ผศ. รัศมี กฤษณมิษ ล่องเรือชีวิตสานฝันการเรียนให้เด็กยากไร้ทั่วไทย

Human / Social-Inspiration

ผศ. รัศมี กฤษณมิษ หรืออาจารย์หญิงของพวกเรา คืออดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่นักอ่านหลายๆ คนรู้จักกันดีในฐานะผู้แปลวรรณกรรมเด็กและเยาวชนอย่าง ‘กุ๊ชโฉ่’ (Cucho) ผลงานโดยนักเขียนชาวสเปน โฆเซ่ หลุยส์ โอไลยโซล่า (José Luis Olaizola) และยังเป็นนักเขียนเจ้าของหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวเด็กยากไร้ ‘เรือชีวิต’ ขณะที่อีกบทบาทหนึ่งของเธอคือการทำงานจิตอาสาที่โฟกัสไปที่การช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับเด็กฐานะยากจนทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานหลาย 10 ปี   

ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา การได้เลือกวิถีชีวิตที่ได้ใช้ประโยชน์จากวิชาชีพครู นักแปล และนักเขียน เพื่อส่งเสริมและต่อยอดให้เธอมีโอกาสได้ช่วยเหลือเด็กๆ นับร้อยนับพันจากทุกสารทิศในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง นอกจากจะทำให้เธอได้พบกับความงดงามของชีวิตแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การได้เจอเด็กมากมายที่แม้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและสังคม แต่เมื่อได้รับโอกาส เหลี่ยมคมของเด็กแต่ละคนก็ถูกเจียระไนจนเปล่งประกายและฉายให้เห็นถึงศักยภาพในแบบตัวเอง ยังทำให้เธอตระหนักได้ว่า งานของเธอไม่เพียงแต่จะก่อประโยชน์ส่วนตนในมิติด้านอาชีพ การสร้างคุณค่าให้ชีวิตและจิตใจ แต่ยังให้ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยเช่นกัน นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวชีวิตที่น่ายกย่องที่เราอยากขอเชิญผู้อ่านทุกคนมาร่วมรับฟังและรับพลังงานดีๆ จากครูตัวเล็ก แต่ใจยิ่งใหญ่คนนี้ไปด้วยกัน 

อาจารย์หญิงเป็นคนสงขลาโดยกำเนิด เริ่มเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนที่จะสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานศึกษาที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเชี่ยวชาญด้านภาษาสเปนของเธอ  

“เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี เพราะรู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าถนัดอะไรซึ่งชัดเจนมากว่าเราชอบภาษา จึงเลือกเรียนเฉพาะภาษามาโดยตลอดตั้งแต่การเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศส ที่โรงเรียนเตรียมอุดม จนกระทั่งสอบเข้าเรียนและเลือกเอกภาษาสเปนที่คณะอักษรฯ จุฬา”

อาจารย์เล่าให้ฟังต่อว่า เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้าเรียนที่เตรียมอุดมซึ่งต้องแข่งขันสูงมาก เมื่อสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ ซึ่งถือว่าแตะเป้าหมายของเธอแล้ว เธอจึงไม่อยากแข่งขันอีกต่อไป เธอเลือกภาษานอกสายตาอย่างภาษาสเปนเป็นวิชาเอก แทนที่ภาษาฝรั่งเศสที่คุ้นเคยหรือภาษาฮอตฮิตอย่างภาษาอังกฤษ 

“จำได้ว่าตอนที่อยู่ มศ.3 ที่สงขลา มีอาจารย์ฝรั่งสอนคำบางคำในภาษาสเปน มันคงจะอยู่ในความทรงจำเราส่วนหนึ่ง ประกอบกับว่าตัวเองไม่เคยกลัวว่าจะต้องเรียนต่างจากใคร ไม่กลัวว่าเรียนแล้วจะไม่มีงานทำ แต่เชื่อว่าถ้าได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เราจะทำได้ดี ยิ่งถ้าการแข่งขันน้อย เราจะมีโอกาสเป็นที่หนึ่งได้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดหมาย เพราะว่ามีเรียนแค่ 3 คน อย่างไรเราก็ต้องท็อป 3 ไม่มีทางหลุดไปจากวงจรได้เลย (หัวเราะ) แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะอาจารย์ที่สอนเพิ่งมาจากประเทศสเปน ซึ่งพูดทั้งภาษาอังกฤษและไทยไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าเราต้องพูดให้จงได้ จากที่เคยโดนคัดค้านว่าจะไปทำอะไรกับภาษาสเปนในปี 2521 ที่ไม่เหมือนสมัยนี้ซึ่งมีทั้งฟุตบอล ดารา นักร้องดังๆ กลายเป็นว่าเมื่อเราได้เรียนเอกภาษาสเปนตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เรียนแล้วมีความสุข และเป็นภาษาที่มีการแข่งขันน้อย พอเรียนจบ เราได้งานทันที จากนั้นโลกของภาษาสเปนกลายเป็นโลกที่เปิดชีวิต เปิดโลกทัศน์ และนำทางให้เรากลายเป็นเราอย่างทุกวันนี้”

“เอาจริงๆ ครูเป็นอาชีพสุดท้ายในชีวิตเลยนะที่เราคิดจะทำ แม้งานแรกจะมีคนทาบทามมาให้เป็นอาจารย์ แต่ตอนนั้นไม่อยากเป็น จึงปฏิเสธไปก่อน แล้วเดินทางไปเรียน Diploma ที่สเปนอยู่หนึ่งปี ระหว่างนั้นที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ติดต่อมาว่าสนใจจะมาสอนหนังสือไหม เนื่องจากอาจารย์ที่เราเคารพรักมากท่านเสียชีวิต ขณะเดียวกันคุณแม่บอกว่าให้ไปเป็นอาจารย์เถอะ ท่านอยากให้เราทำอาชีพนี้ นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของการสอนมาตลอด 25 ปีก่อนจะเกษียณ

“แต่ก่อนเราคิดว่าครูเป็นอาชีพที่ไม่น่าสนุกเอาเสียเลย เป็นงานซ้ำๆ และไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เงินเดือนก็ไม่มาก จำได้แม่นเลยว่าเงินเดือนก้อนแรก 2,765 บาท ยังบอกกับแม่เลยว่าแล้วจะมีกินเหรอ แต่ที่ตัดสินใจเริ่มการสอนในวันนั้น เพียงเพราะไม่อยากขัดใจท่าน แต่พอมาวันนี้แล้วมองย้อนกลับไป ต้องขอบคุณแม่เป็นที่สุด เพราะสำหรับตัวเรา ไม่มีอาชีพไหนที่จะงดงามและมีคุณค่าเท่ากับการเป็นครูอีกแล้ว เพราะสิ่งที่เราได้พบและเก็บเกี่ยวระหว่างทางมีมากมายเหลือเกิน หนึ่งในนั้นคือการได้รับโอกาสต่างๆ ในสายอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ทำงานช่วยเหลือเด็กๆ” 

ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ได้มาร่ำเรียนในรั้วจุฬาลงกรณ์จนกระทั่งมาทำงานในฐานะครู เธอพบว่าในความกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยโอกาสนั้น ยังมีพื้นที่น้อยเหลือเกินสำหรับเด็กที่มาจากต่างจังหวัด ขณะที่ตัวเธอเองโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวอบอุ่น ได้รับการสนับสนุนทุกทางจากพ่อแม่แบบที่ไม่มีจุดไหนของชีวิตที่รู้สึกขาด เมื่อได้รับมาจนเต็มอิ่ม อาจารย์หญิงจึงรู้สึกว่าข้างในของเธอพร้อมและอยากจะมอบโอกาสแบบเดียวกันนี้ให้กับคนอื่น อยากใช้ความโชคดีของเธอไม่ใช่เพียงแต่กับชีวิตของตัวเอง แต่อยากแบ่งปันออกไปให้กับคนที่ไม่มีด้วย  

“แม้เด็กอักษรฯ ส่วนใหญ่จะค่อนข้างมีฐานะ แต่เรายังเห็นว่ามีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาส ในฐานะของการเป็นครู เรารู้สึกว่าคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ตอนนั้นมีโครงการจุฬาฯ-ชนบท ซึ่งเป็นโครงการที่ให้โอกาสเด็กชนบทที่เรียนดีแต่ยากจนมาเรียน เราเลยไปสมัครเป็นกรรมการ หน้าที่หนึ่งของงานนี้คือการไปตรวจสภาพบ้านของเด็กๆ ที่ผ่านการคัดเลือกข้อเขียนมา นั่นทำให้เราได้พบว่าโลกใบนั้นเป็นโลกที่แตกต่างจากเรามาก ได้เห็นเด็กจำนวนมากลำบาก ทั้งจากความหิวโหย ความอดอยาก แม้อยากจะเรียนหนังสือแค่ไหนแต่ก็ขาดโอกาส ขาดมากถึงขนาดที่ว่าบางบ้านของเด็กไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีห้องส้วม เด็กบางคนพ่อแม่เก็บขยะขาย ซึ่งบางคนมองจุฬาฯ มักนึกว่าที่จุฬาฯ จะต้องมีแต่เด็กฐานะดี มันไม่ใช่เลย นั่นเป็นจุดแรกที่เราได้ทำงานกับเด็กๆ” 

ในระหว่างที่ทำงานให้โครงการจุฬาฯ-ชนบท ก็พอดีกันกับที่เธอเริ่มทำพจนานุกรมคำศัพท์ภาษาสเปน-ไทย ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน เพื่อให้การเรียนภาษาสเปนในเวลานั้นง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนที่จะต้องแปลจากภาษาสเปนเป็นอังกฤษ แล้วถึงแปลออกมาเป็นไทย เมื่อพจนานุกรมเล่มนี้สำเร็จลุล่วง เธอทราบว่ามีบาทหลวงสเปนเดินทางมาทำงานด้านสังคมในประเทศไทย อาจารย์หญิงจึงติดต่อไปยังสถานทูตเพื่อขอที่อยู่บาทหลวงเหล่านั้น โดยหนึ่งในนั้นคือคุณพ่ออัลฟอนโซ เด ฆวน ที่ทำงานกับผู้อพยพและการศึกษาของเด็กยากจนที่อยากเรียนหนังสือ นั่นคือประตูบานใหม่ที่ทำให้เธอได้ไปทำงานกับเด็กๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัย

“การทำงานกับคุณพ่ออัลฟอนโซทำให้เราได้ไปเยี่ยมบ้านและมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กในจังหวัดต่างๆ แต่ทุนที่ได้มาต้องรอจากผู้มีจิตศรัทธา เรารู้สึกว่าถ้าขอเรื่อยๆ ก็จะเป็นการขอที่ไม่มีวันสิ้นสุด ขณะที่จำนวนเด็กที่ลำบากมีมหาศาลและเพิ่มขึ้นทุกปี เลยมานั่งคิดว่าแล้วอะไรบ้างล่ะที่ทำให้เราหาเงินได้เองเพื่อให้สามารถนำไปช่วยเด็กได้ทันที จึงเกิดโครงการแปลวรรณกรรมเยาวชนสเปนเพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินทุนด้านต่างๆ ให้เด็กเหล่านี้”

‘กุ๊ชโฉ่’ คือผลงานจากปลายปากกาของ โฆเซ่ หลุยส์ โอไลยโซล่า เป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเล่มแรกที่เปิดตัวอาจารย์หญิงในฐานะนักแปล โดยถ่ายทอดเรื่องราวการสู้ชีวิตของเด็กกำพร้านามว่า กุ๊ชโฉ่ ที่ให้แนวคิดสำคัญของการเลือกที่จะไม่ยอมแพ้แต่ลุกขึ้นสู้โดยไม่ย่อท้อ ความรักที่กุ๊ชโฉ่มีต่อคุณย่าที่ทำให้เขายอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่ด้วยกัน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือความใส่ใจจากคนรอบข้างและความจริงใจจากเพื่อนที่มีส่วนช่วยเหลือให้เด็กคนหนึ่งก้าวพ้นวิกฤตไปได้

“กุ๊ชโฉ่ถูกแปลขึ้นในปี 2538 เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ แต่ทรงพลังมากทั้งแง่คิด คุณธรรม ความรักระหว่างเพื่อน และความรักของพระเจ้า จำได้ว่าตอนแปลเสร็จครั้งแรก เราไปขอทุนจากทางสถานทูตเพื่อให้สามารถตีพิมพ์ฟรีได้ และติดต่อไปทางนักเขียนเพื่อขอค่าลิขสิทธิ์ฟรี ส่วนเราจะลงแรงลงสมองของเราเอง ทำเองแบบไม่มีค่าจ้าง เพราะอยากให้ค่าใช้จ่ายมีน้อยที่สุด เรานำกำไรจากการจำหน่ายหนังสือแต่ละเล่มมาจัดตั้งเป็นโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก เช่น โครงการอาหารกลางวัน รวมไปถึงทุนการศึกษา เป็นต้น 

“จำได้ว่าวันที่เรารายงานกลับไปให้คุณโฆเซ่ หลุยส์ ฟังว่าเงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือของเขาถูกนำไปทำประโยชน์ให้เด็กๆ ที่ประเทศไทยแล้วนะ พอได้ยินแบบนั้น เขาก็ตอบกลับมาว่า ‘รัศมี ต่อไปนี้ไม่ว่าหนังสือเล่มไหนที่จะแปล ผมให้แปลแบบฟรีๆ ทุกเล่มโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ และมอบลิขสิทธิ์ฉบับภาษาไทยให้กับ กองทุนหนึ่งเดียวกัน โดย นางรัศมี กฤษณมิษ เพียงแห่งเดียว’ นั่นเลยทำให้เรามีโอกาสแปลผลงานของเขาต่อไปเรื่อยๆ ตั้งแต่แม่กุ้งแห้งกับพ่อตุ้ยนุ้ย, สู้ เบนิโต้ สู้, เด็กหญิงผู้บันทึกความฝัน ไปจนถึงเพื่อใจดวงเดียวกัน รวมถึงอะไรต่อมิอะไรที่เป็นผลงานของเขา เราเชิญคุณโฆเซ่ หลุยส์มาที่เมืองไทย จนได้รู้จักกับคุณพ่ออัลฟอนโซ พอกลับไปสเปน เขาก็หาทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนในประเทศสเปนของตัวเองชื่อ ‘Somos Uno’ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับกองทุนหนึ่งเดียวกันของตัวเราเองในประเทศไทย แล้วส่งเงินมาช่วยเด็กๆ ในเมืองไทย จนถึงปัจจุบันรวมเป็นเงินหลายสิบล้านบาทแล้ว 

“กุ๊ชโฉ่เลยเป็นหนังสือที่นอกจากจะเปิดประตูให้เราได้ทำงานให้เด็กๆ ทั่วประเทศ ทำให้สามารถต่อยอดเรื่องการทำงานด้านการแปลและได้กระชับความสัมพันธ์กับคุณโฆเซ่ หลุยส์ที่เรานับถือกันเป็นคุณพ่อกับลูกสาวแล้ว สิ่งที่น่าประทับใจหลังจากนั้น คือสิ่งที่เขาพูดกับเราว่า ‘รัศมี คุณเป็นคนเดียวเลยนะที่ไม่เคยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แถมผมยังต้องช่วยคุณอีกต่างหาก คุณรู้ไหมว่าการได้รู้จักกันมันสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้กับชีวิตของผมมากเลยนะ แต่ผมอยากขอบคุณพระเจ้าที่ได้รู้จักคุณ เพราะว่ามันทำให้ชีวิตของผมจากการเป็นนักเขียนคนหนึ่งสามารถมีชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมายต่อไปได้ในแต่ละวัน’ ทุกวันนี้คุณโฆเซ่ หลุยส์ อายุ 95 แล้ว เขายังคงเขียนหนังสือและส่งเงินมาให้เราอยู่เสมอ ลูกๆ เขาบอกว่านี่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้คุณพ่อท่านมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่ามากเลย (ยิ้ม)” 

นอกจากบทบาทของการเป็นนักแปลแล้ว อาจารย์หญิงยังเป็นนักเขียนด้วยเช่นกัน และ ‘เรือชีวิต’ คือหนังสือที่เธอได้ทำงานในบทบาทอย่างหลัง เรือชีวิตถูกเขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจตามที่ต่างๆ รวมไปถึงช่วงเวลาที่เธอทำงานให้กับโครงการจุฬาฯ-ชนบท เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของบุคคลที่ได้พบเจอและเด็กยากจนผู้มีความหวังและฝ่าฟันอุปสรรคจนพบความสำเร็จในชีวิต โดยถูกจัดทำเป็นทั้ง E-Book ที่อาจารย์หญิงให้บุคคลทั่วไปสามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้แบบฟรีๆ หรือใครที่สนใจในฉบับรูปเล่มก็สามารถติดต่อเพื่อขอซื้อ โดยกำไรจากการจำหน่ายจะถูกนำไปใช้จ่ายในกองทุนเพื่อการศึกษาของเด็กยากไร้ในเมืองไทยต่อไป

“จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กองบรรณาธิการ (วิมลรัตน์ เจนจรัสสกุล) ของนิตยสารพลอยแกมเพชรซึ่งเคยติดต่อมาสัมภาษณ์จนได้รู้จักและคุ้นเคยกัน รู้ว่าเราทำงานเกี่ยวกับเด็กๆ และปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้คนตามที่ต่างๆ จึงทาบทามว่าทำไมไม่ลองเล่าเรื่องเหล่านี้ดูล่ะ และได้นำไปเสนอพี่ชาลี – ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล บรรณาธิการพลอยแกมเพชร นั่นจึงเป็นจุดที่เราได้เขียนเรื่องราวเหล่านี้จากบุคคลที่เราพบเจอระหว่างทางและเด็กๆ กว่า 70 ชีวิตลงในนิตยสารจนกระทั่งพลอยแกมเพชรปิดตัวลง จากนั้นจึงเกิดการรวมเล่มเป็นเรือชีวิตเล่มนี้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

“เราตั้งใจให้เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้เป็นทั้งแรงบันดาลใจและแนวทางในการพาตัวเราไปสู่จุดที่ดีขึ้น กล้าหาญที่จะฝัน และบากบั่นเพื่อให้ฝันเกิดขึ้นจริงได้ เพราะเวลาไปเยี่ยมนักเรียนทุน เรามักพบว่ามีเด็กจำนวนมากเหลือเกินที่ไม่กล้าแม้แต่จะฝันเพราะความจน ซึ่งไม่ได้จนแค่ทางวัตถุ แต่มันจนใจ จนปัญญา จนไปหมดทุกอย่าง เด็กหลายคนมากที่มีความฝัน แต่ฝันของพวกเขาจะเป็นฝันสั้นๆ เป็นฝันที่ไม่ได้เสริมศักยภาพของตัวเอง เพราะฉะนั้น เราทำเรือชีวิตขึ้นมาเพราะอยากส่งสารไปยังผู้อ่านโดยเฉพาะเด็กๆ ให้รู้ว่า มีคนอีกมากมายที่เคยอยู่ในจุดเดียวกันกับพวกเขา แต่พี่ๆ เลือกจะฟันฟ่าอุปสรรค แล้วถ้าพวกเขาทำได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน

“เอาจริงๆ เราทำเล่มหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยไม่คิดว่าจะขาย แต่ทำมาไว้แจก รวมทั้งเผื่อว่าในวันที่เราเสียชีวิตไป สามีจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนหาของชำร่วยด้วย แจกไปเลยค่ะ ของตัวเอง จริงๆ นะเราตั้งใจทำเพื่อจะเป็นแบบนั้นเลย แล้วใครที่เห็นค่า เรายินดีมอบให้ เราลงทุนในกระบวนการผลิต ทำอย่างดีที่สุด ทั้งเนื้อหา รวมถึงภาพประกอบที่เพื่อน (ถาวร ศิละคุณาภรณ์) ซึ่งเรียนสถาปัตย์มาช่วยวาดให้ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณได้ไป แล้วคุณได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของพวกเขา เรือชีวิตเล่มนี้ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของมันแล้ว” 

หลังจากการทำงานจนครบ 25 ปีในรั้วจุฬาลงกรณ์ อาจารย์หญิงตั้งใจเกษียณก่อนกำหนดเพื่อออกมาทำงานจิตอาสาแบบไม่มีเงินเดือน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่คนรอบข้างไม่เห็นด้วย มาตั้งแต่อายุ 48 โดยปัจจุบันนี้ อาจารย์หญิงทำงานให้กับกองทุนหนึ่งเดียวกันของตัวเธอเอง และองค์กรต่างๆ ทั้งสันติอโศก, กลุ่มคาทอลิก, มูลนิธิฉือจี้ ประจำประเทศไทย และล่าสุดกับมูลนิธิไอแคร์ประเทศไทย ซึ่งสำหรับเธอ นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด  

“หลายคนในเวลานั้นคัดค้านเราอยู่เหมือนกันเพราะการเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ก็ดีหมดทุกอย่าง เลยทำให้เราต้องอาศัยความกล้าหาญมากเลยทีเดียว แต่เรารู้สึกว่าเราพร้อมมากแล้วในเวลานั้น เพราะเราเต็มที่กับทุกงานที่ทำมาตลอด 25 ปี ตั้งแต่งานด้านวิชาการที่ผ่านการบุกเบิกด้านภาษาสเปนมาทุกอย่าง ทั้งทำพจนานุกรม งานแปล การได้รับรางวัลจากงานที่ทำ ขณะที่เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือเงินทองไม่ใช่สิ่งที่เราแสวงหา เราได้รับบำนาญ ซึ่งพอใช้จ่ายได้แบบไม่ลำบาก และคิดว่าในวัย 48 เรายังมีสุขภาพที่ดีและมีเวลามากพอที่จะทำงานให้กับคนอื่นได้ ถ้าเรารอจนอายุ 60 เราอาจจะไม่แข็งแรงแล้ว ส่วนครอบครัว แม้ตอนแรกจะไม่ได้เห็นด้วยแบบ 100% แต่เมื่อเราตัดสินใจ พวกเขาก็เคารพ จนท้ายที่สุดก็สนับสนุนอย่างเต็มที่และยินดีให้เราไปทำงาน 

“ฉะนั้น องค์ประกอบรอบตัวเลยลงตัวพอดีกับงานอาสาที่เราเลือกไปทำ การตัดสินใจในวันนั้นจนถึงวันนี้เลยไม่เคยรู้สึกเสียดาย เสียใจ หรืออะไรเลย แต่เป็นความรู้สึกอิ่มใจ เพราะเรื่องราวของเด็กๆ แต่ละคนทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตถูกเติมเต็มและมีคุณค่า แล้วรู้สึกว่าเวลาไม่เคยพอเลย จริงๆ นะ หลังจากลาออกจากราชการมาแล้ว 15 ปี แทบไม่มีวันไหนว่าง มีคนสงสัยอยู่เหมือนกันว่าเราเหนื่อยบ้างไหมและมีพลังอะไรในตัวที่เหลือล้นขนาดนี้ แน่นอนว่าการทำงานมีอยู่แล้วที่ต้องเหนื่อย แล้วยิ่งอายุมากขึ้นด้วย ปีนี้เรา 63 แล้ว แม้ทุกครั้งที่ไปทำงานจะเหนื่อย แต่พอเราตื่นมาเป็นวันใหม่ พลังก็กลับมา ส่วนหนึ่งคงเพราะเราเป็นคนโชคดีที่หลับได้ดี ได้เร็ว และเป็นคนที่ออกกำลังกายทุกวัน ประกอบกับการปฏิบัติธรรมของเราที่เป็นสิ่งเตือนใจเสมอว่า เวลาของชีวิตเหลือน้อยลงทุกที จะสบายก็ได้ แต่เพื่ออะไร วันที่ลงหลุม ตอนนั้นได้นอนอีกยาวและอีกนาน รอให้ถึงตอนนั้นค่อยนอนยาวๆ ก็แล้วกัน ส่วนในวันนี้ ตอนที่ยังมีเรี่ยวแรง มีกำลัง ยังไหว ก็ลุยเถอะ คงจะเป็นพลังอะไรแบบนั้นละมั้งที่ทำให้ทุกวันนี้เรายังคงทำงานอย่างกระตือรือร้นได้

“ช่วงวัยที่ผ่านมา เราดำรงชีวิตตามวิถีที่ว่าทำทั้งประโยชน์ต่อตนและประโยชน์ต่อท่าน บางครั้งประโยชน์ตนมากหน่อย ประโยชน์ท่านก็น้อยลง บางครั้งประโยชน์ท่านเยอะ ประโยชน์ตนก็ลดหลั่นไปตามสัดส่วน เราคิดว่าการมีชีวิตแบบมีทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเป็นสิ่งที่เราพอใจจะทำและนำพามาซึ่งความสุขในชีวิตได้

“มันมีคำพูดหนึ่งที่อยู่ในใจเราเสมอ นั่นคือ ‘A thankful heart is a happy heart’ (หัวใจที่รู้จักขอบคุณเป็นหัวใจที่มีความสุข) เรารู้สึกขอบคุณเสมอทั้งกับสิ่งที่ได้รับ กับโอกาสที่เรามี พอรู้สึกขอบคุณ เราจะเกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ดีจัง เมื่อเราทุกข์น้อยลง ไม่ใช่ไม่มีความทุกข์นะ เรามีทุกข์จากการเจ็บป่วย จากคนที่เรารักไม่สบาย แต่ไม่ใช่ทุกข์จากการอยากได้ อยากมี อยากเป็น พอเราเป็นคนทุกข์น้อย มันก็ไปตรงกับอีกหนึ่งคำพูดของท่านโอโช (Osho) นักคิดและนักปรัชญาชาวอินเดียที่ว่า ‘ความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้ท่ามกลางความรู้สึกขอบคุณ’ ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกขอบคุณอะไรๆ อยู่เสมอ เช่น ขอบคุณที่เมื่อเราเหนื่อย แล้วกลับบ้าน เรามีบ้านที่พักพิงได้ ขอบคุณต้นไม้ที่ทำให้เราเบิกบานใจ ขอบคุณสายลมที่พัดผ่านและให้ความเย็นกับร่างกายเรา ขอบคุณที่มีอาหารดีๆ ให้กินได้ไม่ขาด ขอบคุณที่เรามีสติปัญญาเพียงพอที่สามารถจะออกไปทำงานเพื่อช่วยคนอื่นได้ และเมื่อใดที่ทุกข์น้อยลง เราจะเห็นและดื่มด่ำกับความสุขได้ชัดเจนขึ้น ท้ายที่สุด อย่างที่พ่อท่านโพธิรักษ์กล่าวไว้ว่า เมื่อเรา ‘ไม่กังวลกับความร่ำรวย ไม่หิวโหยกับความบันเทิง ไม่อยากเป็นใหญ่เป็นโต ไม่มีปัญหากับความเครียด ชีวิตจึงไม่ขาดแคลนความเบิกบาน’” 

ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์
เพิ่มเติม: เรื่องเล่าคนเล็กๆ  (เรือชีวิต โดย รัศมี กฤษณมิษ)

บทความที่เกี่ยวข้อง