ลอง ‘อยู่คนเดียว’ บ้างก็ได้ เพราะมันดีต่อใจ ดีต่อสมองมากกว่าที่คุณคิด

Care / Others / Self Care

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ‘ความเหงา’ คือสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่นำไปสู่ ‘ภาวะซึมเศร้า’ คนที่มักแยกตัวออกจากสังคม ไม่ชอบสุงสิงพูดคุยกับใคร จึงมักเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางด้านจิตใจ และถ้ายังจำกันได้ ในบทความที่เราเคยพูดถึงหนังสือเรื่อง ‘ขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปี’ หนึ่งในแปดเคล็ดลับสู่การมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว คือ การมีสังคมที่รักและเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับสมาชิกในครอบครัว ผู้คนในชุมชน หรือเพื่อนที่มีความสนใจเดียวกัน 

แต่… นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรห้อมล้อมตัวเองไปด้วยผู้คนมากมายตลอดเวลา เพราะถึงการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นจะเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งเราก็ต้องการเวลาเป็นของตัวเองบ้างเหมือนกัน ใช่ค่ะ… เรากำลังจะบอกคุณว่า เราทุกคนควรหาเวลา ‘อยู่กับตัวเอง’ หรือ ‘อยู่คนเดียว’ บ้าง เพราะการใช้เวลากับตัวเองหรือการอยู่คนเดียวมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพจิตของเราอย่างที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน

ก่อนอื่น เราอยากให้คุณทำความเข้าใจก่อนว่า ‘การอยู่คนเดียว’ หรือ ‘การใช้เวลากับตัวเอง’ (being alone) ไม่ใช่ ‘ความเหงา’ (loneliness) และคนที่ชอบใช้ชีวิตคนเดียวก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ไม่มีความสุขเสมอไป แค่ความสุขของพวกเขาแตกต่างจากคนส่วนมากในสังคมเท่านั้นเอง และในบางเวลา คนที่ชอบใช้ชีวิตคนเดียวก็ต้องหาเวลาเข้าสังคมพบปะเพื่อนฝูงเหมือนกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลของชีวิต เช่นเดียวกับคนที่ชอบเอาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คน ที่บางครั้ง คุณก็ต้องเอาตัวเองออกมาเพื่ออยู่คนเดียวบ้าง 

ว่าแต่เมื่อไรล่ะที่ถึงเวลาแล้วที่คุณควรใช้เวลากับตัวเอง?

– เมื่อคุณอยู่ท่ามกลาง toxic people มากเกินไป

toxic people หรือ คนที่มีพฤติกรรมเป็นพิษ หมายถึง คนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (self-centered) ชอบควบคุมบงการ เรียกร้องความสนใจ หรือความสงสาร และมักใช้คำพูดหรือมีพฤติกรรมที่ทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่กับตัวเองและเจ็บปวด โดย toxic people อาจเป็นได้ทั้งเพื่อนร่วมงานที่เห็นแก่ตัว เจ้านายชอบบงการ เพื่อนที่พูดแต่เรื่องตัวเอง โดยไม่สนใจจะฟังเรื่องของคนอื่น ไปจนถึงคู่รักที่มักทำร้ายจิตใจกัน

ถ้าคุณอยู่ในความสัมพันธ์กับ toxic people เราแนะนำให้คุณหาทางเดินออกมา แต่ถ้า toxic people เป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานที่คุณไม่สามารถเดินออกมาได้ สิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุดเพื่อดูแลสภาพจิตใจของตัวเอง คือ หาเวลาปลีกตัวออกจากคนเหล่านั้น เพื่อใช้เวลากับตัวเอง

– เมื่อคุณกำลังมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ

ถ้าคุณกำลังเตรียมตัวสอบเพื่อสร้างโอกาสที่ดีกว่าให้หน้าที่การงานของตนเอง ทำวิทยานิพนธ์ หรือทำงานสร้างสรรค์ที่ต้องการสมาธิ เช่น งานเขียน ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ การอยู่ท่ามกลางผู้คนไม่น่าจะช่วยให้คุณสามารถโฟกัสกับการงานตรงหน้าได้ดีเท่ากับการอยู่คนเดียว 

– เมื่อคุณกำลังต้องการทำความเข้าใจตนเอง

การปลีกตัวออกมาจากสังคมเพื่อใช้เวลากับตัวเองเงียบๆ ไม่ต้องฟังเสียงใคร ไม่ต้องถูกรบกวนหรือกดดันจากความคิดและความคาดหวังของใคร จะทำให้คุณได้ยินเสียงของตัวเองชัดขึ้น 

– ถ้าคุณเป็น introvert

อินโทรเวิร์ตคือคนที่มีความสุขและมีพลังเมื่อได้ใช้เวลากับตัวเอง อินโทรเวิร์ตสามารถเข้าสังคมได้ แต่ถ้าต้องอยู่ท่ามกลางผู้คนบ่อยไปก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อยและหมดพลัง

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว เราเชื่อว่าน่าจะยังมีหลายคนที่กังขาว่าการอยู่คนเดียว (ถึงจะแค่บางเวลาก็เถอะ) จะส่งผลดีต่อจิตใจของเราได้อย่างไร? ความสงสัยนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ เพราะสังคมส่วนมากมักชี้ชวนให้เราเห็นว่าการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นเป็นประจำ เป็นเรื่องดีกว่าการอยู่เหงาๆ คนเดียว และยิ่งถ้าชีวิตของเรา ‘ยุ่ง’ หรือมีอะไรให้ทำมากเท่าไร มีนัดพบปะคนโน้นคนนี้บ่อยเท่าไร ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ความคิดเหล่านี้ทำให้หลายคนกลัวการอยู่คนเดียว แม้กระทั่งบางครั้งที่อยู่ในห้องพักคนเดียว ก็ยังต้องเปิดทีวีเพื่อให้มีเสียงคนอื่นพูดคลอไปด้วยก็ยังมี

เพื่อให้คุณได้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าการใช้เวลากับตัวเองมีประโยชน์ต่อจิตใจของเรามากขนาดไหน ในส่วนนี้ ผู้เขียนจะขอยกประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าสู่กันฟังด้วยค่ะ เพราะแม้ตัวผู้เขียนเองจะมีภาระหน้าที่ในครอบครัว มีเพื่อนร่วมงาน และมีสังคมเพื่อนฝูงที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่ก็มักหาโอกาสปลีกตัวออกมาใช้เวลากับตัวเองบ่อยๆ ทำให้ค้นพบข้อดีของการอยู่คนเดียวมากมายค่ะ

นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ

ปัญหาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท เป็นปัญหาที่หลายคนเผชิญอยู่บ่อยๆ ซึ่งบางทีสาเหตุของการนอนไม่หลับก็ไม่ใช่อะไร แค่เพราะเราถูกห้อมล้อมไปด้วยสุ้มเสียงและความคิดของผู้คนมากเกินไป

ไม่รู้ว่าจะมีใครเป็นเหมือนกันหรือเปล่า ที่เวลาออกไปสังสรรค์หรือพบปะกับเพื่อนฝูงจำนวนมาก แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน ได้หัวเราะเฮฮาก็ตามที แต่พอกลับถึงบ้านแล้วล้มตัวลงนอน ในหัวกลับยังมีเสียงและความคิดเหล่านั้นวิ่งวุ่นเต็มไปหมด ทำให้นอนหลับได้ไม่ดีเหมือนอย่างที่นอนได้ในทุกคืน

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจอปัญหานี้บ่อยนัก เพราะไม่ต้องออกไปเข้าสังคมบ่อยๆ การนอนไม่หลับด้วยสาเหตุนี้คงไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไร แต่สำหรับคนที่จำเป็นต้องทำงานและเข้าสังคมอยู่ทุกวัน วิธีแก้คือ พยายามหาเวลาในแต่ละวัน ปลีกวิเวกเพื่ออยู่สงบๆ คนเดียวบ้าง ซึ่งถ้าจะให้ดีที่สุด หลังเลิกงาน กลับบ้าน คุณควรใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับครอบครัวหรือกับตัวเอง ปิดโทรศัพท์มือถือ เลิกเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการปลีกตัวออกมาจากสุ้มเสียงและความคิดเหล่านั้น หรือก่อนนอน คุณอาจนั่งสมาธิหรืออ่านหนังสือ ก็จะช่วยสงบจิตสงบใจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้านอนได้ดีทีเดียว

– บูสต์ ‘ความคิดสร้างสรรค์’

มีประสบการณ์อย่างหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยประสบเหมือนกัน นั่นคือ ไม่รู้ทำไม ความคิดดีๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์จึงมักเกิดขึ้นตอนอาบน้ำ! 

ฟังดูอาจเป็นเรื่องแปลก แต่ถ้าลองคิดดูให้ดี อาจเป็นไปได้ว่าการอาบน้ำคือช่วงเวลาส่วนตัวอันแสนสงบของเราในแต่ละวัน และยิ่งเมื่อบวกกับเสียงน้ำไหล สายน้ำที่กระทบร่างกาย กลิ่นหอมของสบู่ แชมพู ฯลฯ ก็ยิ่งน่าจะช่วยให้เราผ่อนคลาย และท่ามกลางความสงบเงียบและผ่อนคลายนี้เอง ความคิดดีๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในซอกหลืบของสมองก็เริ่มตกตะกอนและโผล่ออกมาให้เราได้เห็น

– ได้ยิน ‘เสียงจากภายใน’ ของตนเองชัดเจนขึ้น

การอยู่ท่ามกลางผู้คนอาจทำให้หลายคนรู้สึกสนุกสนาน มีความสุข มีชีวิตชีวา และ ‘ไม่รู้สึกเหงา’ แต่คุณอาจไม่รู้ตัวว่า ผู้คนรอบข้างก็มีส่วนสร้าง ‘ความเครียด’ ให้เราได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเกิดจากการที่คุณต้องแบกรับความคาดหวังจากพวกเขา ต้องการการยอมรับเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของพวกเขาจนต้องยอมทำอะไรหลายๆ อย่างที่คุณก็อาจไม่ได้ต้องการทำจริงๆ 

ที่สำคัญ เมื่อคุณอยู่ท่ามกลางความคิดความเห็นและความคาดหวังของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากการพูดคุยซึ่งๆ หน้าหรือการอ่านข้อความในโซเชียลมีเดียก็ตาม คุณก็จะได้ยินเสียงภายในจากตัวเองน้อยลงทุกที แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ปลีกตัวออกจากสังคมบ้าง ปิดการรับรู้ข่าวสารในโซเชียลมีเดียบ้าง คุณก็จะทำความเข้าใจตนเองและความต้องการของตนเองได้ดีขึ้น ถ้าไม่เชื่อ ลองหาโอกาสทำดูสิคะ 

– มี self-awareness มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ดีขึ้นด้วย

self-awareness คือ ความสามารถในการมองเห็นอารมณ์ ความคิด และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ชัดเจน ซึ่งก็คล้ายๆ กับเรื่องเสียงภายในที่กล่าวไปก่อนหน้า 

การใช้เวลากับตัวเองจะทำให้เราสามารถมองเข้าไปข้างในตนเองและคิดวิเคราะห์ได้ว่า ทำไมเราถึงรู้สึกหรือมีความคิดแบบนี้ และประสบการณ์อะไรที่ผ่านมาที่ทำให้เราเป็นคนแบบที่เราเป็นเช่นทุกวันนี้ ที่สำคัญ ในช่วงเวลาดังกล่าว เราจะได้ครุ่นคิดถึงความสุขที่แท้จริงของเรา ในขณะที่คนส่วนมากในสังคมอาจรู้ว่าตัวเองต้องการมีความสุขเหมือนกัน แต่เพราะแทบไม่เคยมีเวลาเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง พวกเขาจึงอาจไม่รู้ว่าจะหาความสุขที่แท้นั้นมาครอบครองได้อย่างไร 

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่อง self-awareness คือ นักจิตวิทยาหลายคนยืนยันว่า self-awareness จะนำไปสู่ ‘ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น’ (empathy) ได้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และการกระทำของตัวเองมากขึ้น เราก็จะสามารถใช้ความสามารถนี้ไปทำความเข้าใจสาเหตุของอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และการกระทำของผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน และเมื่อสังคมมีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ผู้คนก็จะอยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นด้วย 

ประโยชน์ของการใช้เวลากับตัวเองข้อนี้น่าจะเปลี่ยนความคิดของหลายคนที่เคยเชื่อว่า คนที่ชอบใช้เวลากับตัวเองมักเป็นคนที่เข้าสังคมไม่เป็น เพราะเอาเข้าจริงแล้ว พวกเขาอาจมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและเข้ากับคนอื่นได้ดีกว่าหลายๆ คนด้วยซ้ำ

– รู้สึกเป็นอิสระและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

ถ้าคุณได้ไปพักผ่อนตามต่างจังหวัดหรือท่องเที่ยวต่างประเทศตามลำพังสักหนึ่งสัปดาห์ ช่วงสัปดาห์นั้นจะเป็นช่วงเวลาที่คุณได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคุณได้เอาตัวเองไปอยู่ไกลภาระหน้าที่ทางการงานและความรับผิดชอบต่างๆ และคุณไม่มีเพื่อนร่วมเดินทางที่ต้องคอยเกรงใจหรือถามไถ่ความคิดเห็น ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองที่คุณอาจได้ค้นพบเหมือนกับผู้เขียนว่า นี่แหละ คืออิสรภาพที่เป็นความสุขแท้จริงอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้น ถ้าคุณคุ้นชินกับการไปไหนมาไหนคนเดียว ทำอะไรต่อมิอะไรคนเดียว ไปจนถึงเดินทางท่องเที่ยวในต่างแดนคนเดียว คุณก็จะได้เรียนรู้การดูแลตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าต่างชาติ ต่างศาสนา ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมทำให้คุณรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น 

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เริ่มอยากจะลองออกไปใช้เวลากับตัวเองบ้าง เราก็ขอทิ้งท้ายอีกนิดนึง นั่นคือ ระดับความสามารถในการใช้เวลากับตัวเองของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันค่ะ เพราะฉะนั้นลองหาการใช้เวลากับตัวเองที่เข้ากับตัวคุณให้มากที่สุด เช่น ถ้าคุณไม่เคยอยู่คนเดียวเลย อย่าเพิ่งเริ่มต้นด้วยการไปเที่ยวต่างจังหวัดคนเดียว เพราะอาจลงเอยด้วยการนั่งร้องไห้อยู่ในโรงแรม แต่ให้เริ่มจากการหาหนังสือสักเล่มไปนั่งอ่านคนเดียวในร้านกาแฟที่มีคนแปลกหน้ารายล้อมรอบข้างก่อน อะไรอย่างนี้เป็นต้น แล้วค่อยๆ อัพเลเวลขึ้นเท่าที่คุณทำได้ ที่สำคัญ อย่าลืมปิด notification จากโซเชียลมีเดียและปิดเสียงโทรศัพท์ด้วยล่ะ จึงจะถือว่าเป็นการใช้เวลากับตัวเองอย่างแท้จริง 

อ้างอิง:
choosingtherapy.com
verywellmind.com
pobpad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง