสได้รู้จักอาชีพนี้มาจากการเป็นพิธีกรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความตั้งใจตอนนั้นคืออยากเรียนเพื่อจะเป็นพิธีกรที่ดีขึ้น เพราะเวลาสัมภาษณ์ใคร แล้วเขาเข้าสู่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกปั๊บ เราก็จะอินไปกับเขาจนออกนอกทะเลได้ง่ายมาก เลยรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นพิธีกรที่ไม่ดีพอและอยากพัฒนาทักษะการเป็นพิธีกรของตัวเอง ซึ่งปอนด์จะได้ยินมาตลอดว่าคนเป็นโค้ชจะเป็นคนที่ถามคำถามได้ดี บังเอิญตอนนั้นมีบริษัทหนึ่งจะเรียกปอนด์ให้ไปทำงานให้ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและมีการสอนโค้ชด้วย เขาอธิบายให้ปอนด์ฟังว่าการเป็นโค้ชจะต้องมีพื้นฐานในเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกและใช้จุดแข็งในการพัฒนาคน เมื่อได้ฟังก็ชอบมากและสมัครเรียนเลย แต่งานที่จะไปทำ สรุปว่าไม่ได้ทำนะคะ แต่เขาอ่ะได้เราแทน (หัวเราะ)

หลังจากได้เรียน ก็พบว่าอาชีพนี้เจ๋งมากและทำให้รู้ว่าตัวเราเองมีเครื่องมือในการทำงานด้านนี้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ปอนด์เองรู้ตัวอยู่เหมือนกันว่าเราทำอะไรได้ดี ยิ่งได้ทำแบบทดสอบที่เขาออกแบบมาเพื่อวัดว่าทักษะอะไรที่เราทำได้แตกต่างจากคนอื่น นั่นเรียกว่าเป็นการ empower ให้รู้สึกว่ามีพลัง ซึ่งเราเองก็ยังสามารถนำพลังนี้ไปแบ่งปันและช่วยนำทางคนอื่นได้ด้วยว่าเธอมีดี เธอเก่งตรงนี้นะ ทั้งหมดทั้งปวงก็เลยนำพาให้ปอนด์ได้มาเป็นโค้ช”

Coaching กับการค้นหาของขวัญที่มีอยู่ในตัวคุณ

“มีเคสหนึ่งที่ปอนด์ประทับใจมากคือการได้โค้ชน้องคนหนึ่งซึ่งเพื่อนๆ จะเรียกเขา “ป๊อด” เพราะเขากลัวทุกอย่าง ตัดสินใจช้า พอได้คุยและทำแบบทดสอบ ปรากฏว่าจุดแข็งอันดับหนึ่งของเขาคือเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ถ้าขยายความก็คือ หากเขาเห็นว่ามีอันตรายอะไรอยู่ข้างหน้า เขาจะคิดละเอียดมากๆ เพื่อที่จะไม่ให้อันตรายนั้นเกิดขึ้นกับเขา ดังนั้น การตัดสินใจจึงจะช้ามาก เพราะต้องคิดให้รอบคอบจริงๆ ในมุมคนนอกที่มองเข้าไป เราจะเห็นเขาเป็นคนคิดเยอะคิดมากคนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเมื่อเข้าใจว่านี่คือคุณสมบัติ แล้วดึงมาใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม เขาจะไปได้ดีในงาน ในบทบาทที่เหมาะสมกับสิ่งที่เขามี เช่น เขาสามารถทำงานในสาย safety engineer หรือ risk management ได้เลย 

ดังนั้น แต่ละคนต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองพิเศษอย่างไร เพราะเราแต่ละคนจะมีจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน น้องคนนี้ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งคุยกัน เขาก็มีความมั่นใจมากขึ้น และเอาเรื่องการโค้ชไปคุยกับพี่สาวซึ่งพี่เขาก็รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยขอมาโค้ชด้วยกัน การโค้ชพี่น้องคู่นี้ที่ทำงานด้วยกันอยู่ คนพี่มีความไดนามิก ขณะที่คนน้องเป็นคนที่ใช้เวลาในการไตร่ตรองมาก เมื่อได้มาทำเซสชั่นร่วมกันจึงทำให้เขาทั้งคู่เข้าใจจุดแข็งของตัวเอง โดยธรรมชาติเมื่อเราเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง เราจะเริ่มมองหาจุดแข็งของคนอื่น แล้วถ้าเรามองจุดแข็งด้วยมุมมองที่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะคิดว่า ‘แล้วฉันจะดึงจุดแข็งของอีกคนออกมาใช้อย่างไร? ฉันจะทำให้ต่างฝ่ายต่างเดินไปด้วยจุดแข็งของกันและกันได้อย่างไร?’ ท้ายที่สุดพี่น้องคู่นี้ทำงานเข้าขากันมากขึ้น ยิ้มแย้ม หัวเราะให้กันจากที่ไม่ค่อยได้คุยกัน กลายเป็นเคสที่นอกจากส่งเสริมในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ก็ยังมีผลในเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวด้วย”

ความพิเศษในตัวที่สำรวจง่ายๆ ด้วยการสังเกต

หากนึกย้อนกลับไปในอดีต เราอาจคุ้นชินกับการทำแบบทดสอบเพื่อจะหาว่าตัวเรามีจุดอ่อนอะไร ขณะที่ศาสตร์จุดแข็งเป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เรามองเห็นว่าตัวเราทำอะไรได้ดี ซึ่งเมื่อพบแล้ว สิ่งนั้นจะนำพาเราไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่า 

“เพราะต่อให้เราไปพัฒนาจุดที่เราขาดเท่าไหร่ก็ตาม เราก็สู้คนที่เขามีจุดแข็งไม่ได้ นั่นจะทำให้เสียเวลา เสียเงิน แล้วก็เสียโอกาสที่จะได้พัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ทีนี้การจะรู้ได้ว่าเรามีจุดแข็งอะไรบ้าง ทางแรก คุณสามารถไปซื้อหนังสือที่มีแบบทดสอบ ทำเสร็จ รู้เรื่อง จบได้เลย 5 ข้อ กับอีกทางถ้าคุณไม่มาสายหนังสือก็ต้องสังเกตเอง จริงๆ ปอนด์ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สังเกตตัวเองนะ จะรู้อย่างเดียวว่าฉันชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งนั่นเป็นการให้ค่าสิ่งที่เราชอบกับสิ่งที่เราไม่ชอบแค่นั้น แล้วความรู้สึกที่ว่าก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วยซึ่งไม่มีประโยชน์ แต่เราควรจะให้ค่ากับสิ่งและทักษะที่เรามีและทำได้ดีจริงๆ มากกว่า เพราะถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีชุดเครื่องมืออะไรที่เหมาะกับการทำอะไรแล้ว ทักษะตรงนั้นจะคอยเกื้อหนุนและทำให้คุณมีความมั่นใจมากขึ้น  

ดังนั้น การเช็กตัวเองง่ายๆ เลยคือ ลองสังเกตว่าเราทำอะไรแล้วคนชม บางทีคนรอบกายจะรู้จักเราดีกว่าตัวเราเองอีกนะ ลองถามเขาไปเลยว่า “แกฉันทำอะไรได้ดี?” ปอนด์ขอยกตัวอย่างหนึ่ง ถ้ามีคนบอกว่าคุณทำอาหารได้ดี นี่ไม่ใช่แค่การทำกับข้าวนะ คำว่า ‘ทักษะ’ ไม่ใช่การทำกับข้าว แต่เป็นทักษะอะไรล่ะที่ทำให้คุณทำอาหารได้ดี หนึ่งคุณอาจจะเป็นคนจดจ่อมีสมาธิ สองคุณอาจจะมีทักษะเรื่องความเข้าอกเข้าใจและใส่ใจว่าคนที่รอทานอยู่น่าจะชอบรสชาติแบบไหน หรือคุณอาจจะมี strategic thinking ที่ทำให้คุณเป็นคนวางแผนได้ดี รู้ว่าออร์เดิร์ฟต้องมีรสชาติ A ขณะเดียวกันก็ต้องมีรสชาติ B ควบต่อมา แล้วปิดท้ายด้วยรสชาติ C คนมักจะเข้าใจผิดเวลาถามหาจุดแข็งของตัวเอง หลายๆ คนจะบอกว่าจุดแข็งคือการทำอาหาร ซึ่งไม่ใช่นะ แต่คือทักษะที่ทำให้เราทำอาหารได้ดีต่างหาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สังเกต เราจะไม่มีวันรู้เลย” 

ปลูก ‘ความมั่นใจ’ ด้วยปุ๋ยที่ชื่อ ‘การยอมรับ’

ภาพที่เราคุ้นชิน ปอนด์คือผู้หญิงที่มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม กระฉับกระเฉง และฉะฉาน เอาเข้าจริงๆ เราเองก็อยากรู้มาตลอดว่าเธอเป็นอย่างที่คนเห็นและเป็นแบบที่เรารู้สึกไหม เราจึงโยนคำถามไปแบบตรงๆ ถึงตัวตนที่แท้จริงของเธอ

“โดยทั่วไปแล้วคนจะมองว่าคนที่มั่นใจจะต้องพูดเก่ง แสดงออกฉับๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่ คนมั่นใจไม่จำเป็นต้องมีบุคลิกแบบนั้น ปอนด์ว่าคนที่ดูมั่นใจ จริงๆ แล้วไม่มั่นใจด้วยซ้ำนะ อันนี้เป็นข้อสรุปส่วนตัวนะคะ มันจะมีมุมหนึ่งของคนมั่นใจหรือคนที่พูดเก่งเพราะเขาอยากจะได้ใจของคนฟัง ซึ่งในคนคนนี้มีความไม่มั่นใจอยู่ตั้งแต่แรก เพราะว่าเขาไม่โอเคจึงอยากให้คนฟังเชื่อเขาและชอบเขา สำหรับปอนด์ที่คนเห็นว่ามั่นใจ ปอนด์ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกครั้งและก็มีเรื่องให้เสียความมั่นใจอยู่บ่อยมาก ตัวปอนด์เองต้องการสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียก approval จากคนรอบข้างเสมอว่าตัวเราโอเคนะถึงจะรู้สึกโอเคได้ แล้วมันก็ยังเป็นปัญหาสำหรับตัวปอนด์เองอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ 

สำหรับปอนด์ ความมั่นใจคือการรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นคนมั่นใจหรือไม่ การสังเกตตัวเองนี่แหละสำคัญที่สุด ดีลกับความไม่มั่นใจของตัวเองว่าอะไรที่ทำให้ฉันรู้สึกไม่ดีบ้าง หรือว่าอะไรที่คนมองเราผิดไปจากสิ่งที่เราเป็นบ้าง แล้วก็ยอมรับมันเสีย ปอนด์เองก็ต้องมานั่งคุยกับตัวเองว่า ทำไมฉันถึงรู้สึกอย่างนั้นนะ ถามที่มาของความรู้สึกไม่ดีไม่มั่นใจของเราว่าคืออะไร ท้ายที่สุด ปอนด์ก็มาจบที่ว่า…บางทีตัวเราก็อาจไม่ใช่สำหรับทุกคน ทุกที่ และทุกคราว ไม่มีใครที่โอเคสำหรับทุกที่หรอก 

เคสล่าสุด แผลสดมาก ปอนด์เพิ่งพบว่า บุคลิกของตัวเองที่ผ่านมาเมื่อไปอยู่กับคนอีกกลุ่ม เขามองว่าปอนด์ไม่สุภาพและทำให้เขารู้สึกไม่ถูกให้เกียรติ ซึ่งนั่นทำลายความมั่นใจของเรามากเลย เพราะตั้งแต่ปอนด์ทำงานมา ไม่มีวันไหนเลยที่คิดว่าตัวเองจะไม่ให้เกียรติใครในโลกนี้ แล้วก็ไม่เคยได้รับคอมเมนท์ลักษณะนี้มาก่อน จนปอนด์ต้องโทรไปถามน้องที่อยู่ในงานด้วยกันว่ามีจุดไหนไหมที่เราไม่เคารพเขาหรือเปล่า สำหรับคนที่รู้จักเราก็ไม่มีใครที่รู้สึกว่าปอนด์เป็นอย่างนั้น ดังนั้น ปอนด์เลยต้องทำงานกับตัวเองตลอดเวลา สำรวจจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง แล้วก็ยอมรับมันอย่างที่บอก ซึ่งแม้เราจะยอมรับแล้วก็ตาม ขณะเดียวกันก็ต้องละเอียดอ่อนมากขึ้น ต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย ปอนด์เคยเชื่อเสมอว่าถ้าเจตนาเราดี ให้สิ่งดีๆ ออกไป ที่สุดแล้วมันก็จะดีเอง แต่เหตุการณ์วันนั้นทำให้ปอนด์เห็นว่ามันไม่มีอะไรตายตัว 100% หรอก นอกจากเจตนาที่ดีแล้ว วิธีการนำส่งสารที่เหมาะสมก็สำคัญเสมอกันเลยนะ เราจึงต้องทำการบ้านเพิ่มเติมว่ากลุ่มคนที่จะรับสารของเราเป็นอย่างไรด้วย”

วันที่ Panic มา Attack

“ตอนอายุ 24 ปอนด์ป่วยหนักแบบไม่รู้ว่าเป็นอะไร หาสาเหตุไม่ได้ เคยมีหมอดูบอกว่า ‘เดี๋ยวอายุ 24 เธอจะเป็นไข้หัวโกร๋นนะ’ ปอนด์ก็งงมากเลยว่าอะไรคือไข้หัวโกร๋น แล้วพออายุ 24 ก็เป็นจริงๆ ป่วยแบบผมร่วง ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร เพราะคุณหมอก็บอกว่าปกติดี แต่ปอนด์บอก “คุณหมอดูหน้าหนู ปอนด์ผอม ซูบ หน้าดำ ไม่ถ่ายเลย คุณหมอบอกว่าปกติได้อย่างไร” การป่วยครั้งนั้นทำให้ปอนด์รู้สึกทุกข์กับกายมาก พอมาอายุ 29 ปอนด์อยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ประมาณ 1 ปีก่อนที่จะย้ายกลับเมืองไทย ปอนด์พบกับภาวะ Panic Attack ถามว่ามีสัญญาณเตือนอะไรมาก่อนไหมว่าฉันกำลังจะเป็นโรคหรือฉันเครียดอยู่ – ไม่มีเลยนะ ปอนด์ใช้ชีวิตปกติ จนวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วเหมือนอะดรีนาลินหลั่ง หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย รู้สึกว่าจะต้องหนีออกไปจากที่แห่งนี้ ทุกอย่างไม่บาลานซ์เลย เหมือนสารเคมีในร่างกายรวนไปหมด ตอนหลังไปเสิร์ชข้อมูลถึงได้ทราบว่าเรากำลังเจอกับอะไรอยู่ ซึ่ง Panic Attack ไม่ใช่แค่อาการแพนิก เพราะแพนิกจะเป็นอาการเล็กๆ กลัว หายใจไม่ออก มีอาการเป็นช่วงๆ แต่สำหรับ Panic Attack คือไม่มีสัญญาณเลย อยู่ๆ ก็เป็นแบบเฉียบพลันและเป็นหนักเลย ตอนนั้นปอนด์ออกจากบ้านไม่ได้เกือบเดือน กลัวทุกอย่าง ไม่อาบน้ำเป็นอาทิตย์เพราะกลัวน้ำ มีอาการหลอน ได้ยินเสียง นอนไม่หลับ คืออีกนิดเดียวเข้าโรงพยาบาลแน่ๆ ถ้าอยู่เมืองไทยคงเข้าไปแล้ว แต่ด้วยความที่อยู่นอร์เวย์ แล้วเราก็ไม่อยากไปหาหมอ พูดภาษาเขาก็ไม่ได้ บวกความกลัวตอนนั้นอีก เวลาผ่านไปประมาณ 3 เดือน ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น สิ่งที่ปอนด์ใช้ในการดูแลตัวเองคือการใช้ธรรมชาติบำบัด กอดต้นไม้ และสวดมนต์ เพราะนั่งสมาธิไม่ได้เลยและถ้าอยู่ในสภาพจิตใจแบบนั้นก็ไม่ควรนั่งสมาธิด้วย จนรู้สึกดีขึ้นก็ต้องย้ายกลับไทยพอดี ซึ่งสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ก็จะมีสารแห่งความเครียดบางอย่างที่เราเริ่มรู้สึกก่อตัวขึ้น แล้วคนที่เป็น Panic Attack จะมีอาการที่เรียกว่ากลัวจะเป็น Panic Attack อีก เป็นความกลัวในกลัวในกลัว กลัววนๆ ไป ปอนด์จึงตัดสินใจไปหาคุณหมอแล้วก็กลับมาดูแลตัวเองจนดีขึ้น

Panic Attack ทำให้ปอนด์เป็นคนใหม่เลยนะ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปตอนนั้น เราเป็นคนมั่นใจมากๆ เลยค่ะ อายุ 20 กว่าๆ ทำรายการ ‘ใจดีทีวี’ ใหม่ๆ แล้วดัง ลงหนังสือทุกเล่มบนแผง เป็นยูทูบเบอร์หญิงคนแรก ได้ลง CNNgo.com คิดว่าตัวเองแน่ ตัวเองเก่งมาก พอดัง อีโก้ก็มาเต็ม แต่หลังจาก Panic Attack เกิดขึ้น เหมือนมันมาบอกเราว่าที่คิดว่าตัวเองเก่ง ไม่ใช่เลยนะ ถ้าเก่งจริงทำไมถึงจะต้องเป็นโรค ทำไมเอาไม่อยู่ ทำไมคอนโทรลฉันไม่ได้ แล้วฉันในที่นี้คือตัวเองด้วย เป็นจิตของเราเอง สภาพที่เป็นในตอนนั้นคือพังทลายลงมาหมดเลย ปอนด์พังอีโก้ตัวเองลงมา แล้วสร้างขึ้นใหม่จากความไม่มีอะไร จากความไม่เก่ง จริงๆ ปอนด์ต้องขอบคุณที่เป็นโรคนี้นะคะ เพราะถ้าไม่เป็น ป่านนี้คงเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้ ซึ่งปอนด์พบว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิตที่จะมีสิ่งที่มาทดสอบเราอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่ายังมีบางสิ่งบางอย่างที่ยังต้องขัดเกลาอีกเยอะ”

“ไลฟ์ถามสดทุกวันพุธ” รายการที่ว่าด้วยเรื่องร่างกาย หัวใจ และจิตวิญญาณ

“ตอนที่ทำรายการ Lazy Sunday ในช่องตัวเอง ปอนด์ก็พูดคุยเรื่องของชีวิตและอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แต่พอวันหนึ่งปอนด์ได้ไปสัมภาษณ์คุณพศิน อินทรวงค์ วันนั้นคือคิดว่าเราเลิกทำ Lazy Sunday ไปได้เลย มีความรู้สึกว่าตัวเองหมดความชอบธรรมที่จะพูดเรื่องจิตใจ เรื่องความทุกข์ ความสุข เพราะได้พบ ‘ตัวจริง’ เข้าให้แล้ว ซึ่งคือคนที่จัดการกับความทุกข์ความสุขตัวเองเป็นแบบคุณพศิน ไม่ใช่ฉันคนที่ยังจัดการกับความทุกข์ของตัวเองไม่ได้เลย แล้วฉันเป็นใครจะมานั่งบอกคนอื่นในเรื่องความทุกข์ความสุข เรียกว่าเปลี่ยนชีวิตไปเลย การคุยครั้งนั้นทำให้ปอนด์ต้องกลับมาจัดการและดูว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมกับเรา ทุกวันนี้ปอนด์จึงเลือกที่จะมาคุยกับผู้รู้แทนที่จะเป็นคนมานั่งพูดเอง

ด้วยความที่ปอนด์ผ่านการทำคอนเทนต์มาเยอะมากแทบทุกรูปแบบ ตอนนี้ปอนด์จะ 40 แล้ว เราพยายามสรรหาสิ่งที่ใช่และแก้ปัญหาได้ยั่งยืนที่สุดสำหรับตัวเอง และมันก็น่าจะเป็นอะไรที่ดีสำหรับคนดูที่มีอายุในระดับหนึ่ง ไม่ใช่เด็กดู ปอนด์ก็เลยคิดว่าอยากจะทำรายการทุกๆ อาทิตย์ ข้อแรกเลยคืออยากท้าทายตัวเอง เพราะเป็นคนไม่ค่อยสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าเราจะทำรายการทุกอาทิตย์เนื้อหาก็ต้องไม่ซ้ำกัน ไม่อย่างนั้นก็จะทำไม่ได้เพราะเป็นคนขี้เบื่อ เรื่องราวที่อยากนำเสนอจะเป็นเรื่องกายและใจ เพราะชีวิตเรามีแค่นี้จริงๆ แขกรับเชิญที่ปอนด์รู้สึกว่า ‘ใช่’ สำหรับรายการจึงเป็นหมอบี (เสกสันน์ ทรัพย์สืบสกุล) ที่จะมาคุยในเชิงธรรมะ เรื่องที่เยียวยาในด้านจิตใจเรา ขณะที่หมอนัท (ณัฐพล วาสิกดิลก) ก็จะเป็นในเรื่องของร่างกายที่เราสามารถดูแลตัวเองได้จากธรรมชาติ นี่จึงกลายมาเป็นรายการ ‘ไลฟ์ถามสดทุกวันพุธ’

เมื่อได้ทำงานด้วยกัน สิ่งที่ปอนด์ได้จากการทำงานกับทั้งคู่คือเยอะมาก แต่ก็จะเป็นคนละมิติในเรื่องชีวิต สำหรับหมอบีหลังจากที่ได้รู้จักแล้ว ปอนด์รู้สึกว่าเขาคุยสนุกและสามารถย่อยธรรมะให้กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมากๆ โดยเฉพาะกับวัยรุ่นและคนทั่วไป สิ่งที่ปอนด์เคยคิดไว้แบบหนึ่งได้ถูกนำมานิยามขึ้นใหม่ซึ่งเปิดโลกปอนด์ไปเลย เช่น คำว่า ‘อภัย’ หรือ ‘อุเบกขา’ สำหรับเราก็คือการวางเฉย ไม่ทำอะไร ปล่อยมันไปเสีย แต่หมอบีอธิบายว่า การให้อภัยที่แท้จริง ไม่ใช่การยกโทษให้ แต่คือการที่ตัวเราเองเห็นว่าสิ่งนั้นไม่เป็นภัยกับเราแล้วต่างหาก ไม่ใช่แค่ปล่อยมันไปเฉยๆ ส่วนหมอนัทจะเป็นคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เคยรู้จักกัน หมอนัททำช่องยูทูปและเพจ ‘ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น’ อยู่แล้ว เขาพูดเก่ง อธิบายได้น่ารักมาก ถ้าพูดในเรื่อง ‘ภัย’ เหมือนกัน หมอนัทก็จะพูดในมุมของสุขภาพว่าความรู้สึกเป็นภัยจะทำให้สารความเครียดหลั่งออกมา ซึ่งถ้าร่างกายเราไม่ได้เอาออกก็จะเป็นการสะสมโรค วิธีการเอาออกจะมีอะไรบ้าง ทั้ง 2 ท่านทำให้ปอนด์มองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่และเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างสุขภาพและกายใจ”

ท้าทายที่สุด คือการทำงานผ่านอีโก้ของตัวเอง

“การทำงานที่ผ่านมา ปอนด์พบแต่ความสนุกนะ ในฐานะโค้ช ปอนด์ได้พบเคสที่เขามาพร้อมกับความพิเศษมากๆ แล้วปอนด์ได้รับโอกาสในการช่วยเขาแกะกล่องของขวัญ ซึ่งเป็นของขวัญที่อยู่ในตัวเขามาโดยตลอด เพียงแค่เขายังไม่เห็นเท่านั้นเอง สำหรับบทบาทพิธีกรก็เช่นกัน มันก็แปลกนะเพราะปอนด์พบแต่ความสนุก ไม่มีอะไรที่ยากเลย พอเราสนุกแล้ว ปัญหาอะไรมาเราก็พร้อมรับมือกันตรงนั้นได้ 

สำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ปอนด์มองว่าความท้าทายของงานนี้คือการที่เราไม่มีโปรดักท์ที่จะขาย แล้วโปรดักท์นั้นก็คือตัวเราเอง ดังนั้น มันเป็นการใช้อีโก้ทำงาน พอเราใช้อีโก้ทำงาน มันก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเราเองแล้ว หมายความว่าเราจะต้องเอาอีโก้ของเราออกไปขายว่าฉันเป็นอย่างนี้นะ แต่งตัวอย่างนี้ พูดจาแบบนี้ แบรนด์ที่เขาจะเข้ามาซัพพอร์ตเราเขาจะได้เลือกถูกว่าเราเหมาะกับเขาไหม เราต้องแสดงความเป็นตัวตนออกไป ซึ่งในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีชาแนลเป็นชื่อตัวเอง มันจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องราวของอีโก้มากๆ ซึ่งทำให้เราจะต้องกราวน์ตัวเองลงให้มากๆ เลยว่าเราจะไม่จำเป็นจะต้องเป็นภาพนั้นเสมอ สำหรับปอนด์นี่คืองานที่ท้าทายที่สุดเลยในทุกๆ งาน”

ชีวิตที่ดีคือการเข้าใจร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

“ถ้าเป็นนิยามของปอนด์ ปอนด์ยังไม่รู้สึกว่าปอนด์ไปถึงจุดของการมีชีวิตที่ดีอย่างที่ตัวเองคาดหวังไว้ แต่ปอนด์กำลังพยายามที่จะไปถึงจุดนั้นอยู่ เวลานี้ร่างกายของปอนด์ยังรู้สึกเหมือนถูกเสือขย้ำอยู่เลยเวลาที่ส่งงานไม่ทัน หรืออะไรๆ ไม่เป็นอย่างที่เราวาดไว้ ร่างกายเรายังไม่ได้อัพเกรดไปไหนเลย ในขณะที่เทคโนโลยีและโลกไปถึงไหนกันแล้ว เพราะฉะนั้น ปอนด์จึงยังต้องทำงานกับตัวเองอยู่ตลอด 

ดังนั้น ชีวิตที่ดีสำหรับปอนด์คือการมีชีวิตที่เข้าใจในระดับลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของร่างกาย อารมณ์ความรู้สึกของใจ และจิตวิญญาณว่าทั้ง 3 ส่วนนี้ทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกัน และเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างไร นั่นเป็นชีวิตที่ปอนด์อยากจะมีนะ หลายๆ ครั้ง เราก็ไม่รู้อารมณ์ตัวเองหรือบางทีก็ไม่แคร์ร่างกาย บางครั้งอยากนอนแต่ถ้าอยากจะดูซีรีส์ให้จบมากกว่า ก็จะไม่สนใจว่าร่างกายบอกว่าอยากนอนและจะฝืนดูจนจบ หรือบางทีหิวแต่ว่าทำงานอยู่ ก็จะไม่ทาน ฉันไม่ฟัง ทำไมล่ะ ก็ฉันจะทำงาน เลยกลายเป็นว่าระบบชีวิตรวนไปหมดเพราะเราไม่เคยฟังร่างกายเลย ดังนั้น ตอนนี้ก็เลยพยายามที่จะฟังเขาให้มากขึ้นค่ะ”

ขอบคุณภาพจาก: ปอนด์ ภริษา ยาคอปเซ่น 

  

บทความที่เกี่ยวข้อง