ผศ.พญ. นลินี โกวิทวนาวงษ์ จากหมอดมยาสู่นวัตกรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือคนไข้

Human / Self-Inspiration / Social-Inspiration

‘วิสัญญีแพทย์’ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า หมอดมยามีหน้าที่หลักคือให้การระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดและการทำหัตถการ เป็นอาชีพที่นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถแบบรอบด้านอย่างเพียงพอ เหมาะสม และต้องทันสมัยอยู่เสมอแล้ว พวกเขายังต้องมีคุณสมบัติสำคัญอีกหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การเป็นนักวางแผน การเป็นนักสื่อสารที่ดี กล้าตัดสินใจ รวมถึงมีทักษะในเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำได้เป็นอย่างดีด้วย และนี่คืองานหลักของ หมอเอ๋ ผศ.พญ. นลินี โกวิทวนาวงษ์ วิสัญญีแพทย์ประจำโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) คนนี้ 

ในเวลาเดียวกัน เธอยังเป็นผู้ช่วยคณะบดีฝ่ายบริหารนโยบายและแผน เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยพ่วงอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นคุณหมอนักประดิษฐ์ที่ผลงานทุกชิ้นของเธอ ตั้งแต่เบาะเจลยางพารา Doctor N Medigel’ สำหรับป้องกันแผลกดทับ ไปจนถึงเตียงพลิกตะแคงระบบอัตโนมัติ เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย และเพราะในแต่ละบทบาทของหมอเอ๋มีทั้งความสนุกและความท้าทายมากมายรออยู่ เราจึงอยากคุยกับเธอทั้งในฟากฝั่งของการเป็นหมอดมยา นักบริหาร และนักพัฒนาที่แปลงร่างงานวิจัยบนกระดาษให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้จริงๆ ไปจนถึงการเป็น ‘หัวใจ’ ของบ้านในฐานะภรรยาและคุณแม่ด้วย     

วิสัญญีแพทย์ กัปตันแห่งห้องผ่าตัด

“ในวัยเด็ก หมอมีอาชีพอยู่ในหัวอยู่ไม่กี่อย่าง โดยส่วนตัวแล้วหมอเป็นคนถนัดคำนวณมากกว่าวิชาท่องจำ ในใจเลยมุ่งไปที่วิศวะฯ แต่สมัย 20-30 ปีที่แล้ว การเรียนวิศวะส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชายเสียเยอะ เมื่อมาดูถึงความลุยของตัวเอง หมอคิดว่าเราคงลุยไม่ได้เท่าเขา บวกกับถ้าเข้าเรียนแพทย์ เราจะสามารถนำความรู้มาดูแลครอบครัวได้ด้วย เอาจริงๆ ตอนนั้นหมอยังไม่ได้มีความฝันใหญ่โตนัก เหมือนกับเด็กเรียนดีคนหนึ่งที่เลือกเรียนในคณะที่คิดว่ามีความมั่นคง” 

จนกระทั่งหมอเอ๋ได้เข้าเรียนในคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศึกษาต่อเฉพาะทางด้านวิสัญญีวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล “การเรียนต่อเฉพาะของนักศึกษาแพทย์แต่ละคนจะมีแนวทางในการที่จะเลือกแตกต่างกันออกไป คนที่ชอบทำหัตถการเยอะๆ มักจะเลือกไปในแนวหมอศัลยกรรม บางคนที่ชอบพูดคุย ชอบมีความรู้กว้างไกล จะเลือกเรียนอายุรกรรม คนที่รักเด็กๆ ส่วนใหญ่จะไปในเส้นทางคุณหมอเด็กกัน สำหรับตัวหมอเองเลือกเรียนวิสัญญีเพราะรู้สึกว่าความรู้เฉพาะทางด้านนี้อยู่ตรงกลางระหว่างการได้ทำหัตถการ การได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคทุกโรคที่คนไข้ต้องมาดมยา รวมถึงต้องมีความรู้ทางด้านยาด้วย เลยคิดว่าน่าจะเหมาะกับตัวเองในตอนนั้น”

ด้วยวิสัญญีวิทยาเป็นแขนงวิชาที่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้แบบสหสาขา ไม่ว่าจะเป็นทางกายวิภาค เภสัชวิทยา สรีรวิทยา ฟิสิกส์ พยาธิวิทยาของอวัยวะต่างๆ อีกทั้งยังต้องเข้าใจจุดประสงค์และแนวทางการรักษาของศัลยแพทย์ทุกๆ สาขาเพื่อให้กระบวนทั้งหมดสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุด บทบาทของวิสัญญีแพทย์จึงเป็นเรื่องท้าทายและยังฝึกฝนหมอเอ๋ในหลายๆ ด้าน  

“ถึงแม้ว่าการเรียนดมยาอาจจะต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ ขณะที่คุณหมอด้านอื่นๆ มีหน้าที่หลักคือการดูแลรักษาให้คนไข้หายจากโรค หมอดมยาจะเป็นคนที่ให้ยาซึ่งไม่ใช่เป็นยาสำหรับรักษาให้หายจากโรค แต่เป็นยาที่ใช้กดให้หลับ ให้สลบ หรือบล็อกให้ขยับไม่ได้ชั่วคราว ฉะนั้น การเป็นหมอดมยาเลยฝึกให้หมอต้องตัดสินใจรวดเร็วและเด็ดขาดเมื่อเกิดปัญหา เราต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้ป่วย ต้องตระหนักรู้ในสถานการณ์ต่างๆ ไปจนถึงมีทักษะในเรื่องการจัดการความเสี่ยง ซึ่งจะต้องคิดกันไว้ก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง จนบางคนชอบบอกว่าหมอดมยามองโลกในแง่ร้าย แต่ในความเป็นจริงคือพวกเราต้องเตรียมพร้อมและประเมินความเสี่ยงทั้งหมด ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังกระบวนการว่า การดมยาคนไข้ในครั้งนี้จะมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จนเขาเปรียบเทียบหมอดมยาสลบเหมือนกัปตันเครื่องบินที่กว่าจะเอาเครื่องขึ้นบินได้ จะต้องพร้อมทุกด้านก่อน ไม่พร้อมคือไม่บิน แต่หากบินแล้ว จะต้องบินต่อจนกระทั่งไปถึงจุดหมาย การเป็นวิสัญญีแพทย์จึงเป็นอาชีพที่ช่วยขัดเกลาหมอและสร้างทักษะสำคัญในการมองชีวิตทุกด้านเลยก็ว่าได้”

ภาพ: Kim Hong Woo March

แปรรูปยางพาราสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าและคุณค่า

ด้วยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ระดับตติยภูมิ ซึ่งภารกิจหลักของหน่วยบริการในระดับดังกล่าวคือการขยายขอบเขตการรักษาพยาบาลสำหรับการรักษาโรคเฉพาะทาง ผู้ป่วยที่มาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดและหัตถการจึงมาพร้อมโรคยากที่มีรายละเอียดซับซ้อน อีกทั้งยังต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค ซึ่งด้วยการผ่าตัดที่มีเงื่อนไขในเรื่องระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้คนไข้จำนวนไม่น้อยเกิดแผลกดทับขึ้นเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นลง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้หมอเอ๋และทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างสาขามาร่วมกันหาหนทางในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น 

“เมื่อไปหาข้อมูลทางการแพทย์ เราพบว่ามีวัสดุที่ใช้ในการรองรับกระจายแรงที่จะป้องกันการเกิดแผลกดทับในห้องผ่าตัดได้และยังใช้ในการจัดท่าได้ด้วย แต่วัสดุเหล่านั้นจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ 100% แถมยังมีราคาสูง หากเรานำเข้ามาใช้ที่โรงพยาบาลซึ่งมีห้องผ่าตัดจำนวนหลายห้อง จะทำให้งบประมาณที่ต้องใช้สูงตามไปด้วย เราเลยคิดว่าการใช้งานวิจัยและการประดิษฐ์น่าจะเป็นทางออกให้กับปัญหานี้ได้ หมอเลยเริ่มทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยียางพาราเมื่อราว 10 ปีก่อน เพื่อนำยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากในภาคใต้และทางมหาวิทยาลัยเองก็มีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องยางพารามาโดยตลอด มาทดลองว่าจะสามารถปรับให้กลายเป็นวัสดุกระจายแรงสำหรับทางการแพทย์ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ เราจะสามารถช่วยคนไข้พร้อมๆ ไปกับการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา ซึ่งการเพิ่มมูลค่าในรูปแบบนี้จะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการยางพาราไทยไม่ต้องกังวลกับราคาของตลาดโลกอีกต่อไปด้วย”

ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่เกิดขึ้นคือ Doctor N Medigel’ หรือเบาะเจลยางพาราป้องกันแผลกดทับที่ผลิตขึ้นจากโพลียูริเทนเจลและยางพาราธรรมชาติ 100% มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือมีความยืดหยุ่นสูงและมีลักษณะคล้ายเจลซึ่งสามารถช่วยลดและกระจายแรงกดทับได้ดี โดยชื่อของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้มีที่มาจากการนำพยัญชนะภาษาอังกฤษตัวแรกของ ‘นลินี’ มาใช้นั่นเอง “บังเอิญว่าตอนเด็กๆ หมอชอบอ่านการ์ตูนเรื่อง ซูเปอร์ดอกเตอร์เค (スーパードクターK / Super Doctor K) ซึ่งเป็นเรื่องราวของคุณหมอผ่าตัดที่เก่งที่สุดในโลก ตอนนั้นนึกถึงการ์ตูนเรื่องนี้ เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น เราใช้ Doctor N ก็แล้วกัน ส่วน Medigel มาจากการสมาสคำสองคำเข้าด้วยกัน นั่นคือ medi ที่หมายถึงทางการแพทย์ และ gel จนกลายเป็นที่มาของชื่อผลงานชิ้นนี้ค่ะ”

จาก Doctor N Medigel หมอเอ๋ได้ต่อยอดผลงานของเธอไปสู่การพัฒนาเตียงพลิกตะแคง “ผลงานชิ้นนี้หมอทำงานร่วมกับอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชรและมหาวิทยาลันเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยมีการพัฒนาซอฟท์แวร์ออโตเมทสำหรับควบคุมการตั้งเวลาการทำงานของเตียง ทำให้สามารถควบคุมเป็นเซ็ทเตียง 5, 10 หรือ 20 เตียงได้พร้อมกัน ซึ่งการพัฒนาเตียงพลิกตะแคงและระบบควบคุม software smart bed ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือคนไข้เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยแบ่งเบาการทำงานของคนดูแลไปในตัวด้วย เพราะในอนาคต โลกของเราจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยในโลกอนาคตได้ก็คือ assistive device เหล่านี้ เพราะเราคงใช้กำลังคนเยอะๆ ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว นี่จึงเป็นแนวทางที่หมอคิดว่าน่าจะเป็น roadmap ของงานวิจัยที่หมอและทีมงานตั้งเป้าหมายกันเอาไว้”

ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

“ในเรื่องของการทำงานวิจัย กว่าจะสำเร็จ หมอผ่านความท้าทายหลายด่าน มีบางช่วงเรียกว่าท้อเลยก็ว่าได้ เพราะดูแนวโน้มแล้วอาจจะไม่สำเร็จ แต่หมอพยายามใช้การระดมสมองจากทั้งจากตัวเอง รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อย่าง Doctor N Medigel ที่เราอยากจะใช้ก้อนยางทั้งก้อน ซึ่งพยายามปรับกันอยู่เป็นปีๆ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ จึงจำเป็นต้องหาองค์ความรู้ใหม่มาเสริมจนได้ end point ในสิ่งที่เราต้องการ นี่แค่เรื่องของเทคโนโลยีนะ ไม่ต้องพูดถึงของการเป็นนักวิชาการแล้วกระโดดมาทำธุรกิจที่หมอไม่มีความชำนาญเลย แต่เราต้องพยายามผลักดันไปให้ได้ หมอต้องมาเรียนรู้เรื่องตลาดเครื่องมือแพทย์ว่าเขาทำกันอย่างไร ทำอย่างไรให้สินค้าที่ออกมาดี มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานและโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งการผลักดันเครื่องมือแพทย์สัญชาติไทยให้คนไทยยอมรับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้น เราจึงต้องต่อสู้กันเยอะจริงๆ เพื่อให้สาธารณชนเห็นถึงคุณภาพแล้วเกิดการบอกต่อ 

จากตอนแรกที่หมอเข้ามาทำวิจัยนวัตกรรม ความตั้งใจหลักคือแค่อยากจะประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ให้ทางโรงพยาบาลมีของที่ดีใช้ คนไข้มีชีวิตที่ดีขึ้น ประมาณว่า ทำได้ตามเป้านี้ ฉันรอดแล้ว แต่พอมาถึงจุดที่เราได้เห็นโลกกว้างมากขึ้น ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่พูดถึงเรื่องการนำงานวิจัยลงจากหิ้งเพื่อมาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนจริงๆ ทำให้หมอเริ่มหันมาดูว่า แล้วสิ่งที่เรากำลังทำอยู่สามารถไปได้ถึงตรงนั้นบ้างไหม เมื่อเราได้เห็นว่าเราทำได้นะ นั่นนับว่าเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของหมออยู่เหมือน ทุกวันนี้ หมอจึงคิดเสมอว่าหากงานของเราสามารถนำไปสู่การใช้งานจริงได้ ได้รับการยอมรับ ทำให้สังคมดีขึ้น เกิดประโยชน์ในภาพรวม ไม่ว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรก็ตาม นั่นจะเป็นสิ่งที่หมอจะพยายามไปให้ถึง แต่จนถึงเวลานี้ ทั้งตัวหมอเองและผู้ร่วมงานทุกท่านยังคงต้องออกแรงอีกเยอะในการที่จะทำให้เกิดการรับรู้ เพราะว่าองค์ความรู้บางอย่างยังใหม่ ยังไม่ถูกทำความเข้าใจ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้องอาศัยการสร้างให้เกิดการรับรู้ เพื่อให้คนอยากใช้ ที่สำคัญคือคนใช้ต้องได้รับประโยชน์จริงๆ

สิ่งสำคัญที่เป็นกำลังใจให้หมอและทีมงานมากๆ คือเมื่อเวลาที่เราประดิษฐ์อะไรออกไป แล้วมีคนนำไปใช้และตอบกลับมาว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ทำให้แผลกดทับที่เขารักษามาตั้งนานไม่หายสักทีดีขึ้นและหาย พวกเราดีใจสุดๆ เลยนะคะว่าสิ่งที่เราทำมาสามารถเป็นประโยชน์ให้คนอื่นได้ ในทางกลับกัน ต่อให้เป็นฟีดแบคอย่างอื่น หมอเองก็ยังดีใจอยู่ดี เพราะงานวิจัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การได้รับฟีดแบคไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม จะทำให้เราเห็นจุดอ่อนที่สามารถนำไปพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่อได้”

คัมภีร์กู้วิกฤต

“ส่วนตัวหมอเป็นคนไม่ชอบอยู่ใน comfort zone ไม่ชอบทำงานอะไรซ้ำเดิมนานๆ ฉะนั้น ถ้าหมอรับผิดชอบงานอะไรหรือจะรับงานอะไร หมอจะมองก่อนเลยว่ามีจุดไหนที่จะสามารถปรับ เปลี่ยน หรือพัฒนาเพิ่มเติมได้ไหม เพราะถ้าต้องทำงานเหมือนเดิม ได้ผลเหมือนเดิม ตัวเองจะเบื่อเอง พอหมอได้ทำหลายๆ ด้าน กลางวันเราทำงานนี้ นอกเวลาไปทำอีกงานหนึ่ง กลับกลายเป็นไม่รู้สึกว่าเหนื่อย แต่จะสนุกและท้าทาย 

แต่แน่นอนว่าในความสนุกและท้าทาย เราจะเจอเรื่องร้ายๆ ในทุกๆ ช่วงของชีวิตอยู่แล้ว เพียงแต่หมอจะไม่ได้เอาตรงนั้นมาคิดนาน ถ้าเจอปัญหา จะพยายามหาทางแก้ปัญหาก่อน ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้จริงๆ สิ่งที่หมอจะทำคือการพยายามลดปัญหาจากความเสียหายใหญ่ให้เหลือความเสียหายเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเราพยายามทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนที่เหลือก็จะให้เวลาในการปลอบใจตัวเองเพื่อไม่ให้เสียใจกับสิ่งเหล่านั้นมากจนเกินไป อย่างที่เขาบอก เหรียญมักมีสองด้านเสมอ อยู่ที่เราจะเลือกมองแบบไหน ดังนั้น หมอจึงพยายามมองให้เห็นส่วนที่บวกในเหตุการณ์นั้นๆ อยู่เสมอ เพราะจะทำให้เราเห็นทางที่จะไปต่อได้ 

อย่างเช่นสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ในฟากหนึ่งนี่คือวิกฤตสำหรับมนุษยชาติ แต่ขณะเดียวกัน COVID-19 ในความคิดของหมอ หมอถือว่าเขาเป็น innovative virus ที่ทำให้พวกเราจะต้องคิดวิธีอะไรหลายๆ อย่างเพื่อต่อสู้ แน่นอนพวกเราไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่และยาก แต่ในขณะที่เขาสร้างวิกฤต เขายังเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาท้าทายพวกเราในทุกๆ สาขาอาชีพด้วย ทำให้เราต้องตั้งคำถามตลอดเวลาเพื่อหาทางอยู่รอด หมอรู้ว่าทุกคนท้อ แต่อย่างน้อย เมื่อไหร่ที่เราตามเขาได้แม้แค่สักเปราะหนึ่ง หมออยากให้ทุกคนดีใจและมีกำลังใจมากขึ้น อย่าเพิ่งไปคิดว่า โห ยังมีปัญหาอีกตั้งเยอะ สุขกับส่วนที่เราแก้ไขได้ไปก่อน แล้วเราจะมีพลังที่จะแก้เปราะต่อไป ความรู้สึกแบบนี้จะทำให้เรามีพลังแบบไม่สิ้นสุด

เอาจริงๆ คนเราไม่จำเป็นต้องแก้ทุกปัญหาให้ได้นะคะ เพราะเราไม่สามารถแก้ได้หมดหรอก หมอบอกทุกคนเสมอว่าแก้ปัญหาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเรา ที่เราควบคุมได้ บางปัญหาซึ่งเกิดจากสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราอาจต้องปล่อยให้เป็นไป เพียงแต่ระมัดระวังอย่าให้ปัญหานั้นขยายใหญ่ขึ้น กรอบปัญหาให้อยู่เท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ แล้วที่เหลือคือการชวนกันมองบวกและทำให้ดีขึ้นเพื่อหาทางออก เก็บความผิดพลาดมาเป็นประสบการณ์ และอย่าไปคาดหวังกับอนาคต ทำสิ่งที่อยู่ในตอนนี้ให้ดี หมอเชื่อเสมอว่าหากเราทำปัจจุบันนี้ให้ดี อนาคตที่ตามมามักจะดีตามไปด้วยนะ”

My Priority Checklist

“คนภายนอกอาจเห็นหมอทำงานอยู่หลายบทบาทหน้าที่ จะมีเวลาให้กับชีวิตส่วนตัวไหม จริงๆ หมอให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่งเลยนะคะ ในเรื่องการให้เวลากับครอบครัว ไม่เคยบกพร่อง หากมีเหตุการณ์ที่จำเป็นจะต้องเลือกระหว่างงานกับครอบครัว หมอจะชั่งน้ำหนักตรงนั้นก่อนว่าอะไรสำคัญกว่า มีใครสามารถทำงานทดแทนแต่ละหน้าที่ของเราได้ไหม เช่น ถ้าหมอจำเป็นต้องไปส่งลูกสอบและมีงานในช่วงเวลาเดียวกัน หมอขอเลือกไปส่งลูกสอบ เพราะ ณ ตอนนั้น ใครแทนที่เราไม่ได้ในเรื่องของจิตใจ การให้กำลังใจ สำหรับงาน หมอจะพยายามหาคนที่สามารถทำหน้าที่แทนได้ในคุณภาพงานที่ใกล้เคียงกัน หรือหากไม่มีคนแทนจริงๆ หมอจะของต่อรองฝั่งงานว่าพอจะเป็นไปได้ในการเลื่อนเวลาหรือสลับเวลาไหม  

สำหรับหมอ สถาบันครอบครัวคือสถาบันพื้นฐานที่สำคัญในการกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ต่อให้เราทำงานของเราให้ดี แต่หากเราไม่สามารถที่จะดูแลคนรุ่นใหม่ให้เขาเติบโตมาอย่างดีได้ หมอถือว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้น สำหรับหมอครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก ทั้งการสร้างคนจากครอบครัว การดูแลคู่ชีวิตไม่ให้ขาดตกบกพร่อง หมอถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องบาลานซ์ให้ไปด้วยกันให้ได้กับหน้าที่ที่เราได้รับด้วย

ส่วนความสุขของหมอตอนนี้คือการได้มองเห็นทุกๆ อย่างเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ในเรื่องงานที่งานวิจัยปีนี้เราวางแผนกันแล้วว่าควรจะมีอะไรออกมาเพิ่ม เราควรจะมองแหล่งทุนวิจัยจากตรงไหนมาช่วยเสริม หรือการเห็นลูกเติบโตไปตามแนวทางของเขาได้ ได้เห็นว่าคำแนะนำของเราเป็นประโยชน์กับการตัดสินใจและการใช้ชีวิตของเขาได้นะ หมอมีความสุขจากตรงนั้น เอาจริงๆ สำหรับหมอ ความสุขไม่ต้องรอให้ถึงสุดทาง แค่ระหว่างทางเราได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจอย่างเต็มที่ ได้เห็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร นั่นก็ทำให้หมอมีความสุขแล้วค่ะ” 

ภาพ: วิทยา พานิชกุล
ขอบคุณ: Doctor N Medigel

บทความที่เกี่ยวข้อง