เมื่อเจอ ‘นิ่ว’ และไม่อยากให้คิ้วขมวดกับการสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียง

Health / Urinary

เคยสงสัยกันบ้างมั้ยว่า นิ่วที่พบในร่างกายคนเรานั้นคืออะไร แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร? นิ่วที่พบเจอในระบบทางเดินปัสสาวะของคนเรานั้นมีส่วนประกอบของแคลเซียมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดจากระดับความเข้มข้นของปัสสาวะที่มากเกินไปจนเกิดการตกตะกอนของสารละลายในปัสสาวะ 

นิ่วส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ไตและอาจมีการเคลื่อนตำแหน่งลงมายังท่อไตได้หากนิ่วนั้นมีขนาดเล็ก บางส่วนจะสามารถเคลื่อนตำแหน่งไหลออกจากทางเดินปัสสาวะได้เอง แต่ถ้านิ่วนั้นมีขนาดใหญ่ไม่สามารถหลุดออกมาเองได้ ก็อาจทำให้เกิดการอุดตันการไหลของน้ำปัสสาวะจึงทำให้เกิดอาการปวด อาจปวดแบบตื้อๆ บริเวณเอวด้านที่มีนิ่วอยู่หรือปวดแบบบีบๆ และร้าวลงอัณฑะในผู้ชายหรือร้าวลงอวัยวะเพศในผู้หญิง ซึ่งอาการปวดร้าวดังกล่าวบ่งบอกถึงการอุดตันที่บริเวณท่อไต นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะผิดปกติได้ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด รู้สึกไม่สบายตัว เหมือนอยากปัสสาวะหรืออุจจาระตลอดเวลา หากนิ่วนั้นเกิดการอุดตันขึ้นที่ท่อไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากและส่งผลให้การทำงานของไตข้างนั้นลดลงได้ 

ทำอย่างไรหากพบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะแต่ไม่อยากผ่าตัด

หากนิ่วที่พบนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่มากจนเกินไป ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะจะพิจารณารักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะด้วย ‘การสลายนิ่ว’ ซึ่งวิธีนี้มิใช่การทำให้นิ่วหายไปโดยการระเหิด แต่เป็นการรักษานิ่วในไตหรือท่อไตโดยใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่สร้างคลื่นเสียงกำลังสูง แล้วปล่อยจากเครื่องผ่านผิวหนังของร่างกายเข้าสู่นิ่วที่อยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อคลื่นเสียงกระทบนิ่วก็จะทำให้เกิดการแตกของนิ่วเป็นชิ้นเล็กๆ เศษนิ่วจะเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมโดยมีน้ำปัสสาวะเป็นตัวนำพา หลังจากนั้นผู้ป่วยจะปัสสาวะเศษนิ่วเหล่านี้ออกจากร่างกาย ซึ่งการสลายนิ่ววิธีนี้เรียกว่า การสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียง (ESWL: Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy)  การสลายนิ่วนั้นสามารถบรรเทาอาการปวดจากการอุดตันของนิ่วได้ดีและยังช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดนิ่วขนาดใหญ่ที่รุนแรงได้

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ทำการสลายนิ่ว

กระบวนการสลายนิ่ว

การสลายนิ่วเป็นหัตถการที่ไม่รุนแรง ไม่ต้องได้รับการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่มีแผล แต่อาจจำเป็นต้องได้รับยาบรรเทาอาการปวดหรือยาที่ทำให้ผู้ป่วยหลับระหว่างสลายนิ่วเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งมากที่สุด ผู้ป่วยอาจจะหลับหรือตื่นระหว่างที่ทำการสลายนิ่วได้

ใครบ้างที่ไม่ควรใช้วิธีการสลายนิ่วในการรักษา 

  1. ผู้ป่วยตั้งครรภ์ คลื่นเสียงจากเครื่องสลายนิ่วอาจส่งผลเป็นอันตรายต่อบุตรในครรภ์ได้
  2. มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ควรรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะให้ดีก่อน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด
  3. ผู้ป่วยที่มีโรคเลือดหรือภาวะที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์ควรให้หยุดยาละลายลิ่มเลือดก่อนสลายนิ่วทุกครั้ง หากไม่สามารถทำได้ ควรพิจารณาการรักษานิ่วด้วยวิธีอื่น
  4. ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง จะเสี่ยงต่อการแตกของเส้นเลือดแดงใหญ่ได้
  5. นิ่วมีขนาดใหญ่หรือนิ่วมีลักษณะแข็งมาก การสลายนิ่วเหมาะสำหรับนิ่วที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก หากนิ่วมีขนาดใหญ่มากจะทำให้ต้องสลายนิ่วหลายครั้ง เศษนิ่วที่เหลืออยู่อาจอุดทางเดินปัสสาวะได้ และหากนิ่วมีลักษณะแข็งมากจะทำให้รักษาโดยการสลายนิ่วไม่สำเร็จ ควรพิจารณาเลือกการรักษาด้วยวิธีอื่นตั้งแต่ครั้งแรก

ถึงแม้นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะทำการรักษาได้ด้วยการสลายนิ่วโดยไม่ต้องผ่าตัดก็ตาม แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันให้มากขึ้น เนื่องจากน้ำจะช่วยลดการตกตะกอนของสารที่ก่อให้เกิดนิ่วลงได้ หากมีอาการผิดปกติและสงสัยว่ามีนิ่วก็ควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงผู้ที่เคยเป็นนิ่วแล้วก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งหนึ่งได้ ดังนั้น การดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดโรคนิ่วจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง