โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) คือภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดโตกว่าปกติ เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ชายทั่วโลก โดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่สร้างความรำคาญ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และถ้าปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการดูแลก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ได้ เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว…แต่ก็ไม่ควรละเลยนั่นเอง
ชีวิตดี by hhc thailand รวบรวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคต่อมลูกหมากโตมาฝากกัน
ต่อมลูกหมากอยู่ตรงไหน? ทำไมถึงโต?
ต่อมลูกหมากเป็นหนึ่งในอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีขนาดเท่าผลลิ้นจี่ (บางตำราก็ว่าวอลนัท ไม่ก็เกาลัด) มีหน้าที่ผลิตของเหลว สร้างน้ำหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ เป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของลูกอัณฑะนั่นเอง (สารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิถูกสร้างจากต่อมลูกหมาก) ตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น
ต่อมลูกหมากก็เหมือนกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ในร่างกาย คือจะเจริญเติบโตเต็มที่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ แล้วก็หยุดโต (ประมาณช่วงอายุ 20 ปี) แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 45-50 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากก็มีแนวโน้มจะโตขึ้น บางคนโตมาก บางคนโตน้อย แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ปัจจุบันแพทย์ยังระบุไม่ได้ว่าเหตุใดมันจึงโตขึ้น บอกได้แค่ว่าการโตนั้นสัมพันธ์กับอายุและฮอร์โมนเพศชาย
ปัสสาวะผิดปกติ = อาการต้องสงสัย
เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ดังนั้นเมื่อต่อมลูกหมากโต มันจึงไปกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ประกอบกับมีการกระตุ้นจากระบบประสาทบริเวณหูรูดกระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย ทำให้ทางออกของปัสสาวะมีการหดเกร็งมากกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้ ต่อมลูกหมากโตจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาการปวดปัสสาวะ ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีอาการปัสสาวะผิดปกติจึงควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่ามีภาวะต่อมลูกหมากโตหรือไม่ แต่อย่าเพิ่งฟันธงด้วยตัวเองไปก่อน เพราะอาการปัสสาวะผิดปกติอาจมาจากสาเหตุอื่นก็ได้
อาการปัสสาวะผิดปกติที่พบบ่อยจากสาเหตุต่อมลูกหมากโต:
- อาการที่เกิดจากท่อปัสสาวะแคบลง ทำให้ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะลำเล็กลง ปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องรอนานกว่าปัสสาวะจะออกมา มีความรู้สึกว่าปัสสาวะยังไม่สุดแม้ว่าปัสสาวะจะหยุดไหลแล้ว หลังจากปัสสาวะสุดแล้วยังมีปัสสาวะหยดตามมาอีก หรืออาจจะปัสสาวะไม่ออกแม้จะปวดปัสสาวะมาก
- อาการที่เกิดจากการตอบสนองของกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากต่อมลูกหมากที่โตขึ้น ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้น จึงกักเก็บน้ำปัสสาวะได้ลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย และกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ เป็นปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะในเวลาที่เข้านอนตอนกลางคืน
ต่อมลูกหมากโตไม่เกี่ยวกับมะเร็งเสมอไป
ในภาวะต่อมลูกหมากโต แม้ว่าขนาดของต่อมลูกหมากจะใหญ่ขึ้นและเนื้อเยื่อมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้องอก แต่ก็เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง แม้ว่ามะเร็งต่อมลูกหมากจะมีอาการคล้ายกันมาก แต่ถือว่าเป็นโรคคนละชนิดกันและไม่มีการเปลี่ยนสภาพจากต่อมลูกหมากโตไปเป็นมะเร็งได้ ทั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะเป็นทั้งต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากพร้อมกัน การเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการก่อน โดยการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
ป้องกันยาก แต่รักษาได้
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคต่อมลูกหมากโตได้ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่ถ้าตรวจพบอาการต่อมลูกหมากโตได้เร็ว และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ประกอบกับดูแลตัวเองได้เหมาะสม โรคต่อมลูกหมากโตก็จะไม่กลายเป็นปัญหารุนแรง แต่ถ้าปล่อยให้ต่อมลูกหมากโตโดยไม่ดูแล อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตและกระเพาะปัสสาวะได้ (เช่น ไตวาย ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ)
การตรวจวินิจฉัยและวิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากนั้นทำได้หลายวิธี
- เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติสอบถามอาการก่อน สำหรับผู้ที่มีอาการไม่มาก แพทย์จะให้ปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการปวดปัสสาวะ เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เป็นต้น
- ถ้าปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือมีปัญหากับการปัสสาวะค่อนข้างมาก อาจมีการให้ยาที่ช่วยลดอาการหดเกร็งบริเวณหูรูดกระเพาะปัสสาวะหรือยาลดขนาดต่อมลูกหมาก
- แพทย์มักใช้วิธีตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้นิ้วคลำผ่านทวารหนัก เพื่อประเมินขนาดและประเมินลักษณะบ่งชี้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมากร่วมด้วย
- ถ้าปรับพฤติกรรมและกินยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อาจรักษาโดยการผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านการส่องกล้อง หรือในบางรายที่ผู้ป่วยไม่เหมาะกับการผ่าตัด แพทย์อาจใช้คลื่นความร้อน (คลื่นไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ หรือเลเซอร์) เพื่อให้ต่อมลูกหมากฝ่อและเล็กลง
จะเห็นได้ว่าการเลือกวิธีตรวจรักษาต่อมลูกหมากโตนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์ ประกอบกับการปรึกษาหารือร่วมกัน และการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย
ทุกวันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ยืนยันได้ว่าจะทำให้โรคต่อมลูกหมากโตนั้นหายขาด ผู้ป่วยบางคนผ่าตัดจนอาการหายดีแล้ว แต่เวลาผ่านไปต่อมลูกหมากก็กลับมาโตใหม่ได้อีก เพราะฉะนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอและตรวจสุขภาพประจำทุกปี ที่สำคัญ–แม้จะป้องกันไม่ได้ แต่การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอก็เป็นต้นทุนที่ดีที่ช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วยได้ไม่มากก็น้อย
–
อ้างอิง:
สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
www.phyathai.com